ครม.เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

ครม.เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย และเพิ่มเกณฑ์อายุเด็กในกรณีที่เด็กกระทำความผิดอาญา จากไม่เกิน 10 ปี เป็นไม่เกิน 12 ปี

แฟ้มภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

23 มิ.ย.2563 การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ร่างกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับ คือ  ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....(เพิ่มเกณฑ์อายุเด็กในกรณีที่เด็กกระทำความผิดอาญา)

สำหรับมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรม เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยให้พิจารณาในประเด็นความจำเป็นในการใช้ระบบคณะกรรมการ ตามหมวด 2 คณะกรรมการ ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และให้รับความเห็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และให้กระทรวงยุติธรรมรับความเห็นของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

โดยมีสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลสรุปไว้ว่า คือ กำหนดความผิดฐานกระทำทรมานและความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย มาตรการป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย การเยียวยาผู้เสียหาย และการดำเนินคดีสำหรับความผิดดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี  (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishing) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of all Persons from Enforced disappearance) โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. กำหนดบทนิยาม “การทรมาน” “การกระทำให้บุคคลสูญหาย” “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” “ผู้ได้รับความเสียหาย” และ “คณะกรรมการ” 

2. กำหนดฐานความผิดการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย การกำหนดให้ไม่เป็นความผิดทางการเมือง กำหนดให้สามี ภริยา บุพการี ผู้สืบสันดานของผู้เสียหายในกรณีกระทำให้บุคคลสูญหายเป็นผู้เสียหายที่สามารถดำเนินการฟ้องร้องคดีได้  

3. ให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นรองประธาน และมีอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นเลขานุการ รวมทั้งสมาชิกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมกับผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านสิทธิมนุษยชน แพทย์ และด้านจิตวิทยา รวมทั้งสิ้น 19 คน โดยมีอำนาจหน้าที่เชิงนโยบายเพื่อวางแผนเกี่ยวกับการป้องกันและการเยียวยาการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย นอกจากนี้ได้กำหนดให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการฯ 

4. กำหนดให้ทุกหน่วยงานที่มีการจำกัดเสรีภาพบุคคลต้องจัดทำบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกจำกัดเสรีภาพ กำหนดเกี่ยวกับเกณฑ์ในการเปิดเผยข้อมูลของผู้ถูกจำกัดเสรีภาพ และกำหนดให้มีมาตรการระงับการทรมานและเยียวยาความเสียหายเบื้องต้น 

5. กำหนดให้ความผิดตามพระราชบัญญัติในเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ และให้เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนเป็นหลัก ยกเว้นกรณีเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตกเป็นผู้ต้องหา ให้ตำรวจเป็นผู้มีอำนาจสืบสวนสอบสวนแทน และหากเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษและตำรวจตกเป็นผู้ต้องหา ให้อัยการสูงสุดเป็นผู้มีอำนาจสืบสวนสอบสวนแทน รวมทั้งกำหนดให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นศาลที่มีเขตอำนาจ 

6. กำหนดระวางโทษความผิดฐานกระทำทรมาน และกระทำให้บุคคลสูญหาย กำหนดเหตุบรรเทาโทษ กำหนดความผิดฐานสมคบคิด และฐานผู้มีส่วนร่วมในการกระทำผิด รวมทั้งกำหนดโทษแต่ผู้บังคับบัญชาที่ทราบการกระทำความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายของผู้ใต้บังคับบัญชา แล้วไม่ดำเนินการป้องกันหรือระงับการกระทำความผิดนั้น

ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรม เสนอว่า เห็นควรดำเนินการร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาเสร็จแล้วต่อไป โดยมีเหตุผลดังนี้ 

1. ในทางปฏิบัติยังพบว่า มีกรณีการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายเกิดขึ้นอยู่ในประเทศไทย รวมถึงกรณีที่มีการร้องเรียนไปสังสหประชาชาติ โดยเฉพาะในประเด็น “การงดเว้นโทษ” (Impunity) ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยมุ่งเน้นให้มีการดำเนินการทั้งมาตรการป้องกัน ปราบปราม และเยียวยาผู้เสียหาย ซึ่งเป็นมาตรการที่สำคัญตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment : CAT) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance : ICPPED) รวมทั้งลดช่องว่างของกฎหมายที่ส่งผลให้การบังคับใช้และการดำเนินงานไม่มีประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการขจัดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง และสร้างหลักประกันความเป็นธรรมให้กับประชาชน  

2. ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดความผิด บทลงโทษ รวมถึงมาตรการป้องกันและการเยียวยากรณีการกระทำทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหายไว้ในกฎหมาย ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะเป็นการป้องกัน ปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ทำให้การกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐลดลงหรือหมดไป ซึ่งจะช่วยพัฒนากระบวนการยุติธรรม และยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากลเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลให้ประชาชนมีหลักประกันการคุ้มครองสิทธิที่มีมาตรฐานตามหลักสากล สร้างความเชื่อมั่นด้านกระบวนการยุติธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ ลดการละเมิดสิทธิ อีกทั้งจะส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยในสังคมโลกอีกด้วย โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ยธ. จะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการปฏิบัติตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงใช้งบประมาณและอัตรากำลังบุคลากรของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพดำเนินการ นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานที่ดำเนินงานตามหน้าที่อยู่แล้ว เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงไม่มีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้น 

3. กระทรวงยุติธรรมได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ผ่านระบบกลาง www.lawamendment.go.th ระหว่างวันที่ 4 – 31 ธ.ค. 2562 ผ่านเว็บไซต์ www.rlpd.go.th www.humanrightscenter.go.th และ facebook webpage ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ระหว่างวันที่ 4 – 31 ธ.ค. 2562 รวมทั้งจัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวใน 5 ภูมิภาค ประกอบด้วย ผู้แทนภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน องค์การระหว่างประเทศ นักวิชาการและผู้เสียหาย ในภาคเหนือ ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2562 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2562 ภาคใต้ ณ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2562 ภาคกลาง ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2562 และภาคตะวันตก ณ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2562 การประชุมของคณะอนุกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพ เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2563 และการจัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ (เวทีสำหรับเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง) เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2563 ณ กรุงเทพมหานคร

กระทรวงยุติธรรมได้สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย พร้อมทั้งได้เปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบดังกล่าวตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เรียบร้อยแล้ว จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ 

เพิ่มเกณฑ์อายุเด็กในกรณีที่เด็กกระทำความผิดอาญา จากไม่เกิน 10 ปี เป็นไม่เกิน 12 ปี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา  (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และให้กระทรวงยุติธรรมรับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ  และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย 

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติฯ ที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา โดยเป็นการแก้ไขเกณฑ์อายุของเด็กที่ไม่ต้องรับโทษทางอาญา จากที่ปัจจุบันกำหนดไว้ไม่เกิน 10 ปี เป็นไม่เกิน 12 ปี และเกณฑ์อายุของเด็กที่ใช้มาตรการอื่นแทนการรับโทษทางอาญาจากเดิมกำหนดไว้เกิน 10 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี เป็นเกิน 12 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี ซึ่งการกำหนดเกณฑ์อายุของเด็กดังกล่าวสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และเป็นไปตามแผนการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่ประเทศไทยได้ตอบรับและให้คำมั่นโดยสมัครใจภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 2 (พ.ศ. 2559 ถึง พ.ศ. 2563)

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ ตามที่เว็บไซต์ทำเนียบรัฐลายสรุปคือ

1. กำหนดให้เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ

2. กำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีแต่ยังไม่เกิน 15 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการ ดังนี้   2.1 ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป   2.2 ถ้าศาลเห็นว่า บิดา มารดา หรือผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้  มอบตัวเด็กนั้นให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนด  

2.3 ในกรณีที่ศาลมอบตัวเด็กให้แก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ตาม 2.2 ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้นด้วยก็ได้  2.4 ถ้าเด็กนั้นไม่มีบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง หรือมีแต่ศาลเห็นว่าไม่สามารถดูแลเด็กนั้นได้ หรือถ้าเด็กอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และบุคคลนั้นไม่ยอมรับข้อกำหนดดังกล่าวใน 2.2 ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้อยู่กับบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควรเพื่อดูแล อบรม และสั่งสอนตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ ในเมื่อบุคคลหรือองค์การนั้นยินยอม  และ  2.5 ส่งตัวเด็กนั้นไปยังโรงเรียน หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่อย่าให้เกินกว่าที่เด็กนั้นจะมีอายุครบ 18 ปี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท