Skip to main content
sharethis

24 มิ.ย. 2563 ครช. และเครือข่าย ทวงถามความคืบหน้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่เคยมายื่นต่อ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ ตั้งแต่ 13 มี.ค. 2563 ด้านกลุ่ม 24 มิถุนาฯ, คปอ., และ กสรก. ขอตั้งวันชาติและวันกำเนิดประชาธิปไตยเป็นวันที่ 24 มิ.ย.

10.30 น. คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ร่วมกับกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) และกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง (กสรก.) จัดกิจกรรม 'ทวงคืนมรดกคณะราษฎร ทวงคืนสัญญารัฐธรรมนูญประชาชน' บริเวณลานหน้ารัฐสภา โดยมีการอ่านประกาศคณะราษฎร และโบกธงสีเขียวที่เคยเป็นสัญลักษณ์รณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนปี 2540

อนุสรณ์ อุณโณ ตัวแทน ครช. อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ การแก้ไขหรือการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องวางอยู่บนหลักพื้นฐานของระบอบ ประชาธิปไตยที่อํานาจสูงสุดเป็นของประชาชน ทั้งในแง่ของที่มา กระบวนการ และเนื้อหา ส.ส. จะต้องเร่งยกร่างและเสนอ พ.ร.บ.การรับฟังความเห็นของประชาชน เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของสภา และดําเนินการให้แล้วเสร็จในสมัยการประชุมนี้ เพื่อจะจัดให้มีการออกเสียงประชามติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญปลายปีนี้ตามที่กําหนดไว้ โดยจะต้องจัดให้มีกลไก เช่น สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เป็นหลัก และให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เรื่องหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยเสียงเห็นชอบจาก สมาชิกรัฐสภาจํานวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กําหนดให้องค์กรที่ใช้อํานาจต้องมา จากหรือว่ายึดโยงกับประชาชน นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาต้องมาจาก การเลือกตั้ง และต้องไม่นิรโทษกรรมให้กับคณะรัฐประหาร

หลังจากอ่านแถลงการณ์ ครช. ยื่นหนังสือทวงถามความคืบหน้าเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่เคยเดินขบวนมายื่นเมื่อ 13 มี.ค. 2563 ต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ) โดยมีชำนาญ จันทร์เรือง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่, วันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ, ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล, รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล,  บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นตัวแทน กมธ. มารับเรื่อง

จากนั้น กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, คปอ.) และ กสรก. อ่านแถลงการณ์ขอให้ประกาศให้วันที่ 24 มิ.ย. ของทุกปีเป็นวันชาติและวันกําเนิดประชาธิปไตยของไทย เหมือนที่เคยเป็นระหว่างปี 2482-2503

แถลงการณ์ 24 มิ.ย. 2563 ทวงคืนมรดกคณะราษฎร ทวงคืนสัญญารัฐธรรมนูญประชาชน

24 มิถุนายน 2563 ทวงคืนมรดกคณะราษฎร ทวงสัญญารัฐธรรมนูญประชาชน

ย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรได้ทําการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย และต่อมาวันที่ 27 มิ.ย. 2475 ได้มีการตรา พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 ซึ่งไม่เพียงแต่เป็น รัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย หากแต่ยังเป็นรัฐธรรมนูญที่สะท้อนหลักพื้นฐานของระบอบ ประชาธิปไตย นั่นคือ อํานาจอธิปไตยหรือว่าอํานาจสูงสุดเป็นของประชาชน ดังที่ระบุไว้ในมาตรา 1 ว่า “อํานาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” โดยมีบุคคลและคณะบุคคลซึ่งประกอบด้วย กษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และศาล เป็นผู้ใช้อํานาจแทนตามที่ระบุไว้ในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ดี การสถาปนาหลักพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยถูกขัดขวางมา อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 88 ปีที่ผ่านมา เพราะนอกจากข้อความ “อํานาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย” ในรัฐธรรมนูญฉบับ 27 มิ.ย. 2475 จะถูกแก้ไขเป็น “อํานาจอธิปไตย ย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม” ในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธ.ค. 2475 และไม่ปรากฏข้อความดังกล่าว ในรัฐธรรมนูญฉบับใดอีก อํานาจของประชาชนยังถูกทําลายโดยการก่อรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยหลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองมีการก่อรัฐประหารรวม 24 ครั้ง สําเร็จ 13 ครั้ง หรือทุกสามปีครึ่งจะมีการก่อรัฐประหารทั้งสําเร็จและล้มเหลวหนึ่งครั้ง และในการทํารัฐประหารที่สําเร็จแต่ละครั้งจะมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิม และใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทําให้ปัจจุบันประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมากถึง 20 ฉบับ โดยรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นหลังรัฐประหารมักขัดแย้งหรือไม่เป็นคุณต่อ อํานาจของประชาชนและระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของที่มา กระบวนการ หรือว่าเนื้อหา

ดังกรณีรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. ได้ยกเลิก รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แล้วแต่งตั้งคณะบุคคลขึ้นมาทําการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ภายใต้การกํากับของตน โดยไม่ได้มีตัวแทนของประชาชนเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือว่ามีความยึดโยงกับประชาชนแต่อย่างใด และแม้ต่อมารัฐบาล คสช. จะจัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว แต่ก็ไม่สามารถ นําไปสู่สิ่งที่เรียกว่ามติของประชาชนได้ เพราะเป็นการนําเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียว อีกทั้งยังมีการระดมสรรพ กําลังอย่างกว้างขวางและทําทุกวิถีทางเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ควบคู่ไปกับการปิดกัน ข่มขู่ คุกคาม และฟ้องร้องดําเนินคดีผู้นําเสนอข้อมูลอีกด้าน ไม่นับรวมการถือวิสาสะแก้ไขเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากผ่านการออกเสียงประชามติแล้ว

รัฐธรรมนญ พ.ศ. 2560 จึงไม่ได้สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน หากแต่สะท้อนความต้องการของ คลที่จะสถาปนาอํานาจของตนในนามของรัฐพร้อมกับลดอํานาจของประชาชน สิทธิของประชาชนใน

รัฐธรรมนญฉบับก่อนหน้าหายไป ขณะที่สิทธิบางด้านถูกเปลี่ยนเป็นหน้าที่ของรัฐ แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่ารัฐจะทําตามหน้าที่หรือไม่อย่างไร

ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้สร้างเงื่อนไขให้ตัวแทนของประชาชน เช่น นักการเมืองและพรรคการเมืองอ่อนแอ และอยู่ในอาณัติขององค์กรที่ไม่ได้มาจากหรือว่ายึดโยงกับประชาชน พร้อมกับให้อํานาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระอย่างกว้างขวาง ในการกํากับควบคุมพรรคการเมืองและสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งให้อํานาจสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการ ให้สิทธิในการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีที่ไม่จําเป็นต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงการเป็นปราการด่านสําคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่นับรวมการมีบทเฉพาะกาลที่ให้อํานาจหัวหน้าคณะรัฐประหาร อยู่เหนือกฎหมายจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ รวมทั้งการระบุให้คําสั่ง ประกาศ และการกระทําของ คสช. และ หัวหน้า คสช. มีผลบังคับใช้ต่อไปจนกว่าจะมีการออกกฎหมายมายกเลิก เป็นต้น

นอกจากหลักพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย มรดกคณะราษฎรด้านอื่นได้ถูกลบล้างอย่างกว้างขวาง ภายใต้รัฐบาล คสช. ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน นับตั้งแต่หมุดคณะราษฎรที่หายไปอย่างมีเงื่อนงํา ในช่วงต้นเดือน เม.ย. 2560 ขณะที่ต่อมาวันที่ 28 ธ.ค. 2561 มีการย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญไป เก็บไว้ในบริเวณที่ไม่มีการแจ้งให้ทราบ เช่นเดียวกับในเดือน ม.ค. 2563 มีการย้ายอนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่ลานหน้าสโมสรนายทหาร ค่ายพหลโยธิน และรูปปั้นจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่สถาบันวิชาการ ป้องกันประเทศ ไปเก็บไว้ในสถานที่ที่ไม่มีการแจ้งให้ทราบเช่นกัน นอกจากนี้ มีการเปลี่ยนชื่อสถานที่ที่เป็นชื่อ บุคคลในคณะราษฎร เช่น “บ้านจอมพล ป. พิบูลสงคราม” ที่ จ.เชียงราย ถูกเปลี่ยนเป็น “ศูนย์เรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์” เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2563 เป็นต้น การลบล้างมรดกคณะราษฎรในลักษณะเช่นนี้ยังคง ดําเนินไปอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มจะขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ โดยไม่เคารพต่อข้อเท็จจริงและหลักฐาน ทางประวัติศาสตร์ ควบคู่ไปกับการลบล้างหรือเปลี่ยนความทรงจําเกี่ยวกับเหตุการณ์ 24 มิ.ย. 2475 ผ่าน แบบเรียน ภาพยนตร์ ละคร บทเพลง ฯลฯ ที่ดําเนินมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) มีเป้าหมายและพันธกิจในการแก้ไขหรือว่ายกร่าง รัฐธรรมนูญใหม่ที่ให้ความสําคัญกับประชาชนเป็นเบื้องต้น เห็นว่ามรดกที่คณะราษฎรได้มอบไว้ คือ หลัก พื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่อํานาจสูงสุดเป็นของประชาชน สามารถอาศัยเป็นหมุดหมายในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้ ประกอบกับวันที่ 13 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา ครช. ได้เดินทางมายื่นข้อเรียกร้อง ต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ ณ รัฐสภาแห่งนี้ ให้มีการดําเนินการเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญประชาชน ครช. จึงถือเอาวันที่ 24 มิ.ย. 2563 นี้เป็น โอกาสในการทวงคืนมรดกคณะราษฎรและทวงสัญญารัฐธรรมนูญประชาชนไปพร้อมกัน ดังนี้

1. การแก้ไขหรือการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องวางอยู่บนหลักพื้นฐานของระบอบ ประชาธิปไตยที่อํานาจสูงสุดเป็นของประชาชน ทั้งในแง่ของที่มา กระบวนการ และเนื้อหา

2. สภาผู้แทนราษฎรจะต้องเร่งยกร่างและเสนอพระราชบัญญัติการรับฟังความเห็นของประชาชน เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของสภา และดําเนินการให้แล้วเสร็จในสมัยการประชุมนี้ เพื่อจะจัดให้มีการออกเสียงประชามติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญปลายปีนี้ตามที่กําหนดไว้

3. ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องจัดให้มีกลไก เช่น สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เป็นหลัก และให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เรื่องหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยเสียงเห็นชอบจาก สมาชิกรัฐสภาจํานวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง

4. รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กําหนดให้องค์กรที่ใช้อํานาจต้องมา จากหรือว่ายึดโยงกับประชาชน นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาต้องมาจาก การเลือกตั้ง และต้องไม่นิรโทษกรรมให้กับคณะรัฐประหาร

ด้วยความเชื่อมั่นในอํานาจของประชาชน

คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.)

24 มิถุนายน 2563

รัฐสภา

แถลงการณ์ เรื่อง ขอให้ประกาศให้วันที่ 24 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันชาติและวันกําเนิดประชาธิปไตยของไทย ประธานสภาผู้แทนราษฎร

คณะราษฎรทําการปฏิวัติสยาม 24 มิ.ย. 2475 เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญกําหนดให้ “อํานาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” จึงกล่าวได้ว่า “รัฐประชาชาติ” ถือกําเนิดขึ้นครั้งแรก ทําให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าทั้งในด้านนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ นําประเทศสู่ความทันสมัยในทุกด้าน เช่น การ ขยายการศึกษาภาคบังคับ การจัดตั้งมหาวิทยาลัย เปิดโอกาสสามัญชนได้รับการศึกษาสูงขึ้น เช่น ก่อตั้ง ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ มหิดล ศิลปากร บูรพา ประชาชนได้รับสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภายใต้กฎหมาย และสิทธิการปกครองท้องถิ่น การสร้างผังเมืองสมัยใหม่ กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ประเทศได้รับเอกราชทางเศรษฐกิจ ทางศาล และการเมือง ฯลฯ

วันที่ 24 มิ.ย. 2475 มีคุณค่าความหมายสําหรับประชาชนคนไทยเป็นอย่างยิ่ง จึงกําหนดให้วันที่ 24 มิ.ย. เป็น “วันชาติ” ของไทย และมีประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง “วันชาติ” ลงวันที่ 18 ก.ค. 2481 โดย พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยนั้น และได้มีการเฉลิมฉลองวันชาติ 24 มิ.ย. ครั้ง แรกในปี 2482 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ให้วันที่ 23-25 มิ.ย. เป็นวันหยุด มีการเฉลิมฉลองทั่วทั้งแผ่นดินในทุกภาคส่วนของสังคม

การเฉลิมฉลองวันชาติไทยเป็นเวลา 21 ปี จนมาถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นรัฐบาลเผด็จ การทหาร ทําการยกเลิกวันชาติไทย 24 มิ.ย. ในวันที่ 21 พ.ค. 2503 จนทําให้วันสําคัญของชาติไทยนี้ ถูกลดทอนคุณค่าเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลดทอนคุณค่าของวันสําคัญการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยการทํา ให้สัญลักษณ์สําคัญของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. สูญหายและถูกทําลายจนหมดสิ้นไป เช่น หมุดคณะราษฎรสูญหายไปในปี 2560 อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญถูกทุบทําลายลงไปในปี 2561 เป็นการเนรคุณต่อบรรพชนคณะราษฎรที่ทําการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อันแสดงถึงเจตนาของการทําลายรากฐานประชาธิปไตยลงไป

องค์กรดังมีรายชื่อท้ายหนังสือนี้จึงได้เรียนมายังสภาผู้แทนราษฎร ให้มีมติกําหนดให้วันที่ 24 มิ.ย. ของทุกปีเป็นวันชาติไทยและวันกําเนิดประชาธิปไตย โดยกําหนดให้วันที่ 23-25 มิ.ย. เป็นวันหยุด พร้อมทั้ง จัดงานเฉลิมฉลองเป็นไปตามเดิมดังเช่นระหว่างปี 2482-2503 เพื่อเป็นการแสดงออกถึงคุณค่าประชาธิปไตย และความภาคภูมิใจของคนในชาติ ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองประชาธิปไตยและความทันสมัย ที่ทําให้ประชาชนคนไทยได้ลืมตาอ้าปาก มีสถานะและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม แม้ว่าในปัจจุบันนี้ประเทศไทยจะยังไม่ได้ประชาธิปไตยสมบูรณ์อันเนื่องมาจากการรัฐประหารถึง 20 ครั้ง ในรอบ 88 ปีที่ผ่านมาก็ตาม

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย

คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.)

กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต และใกล้เคียง (กสรก.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net