ผู้ตรวจการแผ่นดินยุติสอบสมาชิกภาพ 90 ส.ว.-ม.16 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขัด รธน.

มติผู้ตรวจการแผ่นดินยุติเรื่องตรวจสอบสมาชิกภาพ 90 ส.ว. อดีต สนช. ชี้ รธน. กำหนดให้เป็นอำนาจขององค์กรอื่นยื่นเรื่องต่อศาล รธน. - ยุติเรื่องตรวจสอบ ม.16 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขัด รธน. หรือไม่ เหตุไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วย รธน.


นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน | ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2563 นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่าในวันนี้ (19 มิ.ย.) ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยเรื่องของ นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ และนายทรรศนัย ทีน้ำคำ ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้พิจารณาเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย เกี่ยวกับสมาชิกภาพของ ส.ว. จำนวน 90 คน ซึ่งเคยเป็น สนช. ว่ามีลักษณะต้องห้ามเป็น ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 108 ข. (1) (3) และ (9) อันมีผลทำให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามมาตรา 111 (4) หรือไม่ 

โดยผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยว่ากรณีปัญหาตามคำร้องเกี่ยวกับสมาชิกภาพของ ส.ว.สิ้นสุดลง มิใช่เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะพิจารณาเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ประกอบกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ได้กำหนดหน่วยงาน หลักเกณฑ์ และวิธีการพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับสมาชิกภาพของ ส.ว.สิ้นสุดลงไว้โดยชัดแจ้งและเป็นการเฉพาะแล้ว โดยเป็นอำนาจของประธานวุฒิสภาและคณะกรรมการการเลือกตั้งในการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐธรรมนูญกำหนด ดังนั้นกรณีปัญหาตามคำร้องเรียนในเรื่องนี้จึงไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา 37 (3) แห่ง พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่อาจเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงวินิจฉัยให้ยุติเรื่อง

ส่วนกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้พิจารณาเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย กรณีพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 16 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 197 หรือไม่ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 197 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครอง แต่เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลในการตรา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์ให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหารในการบริหารสถานการณ์ที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ อาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน รัฐจึงมีความจำเป็นต้องให้อำนาจฝ่ายบริหารเพิ่มขึ้นบางประการ เพื่อให้เหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาในแต่ละสถานการณ์ และมีความเป็นอิสระ อันมีลักษณะแตกต่างไปจากการใช้อำนาจบริหารราชการในสถานการณ์ปกติ ดังนั้นการที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 16 จึงเป็นการบัญญัติจำกัดอำนาจของศาลปกครองในการตรวจสอบควบคุมการออกกฎ และการกระทำของฝ่ายบริหาร โดยมีเจตนารมณ์ให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจพิเศษบางประการสำหรับบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นระยะเวลาชั่วคราว จนกว่าจะมีการประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน อีกทั้งไม่ได้หมายความว่าสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะมิได้รับความคุ้มครอง เพราะผู้ได้รับความเสียหายยังสามารถนำคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลยุติธรรม รวมทั้งมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการได้

ดังนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 16 จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 197 ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงไม่เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 23 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 โดยวินิจฉัยให้ยุติเรื่อง

ที่มาเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย [1] [2]
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท