อะไรทำให้คนติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากจากโรงฆ่าสัตว์ในเยอรมนี

เยอรมนีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากในโรงฆ่าสัตว์-แปรรูปเนื้อสัตว์ พบส่วนใหญ่มาจากสภาพการจ้างงานย่ำแย่ แออัด และระบบระบายอากาศที่ออกแบบไม่ดี

ดอยซ์เวลเล สื่อเยอรมนีรายงานว่า ประชาชน 657 คน ตรวจพบโควิด-19 ที่โรงฆ่าสัตว์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเยอรมนี จากผลตรวจ 983 ตัวอย่าง อ้างจากคำประกาศของทางการเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ตามเวลาท้องถิ่น

โรงฆ่าสัตว์ที่มีการระบาดดังกล่าวคือโรงแปรรูปเนื้อสัตว์ เรดา-วีเดนบรูก ในเมืองกูเทอร์สโลห์ ดำเนินการโดยบริษัท ทนนีส์ บริษัทแปรรูปเนื้อสัตว์ชั้นนำในเยอรมนี หลังตรวจพบผู้ติดเชื้อ ประชาชนราว 7,000 คน ในพื้นที่ต้องถูกกักตัวเพื่อเฝ้าระวังโรค

ผลตรวจครั้งนี้ทำให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสั่งปิดโรงงาน ให้โรงเรียนและศูนย์ดูแลเด็เล็กและคนชราในท้องที่หยุดเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะถึงวันที่ 29 มิ.ย. โดยหวังว่าจะช่วยยับยั้งการระบาดได้

ดอยซ์เวลเล วิเคราะห์สาเหตุที่โควิด-19 ระบาดหนักในโรงฆ่าสัตว์-แปรรูปเนื้อสัตว์ว่า เป็นเพราะสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ สัญญาจ้างที่กดขี่ และค่าเช่าที่พักสูงมากสำหรับคนงานยุโรปตะวันออก ทำให้คนต้องอยู่อย่างแออัด

เคยมีการตั้งข้อสังเกตแบบเดียวกันในสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาว่า การระบาดของ โควิด-19 ไม่ได้เกิดหนักในเขตเมืองใหญ่ๆ ที่มีผู้คนพลุกพล่าน แต่เกิดในโรงแปรรูปเนื้อสัตว์หลายแห่ง และยังเกิดในประเทศอย่างแคนาดา, สเปน, ไอร์แลนด์, บราซิล และออสเตรเลีย ทำให้นิโคลัส คริสทากิส ประธานฮิวแมนเนเชอร์แล็บของมหาวิทยาลัยเยลกล่าวว่า นี่เป็นหลักฐานว่าต้องมีนัยสำคัญบางอย่างเกี่ยวกับโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ที่เพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19

แม้ว่าบริษัททนนีส์จะกล่าวขอโทษและตั้งสมมติฐานการระบาดของโรคว่า น่าจะมาจากการที่คนงานของพวกเขาซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโรมาเนียและบัลแกเรีย เดินทางกลับจากประเทศตัวเองพร้อมนำโรคกลับมาด้วย แต่ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อยุโรปต่างก็ระบุว่า เยอรมนีมีผู้ติดเชื้อสูงกว่าโรมาเนียและบัลแกเรียมาก

รายงานล่าสุดของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ (CDC) ระบุว่า สภาพการจ้างงานแออัดที่ทำให้คนทำงานในโรงแปรรูปเนื้อสัตว์ต้องอยู่ใกล้ชิดกัน ประกอบกับวิธีการทำงานที่ต้องอาศัยการขยับตัวหรือใช้แรงกายอย่างมากทำให้ต้องหายใจแรง และมักจะทำให้หน้ากากอนามัยคงอยู่บนใบหน้าอย่างเหมาะสมได้ยาก สิ่งเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อทั้งสิ้น
ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อเสนอแนะว่า ควรจะลดความแออัดของระบบการทำงานลงด้วยการทำให้สายพานการผลิตช้าลง ใช้คนงานน้อยลง และกระจายกะการทำงานมากขึ้นเพื่อลดจำนวนลูกจ้างที่ทำงานภายในเวลาเดียวกัน

นอกจากนี้ นิตยสาร Wired ยังรายงานว่า โรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์มีลักษณะเฉพาะที่ทำให้ดัดแปลงสภาพได้ยาก อย่างอุณหภูมิที่หนาวเย็นมาก และระบบระบายอากาศที่รุนแรง เพื่อป้องกันไม่ให้เนื้อเสื่อมสภาพหรือปนเปื้อน สิ่งเหล่านี้ทำให้ตัวเลขการติดเชื้อค่อนข้างสูงในหมู่คนงานโรงฆ่าสัตว์

ซิมา อซาดี วิศวกรเคมีจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ดาวิส กล่าวว่า อุณหภูมิที่ต่ำทำให้ไวรัสอยู่นอกร่างกายได้นานขึ้นและเพิ่มโอกาสการอยู่รอดของไวรัสในอากาศ นั่นทำให้โอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อสูงขึ้นในโรงงานลักษณะนี้

กรณีระบบระบายอากาศที่รุนแรง ในโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์มีความเร็วลมสูงกว่าปกติถึง 100 เท่า ทำให้ละอองเชื้อโรคเดินทางได้เร็วขึ้นตาม และทำให้คาดเดาการแพร่กระจายเชื้อได้ยากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม เคยมีการวิจัยและทดลองจากบางมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ตั้งแต่ช่วงที่มีโรคระบาดอื่นๆ ก่อนหน้านี้แล้วว่า จะเป็นอย่างไรหากพวกเขาปรับเปลี่ยนการวางระบบระบายอากาศ และวางเสาอาคารใหม่ การทดลองคำนวณระบบจำลองการไหลเวียนของอากาศที่ออกแบบใหม่ พบว่า การแก้ไขการออกแบบเล็กๆ น้อยๆ อย่างการเปลี่ยนตำแหน่งพัดลมหรือเสาอาคาร ก็ส่งผลเปลี่ยนแปลงการไหลเวียนของอากาศอย่างมาก และเป็นตัวตัดสินว่าระบบระบายอากาศจะส่งผลดีหรือส่งผลเสีย ในแง่ที่ทำให้กลุ่มฝุ่นละอองที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ จับกลุ่มกันเป็นก้อนและเกาะบนพื้นผิว

ในการทดลองอีกกรณี โดยมาเรีย คิง ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีละอองลอย มหาวิทยาลัยเท็กซัสเอแอนด์เอ็ม ร่วมมือกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ เปิดเผยว่า สภาพการทำงานที่ต้องชำแหละเนื้อสัตว์ มีโอกาสทำให้จุลชีพ เช่น ไวรัสหรือแบคทีเรีย จากในร่างกายมนุษย์ลอยปะปนในอากาศ หรือจับกับพื้นผิวได้

นอกจากปัจจัยทางกายภาพ สภาพทางสังคมและเศรษฐกิจก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการระบาดด้วย จากการที่โรงงานเหล่านี้มีสภาพการทำงานที่อันตราย ใช้แรงงานหนัก คนงานได้รับค่าจ้างต่ำ เป็นแรงงานข้ามชาติที่สภาพความเป็นอยู่ยากจน จำเป็นต้องอาศัยอยู่ใน้บานพักที่คนอยู่รวมกันหลายคน และใช้บริการขนส่งมวลชนที่มีคนใช้งานพร้อมกันจำนวนมาก นอกจากนี้ หากพวกเขาป่วย คนเหล่านี้ก็เข้าถึงการตรวจวินิจฉัยโรคและการรักษาพยาบาลได้น้อยกว่า ในแง่การใช้โทรศัพท์เพื่อติดตามผลของโรคนั้น แรงงานหลายคนไม่มีโทรศัพท์ บ้างก็กลัวว่าสภาพความเป็นแรงงานข้ามชาติที่เสี่ยงต่อการถูกรังแกจากรัฐ การให้ติดตามผลด้วยโทรศัพท์มือถืออาจจะเป็นภัยต่อพวกเขาได้

กรณีในเยอรมนีนั้น นักบวชคาทอลิก ปีเตอร์ คอสเซน ที่ทำหน้าที่บาทหลวงให้กับคนงานจำนวนมากในอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อสัตว์ เรียกร้องให้พัฒนาสภาพการทำงานในที่ทำงานของแรงงานภาคส่วนนี้ เขาบอกว่าแรงงานในภาคส่วนนี้ลำบากตรากตรำจากสภาพความเป็นอยู่และสภาพการทำงานปัจจุบัน รวมถึงถูกปฏิบัติอย่างไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ราวกับเป็นพลเมืองชั้นสาม

คอสเซนเรียกร้องให้มีการจัดหาที่พักของแรงงานแบบหนึ่งคนต่อหนึ่งห้อง เพื่อทำให้แรงงานสามารถเว้นระยะห่างทางสังคมได้

"ตราบใดที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างนี้ คุณก็จะมีการระบาดหนักในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เกิดขึ้นอยู่เสมอ" คอสเซนกล่าว

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท