Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ก่อนจะจรดปากกาเขียนบทความนี้ ได้เกริ่นพล็อตกับเพื่อนๆ รวมถึงแฟนคลับบางท่าน แต่หลายๆ ท่านแนะนำว่าไม่ควรเขียนเรื่องนี้เผยแพร่ เพราะอาจจะเสียมากกว่าได้ แต่ในเมื่อเราตั้งใจไว้แล้ว หลังคิดแล้วคิดอีกเป็นอย่างดี ก็เริ่มลงมือเขียนเลยทันทีไม่มีรีรอ และเพราะการที่เป็นคนป่วยนี่เองที่ทำให้อยากเขียนเรื่องนี้

เราเป็นคนป่วย หลังผ่าตัดใหญ่เมื่อกลางปี 60 ทำให้หลังจากนั้นต้องเทียวเข้าเทียวออกโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น เริ่มจาก รพ.ในต่างอำเภอตามสิทธิ์หลักประกันสุขภาพ ส่งต่อรักษาต่อยังโรงพยาบาลประจำจังหวัด จากนั้นก็มีการส่งตัวต่อมารักษายังโรงพยาบาลในกรุงเทพ เท่ากับว่ามีโรงพยาบาลที่ต้องเทียวเข้าเทียวออกมากถึง 3 โรงพยาบาล และชีวิตผ่านการผ่าตัดใหญ่อย่างที่บอก(ประมาณ 21 ชม.) ดังนั้นเรื่องโรงพยาบาลนี่รับประกันได้ว่าประสบการณ์ไม่เป็นรองใครจริงๆ ถือเป็นเครื่องหมายการันตี

ช่วงปีแรกนี่แทบจะต้องเข้าออก รพ.ทั้งสามแห่งแบบเวียนวนสัปดาห์ละครั้ง หรือบางทีสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ยิ่งสองเดือนแรกของการผ่าตัดนี่ตลอดทุกวัน เว้นวันหยุดราชการ มาดีหน่อยตอนปีที่ 2 เมื่อเริ่มเป็นวนเวียนเข้าออก รพ.ทั้งสามแห่งแบบรายเดือน แต่บางเดือนก็ต้องไปครบทั้งสาม รพ. และมาดีที่สุดตอนปีที่ 3 นี่เองที่เริ่มเป็นราย 3 เดือนติดตามผลการรักษา

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการบริการ หรืออะไรต่อมิอะไรในหลายๆ เรื่อง เราจึงถือได้ว่าอาจจะรู้ดีพอๆ กับบุคลากรของ รพ.ทั้งสามแห่งนั้นเลยทีเดียว

สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยสำหรับ รพ.ของรัฐนั่นก็คือเรื่องของจำนวนผู้ใช้บริการ ที่ขอนำมากล่าวถึงในมุมมองของคนป่วย

ตลอดเวลาช่วงของการติดตามผลการรักษาในช่วง 2 ปีแรกนั้น ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า รพ.ของรัฐทั้งสามแห่งนี้มีจำนวนผู้ใช้บริการในแต่ละวันมากมายมหาศาลจริงๆ แม้เราจะมีใบนัดไปตั้งแต่ 6 โมงเช้า แต่บางวันกว่าจะได้รับบริการก็บ่ายๆ จนถึงเย็นๆ บางวันรอรับยาถึงค่ำๆ ก็เคยมี (คลีนิคนอกเวลา) จึงไม่แปลกใจเลยว่าจำนวนเงินงบประมาณที่ภาครัฐจัดสรรให้แต่ละ รพ.คิดเป็นรายหัวประมาณ 3,600 บาท/ราย/ปีนี้ไม่น่าจะเพียงพอ ทำให้หลายๆ รพ.ของรัฐที่บริหารจัดการไม่เป็นอาจทำให้บัญชีของ รพ.ติดลบสะสมต่อเนื่องขาดทุนเรื่อยมา

จนกระทั่งเดือน ม.ค.ปี 63 นี้เราเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญหลังเริ่มมีการระบาดครั้งใหญ่ของโรคโควด-19 ในประเทศจีน ซึ่งหลายๆ ประเทศก็เริ่มๆ มีการระบาดรวมทั้งประเทศไทยของเรา

เดือน ม.ค. เราต้องไป รพ.ประจำอำเภอ และ รพ.ประจำจังหวัด สิ่งที่ได้เห็นคือ รพ.เริ่มไม่ค่อยมีผู้ป่วย หรือมีแต่เริ่มมีจำนวนที่ลดลง

เดือน ก.พ. เราต้องมา รพ.ที่กรุงเทพ ก็สังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนเช่นกันว่า จำนวนผู้ป่วยมาพบแพทย์นั้นน้อยลงถนัดตา และแทบจะไม่มีผู้ป่วยเลยในการมาพบแพทย์เดือน มี.ค. ยิ่งหลังจากการระบาดในสนามมวยหลังจากนั้นเรามา รพ.แทบใจหายเลยทีเดียว แทบไม่มีคนไข้รายใหม่เลย จะมีก็เฉพาะแต่รายที่หมอนัด บอกเดือน เม.ย. เราก็ถึงบางอ้อ เพราะเจ้าหน้าที่ รพ.เองเลยที่โทรมาขอเลื่อนนัดออกไปก่อน เพราะหวั่นเกรงเรื่องการระบาดของโรคโควิด-19 และ รพ.ที่เราต้องไปนี้ก็ถือว่าเป็น รพ.ลำดับต้นๆ ของกรุงเทพที่ใช้ในการรักษาโรคระบาดร้ายแรงนี้

เดือน เม.ย.ปี 63 นี้ จึงเป็นเดือนแรกที่เราไม่ต้องเข้า รพ.ในรอบ 3 ปีมานี้

เดือน พ.ค. สถานการณ์ยังคงเป็นเช่นเดิมทั้งสาม รพ.นี้แทบไม่มีผู้ป่วยรายใหม่จะมีเฉพาะผู้ป่วยมาตามนัดแพทย์ รวมถึงตัวเราเองด้วย

นี่คือความจริงที่อยากเล่า...เกิดอะไรขึ้นกับคนไทย ที่ผ่านมาคืออะไรทำไปคนแน่น รพ.เลย ทำไมผู้ป่วยมากมายมหาศาลขนาดนั้น

คำถามคือทำไมพอมีโรคระบาดร้ายแรงเกิดขึ้น คนไทยเราถึงไม่ค่อยมีผู้ป่วย แล้วที่ผ่านๆ มาก่อนโควิด-19 จะมาเยือนทำไมผู้ป่วยแน่นจนล้น รพ.
 
นี่คือสิ่งที่ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลต้องหาคำตอบให้ได้ เพราะงบประมาณที่ใช้ในการสาธารณสุขตามหลักประกันสุขภาพทั่วหน้านั้นคือเม็ดเงินงบประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาลที่ยังแทบจะไม่เพียงพอ และแทบจะยังไม่สามารถให้บริการได้ครอบคลุมทั่วถึงเลย ตัวเราเองถ้าไม่เห็นประสบมาด้วยตัวเองก็ไม่อยากจะเอามาตั้งเป็นคำถาม และไม่อยากคิดเลยว่าจริงๆ แล้วคนไทยเราแกล้งป่วยกัน ซึ่งได้แต่ภาวนาว่าอย่าให้เป็นเช่นนั้นเลย เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นเท่ากับว่าท่านได้ไปตัดทำลายโอกาสของคนที่ป่วยจริงๆ ที่อาจต้องได้รับการรักษาจริงๆ บางคน

แม้ตอนนี้คลายล็อคระยะที่ 3 และ 4 แล้วก็ตาม รพ.ของรัฐใจกลางเมืองหลวงที่ข้าพเจ้าต้องไปใช้บริการนี้ ยังแทบจะไม่มีผู้ป่วยเลย ในใบนัดระบุเวลานัด 10:00 น. แต่ไม่น่าเชื่อเพียง 09: 30 น. ข้าพเจ้าก็ตรวจเสร็จล่ะ(ภาพล่าสุดนี้ ณ วันที่ 18 มิ.ย. 63)

New Normal จริงๆ

ภาวนาอยากให้เป็นเช่นนี้ ตลอดไป (เพราะคงยังต้องไป รพ.อีกนาน)

ไม่แน่นะ ถ้าใครลองไปตรวจสอบรายรับ รายจ่าย ของ รพ.ต่างๆ ดู อาจจะพบว่าสามารถประหยัดงบประมาณในการที่ต้องดูแลคนไม่ป่วยไปได้ไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว ดีไม่ดี รพ.อาจจะต้องมีการจัดโปรโมชั่นแบบป่วย 1 แถม 1 เพื่อกระตุ้นยอดผู้ป่วยก็ได้ ใครจะไปรู้ และแทบไม่น่าเชื่อว่าการระบาดของโควิด -19 นี้ จะสามารถทำให้คนไทยแข็งแรงได้อย่างอัตโนมัติ กลายเป็นคนที่มีสุขภาพดีห่างไกลโรค ห่างไกลหมอได้ชะงักจริงๆ

คุณอาจจะคิดว่าโควิด-19 เป็น “ซาตาน”

แต่สำหรับเรา และคนที่เป็นผู้ป่วยที่ต้องการเข้าถึงการรักษาจริงๆ มองไม่เหมือนพวกคุณแน่ๆ

ชัวร์..รับประกัน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net