Skip to main content
sharethis
 

ซีรีส์ความรุนแรงทางเพศตอนที่ 5 คุยกับ เบส-บุษยาภา ศรีสมพงษ์ นักกฎหมายขับเคลื่อนประเด็นยุติความรุนแรงในไทย เธอมองว่าความรุนแรงทางเพศในกฎหมายไทยโทษอ่อน-ไม่ทันยุคดิจิทัล และกระบวนการไกล่เกลี่ยที่ให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัว อาจผลักให้ผู้ถูกกระทำถูกกระทำซ้ำ

 

#1: หนึ่งร้อยปีแห่งประวัติศาสตร์การข่มขืนในไทยที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงใต้กรอบ 'ผู้หญิงที่ดี'

#2: เมื่อการข่มขืนถูกทำให้เป็นเรื่องระหว่างบุคคล จึงไม่ต้องแก้เชิงโครงสร้าง

#3: 'เข้มแข็งไม่พอ ก็เป็นนักกิจกรรมไม่ได้' คำตอบต่อการถูกคุกคามทางเพศ?

#4: ความเงียบอันขมขื่นในที่ทำงาน เมื่อปัญหาคุกคามทางเพศถูกซุกไว้ใต้พรม

 


บุษยาภา ศรีสมพงษ์ จากเฟสบุ๊ค Busayapa Srisompong

 

เบส-บุษยาภา ศรีสมพงษ์ คือ นักกฎหมายและเจ้าของเพจ SHero เพจที่ขับเคลื่อนเพื่อยุติปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย ผู้ริเริ่มแคมเปญ #ithappenedtometoo ให้ทุกคนที่เคยถูกกระทำความรุนแรงร่วมบอกเล่าประสบการณ์และติดแฮชแท็ก 

และนี่คือประสบการณ์ส่วนหนึ่งที่เธอเคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวที่เธอเล่าไว้ในบทสัมภาษณ์ของเว็บไซต์ universelles

“ฉันตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว แฟนของฉันกระทำความรุนแรงกับฉันอยู่เกือบหนึ่งปี

“ทั้งที่ฉันเคยช่วยเหลือผู้หญิงมากมายที่เคยเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวให้ออกจากสภาวะและรับความช่วยเหลือทางกฎหมายได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นกับตัวเอง ฉันกลับหนีออกไปไม่ได้ ฉันยังคงอยู่กับเขา ฉันให้อภัยทุกครั้งที่เขาทำร้ายฉัน ฉันคิดว่าฉันจะช่วยให้เขาดีขึ้นได้ ฉันเคยช่วยผู้หญิงหลายคนที่เจอสถานการณ์แบบเดียวกัน แต่ฉันกลับช่วยอะไรตัวเองไม่ได้เลย ต้องขอบคุณผู้หญิงที่เข้มแข็งหลายคนที่อยู่เคียงข้างฉันคอยกระตุ้นและให้กำลังใจ ทำให้ฉันตระหนักว่าฉันต้องลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อหยุดมันเสีย

“ฉันไปแจ้งความฟ้องเขา แต่ก็ต้องพบกับเรื่องน่าโมโหเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับแจ้งความพูดกับฉันว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเล็กน้อยหยุมหยิมที่ฉันไม่น่ามายุ่งยากแจ้งความเลย เขาพูดกับฉันว่าเดี๋ยวฉันก็คงกลับไปคืนดีกับแฟนเหมือนเดิม ฉันเดินออกจากสถานีตำรวจแล้วร้องไห้ ครั้งที่สองที่ฉันไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ ฉันตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่ปล่อยให้พวกเขาบั่นทอนกำลังใจฉันได้อีก ฉันบอกพวกเขาอย่างตรงไปตรงมาว่าอย่าพยายามจะพูดให้ฉันเปลี่ยนใจ จะไม่มีการประนีประนอมยอมความอะไรทั้งนั้น ฉันทำให้พวกเขารู้ด้วยว่าฉันรู้กฎหมาย ฉันจำเป็นต้องขู่พวกเขา ให้พวกเขารู้ว่าฉันเป็นทนายความ กว่าที่พวกเขาจะยอมรับแจ้งความ คดีไปถึงชั้นศาลในที่สุด ฉันไม่ไปร่วมพิจารณาคดีเพราะฉันทำใจเผชิญหน้าแฟนอีกครั้งไม่ได้ ถึงฉันจะจัดการให้แน่ใจได้ว่าเขา (ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ) มีทนายความและล่าม

“นับแต่นั้นฉันก็เข้าใจอย่างแท้จริงว่ามันยากเพียงใดที่ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวจะกล้าพูดหรือแจ้งความ การแจ้งความคดีความรุนแรงในครอบครัวเป็นประสบการณ์ที่ไม่น่าพิศมัยเลย เพราะขั้นตอนดำเนินการผ่านตำรวจและกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องยุ่งยาก สำหรับผู้หญิงส่วนใหญ่ ถ้าไม่มีคนที่รู้กฎหมายไปด้วยหรือไปให้กำลังใจก็แทบจะผ่านมันไปไม่ได้เลย

“ประสบการณ์ที่ฉันได้พบเจอกับตัวเอง รวมทั้งกรณีความรุนแรงในครอบครัวต่าง ๆ ที่ฉันเข้าไปช่วยเหลือ กระตุ้นให้ฉันอยากทำอะไรให้มากขึ้นเพื่อจัดการกับประเด็นนี้ ฉันจึงสร้างโครงการ SHero ขึ้นมา”

 

ประชาไทสัมภาษณ์ เบส-บุษยาภา ถึงความเห็นเธอต่อระบบกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายของไทยในเรื่องการใช้ความรุนแรงทางเพศ ทั้งนิยาม การลงโทษ กลไปที่เกี่ยวข้อง จนถึงวัฒนธรรมของสังคมไทยที่มีต่อเรื่องนี้

 

นิยามของคำว่าความรุนแรงทางเพศ

บุษยาภากล่าวว่า ความรุนแรงทางเพศ (sexual violence) ประกอบไปตั้งแต่ การคุกคามทางเพศ (sexual harassment) จนถึงการข่มขืน ซึ่งการคุกคามทางเพศมีตั้งแต่การใช้สายตา วาจา หรือการติดตาม (stalking) ที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกถูกคุกคาม เดือดร้อน อับอาย อึดอัด 

“การจะวัดว่าเป็นคุกคามทางเพศหรือไม่ วัดจากความรู้สึกผู้ถูกกระทำ ซึ่งรวมถึงการแสวงหาผลประโยชน์ การใช้เรื่องเพศมาแลกเปลี่ยนอะไรบางอย่างก็ถือว่าเป็นการคุกคามทางเพศ” บุษยาภาระบุ 

แต่ขณะเดียวกันกฎหมายไทยไม่ได้ใช้คำว่า ‘ความรุนแรงทางเพศ’ ตรงๆ แต่จะมีคำว่า ‘ข่มขืน-กระทำชำเรา’ และ ‘อนาจาร’

“เรามองว่าทุกอย่างมันคือถนนสู่อาชญากรรมทั้งหมด แค่การพูด การมอง การจับ เพราะมันคือการที่คุณ ทำให้คนๆหนึ่งกลายเป็นเพียงวัตถุและขบขันกับมัน การคุกคามทางเพศมันมีผลกระทบต่อคนในแง่ที่มันสร้างบาดแผลที่รักษาไม่ได้ บาดแผลภายนอกคุณเห็นและรักษาได้ แต่ถ้าเป็นบาดแผลทางจิตใจคุณไม่สามารถเห็นมันแล้วรักษาได้ แล้วถ้าคนๆ นั้นก็ต้องอยู่ต่อไปโดยไม่มีใครมาเยียวยาหรือให้ความยุติธรรมกับเขา ในขณะที่ผู้กระทำก็ไปทำกับคนอื่นต่อ มันจึงกลายเป็นวงจรไม่จบสิ้น เพราะฉะนั้นการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ถ้าคุณทำให้สิ่งนี้มันยังหมุนต่อไปในสังคม มันก็จะทำให้อาชญากรรมใหญ่ๆ เกิดขึ้นได้จากอะไรพวกนี้” บุษยาภากล่าว

 

ความรุนแรงทางเพศในกฎหมายไทยโทษอ่อน-ไม่ทันยุคดิจิทัล

บุษยาภาเห็นว่า กฎหมายไทยไม่ได้เน้นเรื่องการคุกคามทางเพศมากนัก แม้จะถูกเขียนไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 แต่โทษจะอ่อน และอยู่ในหมวดลหุโทษ 

ในมาตรา 397 วรรคสองระบุว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำในที่สาธารณสถานหรือต่อหน้าธารกำนัลหรือเป็นการกระทำอันมีลักษณะส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” 

บุษยาภามองว่า แม้เป็นการพูดถึงการคุกคามทางเพศ แต่ก็มีความพิการในการปรับใช้ เพราะกลายเป็นว่าการคุกคามทางเพศที่ไม่ได้อยู่ต่อหน้าคนอื่น หรืออยู่ในอินเทอร์เน็ต ผู้ถูกกระทำมักจะเอาผิดได้ยาก ตำรวจมักจะบอกว่ากฎหมายทำอะไรไม่ได้ กลายเป็นว่าแค่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นตำรวจก็ยากแล้ว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการคุกคามทางเพศออนไลน์ยังไม่มีเป็นกฎหมายเฉพาะ  

“ลองนึกสภาพว่าทุกวันที่เราเดินไปทำงาน เราผ่านคนกลุ่มหนึ่งที่เขานั่งอยู่ตรงนั้นประจำ แม้ไม่ได้พูดอะไร แต่เขาใช้การมองทุกวัน ถ้ามันส่งผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำในทางจิตใจในระยะยาว ลักษณะนี้ในไทยยังไม่มีการตีความทางกฎหมาย ยังไม่เห็นเป็นคดีชัดเจนขึ้นมา” บุษยาภากล่าว

ส่วนมาตรา 397 วรรคสุดท้ายระบุว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสองเป็นการกระทำโดยอาศัยเหตุที่ผู้กระทำมีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำอันเนื่องจากความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา นายจ้าง หรือผู้มีอำนาจเหนือประการอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท” 

ซึ่งพูดถึงการคุกคามทางเพศโดยนายจ้าง บุษยาภามองว่าโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท นั้นดูเป็นโทษที่เบาเกินไป ประกอบกับ ส่วนใหญ่ผู้ถูกกระทำก็ไม่กล้าแจ้ง และระบบคุ้มครองที่ได้ผลจริงยังไม่มี

ทั้งหมดนี้บุษยาภากล่าวว่า กฎหมายเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศไม่ได้แก้ไขมานานแล้ว ไม่ทันกับยุคดิจิทัล ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ เกิดอาชญากรรมในโลกไซเบอร์เยอะขึ้น ถ้าหลักฐานหายไปแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ แม้ไทยมีกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) แต่ส่วนใหญ่จับแค่คดีใหญ่ๆ ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับคดีคุกคามทางเพศมากนัก

 

คำว่า ‘ล่วงล้ำ’ อาจทำให้โทษข่มขืนกลายเป็นแค่โทษอนาจาร 

เมื่อดูกฎหมายเรื่องการข่มขืน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2562 มีนิยามการข่มขืนกระทำชำเราใหม่ มาตรา 1(18) ‘กระทำชำเรา’ หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น

บุษยาภามองว่า คีย์เวิร์ดอยู่ที่คำว่า ‘ล่วงล้ำ’ หมายความว่าการข่มขืนต้องล่วงล้ำแล้วเท่านั้น หลายฝ่ายมองว่า การกระทำบางอย่างที่ถึงแม้ยังไม่ล่วงล้ำ ก็รุนแรงระดับข่มขืนเหมือนกัน 

บุษยาภายกตัวอย่างคำพิพากษาฎีกา เคสล่วงละเมิดเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ลักษณะคือผู้กระทำเลียอวัยวะเพศ ศาลตีความว่าไม่ถือเป็นการกระทำชำเรา เพราะไม่ได้เอาเข้าไป แค่เลีย ถือเป็นแค่อนาจาร ซึ่งโทษน้อยกว่า

“เราคิดว่าจริงๆ มันควรถูกพูดคุยมากกว่านี้ ควรมีมาตรการเยียวยารองรับมากกว่านี้ เพราะต่อให้กฎหมายออกมาแล้วโทษแรงขึ้น แต่การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมยังห่วยอยู่ ก็คุ้มครองผู้ถูกกระทำไม่ได้อยู่ดี” บุษยาภาระบุ

บุษยาภากล่าวต่อว่า พอมาตรานี้ออกมาจะข่มขืนสามีหรือภรรยาตัวเองก็ทำไม่ได้ แต่กฎหมายบอกว่าถ้าเป็นการกระทำผิดระหว่างคู่สมรสและประสงค์จะอยู่ด้วยกันฉันท์สามีภรรยา ศาลจะลงโทษน้อยกว่ากฎหมายกำหนดก็ได้ หรือคุมความประพฤติก็ได้ ก็มีมาตรการอะไรที่ดูประนีประนอมขึ้นมา แต่พอมีมาตรการประนีประนอมแบบนี้ เวลาถึงชั้นตำรวจ อัยการ ศาล จะเกิดคำถามว่า แล้วผู้ถูกกระทำถูกโน้มน้าวให้ประนีประนอมรึเปล่า ถูกโน้มน้าวให้ยอมความรึเปล่า 

 

ให้ความสำคัญกับสถานบันครอบครัว อาจผลักให้ผู้ถูกกระทำถูกกระทำซ้ำ

“คดีความรุนแรงในครอบครัว ผู้ถูกกระทำมักจะถูกทำให้ประนีประนอมและไกล่เกลี่ย เพราะคนจะชอบมองว่าคนในครอบครัวเดียวกัน เดี๋ยวก็ดีกัน คนไทยรักสวัสดิภาพครอบครัว การที่คุณบอกแบบนี้มันเหมือนการผลักให้ผู้ถูกกระทำกลับมาถูกกระทำซ้ำ และเด็กที่อยู่ในครอบครัวแบบนี้ก็อาจจะโตมาเป็นผู้กระทำอีกก็ได้ ” บุษยาภากล่าว 

บุษยาภาอธิบายว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ให้น้ำหนักกับการไกล่เกลี่ย และอนุรักษ์นิยม ทุกคนต้องรักษาสถาบันครอบครัวไว้มากเกินไป ทั้งที่ตามหลักกฎหมาย หลักการเจรจาต่อรอง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือสัญญาทั่วไป การเริ่มต้นเจรจาต้องเริ่มจากคนที่มีอำนาจเสมอภาคกัน 

“เพราะฉะนั้นถ้าเกิดการเจรจาระหว่างคนที่เป็นผู้กระทำ ซึ่งมีอำนาจมากกว่า กับคนที่เป็นผู้ถูกกระทำ ซึ่งอำนาจลดลงมาตั้งนานแล้วเพราะโดนกระทำมาตลอด ก็ทำให้กระบวนการไกล่เกลี่ยเป็นจุดอ่อนใหญ่อันหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม” บุษยาภาระบุ

บุษยาภาเห็นว่า การนำกระบวนการไกล่เกลี่ยมาใช้กับกรณีความรุนแรงทางเพศ ส่วนใหญ่ผู้ถูกกระทำมักจะเป็นฝ่ายแพ้ แม้จุดมุ่งหมายของผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศทุกคนไม่จำเป็นว่าต้องเป็นการชนะคดีทางศาลอย่างเดียว แต่ถ้าสามารถกลับไปใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย มีความสุข ก็ถือเป็นจุดมุ่งหมายได้ 

“แม้กฎหมายบอกว่าต้องเยียวยาผู้ถูกกระทำ พอถึงเวลาจริงคุณก็ไม่ได้เยียวยา คุณแค่ผลักเขาไปอยู่กับครอบครัวเดิม แล้วก็ไม่มีนักจิตวิทยาที่เข้าใจมาช่วยเยียวยาจริงๆ นี่เป็นข้อท้าทายอย่างหนึ่ง ตอนที่เราทำงานที่แม่สอด มีคนเยอะมาก มีจิตแพทย์หนึ่งคนถ้วน มีนักจิตวิทยาสองคน หรือนักสังคมสงเคราะห์ซึ่งสำคัญมาก แต่ล่าสุดไม่ได้ถูกลิสต์ให้เป็นข้าราชการสาธารณสุข เราเลยมองว่าอาจต้องมีการใส่ใจคุ้มครองตรงนี้มากกว่านี้” บุษยาภาสะท้อน

ข้อแนะนำของเธอคือ แม้จะเป็นการกระทำครั้งแรก แล้วศาลสั่งรอลงอาญา ในระหว่างนั้นศาลควรมีมาตรการให้ผู้กระทำไปเจอนักบำบัด เจอจิตแพทย์ ให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำมันไม่สมควรจริงๆ เพื่อให้เขาไม่ทำอีก แต่ส่วนใหญ่เท่าที่เธออ่านคำพิพากษามา ศาลจะสั่งให้จบคดีไปแล้วรอลงอาญาแค่นั้น

“เราเข้าใจว่าผู้กระทำทุกคนมีบาดแผลทางใจบางอย่างมา แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลในการจะใช้ความรุนแรงกับคนอื่น และถ้าต้องรักษาก็ต้องรักษาเยียวยาไป ถ้านึกถึงจิตใจของผู้กระทำ หรือใช้ความรุนแรง เขาน่าจะคิดว่าความรุนแรงเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหา แล้วเขาก็อยู่กับผู้ถูกกระทำมานานจนเขารู้สึกว่าเขามีอำนาจเหนือกว่า เพราะฉะนั้นขบวนการไกล่เกลี่ยแทบจะไม่ช่วยอะไรเลย” บุษยาภากล่าว 

บุษยาภาเล่าว่า ผู้ไกล่เกลี่ยในขบวนการยุติธรรมของไทยส่วนใหญ่มักจะเป็นตำรวจผู้ชายหรือบุคคลที่ไม่ได้เข้าใจในบริบทความรุนแรงในครอบครัวมากนัก และพยายามจะทำให้เสร็จๆ ไป เช่น บอกฝ่ายผู้ถูกกระทำว่า “ไม่ต้องเล่าเรื่องอดีตแล้ว เพราะตอนนี้กำลังคิดถึงอนาคตกันว่าจะเอายังไง” ซึ่งเป็นการ disregard (ไม่สนใจ) กับสิ่งที่เกิดขึ้น disregard ประสบการณ์และบาดแผลของผู้ถูกกระทำ ไม่ได้ฟังผู้ถูกกระทำจริงๆ แต่แค่จะหาทางออกให้มันจบๆ ไป

 

คนรับเคสต้องชำนาญเฉพาะทาง ต้องมีงบประมาณสนับสนุน

บุษยาภามองว่า คนที่ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยไม่ควรเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งเป็นคนดูแลเคส ช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ นักกฎหมายควรทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยทั้งในชั้นตำรวจ อัยการ หรือศาลอาจไกล่เกลี่ยเอง แต่ในระบบการคุ้มครองของไทย มักใช้คนไกล่เกลี่ยปนกัน 

บุษยาภากล่าวว่า ข้อท้าทายคือการอบรมคดีทางเพศของพนักงานสอบสวน บางทีไม่ได้อบรมให้เข้าใจความเปราะบาง เรื่องทางสังคม จิตใจ การอบรมของหน่วยงานราชการมักเป็นลักษณะบรรยาย นั่งในห้องประชุมใหญ่ เปิดสไลด์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาจะจำคือขั้นตอน 1 2 3 4 แต่ไม่เข้าใจรายละเอียดระหว่างนั้น 

“ในแต่ละจังหวัดส่วนใหญ่ไม่ได้มีพนักงานสอบสวนหญิงเยอะ มีแค่ 1-2 คน ถ้าโชคดีก็ไปเจอพนักงานสอบสวนหญิงที่มีประสบการณ์ในการทำงาน แต่ในระบบตำรวจเวลาเขาเลื่อนขั้นการทำงาน เขาไม่ได้ย้ายตามสาย เขาย้ายสลับ เราเคยเจอคนที่เป็นสายสืบ สายลงไปบู๊ หาหลักฐาน ถูกเปลี่ยนให้เป็นสายนั่งโต๊ะทำงาน แล้วก็เลื่อนขั้นไปเรื่อยๆ เป็นสายตามนาย ซึ่งน่าเสียดาย เพราะเมื่อคุณฝึกให้ชำนาญในเรื่องนั้นๆ มา 4-5 ปีแล้ว คุณควรจะเก่งเรื่องนั้นและทำเรื่องนั้นต่อไป แต่เรายังไม่เคยเจอคนที่เก่งคดีเด็กและผู้หญิงแล้วได้อยู่คดีนั้นต่อไปเรื่อยๆ เลย ปัจจุบันคือพนักงานสอบสวนคนหนึ่งต้องรับเคสหลายแบบ คดีโจรปล้น ค้ายา เป็นปัญหาเรื่องงานโหลดของพนักงานสอบสวน” บุษยาภาระบุ 

นอกจากนี้ปัญหาอีกอย่างคือเรื่องงบประมาณ บุษยาภาเล่าว่าแต่ก่อนจะมีศูนย์พึ่งได้ one stop service อยู่ที่โรงพยาบาล สถานีตำรวจ ถ้าถูกกระทำมาก็สามารถเข้าไปหาได้ แต่ตอนหลังงบประมาณถูกตัด ส่วนนี้ก็เลยหายไป บางทีผู้เสียหายเข้าไปในสถานีตำรวจ เจอตำรวจถาม “อ้าว เป็นอะไรมา” เสียงดังกลางสถานี ผู้เสียหายก็อึดอัดที่จะเล่า 

บุษยาภากล่าวเสริมว่า ความยากอีกอย่างคือเคสข่มขืนหาหลักฐานยาก เพราะโดยส่วนใหญ่เมื่อโดนข่มขืนมาเขาจะรังเกียจตัวเอง เขาก็จะรีบอาบน้ำ ขัดทุกอย่าง โยนเสื้อผ้าทิ้ง และอาจมีอาการ black out ซึ่งเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้น คือช็อคและจำไม่ได้ กว่าจะจำได้คือผ่านไปนานแล้ว หลักฐานไม่มี ก็อาจต้องมีการคุยกันว่าถ้าเคสแบบนี้ตำรวจควรทำยังไง คำให้การหรือคำพูดของผู้ถูกกระทำเองก็ถือว่าเป็นหลักฐาน คนที่รับเคสพวกนี้ต้องมีเทคนิคในการคุยกับผู้ถูกกระทำ 

 

เมื่อถูกคุกคามทางเพศ ปรึกษาคนที่ไว้ใจ เก็บหลักฐาน แล้วแจ้งองค์กร-ตำรวจ

บุษยาภาแนะนำว่า เมื่อถูกคุกคามทางเพศอันดับแรกต้องทำความเข้าใจกับตัวเองก่อนว่ารู้สึกยังไง ถ้ารู้สึกไม่สบายใจ ถูกคุกคาม ต้องหาเพื่อนหรือคนที่เราไว้ใจสักคนที่เราสามารถเล่าเรื่องนี้ให้เขาฟังได้ แล้วให้เขา empower เรา สร้างกลุ่มเพื่อนที่จะคอยรับฟัง แบ่งปันเรื่อง ให้รู้สึกว่าสามารถเรียกร้องความเป็นธรรมได้ หลังจากนั้นก็อาจแจ้งคนที่เขามีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงในองค์กร อีกทางหนึ่งก็อาจจะรวบรวมหลักฐานไปแจ้งตำรวจด้วย 

“เคสคุกคามทางเพศ สิ่งแรกที่เราต้องให้ความสำคัญคือประเมินก่อนว่าเขาปลอดภัยขนาดไหน บางคนมองว่า ฉันยังไปทำงานได้แม้จะถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน แต่มันก็คือการสร้างความอึดอัดให้ตัวเองในทุกวัน แต่ถ้ารู้สึกไม่ปลอดภัยก็ต้องรีบแจ้ง 

“อย่างในองค์กรใหญ่ๆ เช่น UN จะมีการอบรมเรื่องนี้ทุกเดือน และบอกว่าถ้ามีอะไรเกิดขึ้นให้แจ้งได้ที่ไหน และจะมีการตั้งทีมตรวจสอบ แต่ก็มีเคสที่แจ้งไปแล้วทางองค์กรก็ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เหมือนกัน ดังนั้นเราเลยพยายามสนับสนุนให้คนในโซเชียลพูดเรื่องนี้กันเยอะๆ” บุษยาภากล่าว

 

วัฒนธรรมที่สอนให้คนเชื่อฟังมากกว่ากล้าลุกขึ้นพูด

บุษยาภามองว่า ต้นเหตุของปัญหาต้องมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งไม่ใช่การโทษผู้ชาย แต่มันคือระบบที่ให้อำนาจคนกลุ่มหนึ่งมากกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง และอีกประการคือระบบศักดินายังอยู่ในทุกอณูของสังคม ตั้งแต่ในบ้าน ในโรงเรียน ทำให้เกิดสังคมที่มีความต่างทางอำนาจ ซึ่งก็นำมาสู่การล่วงละเมิด และทำให้เกิดความรุนแรงได้ 

“ในสังคมไหนก็ตามที่มีคนอำนาจไม่เท่ากันอยู่ คนมีอำนาจสูงกว่ามักจะถูกละเมิดและเกิดเหยื่อทันที ลองนึกสภาพสังคมที่กลุ่มเพศชายถูกมองว่าเก่งกว่า เป็นผู้นำ มันก็จะสามารถให้เหตุให้ผลกับความรุนแรงทางเพศได้ เรายังเห็นวาทกรรมที่อ้างว่าก็เพราะนิสัยผู้ชายก็เป็นแบบนี้ การล้อเลียนการล่วงละเมิดดูเป็นพฤติกรรมตามประสาผู้ชาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็คือการสร้างวัฒนธรรมความรุนแรงทางเพศ

“ในสำนวนไทย สุภาษิตไทยมีวลี ‘วันทองสองใจ’ ‘นางกากี’ แต่ขณะที่ขุนแผนเมียเยอะ ถูกมองว่าเท่จัง เพราะฉะนั้นอะไรที่เป็นเพศหญิงมันถูกทำให้เป็นวัตถุทางเพศมานานมากแล้ว ปัญหานี้มันเลยหายไปยาก เพราะมายาคติ คุณค่า วัฒนธรรมที่สืบต่อมารุ่นต่อรุ่น แล้วก็ถูกฝังไปในระบบการศึกษาไทยที่ไม่เคยมีใครสอนให้คนกล้าลุกขึ้นมาพูด หรือสอนให้เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่น แต่เราสอนให้ชื่อฟัง เคารพกฎ ซึ่งมันสะท้อนผ่านกฎหมายที่เขียนขึ้นมาด้วย” บุษยาภากล่าวทิ้งท้าย

 

* โปรเจค Univers'ELLES ที่เป็นพื้นที่แชร์เรื่องราวเสริมพลังผู้หญิงทั่วโลก บทสัมภาษณ์แปลความเป็นภาษาไทยโดย Didtita Simcharoen

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net