สังคมไทยยังต้องการเฟมินิสต์ 

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ฉันไม่ใช่เฟมินิสต์ตั้งแต่เกิด 
ฉันเกิดในครอบครัวที่มีปู่เป็นลูกครึ่งจีนและผู้ชายเป็นใหญ่ 
ฉันยังจำได้ดี ตอนที่แม่คลอดน้องสาวคนสุดท้อง ปู่พูดว่า เฮ้ออ ผู้หญิงอีกแล้วเหรอ 
ฉันซึ่งอายุ 8 ขวบ พูดกับปู่ไปว่า ผู้หญิงก็คนเหมือนกัน
แต่ฉันก็ยังไม่ใช่เฟนินิสต์ 

ตอนพี่สาวฉันเรียนฟิสิกส์ครั้งแรก พี่สาวบอกว่าผู้ชายเก่งกว่าผู้หญิงในเรื่องคำนวณ ฉันก็เชื่อแบบนั้นมาตลอด แม้ว่าตอน ม.4 ฉันจะได้ท้อปวิชาฟิสิกส์ตอนสอบกลางภาค จนสุดท้ายฉันเลือกเอาดีทางเคมีเพราะคิดว่ามันท้าทายพอและในขณะเดียวกัน ก็เป็นสิ่งที่ผู้หญิงทำได้ .. ฟิสิกส์คือสนามเด็กเล่นสำหรับผู้ชายเท่านั้น

ฉันยังโตมากับความคิดว่าผู้ชายต้องเป็นผู้นำ เป็นช้างเท้าหน้า ฉันเคยอยู่กับความเชื่อที่ว่า ผู้หญิงทำงานด้วยกันไม่ได้ เพราะจะทะเลาะกัน แข่งกัน จนกระทั่ง ฉันได้มาอยู่ในกลุ่มวิจัยที่มีหัวหน้าเป็นผู้หญิง มีเพื่อนร่วมงานเกือบครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิง จนฉันได้เรียนรู้ว่า ปัญหาจากเพื่อนร่วมงานนั้น ไม่ได้มาจากผู้หญิงเลย ฉันทำงานกับหัวหน้าอย่างสนุกมาก เพื่อนร่วมงานที่ฉันไม่ชอบ กลับไม่ใช่ผู้หญิง แต่เป็นผู้ชาย! ผู้ชายที่ไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้หญิงและปฏิบัติกับผู้หญิงราวกับเป็นสิ่งมีชีวิตที่ด้อยต่ำกว่า มันน่าหงุดหงิดมากที่เราก็เรียนมาเหมือนกัน และถึงแม้ว่าความคิดฉันถูก(จนอยากเอางานวิจัยสองชิ้นที่ไฮไลน์ข้อความสีสดๆ ไปปาใส่หน้า) แต่เขาไม่ฟังความคิดของฉัน เพราะฉันเป็นผู้หญิง!

ฉันผู้เคยคิดว่าการต่อสู้ของเฟมินิสต์จบแล้ว ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้ง มีสิทธิได้เรียน มีสิทธิสมัครงาน นั่นเพียงพอแล้ว แต่ความจริงไม่ใช่เลย เรายังอยู่ในโลกที่ชายเป็นใหญ่ ตั้งแต่ทวีปอเมริกา มายัง เอเชีย แม้ว่าคลื่นของเฟมินิสต์จะซัดเข้าฝั่งมาจนคลื่นลูกที่สี่แล้ว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า สงครามกับความคิดชายเป็นใหญ่ได้จบลงแล้ว 

..ไม่เลย เมล็ดพันธุ์แห่งชาติเป็นใหญ่นั้นยังคงอยู่ อยู่ในการเมือง อยู่ในศาสนา ตำราเรียน นิยายคลาสสิค นิทานเด็ก อยู่ในผู้หญิง อยู่ในผู้ชาย เมล็ดพันธุ์นี้ทำให้เราเชื่อว่า ผู้ชายแข็งแรงกว่า ผู้ชายเก่งกว่า ฉลาดกว่า ควบคุมอารมณ์ได้ดีกว่าผู้หญิง จึงสมควรมีอำนาจมากกว่า ซึ่งไม่จริงเลย 

ผู้ชายอาจมีแรงมากกว่า แต่ผู้ชายไม่ได้ฉลาดกว่า หรือเก่งกว่า งานวิจัยด้าน IQ (Intelligent Quotient) และ เพศบอกว่า ค่าเฉลี่ย IQ ของผู้ชายไม่ได้มากไปกว่าผู้หญิง[1]สาเหตุที่เรา “รู้สึก” ว่าผู้ชายฉลาดกว่าผู้หญิงอาจเป็นเพราะค่านิยมทางสังคมที่ถูกถ่ายทอดทางสื่อ พ่อแม่ และครู ดังที่งานวิจัยชิ้นหนึ่งได้เผยความจริงอันน่าเศร้าว่า เด็กผู้หญิงสูญเสียความมั่นใจและคิดว่าตัวเองฉลาดน้อยกว่าเด็กผู้ชายตั้งแต่อายุหกขวบ[2],[3] ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสังคมมีส่วนปั้น/ตบแต่งความคิดและความสนใจของเด็กหญิงและชายในการเลือกอาชีพ และนั่นอาจเป็นเหตุผลว่าในบางอาชีพที่เรามองว่าเป็นอาชีพของ “คนฉลาด” จึงมีผู้ชายมากกว่า

ผู้ชายไม่ได้ควบคุมอารมณ์ได้ดีไปกว่าผู้หญิง .. ฉันว่าเราคงไม่ต้องไปหางานวิจัยที่ไหนว่ายืนยันข้อนี้ ท่านผู้นำ คุณประยุทธ จันทร์โอชา สามารถเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นอย่างดีทีเดียวว่า ความเป็นผู้ชายนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับความสามารถในการควบคุมอารมณ์ตัวเองเลย ในความเป็นจริงผู้หญิงและผู้ชายรู้สึกโกรธและแสดงความโกรธได้บ่อยพอๆกัน ในทางกลับกัน ผู้หญิงมีสมองส่วน Orbital frontal cortex (ซึ่งเกี่ยวข้องกับการควบคุมการแสดงของความก้าวร้าว) ใหญ่กว่ากว่าผู้ชาย นักวิจัยจึงเสนอว่านี่อาจช่วยอธิบายว่าเหตุใดผู้หญิงจึงควบคุมการระเบิดทางอารมณ์ได้ดีกว่า[4]

เมล็ดพันธุ์ความคิดชายเป็นใหญ่นี้ยังช่วยรัฐกำหนดบทบาททางเพศ และนิยาม “ผู้หญิงที่ดี” ที่ต้องรักนวลสงวนตัว ต้องไม่แต่งตัวโป๊ ถ้าแต่งงานแล้ว ก็ควรอยู่บ้าน ทำอาหาร เลี้ยงลูก เป็นเมียที่ดี เป็นแม่ที่ดี ส่วนผู้ชายก็มีหน้าที่ทำงาน เป็นช้างเท้าหน้า ราวกับว่าคุณค่าที่แท้จริงของผู้หญิงอยู่ที่หว่างขา เนื้อตัว ร่างกายเท่านั้น 

มายาคติ อคติ และ การกำหนด การเหมารวมบทบาททางเพศเหล่านี้ ทำร้ายทุกคน ทำร้ายสังคม 

ทำร้ายผู้หญิงที่ออกไปทำงานนอกบ้าน ที่ไม่อาจสามารถเปล่งประกายในหน้าที่การงานได้อย่างเต็มที่เพราะอคติทางเพศ ทำให้เสียงและความคิดเห็นของผู้หญิงไม่ได้รับการรับฟังและยอมรับ ซึ่งย้อนกลับมาทำร้ายองค์กรที่ควรจะขับเคลื่อนไปด้วยศักยภาพที่เต็มเปี่ยมของทุกคน 

ทำร้ายผู้หญิงด้วยการคุกคามทางเพศ ผ่านการสร้างคุณค่าของผู้หญิงจากหว่างขา เนื้อตัว และร่างกาย ซึ่งเหมือนเป็นใบอนุญาตทางสังคมแบบอ้อมๆให้ทำร้าย หรือ ล่วงละเมิด หรือ ข่มขืน ทั้งผู้หญิงที่รัฐนิยามว่าเป็นผู้หญิงที่ดีและไม่ดี วัฒนธรรมและความเชื่อแบบนี้ยังทำให้เหยื่อมีความอับอาย อับอายที่จะถูกตั้งคำถามโดยสังคม อับอายที่จะไปแจ้งความ และรู้สึกไร้คุณค่า (เพราะสังคมดันไปกำหนดค่าของผู้หญิงไว้ที่หว่างขา เนื้อตัว ร่างกาย เมื่อถูกละเมิดส่วนนี้ เหยื่อจึงรู้สึกไร้ค่าไปโดยปริยาย)  แทนที่สังคมหรือรัฐจะมาวุ่นวายกับการนิยามผู้หญิงที่ดี วุ่นวายกับนม จิ๋ม การแต่งตัว การแสดงออกทางเพศของผู้หญิง สังคมควรให้ค่ากับการยินยอมพร้อมใจ (consent) ว่า เราไม่มีสิทธิไปแซว ไปจับเนื้อต้องตัวใคร ไปมีเพศสัมพันธ์กับใคร โดยที่เขาไม่ยินยอม

ทำร้ายผู้ชาย ที่ต้องแบกรับความเครียด ปัญหาด้านสุขภาพจิต เพราะสังคมกำหนดว่า ผู้ชายห้ามแสดงออก ห้ามร้องไห้ ห้ามระบาย ทั้งนี้ยังมีประเพณีผู้ชายต้องจ่ายค่าสินสอด ซึ่งมองจากมุมไหน ประเพณีนี้ก็ไม่สมเหตุสมผลด้วยประการทั้งปวง  ฉันเองก็สนใจความรุนแรงทางเพศที่เกิดในผู้ชาย ทั้งในสังคมโรงเรียนชายล้วน ในค่ายทหารเกณฑ์ แต่ข้อมูลการข่มขืนและล่วงละเมิดผู้ชายมีน้อยมากๆ จนฉันก็ไม่แน่ใจว่า เป็นเพราะผู้ชายถูกล่วงละเมิดทางเพศน้อยกว่าผู้หญิงอยู่แล้วจึงไม่ได้รับความสนใจในข่าว? หรืออีกส่วนหนึ่งผู้ชายอาจมีความอับอายมากกว่าผู้หญิงที่จะเปิดเผยหรือแจ้งความเรื่องเหล่านี้? เพราะสังคมสอนให้ผู้ชายต้องแมน ต้องไม่ร้อง ต้องไม่เจ็บ

ด้วยเหตุนี้ ฉันเชื่อว่าเรายังจำเป็นต้องมีเฟมินิสต์เพื่อถอนรากถอนโคนระบอบชายเป็นใหญ่ ในกรอบสังคมแบบนี้ ต่อให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้ง มีสิทธิเข้าเรียน มีสิทธิสมัครงาน (แต่อย่าลืมนะว่าไทยยังไม่ให้สิทธิผู้หญิงทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย ผู้หญิงมีสิทธิลาคลอดได้แค่ 3 เดือน ผู้ชายสามารถลาไปดูแลลูกและภรรยาที่เพิ่งคลอดได้มากสุดแค่ 15 วัน!) แต่สุดท้ายแล้ว ก็ยังมีเพดาน มีกำแพงที่มองไม่เห็นที่ปิดกันกั้นศักยภาพของผู้หญิงอยู่  แต่ให้อภิสิทธิ์และความคาดหวังที่เกินจริงกับผู้ชาย มาถึงจุดนี้ หากคุณยังยืนกรานว่าสังคมไทยไม่ต้องการเฟมินิส์เพราะผู้หญิงยังมีสิทธิ์เลือกใช้ชีวิตได้เท่าผู้ชาย คุณแน่ใจอย่างนั้นจริงหรือ?

อย่างที่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีระสกุล ชอบโควทแนวคิดของ Rousseau-Kant บ่อยๆว่า  สิทธิ คือ อำนาจในการเลือกทำอย่างอื่น  (Right is power to do otherwise.) ในสังคมที่ชาย(ยัง)เป็นใหญ่ ยังมีอคติกับผู้หญิงและความเป็นหญิง ไม่มีทางที่ผู้หญิงทุกคนจะมีอำนาจที่จะเลือกทำ เลือกเป็น ได้อย่างเสรีโดยไม่ถูกตัดสิน/ประณาม/กดดัน จากสังคม

หากผู้หญิงอยากทำงานในสาขาอาชีพที่มีสัดส่วนผู้ชายมากกว่า เช่น การเมือง วิศวกรรม ฟิสิกส์ ฯลฯ ผู้หญิงก็อาจต้องทำงานมากกว่า อาจต้องเกิดมาฉลาดกว่าคนทั่วไป หรือต้องเสียสละชีวิตส่วนตัวมากกว่า (ถ้ากฎหมายเรื่องการลาคลอดและการเลี้ยงดูบุตรไม่เพียงพอ อาจจะต้องเลือกไม่มีลูก? เพื่อความก้าวหน้าของงาน? ผู้ชายต้องเสียสละแบบนี้ไหม?) จึงจะได้รับการยอมรับ ถ้าเราคาดหวังให้ผู้หญิงต้องเป็นยอดมนุษย์แบบนี้ เพียงเพื่อแค่ได้ยืนตรงอย่างเสมอภาคกับผู้ชาย มันก็น่าตั้งคำถามว่า เราได้สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้สิทธิของผู้หญิงจริงไหม หรือ เราเชื่อในสิทธิการเลือกของผู้หญิงจริงๆไหม?

ส่วนผู้หญิงที่มี “สิทธิเลือก” หรือคิดว่าตัวเองได้ใช้สิทธินั้น หรือมีความสุขกับการเลือกนั้น ถ้าไม่บังเอิญเกิดมาเป็นผู้หญิงในชนชั้นอภิสิทธิ์ชนที่มีสติปัญญาดี ก็อาจเป็นผู้หญิงที่รู้สึกดีกับการถูกกดขี่ด้วยค่(ฆ่)านิยมทางสังคม และรู้สึกดีที่เห็นผู้หญิงด้วยกันถูกกดขี่ ทั้งรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม การปฏิบัติตัวตามค่(ฆ่)านิยมทางสังคมไม่ใช่ตัวเลือก มันเป็น requirement เป็น the must เพราะถ้าคุณไม่ทำตาม สังคมก็จะตีตราคุณ คุณปฏิเสธได้ไหมว่า คุณรู้สึกอึดอัด ตะขิดตะขวงใจ ต่อผู้หญิงที่ไม่ได้ปฏิบัติตามค่านิยม “ผู้หญิงที่ดี” “แม่ที่ดี” “เมียที่ดี” แบบที่รัฐสร้างขึ้น ถ้าคุณปฏิเสธไม่ได้ ก็แปลว่า ลึกๆ คุณยังเหยียดเพศอยู่ คุณอาจไม่ได้สนใจเลยจริงๆ หรอกว่าผู้หญิงจะมีสิทธิเลือกทำหรือไม่ทำอะไร คุณแค่ feel comfortable ที่เชื่อว่าผู้หญิงควรอยู่ในกรง แล้วปล่อยให้ผู้ชายออกไปโบยบิน 

ท้ายที่สุดแล้วถ้ายังเชื่อว่าการกดขี่ผู้หญิงไม่มีจริง เพียงเพราะ ไม่เคยเจอกับตัวเอง หรือ แม่ของคุณเป็นใหญ่ในบ้าน หรือในครอบครัวคุณนั้นคุณสามีกลัวภรรยา ฉันก็อยากบอกว่า โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ซึ่งหมุนรอบหลุมดำกลางกาแล็กซี่ทางช้างเผือกอีกทีหนึ่ง โลกไม่ได้หมุนรอบคุณ รอบพ่อแม่คุณ หรือ รอบครอบครัวคุณ ต่อให้คุณเกิดมาด้วยอภิสิทธิ์ต่างๆ พร้อมด้วยปัญญาอันเฉียบแหลมโดยที่ระบอบชายเป็นใหญ่ทำอะไรคุณไม่ได้เลย หรือคุณจะอาศัยในฟองสบู่สีรุ้ง ล้อมรอบด้วยทุ่งลาเวนเดอร์สองร้อยไร่ ก็ไม่ได้แปลว่า การต่อสู้ของเฟมินิสต์จบแล้ว ได้โปรดรับฟังเถิดว่า ยังมีผู้หญิงที่ถูกเอาเปรียบ/ทำร้ายจากค่านิยมนี้ ยังมีคนที่อยากต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ อย่าให้โลกอันสวยงามนั้นบดยังสายตาของคุณจนมองไม่เห็นว่า วัฒนธรรมและค่านิยมของเรานั้นกดขี่ เหยียด และเหยียบย่ำผู้หญิง(และทำร้ายผู้ชายทางอ้อม)เพียงใด และอย่าเพิกเฉย หรือรอให้ระบอบชายเป็นใหญ่มันทำร้ายคุณหรือคนที่คุณรักเลย 

สังคมไทยจำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์ เพราะเราจำเป็นต้องสร้างค่านิยมทางสังคมแบบใหม่ที่ไม่ให้ที่ยืนแก่ความคิดชายเป็นใหญ่ เราต้องสร้างค่านิยมใหม่ที่รัฐ(ไทย)ต้องทบทวนการนิยามบทบาททางเพศ เลิกนิยามบทบาททางเพศจากคุณลักษณะทางเพศแบบเหมาะรวม (stereotype) เลิกจำกัดศักยภาพของผู้หญิงเพียงเพราะผู้หญิงมีจิ๋มและมดลูก และรัฐต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ผู้หญิงได้มีสิทธิเลือกอย่างเสรีอย่างแท้จริง  

อ้างอิง
[1] Johnson, Wendy, et al. “Sex Differences in Variability in General Intelligence: A New Look at the Old Question.” Perspectives on Psychological Science, vol. 3, no. 6, SAGE Publications Inc, Nov. 2008, pp. 518–31. SAGE Journals, doi:10.1111/j.1745-6924.2008.00096.x.
[2] Bian, Lin, et al. “Gender Stereotypes about Intellectual Ability Emerge Early and Influence Children’s Interests.” Science, vol. 355, no. 6323, American Association for the Advancement of Science, Jan. 2017, pp. 389–91. https://science.sciencemag.org/content/355/6323/389
[3] “เด็กหญิงเริ่มรู้สึกว่าตัวเองฉลาดสู้เด็กชายไม่ได้ตั้งแต่หกขวบ.” BBC News บีบีซีไทย, 1 Feb. 2017. www.bbc.com, https://www.bbc.com/thai/international-38825676.
[4] “Science of Anger: How Gender, Age and Personality Shape This Emotion.” The Guardian, 12 May 2019. www.theguardian.com, http://www.theguardian.com/lifeandstyle/2019/may/12/science-of-anger-gender-age-personality.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท