Skip to main content
sharethis

สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากลเผยผลสำรวจ 'ITUC Global Rights Index 2020' ระบุ 10 ประเทศยอดแย่สำหรับคนทำงานได้แก่ บังกลาเทศ, บราซิล, โคลัมเบีย, อียิปต์, ฮอนดูรัส, อินเดีย, คาซัคสถาน, ฟิลิปปินส์, ตุรกี และซิมบับเว ส่วน 'ไทย' ยังถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มความรุนแรงระดับ 5 'กลุ่มประเทศที่ไม่มีการรับประกันสิทธิแรงงาน' เช่นปี 2562

21 มิ.ย. 2563 จากรายงาน ITUC Global Rights Index 2020 – The World’s Worst Countries for Workers ของสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Trade Union Confederation หรือ ITUC) ระบุว่าบังกลาเทศ, บราซิล, โคลัมเบีย, อียิปต์, ฮอนดูรัส, อินเดีย, คาซัคสถาน, ฟิลิปปินส์, ตุรกี และซิมบับเว เป็น 10 ประเทศที่เลวร้ายที่สุดสำหรับคนทำงานในปี 2563 จากการประเมินทั้งหมด 144 ประเทศ

องค์กรแรงงานเผยดัชนี 10 ประเทศ 'ยอดแย่' ของ 'คนทำงาน' ปี 2562
องค์กรแรงงานเผยดัชนี 10 ประเทศ ‘ยอดแย่’ ของ ‘คนทำงาน’ ปี 2561
องค์กรแรงงานเผยดัชนี 10 ประเทศ ‘ยอดแย่’ ของ ‘คนทำงาน’ ปี 2560
องค์กรแรงงานเผยดัชนี 10 ประเทศ ‘ยอดแย่’ ของ ‘คนทำงาน’ ปี 2559
องค์กรแรงงานสากลเผย 10 ประเทศ ‘ยอดแย่’ ของ ‘คนทำงาน’ ปี 2558

ในรายงานยังระบุว่าภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาเป็นภูมิภาคที่เลวร้ายที่สุดในโลกสำหรับคนทำงาน  โดย ITUC ชี้ไปที่ความไม่มั่นคงและความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องในปาเลสไตน์, ซีเรีย, เยเมน และลิเบีย ควบคู่ไปกับการเป็นภูมิภาคที่ถดถอยที่สุดในประเด็นสิทธิสหภาพแรงงาน

นอกจากนี้ ITUC ระบุว่ามีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของการจำกัดสิทธิของแรงงาน การละเมิดการเจรจาต่อรอง การกีดกันแรงงานสหภาพแรงงาน และการไม่ยอมรับสิทธิในการประท้วง จากทั้งรัฐบาลของแต่ละประเทศและนายจ้าง รวมถึงแนวโน้มคุกคามและข่มขู่สหภาพแรงงานและสมาชิกสหภาพแรงงาน

ตัวอย่างข้อค้นพบจากการสำรวจใน 144 ประเทศ ครั้งนี้ของ ITCU ได้แก่ :

- ร้อยละ 85 จาก 144 ประเทศ พบการละเมิดสิทธิ์ในการนัดหยุดงาน
- ร้อยละ 80 จาก 144 ประเทศ พบการละเมิดสิทธิ์ในการต่อรองร่วมกัน
- มีจำนวนประเทศที่ขัดขวางการลงทะเบียนสหภาพแรงงานเพิ่มมากขึ้น
- จาก 10 ประเทศที่เลวร้ายที่สุดสำหรับคนทำงาน มี 3 ประเทศรายใหม่ คือ อียิปต์ ฮอนดูรัส และอินเดีย
- พบจำนวนประเทศที่ปฏิเสธหรือจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพิ่มขึ้นจาก 54 ในปี 2562 เป็น 56 ในปี 2563
- มีรายงานว่าคนทำงานต้องเผชิญกับความรุนแรงทางกายภาพใน 51 ประเทศ
- คนทำงานไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมหรือถูกจำกัดสิทธิในการเข้าถึงระบบยุติธรรม ร้อยละ 72 จาก 144 ประเทศ
- คนทำงานมีประสบการณ์การจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการใน 61 ประเทศ

สำหรับประเทศไทย ITUC ในปี 2563 นี้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มความรุนแรงระดับ 5 'กลุ่มประเทศที่ไม่มีการรับประกันสิทธิแรงงาน' เช่นเดียวกับในปี 2562 ที่ผ่านมา ส่วนก่อนหน้านี้ในปี 2558, 2559, 2560 และ 2561 ไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศความรุนแรงระดับที่ 4 'กลุ่มประเทศที่มีการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเป็นระบบ'

ที่มาเรียบเรียงจาก
2020 ITUC Global Rights Index: violations of workers’ rights at seven-year high (ITUC, 18 June 2020)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net