เวทีเสวนา 88 ปี 24 มิถุนา ออนไลน์ 'เกษตรกรใต้' หยุดกลางคัน เหตุ จนท.ฝ่ายปกครองติดต่อตรวจสอบ

เสวนาออนไลน์ "ครบรอบ 88 ปี 24 มิถุนายน 2475 จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ประชาธิปไตย" ของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ และขบวนการประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย ที่ชุมชนคลองไทรพัฒนา จ.สุราษฎร์ธานี ยุติกลางคัน เหตุมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่เข้ามาติดตามและสกัด

24 มิ.ย.2563 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันนี้ (24 มิ.ย.63) สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) และขบวนการประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ขปท.) ได้ร่วมกันจัดงาน “เสวนา "ครบรอบ 88 ปี  24 มิถุนายน 2475 จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ประชาธิปไตย" โดยมีการสนับสนุนการถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊ก  ระหว่างเวลา 9.00 – 11.00 น. ตามกำหนดการในเวทีได้มีการจัดกิจกรรม เล่นดนตรี,เสวนาและเปลี่ยนความคิดเห็น และแถลงการณ์ ปิดท้าย โดยได้มีการถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊ก (Facebook Live) ของ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) และคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.)

โดยในช่วงการเสวนา มีตัวแทนจากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) 6 ท่าน ได้แลกเปลี่ยนในหลักการ 6 ประการ ของคณะราษฎร์ที่ได้มีการประกาศไว้ในประกาศคณะราษฎร์ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เวลาย่ำรุ่ง ณ.ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบันและสถานการณ์ของชุมชนที่เผชิญมานั้น ว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ทั้งนี้ หลักการ 6 ประการของคณะราษฎร์ ก็ได้มีกล่าวถึง เอกราช, ความปลอดภัย, เศรษฐกิจ, สิทธิเสมอภาค, เสรีภาพ และการศึกษา ซึ่งผู้ร่วมเสวนาได้เสนอถึงเรื่องของการเข้าถึงทรัพยากรที่ประชาชนคนยากจนที่ควรเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรนั้น ทั้งในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนที่เห็นต่างทางการเมืองซึ่งเมื่อแสดงออกถึงความเห้นต่างก็อาจถูกบังคับให้สูญหายได้ โดย นอกจากนี้ยังได้เสนอถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องมีส่วนร่วมของประชาชน

ทั้งนี้ได้มีปิดท้ายด้วยการอ่านแถลงการณ์ ที่มีเนื้อหาใจความสำคัญกล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองตลอดระยะเวลา 88 ปี หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนถึงปัจจุบัน โดยมีเนื้อหากล่าวถึงผู้ที่เหล่านักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินและต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย ที่ถูกบังคับให้สูญหายและประทุษร้ายจนถึงแก่ความตายจากอำนาจรัฐที่มาตากเผด็จการ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่มาพร้อมกับความล้าหลังทางด้านประชาธิปไตยของไทยตลอดระยะเวลา 88 ปี ที่เห็นได้จากการรัฐประหารกว่า 13 ครั้ง โดยสุดท้ายได้เรียกร้องประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลาย ได้ร่วมมือกันผลักดันให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เข้ามาแทนที่รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. (ปี 2560) และขอเรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจให้ประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสในการพัฒนาระบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ดังความมุ่งหวังของคณะราษฎรที่ได้ประกาศไว้เมื่อ 88 ปีที่แล้ว โดยภายหลังจากการอ่านแถลงการณ์ ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนกันเพิ่มเติมเล็กน้อย

ภาพรถและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่เดินทางเข้ามาตรวจสอบ

อย่างไรก็ตาม เวทีกิจกรรมดังกล่าวจบเวทีลงในเวลา 11.00 น. ก่อนกำหนดเวลา 1 ชั่วโมง ตามกำหนดการเดิม 9.30-12.00 น. เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้ติดต่อสอบถามถึงการจัดเวทีดังกล่าว

รายงานข่าวระบุว่า ต่อมาเวลาประมาณ 11.36 น. มีเจ้าหน้าฝ่ายปกครอง 2 นาย ทะเบียนรถ ขจ.1703 สีน้ำเงิน ซึ่งมีตราของฝ่ายปกครองติดอยู่ด้านข้างของรถ ไม่ทราบจังหวัดเนื่องจากสีจาง และมีทะเบียนเพียงด้านหน้ารถเท่านั้น จากที่ว่าการอำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เดินทางเข้ามาในพื้นที่จัดงานเสวนา ที่ชุมชนคลองไทรพัฒนา ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเขาติดตามสอบถาม และสกัดการจัดเวทีเสวนาดังกล่าว

ทั้งนี้เบื้องต้นเจ้าหน้าที่เดินทางเข้ามา ได้สอบถามว่า "จัดงานอะไรกัน" "พื้นที่ชุมชนนี้ มีกี่ชุมชนที่เป็นกลุ่มของสหพันธ์ฯ" โดยแจ้งว่า การเดินทางเข้ามานี้เนื่องจาก นายอำเภอให้เดินทางเข้ามา พร้อมทั้งขอกำหนดการจัดกิจกรรม เพื่อแจ้งกับทางอำเภอต่อไป โดยใช้เวลาในการพูดคุย 5-10 นาที จึงเดินทางออกจากชุมชน

สำหรับ แถลงการณ์ของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ และขบวนการประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย มีดังนี้

แถลงการณ์ 88 ปี 24 มิถุนายน 2475 จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ประชาธิปไตย

ณ. ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ”

จากวันนั้นจนวันนี้ เป็นเวลา 88 ปีแล้ว ที่หมุดหมายแห่งการสถาปนาประชาธิปไตยเพื่อเริ่มต้นสังคมแบบใหม่เข้ามาแทนที่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งเป็นสังคมแบบเก่า

การอภิวัฒน์ประชาธิปไตยในครั้งนั้น คณะราษฎรได้วางหลักใหญ่ ๆ 6 ประการ คือ เรื่อง เอกราช, ความปลอดภัย, เศรษฐกิจ, สิทธิเสมอภาค, เสรีภาพ และการศึกษา ไว้ในประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ซึ่งคณะราษฎรมุ่งหวังให้ประชาชนในประเทศได้มีประชาธิปไตยและมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม

88 ปีที่ผ่านมาหลัก 6 ประการที่คณะราษฎรได้ประกาศไว้ ยังคงไม่บังเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง โดยเห็นได้ชัดเจน จากการที่ชนชั้นสูงได้พยายามขัดขวาง การเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ระบบประชาธิปไตยโดยการก่อการรัฐประหารและการก่อกบฏ รวมแล้วทั้งสิ้น 23 ครั้ง นับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

อาทิเช่น หลักของคณะราษฎรเรื่องความปลอดภัยซึ่งมีเจตนาประกันสิทธิ เสรีภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน แต่ในความเป็นจริงเราได้เห็นมาทุกยุคทุกสมัยว่า ผู้นำหรือนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนับตั้งแต่ในอดีต เป็นต้นมา จนกระทั่งในปัจจุบัน มีผู้สูญเสียชีวิตจากการบังคับให้สูญหายและประทุษร้ายถึงขั้นสูญเสียชีวิตมากมายหลายคน เช่น นายเตียง ศิริขันธ์, นายจำลอง ดาวเรือง, นายถวิล อุดล และ นายอินทร์ ภูริพัฒน์ รวมทั้งการสูญเสียชีวิตของผู้นำของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 35 คน ที่ถูกลอบสังหารโดยสมุน บริวาร ของเหล่าเผด็จการ ในช่วงปี 2516 ถึง 2522 ฯลฯ

มาจนถึงสถานการณ์ปัจจุบันก็ยังคงมีทั้งผู้นำที่ต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินและประชาธิปไตย ยังคงมีเหตุการณ์บังคับสูญหายและประทุษจนถึงแก่ชีวิตอย่างต่อเนื่อง  เช่น สมาชิก สกต. จำนวน 4 ราย นายเด่น คำแหล้, บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ, นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ, นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, นายชัชชาญ บุปผาวัลย์, นายไกรเดช ลือเลิศ, นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์, นายกฤษณะ ทัพไทย, นายสยาม ธีรวุฒิ และล่าสุด คือ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น ซึ่งถ้าหากนับจากหลังเหตุการณ์อภิวัฒน์ 2475 เป็นต้นมา ประชาชนผู้ออกมาเรียกร้องและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจำนวนมากมายหลายคน ได้ถูกรัฐเผด็จการสั่งฆ่าและทำให้สูญหายอย่างโหดเหี้ยมทารุณ

ทั้งนี้ในยุคของรัฐบาลเผด็จการ ก็มีการปราบปรามประชาชน ผู้ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่ว่าจะในเหตุการณ์ปฏิวัติประชาชน 14 ตุลาคม 2516 , การล้อมปราบนักศึกษาประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519, เหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม 2535 และเหตุกาณ์ล้อมปราบ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของคนเสื้อแดง ปี 2553 ซึ่งทำให้มีผู้ถูกสังหารหลายร้อยคน และบาดเจ็บ พิการ จำนวนหลายพันคน

ในปัจจุบัน ประชาชนถูกปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร ซึ่งสืบทอดอำนาจมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ได้ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพจากกฎหมาย และนโยบายควบคุมการใช้เสรีภาพทางการเมือง ตลอดจนนโยบายที่ควบคุมสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรและที่ดินของเกษตรกร ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ผลักดัน โดย คสช. ซึ่งไม่มีส่วนร่วมจากประชาชน พร้อมด้วยกฎหมายและพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่ผลักดันโดย คสช. ซึ่งมีผลในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอีกกว่า 600 ฉบับด้วย

ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่า การขัดขวางประชาธิปไตยตลอด 88 ปีที่ผ่านมานั้น เป็นการตักตวง กอบโกยผลประโยชน์ ที่เกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมทั้งความมั่งคั่งต่าง ๆ ที่เกิดจากฐานทรัพยากรและงบประมาณของประเทศชาติ ซึ่งได้ก่อให้เกิดการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและโอกาสในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ของประเทศด้านต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยส่วนใหญ่

ขบวนการขัดขวาง และต่อต้านการพัฒนาระบบการเมืองให้ก้าวหน้าไปในแนวทางประชาธิปไตย เป็นการปูทางสร้างอำนาจของเผด็จการให้สามารถดำเนินต่อไปได้อีก เพื่อกดขี่ขูดรีดประชาชนในประเทศ มิให้ได้มีสิทธิเสรีภาพใด ๆ ทั้งยังดำรงไว้ ซึ่งความเป็นทาสที่แปรเปลี่ยนจากการทำงานเพื่อรับใช้นายทาส มาสู่การเป็นทาสเพื่อรับใช้นายทุนและชนชั้นปกครองเท่านั้น มิได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับอิสระและเสรีภาพในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง

ในวาระครบรอบ 88 ปี 24 มิถุนา 2475 นี้ จึงขอเชิญชวนประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลาย ได้ร่วมมือกันผลักดันให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เข้ามาแทนที่รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. (ปี 2560) และขอเรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจให้ประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสในการพัฒนาระบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ดังความมุ่งหวังของคณะราษฎรที่ได้ประกาศไว้

เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ

แถลง ณ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2563

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้

ขบวนการประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท