‘อุ้มหาย...แล้วไง’ : 'ฐปณีย์-วรรณสิงห์-ฟลุค-ประธาน สนท.-ณัฏฐา' ถกการอุ้มหาย สิทธิมนุษยชนและการรับรู้ของสังคม   

'ฐปณีย์-วรรณสิงห์-ฟลุค เดอะสตาร์-ประธาน สนท.-ณัฏฐา' ร่วมถกวงเสวนา ‘อุ้มหาย...แล้วไง’ ระบุการอุ้มหายผิดหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ควรจะมีทั้งคนลี้ภัยและคนถูกอุ้มหาย พร้อมทั้งอยากให้สังคมสามารถพูดเรื่องนี้ได้อย่างปลอดภัย 

วันที่ 13 มิ.ย. 2563 ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนินกลาง คณะประชาชนเพื่อเสรีภาพ(คปอ.) จัดเสวนา ‘อุ้มหาย...แล้วไง ?’  ว่าด้วยการอุ้มหายในประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และทำไมคนไทยจึงควรให้ความสนใจเรื่องนี้ โดยมีวิทยากรประกอบด้วย ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าว, วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล พิธีกร นักเขียน นักทำสารคดี, พชร ธรรมมลหรือฟลุค เดอะสตาร์ นักร้อง นักแสดง ที่ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองจนกระทบกับงาน และ จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทยหรือ สนท. และในฐานะหลานสาวของเตียง ศิริขันธ์ อดีตหัวหน้าเสรีไทยสายอีสานผู้ถูกอุ้มฆ่า รวมทั้งณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมเป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา

โกรธ ใจหาย ชาชิน

สำหรับข่าวเรื่องการถูกอุ้มหายของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่กัมพูชาเมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น วรรณสิงห์กล่าวว่า รู้สึกใจหายมาก ถึงแม้จะไม่ได้สนิทกับวันเฉลิม แต่ก็เคยเห็นหน้าเห็นตากันมาก่อน ซึ่งกรณีที่มีคนถูกอุ้มหายครั้งก่อนๆ ก็รู้สึกโกรธ แต่พอมันเป็นคนใกล้ตัว ความรู้สึกมันดิ่งลงไปมากกว่านั้น แม้เป็นประเด็นส่วนตัว แต่ประเด็นส่วนตัวก็ย่อมกระทบไปยังส่วนรวมอยู่แล้ว สำหรับคนอื่นๆ ที่ถึงแม้จะไม่ได้รู้จักวันเฉลิมก็รู้สึกร่วมเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะว่ามันเป็นเรื่องของหลักการของสิทธิมนุษยชนและความอยุติธรรมทั้งหลาย

วรรณสิงห์ยังกล่าวต่ออีกว่า ส่วนตัวทำงานด้านสังคม ซึ่งเน้นไปที่สิ่งแวดล้อมเป็นหลัก แต่การออกมาพูดเรื่องนี้ก็เพราะว่าตนนั้นในฐานะที่เป็นกระบอกเสียงก็อยากจะช่วยกระพือเรื่องนี้ ไม่อยากให้หายไป ซึ่งความรู้สึกแรกหลังจากทราบข่าวนั้น รู้สึกใจหาย จากนั้นก็รู้สึกโกรธแล้วก็คิดว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง ตนอยากมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ ซึ่งตนก็ตอบรับทันทีหลังจากที่ได้รับเชิญให้มางานเสวนาในวันนี้ เพราะอยากแสดงออกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง รวมทั้งอยากเปิดพื้นที่ให้กับคนที่พูดถึงเรื่องนี้ ไม่รู้สึกกลัวเวลาพูดถึงมัน

เกี่ยวกับคดีคนถูกอุ้มหายในครั้งก่อนหน้านี้นั้น วรรณสิงห์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทราบว่ามีหลายราย แต่เพิ่งมาเข้าใจว่ามีจำนวนทั้งหมดกี่รายหลังจากที่สื่อรายงาน ตนยอมรับว่าไม่ได้ตื่นตัวในทุกคดีเท่ากับคดีนี้ ซึ่งบางครั้งกระแสสังคมก็เยอะ บางครั้งกระแสสังคมก็น้อย ในความรู้สึกส่วนตัว ไม่ว่าคดีนี้จะเกิดกับใคร ตนก็รับไม่ได้อยู่แล้ว สำหรับคดีก่อนๆ นั้น ตนไม่ได้รู้สึกเพิกเฉย เพียงแต่ไม่ได้มีความรู้สึกอยากจะลุกขึ้นมาทำอะไรเท่ากับรอบนี้ อาจจะเกิดจากความรู้สึกที่มันสะสมกอปรกับวันเฉลิมเป็นคนใกล้ตัว ดังนั้นจึงอยากจะออกมาพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้สักหน่อย

พชรกล่าวถึงความรู้สึกของตนหลังจากได้ยินข่าววันเฉลิมว่า ค่อนข้างรู้สึกชิน เนื่องจากตนเคยสนใจเรื่องการเมืองเมื่อ 8-9 ปีที่แล้ว ได้เห็นการกระทำที่รุนแรงต่อผู้เห็นต่าง ซึ่งช่วงแรกๆ ก็รู้สึกโกรธเหมือนกับคนรุ่นใหม่ที่เห็นข่าวคนอุ้มหาย แต่พอมาเป็นในกรณีนี้ ตนเห็นคนตื่นตัวกันเยอะขึ้นต่างกันกับอีก 8 รายที่ผ่านมา ซึ่งใน 8 รายที่ผ่านมา ตนก็ได้ติดตามข่าว มีการพูดถึงในวงแคบๆ ซึ่งใน 8 รายที่ผ่านมาเป็นบุคคลที่เคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างชัดเจนและโตแล้ว ซึ่งในกรณีของต้าร์ วันเฉลิมนั้น ตนรู้สึกว่า ต้าร์ยังอายุน้อยเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ และเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองด้วยถ้อยคำหยาบคายหรือใส่ร้ายให้ผู้อื่นเสื่อมเสีย แต่สิ่งที่ต้าร์ทำผ่านเพจนั้นเป็นการนำเสนอข้อเท็จจริง เรื่องอุ้มหายนี้เป็นสิ่งที่น่าเศร้า แต่ตนรู้สึกดีใจที่สังคมมีการตื่นตัวกับเรื่องนี้ ถือว่าเป็นก้าวที่ดีไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น หากเราพูดกันดังขึ้น ตนเชื่อว่าความโหดร้ายหรือความชั่วร้ายดังกล่าว ก็จะเกิดได้ยากขึ้นในครั้งต่อ ๆ ไป

จุฑาทิพย์กล่าวว่า สนท.เป็นกลุ่มแรกที่ทราบข่าวการอุ้มหายของวันเฉลิมและได้กระจายข่าว แต่มีทางผู้ใหญ่เตือนมาว่า อย่าเพิ่งกระจายเพราะมันมีผลต่อรูปคดี ซึ่งก็ลบไปช่วงนึงก่อนจะกระจายข่าวต่อหลังจากได้รับการอนุญาตจากผู้ใหญ่คนเดิม จากนั้นก็เริ่มติด #Saveวันเฉลิม ทั้งนี้ตนและเพื่อนก็คุยกันในกลุ่มสนท.ในการออกมาเทคแอคชั่นเกี่ยวกับเรื่องการอุ้มหาย เพราะว่าการอุ้มหายนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าและไม่เคยมีความยุติธรรมเกิดขึ้นกับครอบครัวผู้ที่ถูกอุ้มหายและความยุติธรรมในสังคมนี้ ตนและเพื่อนจึงเริ่มจัดกิจกรรมที่สกายวอล์คหน้าหอศิลป์ แต่ก็โดนเจ้าหน้าที่รัฐขู่ใช้พ.ร.ก ฉุกเฉิน จุฑาทิพย์กล่าวถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐว่า เป็นสิ่งที่น่าใจหายมาก ในขณะที่คนไทยถูกอุ้มหาย เจ้าหน้าที่รัฐยังสามารถใช้กฎหมายในการข่มขู่ คุกคาม ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือนักศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างมาก ทำให้ความสนใจในตอนนั้นไปอยู่ที่การขู่ใช้กฎหมายของตำรวจแทนที่จะเป็นความสนใจในเรื่องของการหายไปของบุคคลหนึ่ง แต่ตนและเพื่อนก็ยืนยันที่จะทำกิจกรรมต่อไปในการส่งเสียงเรียกร้องการหายไปของของคนไทยหรือมนุษย์คนหนึ่ง ในกรณีของวันเฉลิมนั้นถือว่าเป็นกระแสสังคม ทำให้คนสังคมรู้ว่าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นในสังคมไทย โดยส่วนตัวนั้นตนมีความรู้สึกร่วมโดยตรงกับเหตุการณ์นี้ เนื่องจากภูมิหลังของครอบครัวนั้น ปู่ทวด (เตียง ศิริขันธ์) เคยโดนอุ้มหายและโดนฆ่า โดนทางการกระทำแบบไม่เป็นธรรมมาก่อน  ซึ่งตนก็ยอมรับว่าในครอบครัวแทบจะไม่พูดถึงเรื่องนี้เลย ตนได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้ภายหลังจากการอ่านหนังสือ ครอบครัวพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดถึง เพราะไม่อยากให้ตนรู้สึกหวาดกลัว ซึ่งก็ไม่ใช่ปู่คนเดียวที่โดนกระทำ แต่ญาติคนอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมทางการเมืองก็ถูกกระทำเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ตนถูกห้ามปรามจากคนในครอบครัวไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองเนื่องจากเป็นห่วงสวัสดิภาพในชีวิตและการใช้นามสกุล ศิริขันธ์ นั้นอาจทำให้ตกเป็นเป้าได้ง่ายในการโดนสิ่งที่ไม่เป็นธรรมในอดีตมาทำร้ายตน

บุคคลสาธารณะกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง

การแสดงความคิดเห็นของบุคคลสาธารณะในเรื่องวันเฉลิมนั้น วรรณสิงห์ กล่าวว่า ควรจะแสดงความคิดเห็น แต่ไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองอย่างเดียว เรื่องประเด็นสาธารณะอะไรก็ตามที่เรารู้สึกว่าเรามีส่วนร่วมหรือว่าช่วยกระตุ้นให้มันดีขึ้น เราก็ควรจะกระตุ้นก็ควรที่จะแสดงความคิดเห็นด้วย ทั้งนี้คีย์เวิร์ดของการแสดงความคิดเห็นนี้คือ ทำให้ดีขึ้นด้วย ซึ่งหากเราแสดงความคิดเห็นแล้วนำไปซึ่งการปะทะของสองฝั่ง แล้วเกิดการด่าทอกันมากขึ้นหรือปลุกปั่นความเกลียดชังกันมากขึ้น ก็ควรจะหยุด แต่ถ้าสมมติเป็นการพูดเพื่อไม่ให้ประเด็นนั้นเงียบหายไปจากสังคมรวมไปถึงทำให้เกิดการกระทำบางอย่างที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ ผมคิดว่าเราควรจะมีความรับผิดชอบในฐานะบุคคลสาธารณะ แต่แน่นอนว่าไม่มีใครสามารถแสดงความคิดเห็นทุกเรื่องได้อยู่แล้ว ดังนั้น เราควรเลือกประเด็นที่เราจะชูขึ้นมาได้ อย่างเช่นเรื่องไฟป่าที่ตนพูดไปเมื่อต้นปี ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนในวงการบันเทิงสามารถช่วยได้ 

สำหรับประเด็นคนในวงการบันเทิงกับการแสดงออกทางการเมืองนั้น วรรณสิงห์กล่าวว่า ถ้าใครตามข่าวก็จะรู้ว่าตนเพิ่งเป็นประเด็นไปเมื่อไม่นานมานี้ ถ้าหากมีพี่น้องเสื้อแดงอยู่ตรงนี้ ตนก็ขอโทษสำหรับสิ่งที่ละเมิดใดๆ ไปในตอนนั้น ซึ่งมันก็แสดงให้เห็นว่าอะไรที่เราเคยทำไปในตอนไหนก็ตามแต่ มันไม่เคยหายไปในประวัติศาสตร์ ซึ่งมันก็จะถูกยกขึ้นมาในบริบทปัจจุบันได้เสมอ เรื่องของวันเฉลิมนั้นก็เช่นกัน มันเป็นเรื่องที่ไม่จบในปีนี้หรอก ซึ่งเรื่องของวันเฉลิมนี้ก็จะถูกยกกลับมาเป็นประเด็นได้เรื่อยๆ สำหรับเรื่องแรงปะทะจากสังคมนั้น ตนมองว่าในตอนนี้กระแสสังคมเปลี่ยนไปเยอะแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวิตเตอร์ การพูดเรื่องเหล่านี้แทนที่จะได้รับแรงปะทะจากสังคมนั้นกลับได้รับความนิยมจากสังคมมากขึ้น เพราะว่าคนที่หันมาสนใจเรื่องนี้มีเยอะขึ้น แต่ก็ยังมีคนเข้ามาด่าทออยู่ซึ่งก็เป็นสิ่งที่บุคคลสาธารณะต้องเจออยู่แล้ว สำหรับความรู้สึกส่วนตัวนั้น วรรณสิงห์กล่าวว่า หลังจากถูกด่าทอ ตนก็มีรู้สึกกระทบใจบ้าง ซึ่งในบางครั้งก็สามารถปล่อยวางได้บ้าง แต่นั่นเป็นความรู้สึกส่วนตัวซึ่งไม่ใช่ปัจจัยที่ต้องมาคิดมากนักกับการแสดงออกในเรื่องพวกนี้ ซึ่งถ้าหากวันไหนเหนื่อยใจจริงๆ ก็จะไปปรึกษาเพื่อนเป็นการส่วนตัว ตนคิดว่าการพูดเรื่องนี้บ่อยๆ จนกลายเป็นสิ่งที่พูดกันทั่วไป ต่อไปก็จะมีคนที่เขาอาจจะเงียบ เขาอาจจะมีความคิดเห็นเหมือนหรือต่างเราออกมาพูดกันมากขึ้น    

พชรกล่าวว่า ตนแสดงความคิดเห็นทางการเมืองครั้งแรกเมื่อสมัยนิติราษฎรเริ่มพูดเรื่องขอให้มีการทบทวนกฎหมาย มาตรา 112 จากนั้นก็เริ่มร่วมแคมเปญต่างๆ พอตนแสดงความเห็นก็มีสำนักข่าวต่าง ๆ ติดต่อมา อย่างเช่น ASTV  ถึงแม้ตนก็ได้แสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจน ไม่พาดพิงผู้อื่นขนาดไหนก็ตาม แต่สิ่งที่ตนพูดนั้นก็เป็นสิ่งที่ขัดใจของสื่อที่เขาเลือกฝั่ง ทุกอย่างมันก็จะออกมาในทางลบ อย่างเช่นการพาดหัวข่าว ‘ฟลุคโชว์เถื่อนกลบตุ๊ด’ ซึ่งโจมตีประเด็นส่วนตัวในเรื่องของครอบครัวและการทำงาน ตนเห็นว่าไม่ใช่แค่ตนคนเดียวที่โดนสื่อกระทำในลักษณะนี้ แต่ยังมีอีกหลายคนที่ถูกสื่อหยิบยกเรื่องอื่นขึ้นมาเพื่อทำลายตัวตนของคนๆ นั้น ซึ่งในสมัยที่พูดเรื่อง ม.112 นั้นเป็นจังหวะเดียวกับที่ตนลาออกจากต้นสังกัดเก่า จึงถูกโยงเข้าด้วยกัน กลับกลายเป็นว่างานหรืออีเวนต์ต่างๆ ที่เคยรับไว้ก็ถูกยกเลิกหลังจากที่ข่าวออก จากนั้นตนก็ได้ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต เช่น หางานอื่นๆ นอกเหนือจากงานในวงการบันเทิงทำ 

พชรกล่าวต่ออีกว่า ตนแค่คิดว่าเราแค่พูดในสิ่งที่เราเชื่อ และคำพูดหรือความเชื่อนั้นไม่สามารถทำร้ายใครได้ เพราะทุกคนมีความคิดเป็นของตัวเอง ทุกคนสามารถรับสาร คัดกรองและวิเคราะห์เองได้ ทั้งนี้ความเชื่อก็จะมีทั้งผิดและถูก แต่ตนเชื่อว่าหากนำความเชื่อเหล่านั้นมาถกเถียง ก็จะทำให้เห็นได้ว่าความคิดหรือความเชื่อไหนจะนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า หลังจากที่ตนถูกโจมตีในตอนนั้น ตนยอมรับว่ารู้สึกโกรธ ตนคิดว่าการพูดสิ่งที่ตัวเองคิด ทำไมตนต้องมาเจอกับความโหดร้ายเหล่านี้ด้วย แต่ว่าทั้งนี้ตนก็ได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต หางานอื่นๆ ทำ 

วรรณสิงห์กล่าวว่า ตนก็โดนทั้งฝั่งที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย สื่อบางสื่อก็ตัดบางประโยคที่เราพูด ไม่ได้หยิบยกมาทั้งหมด ซึ่งถึงแม้ว่าเราจะระมัดระวังตัวเท่าไรก็ตาม แต่ก็จะมีประเด็นที่จุดได้อยู่เสมอ แต่ว่าทั้งนี้เป็นเรื่องความรู้สึกส่วนตัว ตนจึงขอกลับมาพูดเรื่องวันเฉลิมต่อ จากประสบการณ์ของตนถึงแม้ประสบการณ์ทางการเมืองในประเทศ อาจจะไม่ได้เยอะเท่ากับบุคคลอื่น แต่สำหรับสงครามนอกประเทศนั้น ตนได้เห็นความขัดแย้งในตะวันออกกลาง แอฟฟริกา ซึ่งมันนำมาสู่ความรุนแรง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่างๆ สิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยก็คือ ความอยุติธรรมทั้งหลายที่เกิดจากการสะสมจนนำไปสู่การระเบิดออก ตนมองว่าการที่จะคลายระเบิดตรงนี้นั้น จะต้องเกิดกระบวนการยุติธรรมที่อนุญาตให้มันคลี่คลายบางคดีหรือมีกระบวนการที่ทำให้บางเรื่องจบในสภาหรือศาลและนำไปสู่จุดจบที่ทำให้สังคมพอใจ ซึ่งมันไม่จำเป็นต้องจับอาวุธมาประหัตประหารหรือใช้ความรุนแรงก็สามารถจบประเด็นเหล่านี้ได้ แต่ทุกวันนี้ทางตันเหล่านั้นมันเกิดขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่น วันก่อนหากใครได้ดูการอภิปรายในสภา แล้วทางรัฐบาลตอบก็จะรู้สึกว่าเขาไม่ใส่ใจ ตนเป็นห่วงว่า ในอนาคต ก้อนแห่งความดำมืดจะขยายใหญ่ขึ้น จนถึงวันหนึ่งที่ประชาชนไม่ไหวแล้วจับอาวุธขึ้นมา ตนรู้สึกว่ามันไม่คุ้มที่จะเสียเนื่องจากตนเห็นสงครามมาเยอะ มันไม่มีการต่อสู้ที่คุ้มเลยเนื่องจากเสียชีวิตกันเยอะ แต่ตนเข้าใจสาเหตุของสงครามนั้น 

ผู้ลี้ภัยในทางทฤษฎี - ผู้ลี้ภัยในความเป็นจริง

จุฑาทิพย์มองว่า ผู้ลี้ภัยไม่จำเป็นต้องลี้ภัยจากภัยสงครามหรือความอดอยากเสมอไป วันเฉลิมเองก็เป็นผู้ลี้ภัยที่ได้รับผลกระทบจากรัฐ ตนมองว่าวันเฉลิมเป็นผู้ลี้ภัยคนหนึ่ง และยังมีอีกหลายคนที่แสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองหรือสถาบัน คนเหล่านี้ก็ต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยไปโดยปริยาย ซึ่งส่วนตัวมองว่า สิ่งที่รัฐนิยามให้กับผู้ลี้ภัยนั้นไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมกับผู้ลี้ภัย เนื่องจากรัฐเองที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้คนเหล่านั้นต้องลี้ภัย

ณัฏฐากล่าวว่า UNHCR นิยามความหมายของผู้ลี้ภัยไว้ว่า บุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดตนเองเนื่องจากความหวาดกลัวการถูกประหัตประหาร บุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากความหวาดกลัวการถูกประหัตประหาร หรือได้รับการคุกคามต่อชีวิต อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 ให้คำนิยาม และความหมายของสถานภาพผู้ลี้ภัยว่า ผู้ลี้ภัย หมายถึง บุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากความหวาดกลัวการถูกประหัตประหารหรือได้รับการคุกคามต่อชีวิตเนื่องจากสาเหตุข้อหนึ่งข้อใด เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติสมาชิกภาพในกลุ่มทางสังคม สมาชิกภาพในกลุ่มความคิดทางการเมือง

วรรณสิงห์กล่าวเสริมว่า สนธิสัญญาผู้ลี้ภัยปี 1951 ไทยไม่ได้ลงนามด้วย ตรงนี้ตนไม่ได้จะกล่าวถึงวันเฉลิม แต่จะอธิบายว่า ถ้าหากผู้ลี้ภัยมายังประเทศไทย ไทยก็ยังจะไม่มีการรับรองอย่างเป็นทางการ แต่กระนั้นก็มีชาวพม่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ตามตะเข็บชายแดนเป็นแสนคน ซึ่งยังไม่สถานะทางกฎหมายรับรอง

วรรณสิงห์กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการบังคับให้บุคคลสาธารณะออกมาพูดทุกเรื่อง แต่ว่าก็อยากให้เป็นบรรทัดฐานที่บุคคลสาธารณะมีส่วนร่วมกับประเด็นทางสังคมไม่ประเด็นใดก็ประเด็นหนึ่ง แต่ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องพูดทุกเรื่อง พูดเฉพาะเรื่องที่บุคคลนั้นๆ สนใจ แต่ทั้งนี้การที่เขาไม่ออกมาพูดไม่ใช่ว่าเขาเพิกเฉย แต่ในบางครั้ง เขาอาจจะยังไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารตรงนั้นหรือเขาอาจจะคิดว่าไม่พูดออกไป อาจจะเป็นการดีมากกว่า วรรณสิงห์กล่าวเสริมอีกว่า อยากให้สังคมพัฒนาไปสู่จุดที่ใครออกมาพูดก็ได้หรือใครไม่ออกมาพูดก็ไม่ผิด 

พชรกล่าวว่า สิ่งที่หลายคนต้องลี้ภัยออกไปนั้น ซึ่งถูกตีตราว่าทำผิดกฎหมายนั้น เราต้องมองก่อนว่า กฎหมาย ณ ตอนนั้นที่มันเกิดขึ้น มันถูกต้องไหม และใครเป็นผู้เขียนกฎหมาย ซึ่งผู้เขียนกฎหมายนั้นตัวเขาเองก็ผิดกฎหมายแต่ว่าเขาก็ได้ผ่านกระบวนการต่างๆ ที่ทำให้เขาพ้นผิดไป เราต้องมองย้อนไปถึงตรงนี้ พชรกล่าวต่อว่า การลี้ภัยนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นสิ่งที่ผู้ลี้ภัยนั้นเลือกเอง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางด้านความปลอดภัยหรือความสะดวกในการทำงานต่างๆ แต่ว่าสิ่งที่มันไม่ควรจะเกิดขึ้นคือ ความชั่วร้ายหรือการอุ้มหาย มันไม่ควรจะเกิดขึ้น อย่างเช่นในกรณีก่อนหน้าวันเฉลิม เราก็ได้เห็นหลักฐานชัดเจนว่าพบศพ มันรุนแรงเกินกว่าที่คนทั่วไปจะจินตนาการได้

การลี้ภัยและการถูกอุ้มหายไม่ควรเกิดขึ้น

ฐปนีย์กล่าวว่า การอุ้มหายกับการเป็นผู้ลี้ภัยเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นทั้งสองอย่าง การอุ้มหายเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะถือว่าเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่ง ไม่ว่าใครก็ตามที่ต้องออกจากประเทศตัวเอง ซึ่งตนขอยกคำพูดของสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาของ Human right watch ซึ่งกล่าวว่า ผู้ลี้ภัยในความหมายของสิทธิมนุษยชน คือ บุคคลที่ต้องลี้ภัยออกจากประเทศตัวเอง ทั้งจากความไม่ปลอดภัย ความหวาดกลัวต่อชีวิตของตนเอง การไม่สามารถแสดงสิทธิเสรีภาพได้อย่างเต็มที่หรืออาจจะถูกการประหัตประหาร ซึ่งจากประสบการณ์ที่ทำข่าวมา ตนเคยไปทำข่าวเกี่ยวผู้ลี้ภัยในซีเรีย ยูกันดา ชาวซูดาน ซึ่งชาวซูดานนั้นลี้ภัยจากความอดอยากและลี้ภัยจากการถูกประหัตประหารภายในประเทศซูดาน มีการข่มขืน มีการฆ่า นั่นคือการประหัตประหาร ฐปนีย์ยังกล่าวอีกว่า ในฐานะนักข่าว ตนได้วานให้เพื่อนนักข่าวกัมพูชาตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ ซึ่งก็ปรากฎว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

สถานภาพผู้ลี้ภัยไม่เหมือนกับการเป็นผู้ลี้ภัย

ฐปนีย์กล่าวว่า ในสังคมไทยปัจจุบันนี้ มีความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยมากขึ้น ซึ่งโดยประสบการณ์นั้น ผู้ลี้ภัยมีทั้งผู้ลี้ภัยภายในประเทศและภายนอกประเทศ ซึ่งผู้ลี้ภัยภายในประเทศก็คือ ผู้ลี้ภัยภายในประเทศไทยนี่แหละ แต่เขาอาจจะเป็นคนที่เห็นต่างจากเรา แล้วก็เกิดเหตุหรือปัญหาขึ้นจนต้องตั้งแคมป์ แต่ทั้งนี้การมีสถานภาพผู้ลี้ภัยนั้นไม่เหมือนกับการเป็นผู้ลี้ภัย ในฐานะนักข่าวก็พยายามที่จะนำเสนอเรื่องพวกนี้เพื่อให้เห็นความแตกต่าง ไม่งั้นคนจะเข้าใจผิด การที่ได้ยินคนบอกว่า เขา(วันเฉลิม)ไปอยู่ที่นั่น เป็นแค่นักโทษหนีคดี ยังไม่ได้สถานะผู้ลี้ภัย ดังนั้น เราไม่ควรจะต้องไปสนใจเรื่องเขาหรือนำเสนอข่าวว่าเขาเป็นผู้ลี้ภัย ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน เพราะในลักษณะที่เกิดขึ้นนั้น เขา(วันเฉลิม)นั้นลี้ภัยทางการเมืองไป เพียงแต่ยังไม่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยเท่านั้น  ซึ่งผู้ลี้ภัยนั้นยังไม่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในทันทีต้องผ่านกระบวนการที่จะต้องลี้ภัย ฐปนีย์ยังกล่าวเสริมอีกว่า คนที่ต้องลี้ภัยออกไปจากประเทศของตัวเองนั้น ไม่มีใครอยากจะออกจากประเทศของตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม คนทุกคนก็ไม่ควรจะเป็นผู้ลี้ภัย แต่หากว่าเขาต้องเป็นผู้ลี้ภัยแล้ว เราในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งจะสามารถหยิบยื่นความช่วยเหลือให้กับเขาอย่างไรบ้าง สิ่งที่ตนทำเมื่อครั้งไปทำข่าวก็ได้พบเจอกับผู้ลี้ภัยและได้ระดมเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัย อย่างเช่นในเวเนซูเอลา ที่มีผู้ลี้ภัยจากปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งในฐานะผู้สื่อข่าวก็พยายามทำให้คนเข้าใจและรู้จักผู้ลี้ภัยมากขึ้นว่าเขาไม่ใช่คนที่น่ากลัวหรือเลวร้าย เขาคือคนเหมือนเรา เพียงแต่เขามีเหตุผลที่ต้องออกจากประเทศเขาที่แตกต่างและหลากหลาย เช่น ชาวไทยจำนวนหนึ่งที่ต้องลี้ภัยด้วยเหตุผลทางการเมือง  ชาวซีเรียที่ต้องลี้ภัยเนื่องจากสงครามและความรุนแรง ชาวซูดานที่ต้องลี้ภัยจากความอดอยาก ซึ่งไม่ว่าใครบนโลกนี้หรือประชาชนในประเทศไหนก็ได้ ทุกคนมีโอกาสเป็นผู้ลี้ภัยได้ทั้งนั้น เพียงแต่ว่าเป็นการลี้ภัยด้วยเหตุผลใดเท่านั้น สิ่งที่ตนพยายามทำนั้นคือการเสนอข่าวให้คนไทยเข้าใจและเปิดมุมมองรับผู้ลี้ภัยมากขึ้น เราจะได้เข้าใจเขา 

การถูกอุ้มหาย ไม่ใช่ประเด็นการเลือกฝั่ง แต่เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน

จุฑาทิพย์กล่าวว่า การอุ้มหายไม่ใช่แค่การถูกอุ้มหายแค่คนๆ เดียว แต่เป็นการถูกอุ้มหายทั้งครอบครัว คนในครอบครัวของผู้ที่ถูกอุ้มหายต้องเผชิญชะตากรรมอันเลวร้าย จุฑาทิพย์กล่าวเสริมว่า ประเด็นเรื่องของวันเฉลิมนั้น ไม่ใช่ประเด็นการเลือกฝั่งใดฝั่งหนึ่งทางการเมือง แต่มันเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน และเหตุการณ์ในหลายๆ เหตุการณ์ในบ้านเมืองเรานั้นมันผลักดันให้คนในสังคมออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ รวมถึงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น การผูกโบว์ขาว สำหรับวันเฉลิมเองเขาไม่สามารถส่งเสียงของเขาเพื่อให้สังคมรับทราบได้ ตนก็เลยพยายามที่จะส่งเสียงแทนเพื่อให้คนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วม โดยหวังว่าจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานแห่งความยุติธรรมนี้

พชรกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองของสังคมไทยนั้นมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมือง บางคนก็คิดว่า สมควรแล้วสำหรับคนๆ นี้ที่ต้องลี้ภัยไป อีกส่วนหนึ่งก็มีความรู้สึกโกรธหรือเป็นห่วงและอยากให้มีคนสนใจเรื่องอุ้มหายมากขึ้น ทั้งนี้ก็จะมีทั้งคนที่เริ่มส่งเสียงและคนที่ยังกลัวอยู่ ตนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่คนจะกลัว เพราะเราได้เห็นสิ่งที่รัฐทำกับคนที่ส่งเสียงแล้วนั้นก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลที่คนจะยังกลัวกันอยู่ พชรยังกล่าวต่อว่า เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้วนั้น ตนเห็นคนออกมาพูดเรื่องนี้กันเยอะขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลสาธารณะหรือในแอคหลุมในอินเทอร์เน็ต ตนมีความหวังว่า ในอนาคตจะมีคนออกมาพูดเรื่องนี้และเปิดเผยตัวตนของพวกเขาโดยไม่หวาดกลัวกันมากขึ้น

การมีรัฐสภาทำให้เกิดพื้นที่การส่งเสียง

ฐปนีย์กล่าวว่า จะเห็นได้ว่า การมีส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งนั้น ทำให้ประเด็นการถูกอุ้มหายนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันในการประชุมสภาหรือถูกเผยแพร่ออกไปให้สังคมรับทราบกันมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากหลังปี 57 สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า เรื่องราวของการถูกอุ้มหายนี้อยู่ในความสนใจของผู้มีอำนาจหรืออย่างน้อยก็มีการนำเรื่องนี้เข้าไปอยู่ในกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีบทบาทในการเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบถามหรือหารือ ตนถือว่าทำให้เรื่องนี้เป็นไปตามกระบวนการตามกฎหมายหรือกระบวนการของรัฐ ซึ่งเราจะเห็นท่าทีของรมต. กระทรวงการต่างประเทศ รมต.ยุติธรรม ออกมาตอบรับเรื่องนี้ ทั้งนี้เพื่อนนักข่าวที่กัมพูชาแจ้งว่า สถานฑูตไทยได้ส่งหนังสือถึงสถานฑูตกัมพูชาแล้ว ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม ส่วนผลการตอบรับจะเป็นอย่างไรนั้น เป็นสิ่งที่เราต้องติดตาม

เมื่อคนถูกอุ้มหายถูกทำให้ด้อยค่า

ฐปนีย์กล่าวว่า เรามีสิทธิในการตั้งคำถาม แต่วันเฉลิมก็ควรจะมีโอกาสที่จะตอบคำถามด้วย ทั้งนี้ตนมองว่าการถามว่าวันเฉลิมค้ากัญชาจริงหรือไม่นั้น เป็นการเบี่ยงประเด็นทำให้ประเด็นหลักว่าวันเฉลิมถูกอุ้มหายนั้นเลือนลางลงไป ซึ่งตรงนี้ทำให้เห็นกระบวนการถูกทำให้ด้อยค่าหรือถูกทำให้เป็นคนไม่ดีอย่างชัดเจน 

ณัฏฐากล่าวเสริมว่า กระบวนการเหล่านี้จะลบเลือนเรื่องของวันเฉลิมออกไปจากความสนใจของสังคม ซึ่งเป็นการทำให้หายในสองระดับ คือ ทำให้หายในทางร่างกายและทำให้หายไปจากความทรงจำในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง  

พชรกล่าวเพิ่มเติมว่า จริง ๆ การแสดงออกในเรื่องการถูกอุ้มหายนี้เป็นเรื่องที่ง่ายมาก เพราะมันมีการใช้ความรุนแรง มีคนต้องเดือดร้อน ครอบครัวของผู้ที่ถูกอุ้มหายจะต้องเสียงคนในครอบครัวไป แต่เรื่องนี้กลับถูกมองว่าเป็นเรื่องที่อ่อนไหว และไม่ค่อยถูกพูดกันมากนักในวงการบุคคลสาธารณะ

อยากเห็นวันเฉลิมปลอดภัยและมีพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง

ฐปนีย์กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นนักข่าว จนมีหน้าที่รายงานข่าวว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างไรและเป็นไปอย่างไร ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักข่าวในการสืบหาความจริง แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ตนอยากเห็นวันเฉลิมปลอดภัย

ณัฏฐากล่าวปิดท้ายว่า อยากให้สังคมยกระดับการรับรู้ในเรื่องนี้มากขึ้น ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน ผู้ลี้ภัย สิทธิพลเมือง หรือมีพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่ถูกดำเนินคดี หรือถูกอุ้มหาย ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ตนถือว่าเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท