Skip to main content
sharethis

เนื่องในเดือนแห่งการปฏิวัติ 2475 กลุ่มคนที่เป็นผู้ก่อการในครั้งนั้นคือ ‘คณะราษฎร’ ซึ่งนอกจากบทบาทในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนทราบดีอยู่แล้วนั้น น้อยคนนักที่จะรู้ว่าคุณูปการของคณะราษฎรที่มีต่อประชาชนไทย ใกล้ตัวกว่าที่คิด

1. การศึกษา

การวางรากฐานทางการศึกษาให้ครอบคลุมและทั่วถึงทุกภูมิภาคในประเทศไทย เป็นคุณูปการหนึ่งที่มีผลมาจากการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่รัฐสมัยใหม่ เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย ภายใต้การดำเนินงานโดยคณะราษฎร นโยบายสำคัญอันหนึ่งที่ปรากฎอยู่ในหลัก 6 ประการ คือ “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร”

แม้จะมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าการศึกษาไทยได้เริ่มมีการปฏิรูปมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว แต่กระนั้น  ‘โรงเรียน’ ก็ยังถูกสงวนไว้ให้เฉพาะผู้ที่มีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ เจ้านายหรือบุตรหลานของข้าราชการ ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศได้รับการศึกษาผ่านวัดและพระสงฆ์ ทำให้คนโดยมากมิได้ถูกทำให้ถึงเห็นความจำเป็นหรือความสำคัญของการศึกษาเล่าเรียน

ดังที่ปรากฎเป็นข้อวิจารณ์ไว้ในประกาศคณะราษฎรว่า “ที่ราษฎรรู้เท่าไม่ถึงเจ้านั้นไม่ใช่เพราะโง่ เป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่”

มหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียวในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่จำกัดอยู่ในวงชนชั้นสูง โดยมีอัตราการจบการศึกษาเพียงไม่เกิน 70 คนต่อปี[1]

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการก่อตั้งสถาบันอุดมศึกษาขึ้นอีกหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.)

มธก. ถือกำเนิดจากแนวคิดของปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน ที่ต้องการส่งเสริมเสรีภาพทางการศึกษา และเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในระบอบการปกครองประชาธิปไตย โดยมีลักษณะเป็นมหาวิทยาลัยเปิดเพื่อเปิดโอกาสให้ราษฎรได้รับการศึกษาขั้นสูง ซึ่งได้ก่อให้เกิดจิตวิญญาณร่วมของการหวงแหนในสิทธิและเสรีภาพของนักศึกษา ดังที่ปรากฎในเหตุการณ์เดินขบวน วันที่ 11 ตุลาคม 2494 เพื่อเรียกร้องทวงคืนมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจากรัฐบาลทหารของจอมพล ป. พิบูลสงครามที่ต้องการทำลายฐานอำนาจของนายปรีดี พนมยงค์

นอกจากนี้ นายแพทย์ยงค์ ชุติมา ได้กล่าวไว้ในประมวลบันทึกตอนหนึ่งถึงความเจริญของประเทศหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า

“ข้าพเจ้าเคยเห็นกรรมกรจักรยาน 3 ล้อ หยุดพักเวลาเหนื่อย แล้วนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ แต่ก่อนเราไม่เคยพบเห็นอย่างนี้เลย เพราะในอดีตกาลย่อมมีแต่ท่านผู้ดี ข้าราชการ เด็กนักเรียนชั้นสูง พ่อค้า ธนบดีเท่านั้นที่อ่านหนังสือพิมพ์”

2. การสาธารณสุข

ภายหลังที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้ยกระดับการสาธารณสุขของประเทศไทยไปอย่างมาก มีการออกพระราชบัญญัติหลายฉบับเพื่อส่งเสริมสุขภาพและสนับสนุนความก้าวหน้าของการสาธารณสุขไทย โดยได้มีโรงพยาบาลของรัฐเพิ่มขึ้นเป็น 34 แห่งภายในปี 2485 และ 77 แห่ง ภายในปี 2500 รวมถึงได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งสุขศาลาเพิ่มขึ้นจากในระบอบการปกครองแบบเก่าที่มีเพียง 75 แห่ง เป็น 377 แห่ง ภายในปี 2481 เพื่อบริการด้านสาธารณสุขประจำตำบลต่างๆ และบรรเทาปัญหาความขาดแคลนแพทย์ ซึ่งได้พัฒนามาเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในปัจจุบัน

มีการออกพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะครั้งแรกในปี 2479 เพื่อควบคุมคุณภาพแพทย์ มากไปกว่านั้นภายใต้นโยบาย ‘สร้างชาติ’ ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการยกระดับกรมสาธารณสุขขึ้นเป็น ‘กระทรวงสาธารณสุข’ ใน พ.ศ. 2485

แม้จะเห็นได้ว่าบริการสาธารณสุขไทยมีมาตั้งแต่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่มโนทัศน์แบบรัฐสมัยเก่ามิได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนา ‘พลเมือง’ ในฐานะกำลังหลักของชาติ เนื่องจากมองว่าการที่รัฐเข้มแข็งนั้นมาจากความเข้มแข็งของพระมหากษัตริย์ในการปกครองบ้านเมือง แตกต่างจากมุมมองของรัฐสมัยใหม่ภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งสะท้อนให้เห็นผ่านการที่กรมสาธารณสุขอยู่ภายใต้สายการบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

การเล็งเห็นปัญหาสาธารณสุขของไทยเกิดขึ้นทุกด้าน ไม่เว้นกระทั่งปัญหาช่องปาก แม้จะมีความพยายามผลักดันให้เกิดโรงเรียนทันตแพทย์ขึ้นตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง จนกระทั่งในปี 2481 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการอนุมัติให้สร้างโรงเรียนทันตแพทย์ขึ้นในกรมแพทย์ทหารบก และอนุมัติให้ตั้งเป็นแผนกขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2481

ทั้งนี้ มีเรื่องเล่าถึงสาเหตุการจัดตั้งโรงเรียนทันตแพทย์ว่า เป็นเพราะจอมพล ป. ปวดฟันคุดอย่างหนัก จึงเล็งเห็นความสำคัญของสุขภาพฟัน และอนุมัติให้มีการจัดตั้งโรงเรียนทันตแพทย์ขึ้น หากแต่การเข้าใจเช่นนั้นแม้จะมีส่วนที่เป็นจริงอยู่บ้าง ก็ค่อนข้างเป็นการลดทอนเจตนารมณ์ของรัฐบาลและบุคลากรที่เกี่ยวข้องที่มีความพยายามผลักดันเรื่องการสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

หรือแม้แต่เรื่องสาธารณสุขมูลฐานอย่างการสร้างส้วมเพื่อขับถ่ายอุจจาระก็เพิ่งมีการรณรงค์ส่งเสริมอย่างจริงจังในปี 2485 เป็นต้นมา

ในมาตรา 72 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 ได้ระบุว่า “รัฐพึงส่งเสริมการสาธารณสุข ตลอดถึงการมารดาและทารกสงเคราะห์ การป้องกันและปราบโรคระบาด รัฐจะต้องกระทำให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า”

3. อาหาร 5 หมู่

ประเทศไทยแม้จะได้รับเอาวัฒนธรรมการกินตามหลักโภชนาการสมัยใหม่มาจากตะวันตกตั้งแต่ปี 2431 แต่กระนั้นก็ยังแพร่หลายอย่างจำกัดอยู่ในแวดวงชนชั้นสูงเท่านั้น

จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การเมืองแบบสมัยใหม่จำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรมนุษย์ที่มีความแข็งแรงจากการกินอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการสมัยใหม่ จึงได้มีการสร้าง ‘รัฐเวชกรรม’ ขึ้น ตั้งแต่ปี 2477 

ในสมัยของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการจัดตั้งกองส่งเสริมอาหาร และได้พัฒนามาเป็นกองบริโภคสงเคราะห์ภายใต้การผลักดันของนายแพทย์ยงค์ ชุติมา และความสนับสนุนจาก ดร.ตั้ว ลพานุกรม หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร พร้อมไปด้วยความสนับสนุนจากรัฐบาล

หน้าที่หลักของกองบริโภคสงเคราะห์ คือการโฆษณาเผยแพร่ความรู้การกินตามหลักวิทยาศาสตร์เพื่อลบล้างประเพณีความเชื่อเดิมที่ขัดกับหลักโภชนาการ กระทำผ่านวิธีโฆษณาชวนเชื่ออย่างรุนแรงทางวิทยุกระจายเสียงและสิ่งพิมพ์ อาทิการชูคำขวัญ ‘กินกับมากๆ กินข้าวพอสมควร’ ซึ่งแตกต่างออกไปจากความเชื่อเก่าว่าควรกินข้าวมากๆ กินกับน้อยๆ และยังไม่ได้ปฏิบัติการแยกกันเป็นส่วนๆ แต่ได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการกินอาหารควบคู่ไปกับการส่งเสริมสาธารณสุข สุขาภิบาล และได้บูรณาการไปพร้อมกับการศึกษา ทำให้เป็นที่รับรู้ของประชาชนในทุกหนแห่งของประเทศไทย

ถึงอย่างนั้นการรณรงค์ให้ประชาชนทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ก็ยังประสบปัญหา เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีความยากจน โดยเฉพาะในชนบท และมักจะเป็นโรคขาดโปรตีน กรมวิทยาศาสตร์ภายใต้การนำของ ดร.ตั้ว ลพานุกรม ได้มีการวิจัยและค้นพบว่าโปรตีนจาก ‘ถั่วทอง’ หรือที่รู้จักในปัจจุบันว่า ‘ถั่วเหลือง’ มีคุณประโยชน์เทียบเทียมเนื้อสัตว์แต่มีราคาถูกกว่ามาก รัฐบาลจึงได้มีการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาปลูกและทานถั่วเหลือง

ในงานฉลองรัฐธรรมนูญฉบับปี 2482 ได้มีการพิมพ์ ‘ตำราอาหารจากถั่วเหลือง’ ขึ้น ที่สำคัญคือการพิมพ์ตำรา ‘อาหารของเรา’ ที่ไม่เพียงแต่ให้ประชาชนทั่วไปอ่านข้อมูลความรู้ แต่ภายในเล่มยังมีรูปลายเส้นของอาหารเพื่อดึงดูดความสนใจของเด็กๆ อีกด้วย ถือได้ว่าในทศวรรษ 2480 ได้มีตำราเผยแพร่ความรู้ทางอาหารแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เกิดขึ้นมากมาย

ในระหว่างช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา เป็นช่วงเดียวกับที่ ‘ข้าว’ ขาดแคลนเนื่องจากเกิดน้ำท่วม รัฐบาลจอมพล ป. ก็ได้ส่งเสริมให้ประชาชนกิน ‘ก๋วยเตี๋ยว’ สิ่งที่น่าสนใจคือ องค์ประกอบวัตถุดิบที่ประกอบขึ้นมาเป็นก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชามนั้นมีคุณค่าและประโยชน์ทางโภชนาการ อีกทั้งยังมีวิธีการทำที่ง่าย รสชาติดี หากไม่ทำเองก็สามารถหาซื้อทานได้ง่ายเนื่องจากมีราคาถูก จึงได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนหันมาทานก๋วยเตี๋ยวอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2485 ได้มีการผลักดันให้มีการขายก๋วยเตี๋ยวทั่วทุกอำเภอ ให้ราษฎรไทยสามารถยึดเป็นอาชีพเพื่อเลี้ยงตัว จากเดิมที่คนไทยมองว่าการขายก๋วยเตี๋ยวเป็นอาชีพของ ‘จีนชั้นต่ำๆ’ โดยรัฐได้มีการส่งเสริมการขายก๋วยเตี๋ยวอย่างจริงจัง มีการจัดตั้งหน่วยงานผู้รับผิดชอบ และการให้เงินรวมถึงวัตถุดิบเพื่อสนับสนุนผู้ขาย มีการกำหนดระเบียบการแต่งกายและความสะอาด

อาจถือได้ว่า ‘ก๋วยเตี๋ยว’ เป็นอาหารในอุดมคติที่ไม่เพียงมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน แต่ยังเป็นการบูรณาการนโยบายสร้างชาติไปพร้อมๆ กับนโยบายส่งเสริมการเกษตร ทั้งยังเป็นเมนูอาหารในระบอบใหม่ที่มิได้เอามาจากสำรับเดิมของชนชั้นสูง จึงเสมือนภาพตัวแทนอาหารในระบอบรัฐธรรมนูญที่ประชาชนสามารถ “แสดงออกถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตยเหนือชามส่วนบุคคลด้วยอำนาจการปรุงของตนเอง” (ชาติชาย, น.83, 2556)

4. การดนตรี

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ทำให้นักดนตรีที่แต่เดิมได้รับการอุปถัมภ์จากชนชั้นสูงถูกยกเลิก และแทนที่ด้วยระบบราชการที่มีแบบแผน

คณะราษฎรยุบกระทรวงวังและโอนข้าราชการด้านดนตรีเข้าไปสังกัดกรมศิลปากร สังกัดกระทรวงธรรมการ พร้อมไปกับการบังคับให้นักศิลปะเหล่านั้นเรียนหนังสือ มีการจัดสอบวัดระดับเพื่อเทียบขั้นเงินเดือน

ทั้งนี้แม้ในด้านหนึ่งจะส่งผลเสียทำให้ศิลปินจำนวนมากไม่สามารถบรรจุเป็นราชการได้เนื่องจากขาดคุณวุฒิทางการศึกษา แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นการเปิดโอกาสให้นักดนตรีหญิงมีโอกาสก้าวหน้าทางอาชีพมากขึ้นจากในระบอบเก่าที่นักดนตรีหญิงมีสถานภาพเป็นเพียงผู้บรรเลงเพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้อุปถัมภ์ ต่างจากนักดนตรีชายที่สามารถต่อยอดความรู้ความสามารถของตนไปได้ถึงขั้นการตั้งสำนักดนตรี และดำรงสถานภาพการเป็นครูดนตรีไทยผู้มีชื่อเสียง[2]

การทำงานทางความคิดอย่างต่อเนื่องยาวนานของฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับคณะราษฎร ได้ส่งอิทธิพลต่อการรับรู้และภาพจำของคณะราษฎรที่มีความผิดฝาผิดตัวไปอย่างมาก หนึ่งในนั้นคือความเชื่อที่ว่า ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามมีการสั่งห้ามเล่นดนตรีไทย หรือการละทิ้งดนตรีไทยแล้วหันไปสนับสนุนดนตรีสากล แต่จากเอกสารหลักฐานกลับชี้ให้เห็นว่า รัฐมิได้มีการสั่งห้ามให้เล่นดนตรีไทย เพียงแต่มีการปรับปรุงศิลปะการดนตรีให้มีความเป็นอารยะมากขึ้น โดยข้อที่ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากก็คือ การให้นักดนตรีไทยอ่านโน๊ตแบบสากล ซึ่งได้ไปทำลายวิถีการถ่ายทอดบทเพลงแบบมุขปาถะของนักดนตรีไทยในสมัยเก่า เนื่องจากแต่เดิมหากครูดนตรีคนใดสามารถจำเพลงได้มากก็จะได้รับการยกย่อง ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการหวงเพลง อีกทั้งบางบทเพลงยังมีการถ่ายทอดกันเฉพาะกลุ่ม[3]

การสนับสนุนให้นักดนตรีไทยอ่านโน๊ตแบบสากลนำไปสู่การบันทึกโน๊ตแบบสากล เพื่อเป็นการจัดเก็บบทเพลงจำนวนมากไว้เป็นแบบแผนมาตรฐาน และเป็นการอนุรักษ์บทเพลงให้คงอยู่ต่อไป

ในภาพยนตร์เรื่อง ‘โหมโรง’ ได้มีการผลิตซ้ำภาพจำของรัฐบาลที่กีดกันการเล่นดนตรีไทยแม้กระทั่งในที่เคหะสถาน แต่ในทางความเป็นจริงกลับมิได้เป็นเช่นนั้น

‘พระราชกริสดีกากำหนดวัธนธัมทางสิลปกัมเกี่ยวกับการบันเลงดนตรี การขับร้อง และการพากย์ พุทธสักราช 2486’ มีใจความสำคัญระบุว่า ในการบรรเลงดนตรีต้องมีการขออนุญาตหรืออยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ในกรณีที่จัดทำเป็นอาชีพ มีรายได้ และเป็นการแสดงในที่สาธารณะ รวมถึงมีการจัดระเบียบการเล่นดนตรี โดยผู้เล่นดนตรีอาชีพจะต้องมีประกาศนียบัตรวิชาชีพที่ออกโดยกรมศิลปากรจึงจะสามารถบรรเลงได้

ข้อบังคับนี้มิได้จำกัดแต่เฉพาะดนตรีไทย แต่ยังรวมดนตรีสากลด้วย ดังนั้นจึงไม่ใช่ระเบียบที่เลือกปฏิบัติอย่างที่ถูกกล่าวหา มากไปกว่านั้น แนวคิดเหล่านี้ไม่ได้มีที่มาจากจอมพล ป. เพียงผู้เดียว แต่ยังประกอบไปด้วยกรรมการผู้ดำเนินงานหลายคนที่เป็นผู้มีชื่อเสียงในแวดวงศิลป์ อาทิเช่น นายปิติ วาทยะกร (พระเจนดุริยางค์), หลวงวิจิตรวาทการ และพระยาอนุมานราชธน เป็นต้น 

แม้ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสดนตรีไทยในสมัยจอมพล ป. ตกต่ำลงจริง แต่ไม่สามารถโทษได้ว่าเป็นเพราะพระราชกฤษฎีกา เนื่องจากไม่มีผลในทางปฏิบัติมากนัก ทั้งยังถูกบังคับใช้เพียง 1 ปี ซึ่งเป็นขณะเดียวกับการเข้ามาของความบันเทิงรูปแบบใหม่จากตะวันตก หลายส่วนยังเห็นไปในทางตรงกันข้ามว่า การจัดการวัฒนธรรมในสมัยจอมพล ป. ได้สร้างมาตรฐานและคุณลักษณะเฉพาะให้แก่วงการดนตรีซึ่งได้ดำรงอยู่มาถึงปัจจุบัน

 

เอกสารอ้างอิง : 


[1] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. (20 มีนาคม 2560). เล่าเรื่อง‘จุฬาฯ 1 ศตวรรษ’ / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. โลกวันนี้. สืบค้นจาก http://www.lokwannee.com/web2013/?p=262071

[2] ทัตพล พูลสุวรรณ. (2559). “ผู้หญิง” กับบทบาทการเป็นครูดนตรีไทย. วารสารประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์, 3(2), 14-67.

[3] ภัทรวดี ภูชฎาภิรมย์. (2550). วัฒนธรรมบันเทิงในชาติไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, น.119

เอกสารอ้างอิงเพิ่มเติม : 

  • โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และนภนาท อนุพงศ์พัฒน์. ปกิณกคดี ๑๐๐ ปี การสาธารณสุขไทย. นนทบุรี: สำนักพิมพ์สุขศาลา.
  • ชาติชาย มุกสง. (2556). รัฐ โภชนาการใหม่กับการเปลี่ยนแปลงวิถีการกินในสังคมไทย พ.ศ. 2482-2517. (วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย).
  • ธันวา วงศ์เสงี่ยม. (2553). รํฐไทยกับสุขภาพพลเมือง พ.ศ.2475-2500. (วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย).
  • ประมวลบทความของนายแพทย์ยงค์ ชุติมา (พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพนายแพทย์ยงค์ ชุติมา ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2507)
  • อติภพ ภัทรเดชไพศาล. (29 พฤษภาคม 2558). จอมพล ป. กีดกันดนตรีไทยจริงหรือ? [เว็บบล็อก]. สืบค้นจาก https://atibhop.wordpress.com/2015/05/29/may2015_matichon/

สำหรับ วิจิตรา รักวงษ์ ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานประจำกองบรรณาธิการข่าวประชาไท จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net