Skip to main content
sharethis

'กองทัพบก' พิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม ยกปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์และระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง พร้อมอัด 'คณะราษฎร' รัฐประหารเพื่อล้มราชบัลลังก์ ท่ามกลางกระแสสิ่งรำลึกฝ่ายคณะราษฏรเริ่มหาย ขณะที่ฝ่ายต่อต้านกำลังกลับมา

24 มิ.ย.2563 เนื่องในวันครบรอบ 88 ปี การปฏิวัติเปลี่ยนรูปแบบประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และเปลี่ยนรูปแบบการปกครองไปเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2475 ที่นำโดยคณะนายทหารและพลเรือนที่ประกอบกัน เรียกตนเองว่า "คณะราษฎร" ส่งผลให้มีรัฐธรรมนูญฉบับแรก นั้น ขณะที่ประชาชนและนักศึกษาจำนวนหนึ่งพยายามจัดกิจกรรมรำลึกปฏิบัติการของคณะราษฎร

สื่อหลายสำนัก รวมทั้ง วาสนา นาน่วม นักข่าวผู้ติดตามความเคลื่อนไหวของกองทัพ รายงานตรงกันว่า เมื่อเวลา 15.00 น. กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก มอบหมาย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก ผู้แทนกองทัพบก เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย พล.อ.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และบำเพ็ญกุศลแก่ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของนายทหารที่มีความจงรักภักดี

แผนกแถลงข่าว กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพบก แจกเอกสารข่าว ให้สื่อว่า พิธีนี้เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของนายทหารที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันและยังเป็นนายทหารประชาธิปไตย ปี พ.ศ. 2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตยโดยกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า คณะราษฎร ถือเป็นการรัฐประหารเพื่อล้มราชบัลลังก์

เอกสารแจกดังกล่าวระบุว่า ครั้น พ.ศ. 2476 ได้เกิดการกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 โดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช โดยมีพระยาศรีสิทธิสงครามเป็นแม่ทัพ มีชื่อเป็นที่รู้จักกันว่า "กบฏบวรเดช" เนื่องจากพระองค์ทรงไม่เห็นด้วยกับแนวทางการปกครองของพระยาพหลพลพยุหเสนา ที่มีลักษณะเป็นเผด็จการ

โดยเรียกร้องให้ รัฐบาลของพระยาพหลฯ ดำเนินตามแนวทางที่เสนอคือ ให้รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ และให้รัฐบาลมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยให้อำนาจฝ่ายรัฐสภาในการตรวจสอบมากขึ้นและจำกัดอำนาจของรัฐบาลมิให้คณะราษฎรกลายเป็นคณะเผด็จการ แต่ในที่สุดการก่อกบฏ ไม่เป็นผลฝ่ายรัฐบาล ปราบปรามคณะกบฏ ลงได้

"วีรกรรมที่กล้าหาญและเสียสละของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และพระยาศรีสิทธิสงครามควรแก่การยกย่องในฐานะที่ทรงปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยความจงรักภักดี และทรงมุ่งหวังให้ประเทศชาติดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง” เอกสารแจกดังกล่าวระบุ

ที่มา : Wassana Nanuam, The Standard และข่าวสดออนไลน์

สิ่งรำลึกฝ่ายคณะราษฏรเริ่มหาย ขณะที่ฝ่ายต่อต้านกำลังกลับมา

ทั้งนี้ ห้องศรีสิทธิสงคราม และห้องบวรเดช ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพิ่งเดินทางเป็นประธานพิธีเปิดห้อง เมื่อ 9 ต.ค.2562

ด้านหนึ่ง ย้อนกลับไปเมื่อปลายปีที่แล้ว กลางดึกคืนวันที่ 27 ต่อ 28 ธ.ค.2561 ที่กลางบริเวณวงเวียนหลักสี่ ย่านบางเขน กทม. มีกระบวนการย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช 2476 ตั้งอยู่ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารควบคุมสถานการณ์บริเวณดังกล่าว พร้อมการกักตัวประชาชนรวมทั้งผู้สื่อข่าวบางสำนักที่พยายามเข้าไปบันทึกเหตุการณ์การย้ายอนุสาวรีย์ฯ ด้วย จนกระทั่งปัจจุบันยังไม่ทราบว่าอนุสาวรีย์ฯ ดังกล่าวไปอยู่ที่ใด เช่นเดียวกับ หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญหรือเรียกโดยทั่วไปว่า หมุดคณะราษฎร ที่เดิมเคยฝังอยู่กับพื้นถนนบนลานพระบรมรูปทรงม้าด้านสนามเสือป่า ณ ตำแหน่งอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 จนกระทั้ง เม.ย. 2560 หมุดดังกล่าวได้หายไป

ก่อนการหายไปของ อนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช 1 วัน ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานก่อนข่าวดังกล่าวจะถูกลบไปในเวลาต่อมาว่า เมื่อคืนวันที่ 23 ธ.ค.61 กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ทำพิธีสักการะแบบเงียบๆ เพื่อจะดำเนินการย้ายอนุสาวรีย์แห่งนี้ไปไว้ที่ศูนย์ก่อสร้าง กทม.ย่านหนองบอน อย่างถาวร

อย่างไรก็ตาม 28 ธ.ค.61 วีรนันต์ กัณหา ผู้สื่อข่าวและผู้ประกาศข่าว VoiceTV โพสต์รายงานข่าวกรณีนี้ผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจ วีรนันต์ กัณหา - Weeranan Kanhar ว่า ตนโทรศัพท์สอบถามไปที่ ศักดิ์ชัย บุญมา ผอ.สำนักการโยธา กทม. ได้รับคำยืนยันว่า อนุสาวรีย์ปราบกบฏ ที่ถูกย้ายออกไปเมื่อคืนวันที่ 27 ธ.ค.62 ไม่ได้ถูกนำไปเก็บไว้ที่ ศูนย์ก่อสร้างและบูรณะถนน 3 ย่านหนองบอน ตามที่ 'ประชาชาติธุรกิจ' รายงาน และ กทม. ไม่เคยทราบเรื่องการเคลื่อนย้ายเลย

ศักดิ์ชัย ผอ.สำนักการโยธา กทม. บอกเพิ่มเติมว่า "จริงๆ ก็ย้ายมาหลายครั้งแล้ว ก่อนหน้านี้อยู่กลางวงเวียน พอสร้างอุโมงค์ ก็ย้ายไปมุมตรงข้ามกับ สน.บางเขน แล้วพอสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียว ก็ย้ายมาอีกมุมหนึ่ง ผมว่ามันเกะกะ ทำไมนักข่าวสนใจ อนุสาวรีย์นี้จัง อยากให้เป็นข่าวเหรอ"

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2559 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้สักการะและดำเนินการย้ายอนุสาวรีย์ฯดังกล่าว ไปไว้ทางทิศเหนือ 45 องศา ฝั่งถนนพหลโยธินขาออกมุ่งหน้าสะพานใหม่เพื่อไม่ให้กระทบโครงสร้างสถานีวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน ซึ่งเป็น 1 ในสถานีของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต แล้วครั้งหนึ่ง

ที่มาของอนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช

ภาพจากเพจ ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรสยาม 

สำหรับอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญนั้น เพจ 'ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรสยาม' เล่าถึงที่มาของอนุสาวรีย์ฯนี้ หรืออีกชื่อคือ อนุสาวรีย์ปราบกบฏ โดยอ้างจากบทความของ ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ชื่อ“อนุสาวรีย์ปราบกบฏ กับการรำลึกวีรชนผู้พิทักษ์การปฏิวัติ พ.ศ. 2475” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2556 ที่ระบุว่า

ที่มาของอนุสาวรีย์ฯ สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 เมื่อมีบุคคลคณะหนึ่งประกอบด้วยทหารและพลเรือน เรียกตัวเองว่า “คณะกู้บ้านเมือง” มี นายพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นผู้นำ ได้นำทหารจำนวนมากจากหัวเมือง ทั้งจากอุบลราชธานี นครราชสีมา สระบุรี อยุธยา นครสวรรค์ พิษณุโลก ปราจีนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี มายึดบริเวณดอนเมือง เพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาลาออกและปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของคณะกู้บ้านเมือง ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลได้ส่งตัวแทนไปเจรจากับคณะกู้บ้านเมืองให้ล้มเลิกความคิดล้มล้างรัฐบาล และถอนทหารกลับสู่ที่ตั้ง​ แต่กลับไม่เป็นผล ดังนั้น พระยาพหลฯ จึงตั้งให้หลวงพิบูลสงครามเป็นแม่ทัพคุมกำลังทหารออกปราบปรามฝ่ายคณะกู้บ้านเมือง โดยมีการปะทะกันที่บางเขนตั้งแต่วันที่ 12 - 16 ต.ค. 2476 ต่อมาฝ่ายคณะกู้บ้านเมืองได้พ่ายแพ้ พระองค์เจ้าบวรเดชทรงลี้ภัยไปอินโดจีน แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายรัฐบาลได้สูญเสียทหารและตำรวจจำนวน 17 นาย ในการปกป้องกฏหมายรัฐธรรมนูญในครั้งนี้

หลังเหตุการณ์สงบเรียบร้อย รัฐบาลได้นำศพของผู้เสียชีวิตมาทำบุญอุทิศส่วนกุศล ณ วัดราชาธิวาส และได้จัดพิธีฌาปนกิจอย่างยิ่งใหญ่​ ณ​ ท้องสนามหลวงอย่างสมเกียรติในฐานะวีรชนของชาติ ในวันที่ 18 ก.พ.2477

จากนั้นได้บรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวินไว้ในปลอกกระสุนปืนใหญ่ทองเหลืองตามประเพณีของทหารและตั้งไว้ที่กรมกองต้นสังกัดของเหล่าทหารและตำรวจทั้ง 17 นาย เป็นเวลา 3 ปี ต่อมาราชการได้สร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฏ ที่ตำบลหลักสี่ อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร จึงได้นำอัฐิของวีรชน 17 นาย มาบรรจุไว้ที่อนุสาวรีย์แห่งนี้ 

ภาพจาก เฟสบุ๊ค 'ป. ลครพล'

เฟสบุ๊ค 'ป. ลครพล' ได้โพสต์ภาพพร้อม คำกราบบังคมทูลของ พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในงานพิธีเปิดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตำบลหลักสี่ 15 ต.ค. 2479 ด้วยว่า

"กระทรวงกลาโหมขออุทิศอนุสาวรีย์นี้ให้แก่ชาติไทย เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติเตือนใจชาวไทยว่า อย่าแตกความสามัคคีกัน ทั้งการคิด การพูด และการทำ หากแม้ว่าสิ่งระลึกเตือนสติเตือนใจนี้จะเป็นคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองแม้แต่น้อย ก็ขอให้ผลอันนี้ได้ไปเป็นเครื่องประดับวิญญาณแก่สหายที่รักผู้กล้าหาญของเกล้ากระหม่อมทั้ง 17 นายนั้นตลอดไป"

อนึ่ง ไม่เพียงอนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดชและหมุดที่หายเท่านั้น ช่วงเวลาใกล้เคียงนี้ยังมีสิ่งรำลึกอื่นๆ ที่เกี่ยวกับบุคคลในคณะราษฎร หายหรือย้ายอีก เช่น อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญจังหวัดบุรีรัมย์ อนุสาวรีย์จอมพล ป. พิบูลสงคราม เคยตั้งอยู่ที่สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ซึ่งเคยตั้งอยู่ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ จังหวัดลพบุรี หรือค่ายพหลโยธิน บ้านจอมพลป. พิพิธภัณฑ์ใน จ.เชียงราย ปัจจุบันป้ายชื่อหน้าบ้านถูกเปลี่ยนเหลือเพียงคำว่า “ศูนย์การเรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์” ค่ายพหลโยธิน  หรือศูนย์การทหารปืนใหญ่ที่ต. เขาพระงาม อ.เมืองลพบุรี ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “ค่ายภูมิพล”  ค่ายพิบูลสงคราม  หรือกองพลทหารปืนใหญ่ ต.ท่าแค อ.เมืองลพบุรี ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “ค่ายสิริกิติ์” ฯลฯ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net