Skip to main content
sharethis

21 มิ.ย. 2563 ไทยพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่ม 1 คน เป็นเด็กชายวัย 6 ขวบ เดินทางกลับจากแอฟริกาใต้พร้อมกับแม่ และเข้า State Quarantine จ.ชลบุรี ส่วนผลตรวจของแม่ยังไม่พบเชื้อ ทำให้ยอดติดเชื้อสะสม 3,148 คน เสียชีวิตสะสม 58 คน รักษาหายสะสม 3,018 คน 'ประยุทธ์' แสดงความเสียใจผู้เสียชีวิตใน State Quarantine - เตรียมเสนอ ศบค.ชุดใหญ่ พิจารณาเปิดผับบาร์ สัปดาห์หน้า - โพลระบุประชาชนส่วนใหญ่รายได้แย่ลงในช่วง COVID-19

21 มิ.ย. 2563 ศบค.แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 1 คน อยู่ใน State Quarantine ผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,148 คน รักษาตัวใน รพ. 72 คน หายป่วยแล้ว 3,018 คน เสียชีวิตสะสม 58 คน

ผู้ป่วยใหม่ เป็นเด็กชายไทยอายุ 6 ปี พร้อมแม่เดินทางมาจากแอฟริกาใต้ และถึงไทยเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยเข้า State Quarantine ที่ จ.ชลบุรี ตรวจหาเชื้อเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. และพบเชื้อ COVID-19 แต่ไม่มีอาการ ส่วนแม่ของเด็กตรวจในวันเดียวกัน แต่ยังไม่พบเชื้อ

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวแสดงความเสียใจกับครอบครัวของนายพงษ์ศักดิ์ คิดค้า ที่เสียชีวิตระหว่างการเข้า State Quarantine ณ สถานที่โรงแรมบางกอกเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ พร้อมสั่งช่วยเหลือครอบครัวเต็มที่ เบื้องต้นคาดว่าหัวใจล้มเหลวจากโรคหัวใจ โดยเดินทางกลับจากญี่ปุ่นเมื่อ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา และผลตรวจ 2 ครั้ง ไม่พบติดเชื้อ COVID-19 อยู่ระหว่างรอ รพ.ตำรวจตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัด

เตรียมเสนอ ศบค.ชุดใหญ่ พิจารณาเปิดผับบาร์ สัปดาห์หน้า

พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะประธานคณะทำงานกลั่นกรองกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 และในฐานะกรรมการ ศบค.ชุด เล็ก หารือร่วมกับตัวแทนผู้ประกอบการผับ บาร์ และคาราโอเกะ ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล เพื่อพูดคุยและรับฟังข้อเสนอในการวางแนวทางการผ่อนคลายมาตรการสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการดังกล่าว  

พลเอกณัฐพล กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้เพื่อนำมติเข้าสู่ที่ประชุม ศูนย์บริหาร สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยเหลือเยียวยาประชาชน อีกทั้งในขณะนี้ เป็นการผ่อนคลายระยะที่สี่ ซึ่งการผ่อนคลายจะต้องให้ความสำคัญ 2 ข้อใหญ่ คือกิจการ-กิจกรรม ต้องคำนึงถึงความจำเป็นและความเสี่ยง รวมถึงผลกระทบของเศรษฐกิจและสังคม ว่าอะไรมีความจำเป็นมากกว่ากัน จะต้องทำเปรียบเทียบกัน ความพร้อมในส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ รวมถึงความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแล ซึ่งการแก้ปัญหาที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี ได้ย้ำว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น เกิดจากความร่วมมือของคนไทยทุกคนในการทำตามมาตรการของภาครัฐ และการผ่อนคลายในระยะเวลาที่ผ่านมา ภาครัฐได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ส่วนตัวยอมรับว่า ศบค. ไม่สามารถที่จะติดตามได้ทุกธุรกิจ และในวันนี้จะมารับทราบถึงปัญหาที่ผู้ประกอบการมาพูดคุยกัน เพื่อรับทราบถึงข้อปัญหาทุกอย่างที่พูดคุยกัน แล้วนำมาเป็นข้อสรุปในการผ่อนคายกิจการ-กิจกรรม ต่อไป

นายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจถนนข้าวสาร กล่าวว่า ความลำบากของที่ผู้ประกอบการถนนข้าวสารได้พบเจอ คือ ก่อนการผ่อนคลายระยะที่ 4 ผู้ประกอบการไม่ได้รับอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมถึงมาตรการเคอร์ฟิว ทำให้ผู้มาใช้บริการไม่สามารถใช้บริการได้เกินกำหนดระยะเวลาที่ภาครัฐจะกำหนดไว้ แต่ทั้งนี้ ยังมีธุรกิจชนิดอื่นที่ไม่ใช่ ผับ บาร์ หรือสถานบันเทิง เช่น ร้านอาหารเป็นธุรกิจที่สามารถผ่อนปรนได้ เพราะร้านค้าแต่ละร้านทำตามมาตรการที่รัฐกำหนดไว้ ส่วนตัวเชื่อว่า ผู้ประกอบการทุกคนเชื่อมั่นในการทำงานของ ศบค. ที่ทำให้ไม่เกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศเป็นระยะเวลา 28 วัน แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการ คือ หากบางธุรกิจต้องลดจำนวนพนักงาน หรือลูกจ้างออกไป ภาครัฐจะมีนโยบายช่วยเหลืออย่างไร ทุกคนอยากเห็นมาตรการที่เป็นรูปธรรม หากยังไม่ปลดล็อกให้ธุรกิจสถานบันเทิง ภาครัฐจะช่วยยังไง ส่วนตัวขอแค่ให้ภาครัฐช่วยผ่อนคลายเพราะผลกระทบกระทบนั้น ส่งผลให้กลุ่มนักดนตรี ที่ไม่ใช่พนักงานประจำ ไม่มีรายได้ ซึ่งจะได้รับค่าตอบแทนต่อครั้ง ในการมาแสดงดนตรี ตนจึงอยากจะเสนอให้ภาครัฐมามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างชัดเจน พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลคลายล็อกธุรกิจกลางคืนบางประเภท เช่น ร้านที่แยกกันนั่งเฉพาะกลุ่มคนที่มาด้วยกัน ให้กลับมาเปิดกิจการได้ แต่หากรัฐยังไม่ปลดล๊อก ก็ควรมีมาตรการเยียวยาทางผู้ประกอบการและอาชีพในธุรกิจกลางคืน เนื่องจากมาตรการเยียวยาอาชีพอิสระ 5,000 บาท ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย

กลุ่มผู้ประกอบการและอาชีพในธุรกิจกลางคืน ยังเรียกร้องขอให้มีมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม อาทิ ขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟท์โลน 5 ปี , ขอยกเว้นภาษีสรรพษามิต 5 ปี หรือจนกว่าเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด19 ฟื้นตัว , ยืดระยะเวลาพักชำระหนี้บ้าน รถ สิ้นเชื้อส่วนบุคคล สินเชื่อระยะสั้น อีก 3 เดือน โดยมาตรการเหล่านี้ เพื่อเป็นข้อเสนอให้ที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่พิจารณา

โพลระบุประชาชนส่วนใหญ่รายได้แย่ลงในช่วง COVID-19

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจประชาชน เรื่อง “การบริโภคอาหารในช่วงโควิด-19” ซึ่งทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15–16 มิ.ย. 2563 โดยการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,273 หน่วยตัวอย่าง  

จากการสำรวจพบว่าเมื่อถามถึงรายได้ในช่วงการแพร่ระบาดพบประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 61.51 ระบุว่าแย่ลง รองลงมาร้อยละ 37.00 ระบุว่าเหมือนเดิม และร้อยละ 1.49 ระบุว่า ดีขึ้น

ส่วนความเพียงพอต่อการใช้จ่ายของรายได้ในปัจจุบัน พบว่าร้อยละ17.91 ระบุว่าเพียงพอ ร้อยละ 16.03 ระบุว่าค่อนข้างเพียงพอ ร้อยละ 33.46 ระบุว่าไม่ค่อยเพียงพอ ร้อยละ 32.13 ระบุว่าไม่เพียงพอเลย และร้อยละ 0.47 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านความกังวลต่อเงิน/รายได้ หรือทรัพยากร สำหรับการบริโภคอาหารที่จำเป็น พบว่าร้อยละ 21.13 ระบุว่ามีความกังวลมาก , ร้อยละ 38.18 ระบุว่าค่อนข้างมีความกังวล ร้อยละ 23.80ระบุว่าไม่ค่อยมีความกังวล ร้อยละ 16.65 ระบุว่า ไม่มีความกังวลเลย และร้อยละ 0.24 ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อถามผลกระทบต่อเงิน/รายได้หรือทรัพยากรในการหาซื้อหรือจัดหาอาหาร เพื่อการบริโภคจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิค–19 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 37.86 ระบุว่าบริโภคได้ตามปกติ รองลงมาร้อยละ 35.43 ระบุว่าบริโภคอาหารครบทุกมื้อ แต่จำกัดชนิดอาหาร เพื่อประหยัดเงิน ร้อยละ17.44 ระบุว่างดบริโภคอาหารดี มีคุณค่าและมีราคา เพื่อประหยัดเงิน ร้อยละ13.75 ระบุว่าลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อ เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอ ร้อยละ 8.01 ระบุว่างดอาหารบางมื้อ เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอ ร้อยละ 0.31 ระบุว่า ไม่ได้บริโภคอาหารทั้งวันเพราะไม่มีเงิน และร้อยละ 0.24 ระบุว่า ทั้งครัวเรือนไม่มีอาหารเหลือเพราะไม่มีเงิน

สำหรับการไปรับอาหารแจกฟรีตามสถานที่ต่าง ๆ หรือไปรับอาหารจากตู้ปันสุข พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 83.19 ระบุว่าไม่เคยไปรับ ขณะที่ ร้อยละ 16.81 ระบุว่าเคยไปรับ

ด้านการเคยแจกเงิน อาหารหรือสิ่งของเครื่องใช้ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด–19 พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 64.89ระบุว่า ไม่เคยแจกเงิน อาหาร หรือสิ่งของเครื่องใช้ ขณะที่ร้อยละ 35.11 ระบุว่าเคยแจกเงิน อาหาร หรือสิ่งของเครื่องใช้ โดยในจำนวนของผู้ที่เคยแจกเงิน อาหาร หรือสิ่งของเครื่องใช้ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 70.07 เคยแจกเงิน อาหาร หรือสิ่งของเครื่องใช้ของตนเอง และร้อยละ 32.20 ระบุว่า เคยร่วมแจกเงิน อาหาร หรือสิ่งของเครื่องใช้ของหน่วยงาน/องค์กร/สมาคม

ทั้งนี้ เมื่อสอบถามผู้ที่เคยแจกเงิน อาหาร หรือสิ่งของเครื่องใช้ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด–19 เกี่ยวกับมูลค่าของสิ่งของ อาหาร หรือเงินที่แจก พบว่าร้อยละ 62.30 ระบุว่ามูลค่าไม่เกิน 1,000 บาท ร้อยละ 23.25 ระบุว่า มูลค่า 1,001 – 5,000 บาท ร้อยละ 3.16 ระบุว่า มูลค่า 5,001 – 10,000 บาท  ร้อยละ 2.25 ระบุว่า มูลค่า 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 3.17 ระบุว่า มูลค่า 20,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 5.87 ระบุว่า ไม่ระบุ 

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการได้รับเงินช่วยเหลือ/เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จากรัฐบาล พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 53.42 ระบุว่าไม่เคยรับ ขณะที่ร้อยละ 46.58 ระบุว่าเคยรับ โดยในจำนวนของผู้ที่เคยได้รับเงินช่วยเหลือ/เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จากรัฐบาล ส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.01 ระบุว่า เคยรับเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท ผ่านโครงการเราไม่ทิ้งกัน รองลงมา ร้อยละ 37.77 ระบุว่า เคยรับเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท 

สำหรับกลุ่มเกษตรกร ร้อยละ 2.53 ระบุว่า เคยรับเงินเยียวยาจากสำนักงานประกันสังคม และร้อยละ 1.69 ระบุว่า เคยรับเงินเยียวยาสำหรับกลุ่มคนที่มีความเปราะบางทางสังคม เช่น เด็กแรกเกิด  ผู้พิการ และคนชรา

ที่มาเรียบเรียงจาก: Thai PBS | สำนักข่าวไทย [1] [2]



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net