86 องค์กรส่งจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องจีนยกเลิกกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่

86 องค์กร ด้านสิทธิมนุษยชนนานาชาติ แรงงาน และเสรีภาพสื่อ ร่วมกันออกจดหมายเปิดผนึกถึงหลี่จ้านชู ประธานกรรมาธิการสภาประชาชนแห่งชาติจีน แสดงความกังวลต่อกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ ที่จีนมีแผนการจะออกมาบังคับใช้กับฮ่องกงนั้นจะถูกนำมาอ้างใช้ละเมิดสิทธิ พร้อมชี้มีเนื้อหาขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) จึงเรียกร้องให้ยกเลิก

แฟ้มภาพ

องค์กรหลายภาคส่วนทั้งในฮ่องกง และนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล, 2047 HK Monitor, องค์กรเสรีภาพ Article 19, องค์กรแรงงานไชนาเลเบอร์บุลเลตติน ฯลฯ รวมทั้งหมด 86 องค์กรส่งจดหมายเปิดผนึกถึงสภาประชาชนแห่งชาติจีน แสดงความกังวลต่อร่างกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่จากจีน และเรียกร้องให้กรรมาธิการสภาประชาชนคว่ำร่างกฎหมายฉบับนี้

จดหมายเปิดผนึกระบุว่า ถึงแม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีเนื้อหาร่างกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่นี้ออกสู่สาธารณะ แต่เมื่อพิจารณาจากท่าทีของทางการจีน และฮ่องกงแล้วก็ชวนให้มองว่ากฎหมายฉบับใหม่นี้จะคุกคามสิทธิขั้นพื้นฐานและเสรีภาพของประชาชนในฮ่องกง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาคประชาสังคมที่กำลังตื่นตัว

จากการตัดสินใจของสภาจีน คาดว่ากฎหมายนี้จะเป็นการห้าม หรือยับยั้งการกระทำในลักษณะที่เป็นการแบ่งแยกดินแดน การบ่อนทำลาย การก่อการร้ายและ การแทรกแซงกิจการภายในฮ่องกงจากต่างประเทศ แต่ก็มีปัญหาว่าข้อความเหล่านี้มีความคลุมเครือ สามารถถูกนำมาตีความเพื่อปราบปรามคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และถูกนำมาอ้างใช้เล่นงานประชาชนผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนของตนเองอย่างสันติได้

นอกจากนี้สมาชิกสภาจีนรายหนึ่งยังได้ออกมาแนะนำว่า ผู้ที่คัดค้านกฎหมายนี้จะถูกตัดสิทธิจากการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกง ทำให้เรื่องเหล่านี้ขัดกับหลักการกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งมีผลผูกมัดกับฮ่องกง

จดหมายเปิดผนึกชี้ให้เห็นปัญหาว่ากฎหมายที่ให้คำนิยาม "ความมั่นคงแห่งชาติ" ในลักษณะที่กว้างแบบนี้ มักจะถูกนำมาเป็นข้ออ้างที่ใช้จับกุมคุมขังนักกิจกรรมที่ดำเนินกิจกรรมอย่างสันติ, ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน, นักวิชาการ, ชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติ, นักข่าว และผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งบางครั้งมีการลงโทษตลอดชีวิต โดยข้อหาต่างๆ ก็อ้างจับกุมพวกเขา เช่น "การบ่อนทำลาย" "ยุยงปลุกปั่น" "แบ่งแยกดินแดน" หรือ "ทำให้ความลับทางราชการรั่วไหล" รวมถึงเรื่อง "การแทรกแซงจากต่างชาติ" ก็ล้วนแล้วแต่มีความคลุมเครือจนอ้างใช้กับใครก็ได้ทั้งนั้น ซึ่งรัฐบาลจีน และฮ่องกงก็ชอบกล่าวอ้างมาตั้งแต่แรกแล้วว่ากลุ่มเคลื่อนไหวในฮ่องกงมีความเกี่ยวข้องกับ "อิทธิพลจากต่างชาติ" ไม่ว่าจะเป็นการประท้วง ระดมทุนบริจาค หรือวิพากวิจารณ์รัฐบาล

86 องค์กรระบุว่า ตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลนั้น รัฐไม่สามารถอ้าง "ความมั่นคงของชาติ" เพื่อให้ความชอบธรรมกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ยกเว้นว่ารัฐหรือบูรณภาพของเขตแดนถูกคุกคามด้วยกำลังอาวุธ และรัฐเองก็ไม่สามารถใช้ความมั่นคงเป็นเหตุมาจำกัดสิทธิเสรีภาพ เพื่ออ้างว่าจะนำไปใช้ป้องกันภัยคุกคามต่อระเบียบและกฎหมาย นอกจากนี้หลักการสิทธิมนุษยชนยังระบุให้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงควรจะมีความชัดเจนและมีขอบเขตชัดเจนรวมถึงระบุให้มีวิธีการแก้ไขไม่ให้ถูกอ้างใช้ในทางที่ผิด ทำให้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่จากจีนนี้ไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล

อีกประการหนึ่งคือ การที่ร่างกฎหมายใหม่อาจจะขัดกับหลักการของกฎหมายขั้นพื้นฐานของฮ่องกงคือมาตราที่ 23 ซึ่งสหประชาชาติเคยเสนอให้การร่างกฎหมายใหม่ภายใต้มาตรานี้จะต้องเป็นไปตามหลัก ICCPR ทั้งนี้ในวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมาสหประชาชาติยังเคยแสดงความเป็นห่วงเรื่องการที่รัฐบาลฮ่องกงนิยามตีขลุมคำว่า "การก่อการร้าย" เอาไว้กว้างมากและไม่มีความชัดเจนจนอาจจะนำมาอ้างใช้ละเมิดสิทธิมนุษยชนได้

จดหมายยังระบุถึงกรณีที่สภาประชาชนแห่งชาติจีนสอดแทรกกฎหมายความมั่นคงเข้ามาในภาคผนวก 3 ของกฎหมายขั้นพื้นฐานโดยตรงถือว่าน่าเป็นห่วงในเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมถึงยังเป็นการข้ามกระบวนการผ่านร่างกฎหมาย เพราะตามหลักการแล้วมาตราที่ 18 ของกฎหมายพื้นฐานระบุว่าการที่ฮ่องกงอยู่ในสถานะ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" กับจีนนั้น การที่จีนจะออกกฎหมายระดับชาติชุดใหม่ต้องผ่านกระบวนการจากสภานิติบัญญัติฮ่องกงและการปรึกษาหารือกับประชาชนก่อน ไม่ใช่เสนอประกาศใช้กับฮ่องกงทันที

จดหมายเปิดผนึกระบุย้ำว่า "ภายใต้กฎหมายพื้นฐานของฮ่องกงและสนธิสัญญาสองฝ่ายระหว่างจีนกับสหราชอาณาจักรในช่วงที่มีการส่งมอบอำนาจอธิปไตยระบุว่า ฮ่องกงจะสามารถ 'ปกครองตนเองได้ในระดับสูง' คือรัฐบาลฮ่องกงจะมีอำนาจในการบริหารจัดการกิจการเมืองของตัวเองเว้นแต่ในเรื่องกลาโหมและการต่างประเทศ" และอ้างถึงมาตราอื่นๆ ในกฎหมายพื้นฐานซึ่งเปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญของฮ่องกงว่าจีนกำลังฝ่าฝืนหลักการ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ในแง่ของการแทรกแซงความอิสระของฮ่องกงอย่างไรบ้าง

อีกเรื่องที่น่ากังวลซึ่งระบุไว้ในกฎหมายคือการที่แม้แต่ในช่วงที่ไม่มีกฎหมายความมั่นคง ศาลฮ่องกงก็เผชิญกับการกดดันจาก "คดีอ่อนไหว" หลายคดีที่อาจจะทำให้พวกเขาถูกแทรกแซงความเป็นอิสระของตุลาการได้ อีกทั้งยังน่าเป็นห่วงที่กระทรวงยุติธรรมของฮ่องกงประกาศจะตั้ง "ศาลพิเศษ" เพื่อจัดการกับคดีความมั่นคงโดยเฉพาะ ซึ่งอาจจะทำให้จีนแผ่นดินใหญ่สามารถขยายอำนาจทางตุลาการของตัวเอง โดยที่จีนแผ่นดินใหญ่มักจะลิดรอนสิทธิทางกฎหมายด้านต่างๆ ของผู้สงสัยคดีความมั่นคงเช่นไม่ให้เข้าถึงทนายหรือไม่มีกระบวนการทางกฎหมายอื่นๆ รวมถึงขาดความโปร่งใสต่อประชาชน เทียบกับระบบตุลาการในฮ่องกงที่มีความเป็นมืออาชีพมากกว่า

ทั้งหมดนี้ทำให้องค์กรต่างๆ เรียกร้องให้สภาประชาชนจีนยกเลิกการนำเสนอร่างกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ต่อฮ่องกงทันที

 

เรียบเรียงจาก

Open letter from 86 groups: China – scrap national security law to save Hong Kong freedoms, Hong Kong Free Press, 17-06-2020

https://hongkongfp.com/2020/06/17/open-letter-from-86-groups-china-scrap-national-security-law-to-save-hong-kong-freedoms/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท