Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้เห็นข่าวคราวเกี่ยวกับความพยายามของภาครัฐ ในการเข้ามากำกับดูแลด้านการประกอบกิจการให้บริการจัดส่งอาหาร ซึ่งเป็นธุรกิจที่ถูกจับตามองเป็นอย่างมากอันสืบเนื่องมาจากความต้องการใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรีที่เพิ่มขึ้นในยุคที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) นับว่าเป็นเรื่องที่ดีอย่างมากที่ทางราชการต้องการจะผลักดันให้มีกฎหมายทันสมัยด้านสุขอนามัยของธุรกิจให้บริการจัดส่งอาหาร ในฐานะที่ผมเป็นครูในวงการสาธารณสุขและการพัฒนาชุมชนมาอย่างยาวนาน ผมเข้าใจถึงเป้าหมายและจุดประสงค์ของเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นอย่างดี และต้องขอชื่นชมความริเริ่ม ที่ดูแลและห่วงใยประชาชนมาอย่างต่อเนื่องเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างถาวรในประเทศไทย

หากแต่เมื่อคำนึงถึงหลักการด้านสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็น ความปลอดภัยจากโรคติดต่อ หรือประเด็นเรื่องการเจ็บป่วยต่างๆ แล้ว ผมอยากให้นักสาธารณสุขของภาครัฐลองพิจารณาถึงปัจจัยสำคัญสี่ประการ ดังนี้

1) การกำกับดูแลด้านสาธารณสุขนั้น ควรต้องคำนึงถึงหลักความสมเหตุสมผลด้านวิชาการ และเข้าใจหลักการทางการแพทย์ (Technically Sound) หรือวิชาการที่เหมาะสมกับสถานการณ์

2) นักสาธารณสุขจำเป็นต้องคำนึงถึงความหลากหลายทางสังคม  รวมไปถึงการยอมรับจากประชาชน ผู้ป่วยหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง (Social Acceptability) ด้วย โดยพิจารณาว่ามาตรการดังกล่าวยอมรับได้ทางสังคมแค่ไหน

3) เราควรพิจารณาถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจและกำลังทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง  (Financially Feasibility) เพราะเมื่อจะใช้กฎเกณฑ์เข้ามากำกับดูแล ก็ควรคำนึงถึงความเป็นไปได้ด้านค่าใช้จ่ายโดยรวมของประเทศ มิเช่นนั้นอาจส่งผลกระทบจนเกิดความเสียหายได้

4) การจะออกกฎเกณฑ์ใดๆ ก็ตาม การมีส่วนร่วมและการสนับสนุนจากประชาชน (Fully Participation) เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพื่อประโยชน์ของประชาชนหรือส่วนรวม และควรคำนึงถึงความเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติ หากเสียงส่วนใหญ่จากประชาชนเห็นพ้องต้องกัน การเปลี่ยนแปลงนั้นจึงจะเหมาะสมดีงาม

นี่เป็นสิ่งที่ผมได้มาจากองค์การอนามัยโลก จากประสบการณ์การทำงานกับประชาชนที่มีความหลากหลายและข้อจำกัดทางเศรษฐกิจและสังคมมาหลายทศวรรษ ทำให้ผมได้เห็นว่าบางครั้ง ความปราถนาดีก็อาจทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมในสังคมได้เช่นกัน

ปัจจุบัน มีประชาชนกว่าหลายแสนคนที่หันมาประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดลิเวอรี ไม่ว่าจะเป็น บริการจัดส่งอาหาร หรือพัสดุสิ่งของ และดูเหมือนว่ามีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการสังเกต กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับการควบคุมดูแลในด้านมาตรฐานความปลอดภัยและสุขอนามัยจากหน่วยงานต้นสังกัดหรือบริษัทผู้ประกอบการอย่างเป็นระบบ อาทิ มาตรการบังคับให้สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องให้บริการ การรณรงค์ด้านมาตรฐานความสะอาดระหว่างการให้บริการของคนขับและร้านอาหาร การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนที่จะเข้าไปในพื้นที่ของห้างร้านต่างๆ หรือมาตรการเว้นระยะหรือการจัดส่งแบบไร้การสัมผัส เป็นต้น ดังนั้น การออกกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ของทางกระทรวงสาธารณสุขอาจยังไม่มีความจำเป็นในระยะเวลานี้ เนื่องจากเราได้รับความร่วมมืออย่างเคร่งครัดและเพียงพอจากหน่วยงานเหล่านี้ที่พร้อมปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเต็มความสามารถ

ผมเองได้มีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับผู้คนมากมายจากหลากหลายพื้นที่ในชนบทมาโดยตลอด ทั้งในและต่างประเทศ โดยพยายามที่จะช่วยเหลือผู้คนอย่างเต็มกำลังในขอบเขตที่ผมสามารถทำได้ จากประสบการณ์และความทุ่มเททั้งชีวิตของผม ทำให้ได้เรียนรู้ว่า ในระบบสมัยใหม่นี้ การจะสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ นั้น ควรต้องบริหารจัดการด้วยหลักการแบบผู้นำที่ดีในยุคสมัยใหม่ (New Normal) ไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจหรือการพัฒนาทางสังคม ล้วนแล้วแต่ต้องการผู้นำที่ไม่ใช้แต่อำนาจและกฎเกณฑ์ในการบังคับหรือสั่งการ แต่ต้องใช้หัวใจในการนำ พร้อมรับฟัง ร่วมปรึกษา และทำความเข้าใจผู้อื่นด้วยความรักความเห็นใจ เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการปฏิบัติตามด้วยความศรัทธา ชื่นชมและภาคภูมิใจ เพื่อประโยชน์ของเขาเองและส่วนรวม

ดร. มาห์เลอร์  (Dr. Mahler) อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เคยกล่าวว่า “Reason only is not enough, but feeling and emotion of the people concerned is equally important”

เมื่อหันกลับมาดูที่ประเทศไทย การที่เราสามารถจัดการกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างราบรื่น เพราะประชาชนเชื่อมั่นในบุคลากรทางการแพทย์ และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด จึงทำให้ประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างดีเยี่ยม คนไทยต่างชมเชยและขอบคุณรัฐบาล และบุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับที่ร่วมดูแลและใส่ใจสุขภาพและอนามัยของประชาชนคนไทยมาโดยตลอด แต่ที่กระทรวงฯ กำลังพิจารณาร่างกฎหมายควบคุมการประกอบกิจการให้บริการจัดส่งอาหารอยู่นั้น ผมอยากให้นำหลักการด้านสาธารณสุขที่กล่าวมาแล้วทั้งสี่ประการมาพิจารณา ด้วยความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจคนทำงานที่กำลังเผชิญ  “นิว นอร์มอล” เพื่อให้เกิดความชื่นใจสูงสุดแก่คนไทยผู้เกิดมามีน้อยอย่างแท้จริง

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ศาสตราจารย์ นายแพทย์ กระแส ชนะวงศ์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่น จากคณะแพทยศาสตร์สิริราชพยาบาล และรางวัลแมกไซไซ สาขาผู้นำชุมชน จากมูลนิธิรามอน แมกไซไซ ประเทศฟิลิปปินส์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย และ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net