วันผู้ลี้ภัยโลก: นักกิจกรรม-ปชช. เรียกร้องประกันสิทธิผู้ลี้ภัย สืบสวนกรณีหายตัว

นักกิจกรรม ประชาชนร่วมกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่สกายวอล์ค หอศิลป์ฯ กทม. เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ผู้ลี้ภัยการเมืองได้กลับบ้าน สืบสวนกรณีการถูกอุ้มหาย ประกันสิทธิผู้ลี้ภัยในประเทศ ผ่านกฎหมายต้านซ้อมทรมานและบังคับสูญหายฉบับภาคประชาชน

ผู้ร่วมกิจกรรมชูภาพรณรงค์เรื่องผู้ลี้ภัยทางการเมืองของไทยที่หายตัวไป

20 มิ.ย. 2563 เวลาประมาณ 17.00 น. ที่สกายวอล์ค หอศิลป์ฯ กทม. กลุ่มนักกิจกรรมเริ่มจัดกิจกรรม รำลึกวันผู้ลี้ภัยโลก ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบคอยจับตาตามจุดต่างๆ บริเวณดังกล่าว

กิจกรรมมีผู้เข้าร่วมราว 15 คน มีการปราศรัย แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชูรูปภาพของผู้ลี้ภัยทางการเมืองของไทย ซึ่งมีหลายคนที่ถูกบังคับให้สูญหายแบบยังไม่ทราบชะตากรรม บางคนก็เสียชีวิตไปแล้ว นอกจากนั้นยังมีผู้ที่นำถุงขยะสีดำมาครอบศีรษะเพื่อจำลองเหตุการณ์การถูกลักพาตัวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมชาวไทยที่ถูกลักพาตัวขณะที่ลี้ภัยอยู่ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาเมื่อ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยทิ้งคำพูดสุดท้ายเอาไว้ว่า "โอ๊ย หายใจไม่ออก"

ผู้ลี้ภัยการเมืองไทยทิ้งคำพูดสุดท้าย 'หายใจไม่ออก' ก่อนถูกคนร้ายอุ้มหายในพนมเปญ

โดยกลุ่มดังกล่าวมีข้อเรียกร้องตามแถลงการณ์ที่มีกลุ่มคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และเครื่องหนังแห่งประเทศไทย (สพท.) ลงนามเนื่องในวัน ผู้ลี้ภัยสากล วันที่ 20 มิ.ย.2563 ดังนี้

  1. รัฐบาลไทยให้บังคับใช้ และดำเนินงานตามกฎหมายและนโยบาย เพื่อประกันสิทธิและการคุ้มครองอย่างเต็มที่สำหรับผู้ลี้ภัย สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งการป้องกันไม่ให้ถูกบังคับส่งกลับ และไม่ให้มีการจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการ
  2. ยกเลิกคำสั่งเผด็จการหรือกฎหมายไม่เป็นธรรมที่เป็นสาเหตุการลี้ภัยการเมือง นำผู้ลี้ภัยกลับมายังประเทศไทย
  3. สอบสวนความจริงการอุ้มฆ่าผู้ลี้ภัยการเมืองทั้ง 9 คนที่สูญหายในประเทศลาวและกัมพูชา
  4. ผ่าน พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฉบับประชาชน

สมยศ พฤกษาเกษมสุขจากกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยกล่าวว่า ข้อเรียกร้องข้างต้นเป็นข้อเรียกร้องทางศีลธรรมเพื่อจะบอกสังคมไทยว่า หยุดการเข่นฆ่าและความรุนแรงทางการเมืองได้แล้วเพื่อให้เกิดสังคมที่สันติสุข

เอเนอุส อาห์หมัด ผู้ร่วมงานชาวโรฮิงญาอายุ 53 ปี เล่าว่า เขาหนีการเลือกปฏิบัติมาจากรัฐยะไข่ ประเทศพม่าเมื่อราว 30 ปีที่แล้ว จนถึงตอนนี้ยังไม่เห็นว่าสถานการณ์ในพม่าจะดีขึ้นสำหรับชาวโรฮิงญา เขาหวังว่าสักวันหนึ่งรัฐบาลพม่าจะทำให้ชาวโรฮิงญามีสิทธิที่เท่าเทียมกับชาติพันธุ์อื่นๆ

ภาพในงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท