Skip to main content
sharethis

คุยกับ ‘หมู่อาร์ม’ นายทหารชั้นผู้น้อยที่ออกมาเปิดโปงการทุจริตในหน่วยงานของกองทัพ จนถูกปลด และถูกดำเนินคดี เผยทุกเหตุการณ์ที่พบเจอในระยะเวลา 9 ปีที่เป็นทหาร ทุจริต เส้นสาย เลือกปฏิบัติ ย้ำในวันที่ร้องเรียนตามระบบแล้วเจอเรื่องแบบนี้ คือวันที่เข้าใจ ‘จ่าจักรพันธ์’

“สิบเอกณรงค์ชัย อินทรกวี” หรือหมู่อาร์ม ชื่อนี้ปรากฎขึ้นบนหน้าข่าวในช่วงเดือนมีนาคม หลังจากตัดสินใจออกจากค่ายทหารมาร้องเรียนเรื่องการทุจริตภายในศูนย์ซ่อมสร้างสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก ก่อนที่เรื่องจะถูกการระบาดของไวรัสโควิด-19 และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลบกระแสไป

ไม่กี่วันก่อนหมู่อาร์ม ปรากฎตัวอีกครั้งที่รัฐสภา โดยร่วมแถลงข่าวกับคณะทำงานของ กมธ.กฎหมาย ในการแถลงข่าวครั้งนั้น เขาเปิดเผยว่า หลังจากยื่นเรื่องร้องเรียนกับ ป.ป.ช. ไปกว่า 3 เดือน นอกจากจะได้รับรู้ความคืบหน้าว่า กองทัพส่งรายงานให้ ป.ป.ช. ชี้ว่ามีมูลการทุจริตจริง ตามที่มีการร้องเรียน เขายังได้ของแถมเป็นการสั่งปลดจากความเป็นข้าราชการทหาร โดยหน่วยงานที่เข้าสังกัด และจะต้องไปรายงานตัวต่อศาลทหารในวันที่ 22 มิถุนายน นี้ ฐานหลบหนีการปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่ทราบสาเหตุ และอาจจะไม่ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัว

ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นกับคนเล็กคนน้อยในกองทัพ อะไรกันที่นำพานายทหารตำแหน่งเสมียนงบประมาณ มาสู่จุดหัวเลี้ยวหัวต่อในเวลานี้ ประชาไท คุยกับหมู่อาร์ม เปิดแง่มุมชีวิต ความคิด และความใฝ่ฝัน เปลื่อยประสบการณ์ 9 ปีในกองทัพ ทหารคนหนึ่งพบเจอกับอะไร

เกิดและโตที่ค่ายบางระจัน ฝันอยากเป็นทหาร ต่อสู้เพื่อความเป็นไท

หมู่อาร์มปัจจุบันอายุ 33 ปี เขาเกิดและเติบโตที่ อำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี สถานที่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ในแบบเรียนไทย จึงได้เรียนรู้เรื่องราวการต่อสู้ของชาวบ้านบางระจันมาตั้งแต่เด็กๆ จนเห็นว่าถิ่นที่ที่เขาเกิด คือถิ่นฐานเดียวกับนักสู้สามัญชนที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อความเป็นไท การเป็นทหารจึงเป็นอาชีพที่เขาใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็กๆ 

เขาจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนชุมชนวัดม่วง จากนั้นได้โควต้าเข้าเรียนที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรี แต่อยู่ไม่ครบหลักสูตร เนื่องจากฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินทางข้ามอำเภอไปยังตัวจังหวัด และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการศึกษา นอกจากนี้ยังมีความกดดันจากพ่อที่เข้มงวดในเรื่องการคบหาเพื่อน แม้จะเป็นไปด้วยความห่วงใย หวังดี ไม่ต้องการให้เขาคบหากับกลุ่มเพื่อนที่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่

เขามักถูกตี ถูกต่อว่า เมื่อถูกจับได้ว่ายังคบเพื่อนกลุ่มเดิมอยู่ จึงตัดสินหนีออกมาหางานทำเอง เช่นรับจ้างเป็นช่างเชื่อม และรับจ้างอื่นๆ ใช้ชีวิตแบบนี้อยู่ประมาณ 2 ปี ก่อนที่จะสมัครเข้าเป็นทหารเกณฑ์สังกัดทหารอากาศ กองบิน 2 จังหวัดลพบุรี และใช้ชีวิตเป็นพลทหารต่อมาอีก 2 ปี

ผลจากการเป็นทหารเกณฑ์ที่กองบิน 2 จังหวัดลพบุรี ยิ่งทำให้รู้สึกอย่างเป็นส่วนหนึ่งกับกองทัพมากขึ้น เขารู้สึกดีกับระบบการปกครองของค่ายต้นสังกัด เพราะไม่มีการเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่สำคัญว่าใครจะมาจากโรงเรียนนายร้อย จปร. หรือจบมาจากโรงเรียนนายเรืออากาศ สิ่งที่ครูฝึกแสดงออกมาคือการมองเห็นคนอย่างเท่าเทียม มองกันเป็นพวกพ้อง เป็นพี่น้องกันทั้งหมด

หลังจากปลดประจำการ เขาใช้ชีวิตอยู่ข้างนอกอีก 2 ปี ก่อนจะพบว่ามีการเปิดรับสมัครนายสิบทหารบก ที่ใช้วุฒิการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จึงสมัครสอบเข้ามา และได้รับราชการ โดยช่วงแรกที่ทำงานหมู่อาร์มใช้เวลาว่างช่วงเสาร์อาทิตย์เรียน กศน. จนจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

พบการทุจริตตั้งแต่ปีแรก เมื่อแจ้งว่าไม่ขอมีส่วนเกี่ยวข้อง กลับโดนหมายหัวกลั่นแกล้ง

ปี 2554 คือปีแรกที่เขาเข้ารับราชการเป็นทหารตำแหน่งเสมียนงบประมาณ ศูนย์ซ่อมสร้างสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก และก็เป็นปีแรกเช่นกันที่พบว่า มีการทุจริตเกิดขึ้นในหน่วยงานที่ตัวเองสังกัด เรื่องที่เกิดขึ้นคือ มีอยู่วันหนึ่งนายทหารชั้นผู้ใหญ่ได้นำเอกสารมาให้เซ็นต์ เมื่ออ่านหัวเอกสารพบว่า เป็นการเซ็นต์เบิกรับเบี้ยเลี้ยงเดินทางไปร่วมโครงการที่ค่ายทหารเเห่งหนึ่ง ตอนนั้นเขาเซ็นต์ชื่อตัวเองลงไปโดยคิดว่าเป็นการเซ็นต์ล่วงหน้าก่อนที่จะมีการจัดโครงการจริงๆ แต่สุดท้ายพบว่าไม่มีการจัดโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น ที่มากไปกว่านั้นหลังจากเซ็นต์ชื่อครั้งแรกได้ไม่นาน นายทหารคนเดิมก็ได้นำเอกสารอีกชุดมาให้เขาเซ็นต์อีก ถืงตอนนี้เขาเริ่มสังเกตเห็นแล้วว่า มีอะไรไม่ชอบมาพากล แต่ทำได้เพียงเก็บความสงสัยนี้ไว้ โดยไม่กล้าตั้งคำถามอะไรมาก

“ตอนเห็นครั้งแรกผมก็ได้แค่คิดว่าเดี๋ยวมันคงมีการเดินทางมั้ง อาจจะเป็นการให้เซ็นต์ชื่อล่วงหน้าไปก่อน แต่พอผ่านไปก็ยังไม่เห็นมีการเดินทางสักที จนมีเอกสารมาให้เซ็นต์รอบที่สอง ผมก็ งง รอบแรกยังไม่ได้ไปเลย เงินก็เบิกไปแล้ว แล้วเงินไปอยู่ที่ไหน ทำไม่มีโครงการ ไม่มีการเดินทางอะไรเลย ผมก็เริ่มแปลกใจ”

นับจากปี 54 เป็นต้นมา หมู่อาร์มเล่าว่า นายทหารคนเดิมจะนำโครงการมาให้นายทหารชั้นผู้น้อยเซ็นต์ชื่อเพื่อเข้าร่วมโครงการ เบิกเบี้ยเลี้ยง เบิกค่าเดินทางอยู่เสมอโดยที่ไม่มีการทำโครงการเกิดขึ้นจริง จนรู้สึกว่า รับไม่ได้กับกระบวนการทุจริตภายกองทัพ และไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับกระบวนการเหล่านี้ แต่เมื่อแจ้งกับนายทหารคนดังกล่าว สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นคือ การกลั่นแกล้งสารพัดรูปแบบ และถูกจดจำในฐานะ ทหารที่กระด้างเดื่อง ไม่เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา

“พอผมไม่ยอมเขาก็หาทางกลั่นแกล้งทางวินัยต่างๆ เช่น ผมป่วย และทำหนังสือลาป่วยไป เขาก็ไม่เซ็นต์อนุมัติการลา หรือกรณีไปรวมแถวไม่ทันเวลา คืออย่างนี้นะครับ คนเรามันไม่มีใครไปทำงานเช้าตรงตามเวลาได้ทุกวัน แม้กระทั่งพนักงานบริษัทก็ตาม บางวันผมก็มีไปสายบ้าง ถ้าวันไหนไปไม่ทันรวมแถว คือเขาเลิกแถวก็ไปแล้ว อันนี้ผมก็ยอมรับว่าผมผิด แต่บางวันที่ผมไปช้า คือคนอื่นเขารวมแถวกันอยู่แล้วผมไปถึงทีหลัง กลายเป็นว่า ผมถูกจำหน่ายขาดรวมแถว แต่เวลาเด็กนายไปช้าเหมือนผม อันนี้ไม่เป็นไร มันมีเรื่องของเส้นสายมาเกี่ยวข้อง แล้วมันทำให้ผมรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม มันคือการเลือกปฎิบัติ”

ในการกระบวนทุจริตที่เกิดขึ้นนั้น แน่นอนว่าย่อมมีนายทหารชั้นผู้น้อยหลายคนรับรู้ และหลายคนไม่สบายใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ด้วยภาวะที่รู้ดีว่าการเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง ย่อมไม่ทำให้ไม้ซุงขยับ และพาลจะทำให้ไม้ซีกแตกหักเอาง่ายๆ หลายคนจึงเลือกที่จะเงียบ และปล่อยให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่ซ้ำๆ จนกลายเป็นเรื่องปกติ แต่หมู่อาร์มเป็นเพียงคนเดียวที่กล้าออกมาพูด เพราะรู้สึกว่า สิ่งที่เห็นนี้กำลังทำให้ สถาบันทหารเสื่อมลงไปเรื่อยๆ

ร้องเรียนหน่วยงานตัวเองครั้งแรก ไม่ใช่เรื่องทุจริต แต่เป็นเรื่องห้องน้ำของอภิสิทธิ์ชน

ตามที่รู้กันตามข่าว หมู่อาร์มเริ่มออกมาร้องเรียนเรื่องการทุจริตภายในหน่วยงานของตัวเองครั้งแรกในเดือนกันยายน 2562 ก่อนหน้านั้นเขาได้แจ้งชัดเจนไปแล้วว่าเขาไม่ต้องการมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการเหล่านี้ จนกระทั่งเขาตรวจพบเอกสารชิ้นหนึ่งที่กระทำการในลักษณะเดิม และในรายชื่อทหารที่เบิกเบี้ยเลี้ยง ค่าเดินทาง มีชื่อของเขาระบุอยู่ด้วย โดยที่เขาไม่ได้มีส่วนรู้เห็น นั่นคือฟางเส้นสุดท้าย

แต่ก่อนหน้าที่จะร้องเรียนเรื่องการทุจริต หมู่อาร์มเล่าว่า ปี 2556 เคยร้องเรียนเรื่องการออกกฎการใช้ห้องน้ำภายในตึก ซึ่งเดิมทีนายทหารทุกระดับชั้นสามารถใช้ห้องน้ำร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็น นายสิบ นายร้อย หรือนายพัน เพราะมีห้องน้ำอยู่ห้องเดียว แต่อยู่มาวันหนึ่งมีการออกกฎระเบียบใหม่ว่า ผู้ที่จะใช้ห้องน้ำภายในตึกได้ต้องเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น ทหารติดยศนายสิบอย่างเขาไม่มีสิทธิใช้ห้องน้ำร่วมกับนายร้อย นายพันอีกต่อไป อาจฟังดูเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่เรื่องนี้สำหรับหมู่อาร์มมันคือ การมองคนไม่เท่ากัน

ครั้งนั้นเขาร้องเรียนไปศูนย์ประสานงานกองทัพบกใสสะอาด  สุดท้ายมีการตรวจสอบเกิดขึ้น และกฎระเบียบเรื่องการใช้ห้องน้ำก็เป็นอันต้องยกเลิกไป

กว่าเวลาจะเดินมาถึงปี 2562 ก่อนที่ฟางเส้นสุดท้ายจะถูกเผา นอกจากจะต้องทนเห็นความเสื่อมภายในกองทัพเรื่องการทุจริตแล้ว หมู่อาร์มยังเห็นถึงการใช้ระบบเส้นสาย รับฝากคนเข้าทำงาน ใช้ดุลพินิจพิจารณายศตำแหน่ง ใครยอมเป็นเด็กนายก็จะเจริญเติบโตในหน้าที่การงานกว่าคนอื่นๆ ทั้งยังมีการใช้อำนาจบาทใหญ่ พูดจากดหัวนายทหารชั้นน้อยอยู่ร่ำไป ทั้งหมดนี้เริ่มทำให้เขาตั้งคำถามว่า “ทหารที่เคยคิด กับทหารที่เป็นจริง ทำไมมันต่างกันขนาดนี้”

ออกไปยื่นเรื่องกับผู้ตรวจการแผ่นดิน สุดท้ายกลับมาค่ายโดนตั้งกรรมการสอบวินัย

เดือนกันยายน 2562 คือครั้งแรกที่เขาตัดสินใจเดินทางไปยื่นเรื่องร้องเรียนกับผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบการทุจริตภายในศูนย์ซ่อมสร้างสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก สาเหตุที่ไม่ยื่นเรื่องร้องเรียนไปตามระบบ หรือตามที่ พ.ร.บ.วินัยทหารบัญญัติไว้ เพราะเขาไม่ศรัทธาในกระบวนการนี้ เนื่องจากเป็นการตรวจสอบกันเองของกองทัพ ย่อมมีการช่วยเหลือกันและกัน บทเรียนหนึ่งที่เขาเจอมาคือ มีรุ่นพี่นายทหารคนหนึ่งรู้เห็นว่ามีการนำยางเก่าของกองทัพไปขาย และรุ่นพี่คนนั้นก็เป็นหนึ่งในคนที่อยู่ในกระบวนการ เพราะต้องทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เมื่อมีการร้องเรียนไปตามระบบ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีการพิจารณาเอาผิดเฉพาะผู้ที่ทำ แต่คนที่สั่งให้ทำยังอยู่ได้ตามปกติ นี่คือเหตุผลที่เขาตัดสินใจออกมาร้องเรียนหน่วยงานภายนอก เพื่อที่จะทำให้ตัวเองปลอดภัย แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เป็นไปตามที่คิด

หลังจากยื่นเรื่องกับผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2562 ผู้ตรวจกาารก็ได้ทำเรื่องกลับมาที่ศูนย์ซ่อมสร้างสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก แต่แทนที่จะมีการชี้แจงผู้ตรวจฯ กลับไปว่าเกิดอะไรขึ้น กลายเป็นว่าผู้บังคับบัญชา ที่เป็นหัวหน้าของผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในการทุจริต ได้เข้ามาพูดกับหมู่อาร์มในช่วงที่มีการรวมแถวว่า เขามารวมแถวไม่ตรงเวลา หมู่อาร์มได้ชี้แจงไปว่า

“พี่ครับ เวลารวมแถวคือ 08.30 น. กว่าจะเลิกแถวก็ 08.40 น. -08.45 น. แล้วทุกคนก็มารวมแถวเหมือนกันหมด แต่พี่จะให้ผมลงเวลา 08.45 น. นี่แปลว่าพี่จะให้ผมมาสายใช่ไหม แม้แต่ตัวพี่เองพี่กลับตอนบ่ายสอง แต่ยังลงเวลา 16.00 น. เท่านี้แหละเป็นปัญหาเลย เขาก็พูดกลับมาว่า มึงอย่าคิดว่ากูกลัวมึงนะ กูไม่ได้กลัวมึง มึงจะเอาไงกับกู มึงมีปัญหาอะไรกับกู อยากโดนปลดเหรอ ตอนนั้นผมรู้สึกว่า เฮ้ยคนที่มันเคยเคารพกันเป็นพี่เป็นน้องทำไมคุยกันแบบนี้ ผมก็บอกไปว่า ถ้าพี่คุยแบบนี้ผมไม่คุย ถอดเสื้อคุยกันแบบพี่แบบน้องผมถึงจะคุย”

จากการตอบโต้กันในครั้งนั้นหมู่อาร์มถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัยทหารฐานไม่เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา โดยการพูดจา และมีท่าที ท้าต่อยท้าตี แต่ก่อนหน้านั้นเขาเคยถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัย เรื่องการขาดงานเกินกำหนด ผลสอบออกมาว่ามีการลาป่วยทั้งหมด 34 ครั้ง และลากิจ 5  ครั้งในปีงบประมาณ 2561 โดยหมู่อาร์มชี้แจงว่าที่มีการลาป่วย 34 ครั้งนี้เป็นเพราะแขนหัก และเป็นการลาตามใบรับรองแพทย์ แต่ผลการพิจารณาออกมาว่า การลากิจและการลาป่วยนั้นไม่เป็นไปตามที่ระเบียบกำหนด โดยผู้ที่เป็นกรรมการในการพิจารณานั้นคือ นายทหารที่เขาเคยขอว่า อย่าใช้ชื่อเขาเข้าไปอยู่ในโครงการที่มีการทุจริต และที่สำคัญหมู่อาร์มระบุว่า การลาของเขาไม่ได้เกินไปกว่าระเบียบที่กำหนด

“สิ่งที่ผมโมโหคือ ระเบียบ ทบ. มันลาป่วยได้ 90 วัน ลากิจ ได้ 45 วัน แล้วผมลาป่วยไป  34 วันเพราะเเขนหัก ลากิจก็แค่ 5 วัน แบบนี้มันเป็นการให้ร้ายกัน คือถ้าจะอ้างว่าผมลากิจ ลาป่วย และผิดระเบียบ มันต้องชี้แจงมาว่าผมทำผิดตรงไหน ไม่ใช่บอกแค่ผมลาเกิน และไม่เป็นไปตามที่ระเบียบกำหนด และก็มาสั่งกักบริเวณผม 3 วัน ตอนนั้นผมก็ได้แต่ก้มหน้าก้มตารับ และก็เก็บไว้ในใจว่าทำไมมันเป็นแบบนี้”

กลับมาที่การตั้งคณะกรรมการสอบวินัยกรณีท้าต่อยท้าตีกับผู้บังคับบัญชา หมู่อาร์เล่าว่าหลังจากเกิดเหตุการณ์ได้ไม่กี่วันก็มีการตั้งคณะกรรมการสอบขึ้นมาในช่วงเดือนตุลาคม 2562 โดยมีคำสั่งย้ายตัวเขาออกจากการปฏิบัติหน้าที่เพียงคนเดียว แต่ไม่มีคำสั่งย้ายคู่กรณีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา และผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ให้ปากคำซึ่งอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ ก็เป็นบุคคลกลุ่มเดียวกันกับที่มีรายชื่ออยู่ในโครงการทุจริต ซึ่งการให้การก็เป็นทางเดียวกันทั้งหมด เพราะทุกคนเป็นผู้เดือดร้อนจากการร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดิน

หมู่อาร์มเล่าต่อว่า กระบวนการในการสอบข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรนั้น เขาไม่ทราบ แต่ระยะเวลาในการสอบข้อเท็จจริงก็กินระยะเวลายาวนานกว่าปกติ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ส่งผลดีต่อตัวเขาเพราะการขึ้นชื่อว่ายังอยู่ในกระยบวนการสอบวินัย จะส่งผลต่อบำเหน็จ และส่งผลต่อการเลื่อนตำแหน่ง

สายตรง ทบ. - การร้องเรียนครั้งที่ 2

หมู่อาร์มให้ข้อมูลว่า หลังจากเรื่องที่ได้ยื่นไปกับผู้ตรวจการแผ่นดินเริ่มเงียบไป จนเกิดกรณีกราดยิงโคราช หลังจากจบเหตุการณ์ มีทนายความชื่อดังคนหนึ่งที่มีผู้ติดตามในโลกโซเชียบมีเดียจำนวนมาก ประกาศตัวว่า จะดำเนินการช่วยเหลือทหารชั้นผู้น้อยที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือถูกกลั่นแกล้ง เขาจึงติดต่อหาทนายความคนดังกล่าว เพราะหวังว่าจะได้รับการช่วยเหลืออย่างจริงจัง และได้ส่งข้อมูลกรณีการทุจริตให้กับทนายความคนดังกล่าวทั้งหมด จนได้ไปยื่นเรื่องกับกองทัพบกเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 โดยครั้งนี้มี พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ และพ.อ.วินธัย สุวารี เป็นผู้มารับเรื่อง

ต่อมาวันที่ 25 กุมภาพันธ์ หน่วยงานที่หมู่อาร์มสังกัดอยู่เริ่มมีการตั้งกรรมการสอบว่า เอกสารที่ปรากฎว่าที่ทนายความนำไปยื่นเรื่องร้องเรียกต่อกองทัพบกนั้นหลุดออกไปได้อย่างไร โดยหมู่อาร์มเล่าว่า เขาถูกเรียกไปสอบ แต่เขาปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้นำเอกสารดังกล่าวออกไปจากหน่วย อย่างไรก็ตามเขาเปิดเผยต่อนายทหารที่ทำการสอบว่า มีการทุจริตเกิดขึ้นจริง เพราะในเอกสารโครงการที่หลุดไปนั้นมีชื่อเขาอยู่ และเขายืนยังว่าตัวเองไม่ได้มีส่วนรู้เห็น และไม่ได้เข้าร่วมโครงการตามที่มีการเขียนเบิกงบประมาณ

วันเดียวกันหลังจากที่มีการสอบเรื่องเอกสารหลุด หมู่อาร์มเล่าว่า จู่ๆ ผลการสอบวินัยที่กินระยะเวลามาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ก็ได้ข้อสรุปพอดี โดยผลออกมาว่า เขาทำวินัยทหาร และให้ลงโทษจำขังในวันที่ 16 มีนาคม โดยที่เขามารู้เรื่องนี้ในวันที่ 12 มีนาคม

“ก่อนหน้านี้ผมยอมได้มาตลอด แต่เรื่องนี้ผมไม่ยอม คุณสอบอะไรมาตั้ง 6 เดือน แต่พอผมออกไปร้องเรียนคุณก็มาสรุปผลสอบ ตอนนั้นผมพร้อมที่จะหนี และผมพูดกับเขาตรงนั้นเลยว่า ผมไม่ยอม และผมจะบอกทุกอย่างให้ประชาชนรับรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ถ้ามันจะจบกันดีๆ ไม่ได้ ก็ไม่ต้องจบ หลังจากที่ผมรู้ว่าผมจะถูกขัง ผมก็โทรไปร้องเรียนสายตรง ทบ. ที่มีขึ้นมาหลังเหตุการณ์กราดยิงโคราช ไปเล่าทุกอย่างให้คนรับเรื่องฟัง ว่าผมไปร้องเรียนเรื่องทุจริตภายในกอง และตอนนี้กำลังถูกกลั่นแกล้ง สั่งจำขัง ผมต้องการให้ ทบ. สั่งระงับเรื่องนี้ไว้ก่อน และส่งคนจากส่วนกลาง จาก ทบ. ลงมาสอบเอง และย้ำกับเขาว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น”

ในวันที่ 12 มี.ค. ช่วงเย็น หมู่อาร์มได้รับโทรศัพท์จากหัวหน้าแผนก โดยติดต่อมาเพื่อ ขอให้ไปพูดคุยกับผู้บังคับบัญชาในวันที่ 13 เพื่อไกล่เกลี่ย และขอขมา ตอนนั้นเขาคิดว่าเป็นผลจากการโทรไปร้องเรียนสายตรง ทบ.

“สุดท้ายผมยอมเข้าไปขอขมา และถ้าดูข่าวช่วงนั้นก็จะเห็นว่ามีคลิปหลุดออกมา ว่ามีการสั่งสอนผม มีการพูดว่า กูเคยสั่งขังคนไปคนหนึ่ง ตอนนี้มันตายไปแล้ว มึงทำแบบนี้ไม่เจริญก้าวหน้าหรอก แต่ในคลิปมันถูกช่วงหนึ่งไป คือ ช่วงทีเขาบอกว่าให้ผมไปยุติเรื่องร้องเรียน และให้เวลาถึงวันที่ 16 และเลื่อนวันรายงานตัวรับโทษจำขังออกไปก่อน หลังจากนั้นผมก็โทรไปขอยุติเรื่องร้องเรียนกับ ทบ. ส่วนหนึ่งก็เพราะผมคิดว่า พวกเขามีความจริงใจ และผมก็ยังรักในงานของผมอยู่ แต่ปรากฎว่าวันที่ 16 เรื่องร้องเรียนจาก ทบ. เพิ่งมาถึง และตอนนั้นเขาไม่ฟังอะไรเลย จะสั่งจำขังผมวันที่ 18 วันที่ 17 ผมเลยตัดสินใจหนีออกมา และไปร้อง ป.ป.ช. เรื่องการทุจริต และขอให้ ป.ป.ช. สั่งคุ้มครองพยาน”

เรื่องร้องเรียนหายไปพร้อมกับโควิด-19 และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รู้ตัวอีกทีถูกสั่งปลดจากราชการแล้ว และมีคดีหนีทหารติดตัว

เรื่องการร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ของหมู่อาร์มนั้น ส่วนสำคัญที่สุดคือ การขอให้มีการสั่งคุ้มครองพยาน หมู่อาร์มเปิดเผยว่า นับจากวันที่หนีออกมาจากค่ายทหารเพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่ปลอดภัยนั้น ก็เฝ้ารอว่าเมื่อไร ป.ป.ช. จะแจ้งเรื่องการคุ้มครองพยานกลับมา จนกระทั่งเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ได้เห็นเอกสารที่ ผู้แทน ป.ป.ช. นำมาชี้แจงต่อคณะทำงาน ของ กมธ.กฎหมาย โดยในเอกสารระบุว่า เขาถูกปลดจากการเป็นข้าราชการแล้ว เนื่องจากขาดราชการเกินกำหนด โดยไม่ทราบเหตุผล และไม่สามารถติดต่อได้  จึงทำให้ ป.ป.ช. ไม่สามารถสั่งคุ้มครองพยานโดยการเสนอให้มีการโอนย้ายงานได้ นั่นยิ่งทำให้เขาตั้งถามต่อไปถึงการทำงานขององค์กรอิสระว่า เหตุใดจึงปล่อยให้มีการปลดเขาออกจากราชการก่อนจึงจะดำเนินเรื่องที่เขาร้องขอไว้ นอกจากนี้ยังมีหมายเรียกให้หมู่อาร์มเข้าไปรายงานตัวต่อศาลทหาร ในคดีหลบหนีการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 22 มิถุนายน นี้

“เขาพูดได้ไงว่าผมขาดงานโดยไม่ทราบสาเหตุ เขาไม่รู้จริงๆ เหรอว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับผม และคนที่เซ็นต์ชื่อปลดผม เขาก็เคยมาเจอกับผมวันที่ กมธ.กฎหมาย เชิญมาให้ข้อมูล แล้วจะมาบอกว่าติดต่อผมไม่ได้ได้ยังไง”

“ยังจำเรื่องกราดยิงโคราชได้ไหมครับ พูดกันตรงๆ ภายใต้สถานการณ์ที่มันไม่มีทางออกอะไรเลยก่อนหน้านี้ผมก็เคยคิดว่าผมจะทำแบบนั้น แต่ถ้าทำอย่างนั้นผมก็ติดคุก ทุกอย่างจบ ผมก็ต้องหาทางออกที่เป็นการร้องเรียนมากกว่า และพอมีข่าวกราดยิงโคราชขึ้นมา มันยิงทำให้ผมเก็บมาเป็นบทเรียนว่า ผมจะไม่ทำแบบนั้น ในเมื่อหลังเหตุการณ์นั้น ผบ.ทบ. กล้าพูดว่าให้มาต่อสู้ มาร้องเรียนตามระบบ ผมก็อยากพิสูจน์ให้สังคมได้เห็นว่ามันจะแก้ปัญหาได้จริงไหม แต่สุดท้ายมันกลายเป็นพิสูจน์ให้สังคมเข้าใจว่าทำไม จ่าจักรพันธ์ ถึงเลือกวิธีนั้นมากกว่า เพราะถ้าเลือกต่อสู้ตามกระบวนการก็จะเป็นแบบผมนี่ไง ทั้งโดนปลด ทั้งโดนคดี เรื่องแบบนี้ทหารชั้นผู้น้อยเขารู้ดีถ้าเลือกสู้ตามกระบวนการมันก็เป็นแบบนี้”

หมู่อาร์มย้ำว่า เข้าใจดีว่าในวันที่ 22 นี้ตัวเองอาจจะไม่ได้รับการประกันตัว และสิ่งที่ต้องการสื่อสารมาที่สุดในเรื่องนี้คือ การได้รับการประกันตัวเป็นสิทธิขั้นฐานพื้น และตัวเขาเองไม่มีเจตนาที่จะหลบหนีคดี หากไม่ได้รับการประกันตัวจริงๆ ขอให้สันนิฐานไว้ได้เลยว่า

“พวกเขาจงใจที่จะปิดปากผม และถ้าสั่งขังผมแม้แต่วันเดียว ผมยอมตาย ตายเพื่อให้ปลุกให้คนตื่น และให้ความตายของผมมันหลอกหลอนกองทัพ จนกว่ามันจะยอมปฏิรูป นี่คือผม คนสิงห์บุรีเป็นอย่างนี้”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net