Skip to main content
sharethis

รายงานเสวนา การเมืองของความทรงจำและการลบลืม: คณะราษฎรและการปฏิวัติ 2475 นักวิชาการย้ำยิ่งลบ ยิ่งจำ ยิ่งปิดกั้น ยิ่งอยากรู้ ชี้สงครามความทรงจำยังไม่สิ้นสุด และยังต่อสู้กันต่อไป

เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2563 คณะรัฐศาสตร์ร่วมกับมูลนิธิโครงการตำราฯ จัดงานเสวนาออนไลน์หัวข้อเรื่อง "การเมืองของความทรงจำและการลบลืม: คณะราษฎรและการปฏิวัติ 2475" ผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์แฟนเพจ Direk Jayanama Research Center โดยมีวิทยากรประกอบด้วย ธนาวิ โชติประดิษฐ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ชาตรี ประกิตนนทการ รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชา ศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต  และ ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

การเกิดใหม่ของคณะราษฎร-การหายไปของ 14 ตุลา

ชาตรี กล่าวว่า ปรากฏการณ์ของการเกิดใหม่ของคณะราษฎรเกิดขึ้นหลังรัฐประหารปี 2549 ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่เขย่าประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ ส่วนการรัฐประหาร 2557 คือ การทำให้คณะราษฎรเกิดเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งตนไม่ได้คิดเอง แต่อาศัยความคิดมาจาก ธนาพล อิ๋วสกุล การรื้อถอนมรดกของคณะราษฎรสัมพันธ์กับปรากฏการณ์ทางการเมืองในแต่ละยุคสมัยหลังยุคคณะราษฎร ซึ่งในยุคก่อนปี 2549 ไม่มีสัญลักษณ์ของคณะราษฎรที่ถูกใช้ในการชุมนุมอย่างมีนัยยะสำคัญ อาจจะมีบ้างในงานวิชาการ เช่นงานของอาจารย์ธำรงศักดิ์และอาจารย์ชาญวิทย์แต่ก็น้อย และจะพบสัญลักษณ์ที่อยู่ในการประท้วงเพียงไม่กี่อย่าง เช่น ธงชาติ แผนที่ประเทศไทย 

ส่วนจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในตอนนั้น ได้รับความนิยมมากในฐานะวีรบุรุษของกลุ่มทหารในช่วง 2530 - 2540 ซึ่งก่อนรัฐประหารปี 2549 จะพบว่ามีอนุสาวรีย์จอมพล ป. พิบูลสงคราม เกิดขึ้นมากมายในพื้นที่ของทหารเต็มไปหมด และภาพลักษณ์ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม จะมีลักษณะเผด็จการเป็นปีกขวาของคณะราษฎร เป็นคนที่ถูกอธิบายว่าทำให้การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์เพราะว่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีลักษณะเป็นเผด็จการทหารนิยม 

เหตุการณ์ 14 ตุลา ซึ่งในช่วง 30 - 40 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่หลังรัฐประหารปี 2549 เหตุการณ์ 14 ตุลา ถูกลดพลังและความสำคัญลง เนื่องจากกลุ่มคนที่เรียกว่า ‘คนเดือนตุลา’ หันไปสนับสนุนการทำรัฐประหารปี 2549 ทำให้ 24 มิ.ย. 2475 ถูกกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยนำมาเป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหว ปรีดี พนมยงค์ที่เคยถูกตีความเดี่ยวๆ เช่นในบทบาทหัวหน้าคณะราษฎร ผู้นำขบวนการเสรีไทย เป็นต้น เริ่มมีการพูดถึงปรีดีกับคณะราษฎรที่มีบทบาทของพระยาพหลฯ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะผู้ก่อการปฏิวัติ ซึ่งสัญลักษณ์ต่างๆ ของฝ่ายอนุรักษ์นิยมรวมถึง 14 ตุลา เริ่มถดถอยพลังลง และถูกแทนที่ด้วยอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ปราบกบฏ และวัตถุที่เป็นมรดกคณะราษฎรทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด 

จากเหตุการณ์ที่กล่าวไปข้างต้นนั้น ทำให้รัฐและฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่สบายใจและคิดว่า นี่คือประวัติศาสตร์ที่เป็นอันตรายต่อรัฐ ทำให้เกิดกระบวนการรื้อถอนมรดกคณะราษฎร แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จ เพราะมรดกคณะราษฎรถูกเปลี่ยนรูปแบบไปเป็น popular object เช่น พวงกุญแจ นาฬิกา คุกกี้ ซึ่งพบว่าถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการชุมนุมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ เมื่อช่วงต้นปี 2563 เห็นได้ชัดว่า การทำลายวัตถุที่เป็นมรดกคณะราษฎรไม่สามารถลบเลือนภาพความทรงจำของคณะราษฎรไปได้ แต่ก็ไม่ควรที่จะประเมินกระบวนการรื้อถอนครั้งนี้ต่ำเกินไป เพราะการทำลายวัตถุเหล่านั้น เป็นการทำลายพลังทางการเมืองที่ผูกติดอยู่กับที่ตั้งและวัตถุ รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่ก่อให้เกิดวัตถุนั้นๆ ด้วย ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าวัตถุต้นฉบับให้พลังได้มากกว่าวัตถุจำลอง ดังนั้นการทำลายมรดกคณะราษฎรจึงมีพลังมากกว่าที่คิด และยังมองไม่เห็นถึงจุดสิ้นสุดว่าฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายชนะ

ปฏิรูปราชทัณฑ์ คุณูปการปฏิวัติ 2475

ศรัญญู กล่าวถึงการจัดการนักโทษว่า ในช่วงสมัยรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทยนั้น การควบคุมจัดการนักโทษมีเป้าหมายเพื่อที่จะสร้างระเบียบแบบแผนความเรียบร้อยแก่บ้านเมือง และไม่ได้มีแนวความคิดที่จะฟื้นฟูนักโทษให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมอีก ดังนั้นหลัง 2475 จึงมีการปฏิรูปงานราชทัณฑ์ให้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดระเบียบสังคม แก้ไขปัญหาอาชญากรรมและสร้างสังคมอุดมคติในระบอบใหม่ด้วยองค์ความรู้ใหม่อาชญวิทยาแบบตะวันตก คณะราษฎรมุ่งหวังให้งานราชทันฑ์เป็นไปตามระบบสากลและสามารถฟื้นฟูนักโทษให้กลับมาใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมได้อีก ซึ่งมีแนวทางให้นักโทษทำงานเป็นเหมือนการอบรมฟื้นฟู ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างผลประโยชน์ให้กับรัฐโดยผ่านการใช้ทรัพยากรนักโทษและทรัพยากรต่างๆ ของรัฐ ที่อาศัยโครงสร้างของเรือนจำในการใช้แรงงานนักโทษผลิตและนำไปจำหน่าย เพื่อที่จะลดค่าใช้จ่ายให้กับรัฐ ขณะเดียวกันเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นมาจะพบว่า เงินจำนวนหนึ่งได้ไปจุนเจือนักโทษเสมือนเป็นเงินปันผล ซึ่งสามารถทำให้นักโทษอยู่ดีกินดีมากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงระบบข้าราชการราชทัณฑ์ให้มีการสอบแข่งขันเข้าทำงานเพื่อประสิทธิภาพของเจ้าพนักงาน

โครงการใหญ่ที่คณะราษฎรได้สร้างขึ้นมาคือ ‘ทัณฑนิคม’ เป็นโครงการที่จะนำนักโทษไปบุกเบิกพื้นที่ที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ เพื่อสร้างให้เป็นนิคมหรือเมืองขึ้นมา ซึ่งทดลองทำที่แรกที่ธารโต จังหวัดยะลา และเมื่อได้ผลก็ขยายมาทำต่อที่คลองไผ่ จังหวัดนครราชสีมา และที่เกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับควบคุมนักโทษทางการเมืองหลายกลุ่ม เช่น กบฏบวรเดช กบฏนายสิบ กบฏกรมพระยาชัยนาทนเรนทร แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ไม่ค่อยได้ผลมากนัก เพราะขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 

ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหารปี 2490 จอมพล ป.พิบูลสงคราม  ขึ้นมามีอำนาจ ซึ่งไม่ค่อยให้ความสนใจงานราชทัณฑ์มากนัก จนกลายเป็นช่วงที่ความทรงจำของนักโทษทางการเมืองที่มีความรู้พรั่งพรูออกมาถึงความยากลำบากในช่วงที่ต้องโทษที่เกาะตะรุเตา เช่น บันทึกความทรงจำ หนังสือที่เล่าประสบการณ์ต่างๆ ออกมาเป็นนิยาย แสดงภาพของนักโทษที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐบาล ซึ่งสามารถใช้โจมตีคณะราษฎรได้เป็นอย่างดี หากจะประเมินว่าบันทึกความทรงจำของนักโทษทางการเมืองโดยเฉพาะนักโทษบวรเดชประสบความสำเร็จขนาดไหน สะท้อนได้ดีจากงานเขียนประวัติศาสตร์ในช่วงทศวรรษ 2500-2520 บรรดานักวิชาการในช่วงนั้นมองว่ากบฏบวรเดชเป็นพระเอก ซึ่งสร้างภาพทับงานปฏิรูปราชทัณฑ์ของคณะราษฎรจนแทบจะเลือนหายไป ดังนั้น ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจึงเอางานเขียนเหล่านี้มาสร้างต่อเป็นภาพยนตร์และละครเวทีเพื่อถ่ายทอดถึงความเลวร้ายและการเป็นปฏิปักษ์กับคณะราษฎร ซึ่งเป็นการโต้กลับกระแสการเกิดใหม่ของคณะราษฎรในปัจจุบัน

ช่วงชิงความหมายของคำว่าพระเอกและตัวร้าย

ธำรงศักดิ์ กล่าวว่า ความทรงจำช่วงปฏิวัติ 2475 นั้น เป็นการช่วงชิงความหมายของคำว่าพระเอกและตัวร้ายของแต่ละฝ่าย ซึ่งฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็พยายามที่จะชูให้พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นพระเอก และคณะราษฎรเป็นตัวร้าย ยกตัวอย่างในหนังสือ ‘กบฏบวรเดช’ ที่ชูให้บวรเดชเป็นพระเอกที่ตายตอนจบ และผู้ร้ายก็คือคณะราษฎรและรัฐบาลในคณะราษฎร หรืออย่างในงานสี่แผ่นดินของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ที่พยายามทำให้คณะราษฎรเป็นผู้ร้าย และเป็นสาเหตุทำให้บ้านแตกสาแหรกขาด แต่การกระทำเช่นนี้ มันให้ผลลัพธ์ของการปลูกฝังเป็นไปในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งผู้อ่านบางคนก็จะเกิดความสงสัยและงงงวยว่า คณะราษฎรคือใคร นั่นคือสิ่งที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมตั้งใจจะกลบฝัง แต่ก็กลบไม่มิด

ธำรงศักดิ์ กล่าวเสริมว่า นอกจากอนุสาวรีย์ต่างๆ ที่ถูกทุบหรือย้ายแล้ว การเปลี่ยนชื่อจากสยามเป็นประเทศไทย การกำหนดวันเปลี่ยนปีศักราชเป็นวันที่ 1 มกราคมของทุกปี การออกกฎหมายทะเบียนสมรส ถนนราชดำเนินและสภาผู้แทนราษฎรนั้น ก็ล้วนแล้วแต่เป็นมรดกของคณะราษฎรและการปฏิวัติที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน

คำว่า ‘ประเทศไทย’ 

การเปลี่ยนชื่อสยามมาเป็นประเทศไทยนั้น ธำรงศักดิ์ อธิบายว่า สาเหตุที่รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามประกาศเปลี่ยนชื่อจากประเทศสยามเป็นประเทศไทยหรือไทยแลนด์ เนื่องจากต้องการให้ประเทศเข้าสู่สากลมากขึ้น และในเนื้อหาเพลงชาตินั้น ท่อนที่ว่าร้องว่า “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย” เป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะอธิบายก็คือใครเป็นคนไทยบ้างซึ่งหลากหลาย ทั้งคนไทย คนลาว คนเขมร คนภาคใต้ คนแขก และคนเชื้อชาติอื่นๆ ดังนั้น รัฐบาลในยุคนั้นพยายามที่จะอธิบายว่าไม่ว่าคุณจะเป็นใครมาจากภาคไหน คุณก็คือคนไทยดังนั้นประเทศไทย

สวัสดีปีใหม่ 1 มกรา

สำหรับเรื่องการกำหนดวันเปลี่ยนปีศักราชนั้น ธำรงศักดิ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้รัชกาลที่ 5 จะทำให้วันที่ 1 เมษายนเป็นวันเปลี่ยนปีศักราช  แต่คณะราษฎรต้องการที่จะทำให้ไทยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโลกสากล ดังนั้น รัฐบาลของจอมพลป.พิบูลสงครามก็ประกาศให้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันปีใหม่หรือวันเปลี่ยนปีศักราช ซึ่งทั้งคำว่าสวัสดีและวันขึ้นปีใหม่นั้นถือว่าเป็นมรดกของคณะราษฎร  

ผัวเดียวเมียเดียว

เรื่องที่คณะราษฎรพยายามจะผลักดันให้เท่าเทียมกัน คือ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงผู้ชายและคำสรรพนามก่อนยุคปฏิวัติ 2475 ซึ่ง ธำรงศักดิ์ อธิบายว่า ในโลกของสังคมแบบยุคก่อนปฏิวัติ 2475 เป็นสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ ดังนั้นผู้ชายจึงมีเมียหลายเมียในบ้านเดียวกันได้ เช่น เจ้าขุนหรือเจ้าพระยาที่มีเมียหลายคน ถือว่าเป็นเรื่องปกติในสังคมยุคนั้น แต่การที่จะทำให้ประเทศนี้ก้าวเข้าสู่โลกสมัยใหม่จะต้องออกกฎหมายผัวเดียวเมียเดียว มีการจดทะเบียนสมรสครั้งเดียว หากจะอยากจดทะเบียนกับคนใหม่จะต้องหย่ากับคนเก่าเสียก่อน นั่นคือ สิ่งที่เป็นกฎหมายของความทันสมัย แต่กฎหมายนี้ไม่ผ่านในสมัยรัฐบาลสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สาเหตุที่ไม่ผ่านก็คือ เสนาบดีของไทยทั้งหมดเป็นบุคคลที่มีหลายเมีย ซึ่งการที่มีผัวเดียวแต่หลายเมียนำไปสู่การที่ผู้หญิงถูกกดขี่อย่างยิ่ง เนื่องจากว่าเป็นสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ ครั้นคณะราษฎรปฏิวัติ 2475 เสร็จ คณะราษฎรได้ผลักดันกฎหมายผัวเดียวเมียเดียวในทันที จากนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้หญิงเริ่มเชื่อมั่นในตัวเองว่าตนมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชาย ธำรงศักดิ์ ตั้งข้อสังเกตว่า หลังรัฐประหารปี 2490 นิยายหรือละครทีวีโทรทัศน์พยายามนำวิถีชีวิตว่าด้วยผัวเดียวแต่หลายเมียกลับเข้ามา เช่น ท่านขุน ท่านหลวง ท่านพระ หรือท่านพระยาที่จะมีหลายเมีย เพื่อกล่อมเกลาให้คนยอมรับรสนิยมหรือว่าวัฒนธรรมแบบโลกโบราณ ซึ่งตรงนี้ ตนมองว่าเป็นระบอบวัฒนธรรมศักดินาที่ต่อต้านวัฒนธรรมศิวิไลซ์ของคณะราษฎร แต่ตอนนี้เราอยู่ในวัฒนธรรมที่ผัวเดียวเมียเดียวอย่างแน่นอน ซึ่งถือว่าเป็นมรดกของคณะราษฎร

ถนนราชดำเนิน และสภาผู้แทนราษฎร

สำหรับถนนราชดำเนินนั้น ธำรงศักดิ์ อธิบายว่า ถนนราชดำเนินถูกสร้างให้เป็นถนนสายธุรกิจของกรุงเทพในสมัยยุคคณะราษฎร ดังนั้นเขาจึงสร้างอาคารหรือตึกมโหฬารขึ้นสองข้างทางของถนนนี้ โดยที่ต้นทางของถนนราชดำเนินนี้มีโรงแรมที่หรูที่สุดของกรุงเทพ และปลายทางก็จะเป็นโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย โรงภาพยนตร์ที่หรูที่สุดในยุคนั้น ถนนราชดำเนินนี้กำเนิดมาพร้อมกับไอเดียที่จะเชื่อมไปสู่ถนนภาคต่างๆ ซึ่งคณะราษฎรมาพร้อมกับโครงการที่จะสร้างถนนต่างๆ ให้เชื่อมกันทั้งประเทศ และมรดกอีกชิ้นที่เราไม่อาจลืมได้ นั่นคือคำว่า ‘สภาผู้แทนราษฎร’ ที่ยังตกมาถึงเราจนปัจจุบัน เพราะคณะราษฎรคือตัวแทนของราษฎรที่ต้องการอธิบายว่าอำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย

ไม่ใช่แค่ทำลายเพื่อให้ลืม แต่เป็นการประกาศชัยชนะ

ธนาวิ ยกตัวอย่างของการหายไปของหมุดคณะราษฎรแล้วแทนที่ด้วยหมุดหน้าใส ว่านั่นคือ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของ Iconoclasm หรือการทำลายวัตถุ สัญลักษณ์หรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ แล้วแทนที่ด้วยสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่ง แต่ทั้งนี้การทำลายความทรงจำนั้นเป็นผลพวง และอาจจะไม่ใช่จุดประสงค์หลักของ Iconoclasm สำหรับจุดประสงค์หลักของ  Iconoclasm นั้น คือ การประกาศแถลงการณ์หรือการกระทำทางการเมืองอย่างหนึ่งที่มีแรงขับมาจากความเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติทางศาสนาหรือการปฏิวัติทางการเมืองที่นำไปสู่การแทนที่อุดมการณ์ทางการเมืองอย่างหนึ่งด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างหนึ่ง ดังนั้นปรากฏการณ์ Iconoclasm ก็จะเกิดขึ้นเมื่อมีการปฏิวัติชนิดเปลี่ยนระบอบการปกครอง

ยิ่งลบ ยิ่งจำ ยิ่งปิดกั้น ยิ่งอยากรู้

ธนาวิ กล่าวถึงการทุบ สร้าง แทนที่ (Iconoclasm) ว่า รัฐไม่สามารถลบความทรงจำผ่านการรื้อหรือทำลายวัตถุได้ง่ายขนาดนั้น เนื่องจากว่าการลืมเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา การที่วัตถุอย่างหนึ่งหายไปแต่เพียงลำพังมันก็อาจจะไม่ได้ทำให้ของพวกนี้ถูกลืมไปได้เลย ถ้าสิ่งของเหล่านั้นยังมีสิ่งทดแทนในรูปแบบอื่นๆ รวมทั้งยังมีการรำลึกซึ่งเป็นปฏิบัติการต่างๆ ก็จะทำให้ข้อมูลของสิ่งต่างๆ เหล่านี้ยังคงไหลเวียนอยู่ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าการที่วัตถุดั้งเดิมไม่มีอยู่จะแปลว่าไม่สำคัญหรือไม่ต้องสนใจก็ได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน ซึ่งการกระทำเช่นนี้ของรัฐนั้นมันให้ผลตรงกันข้าม กล่าวคือ จากที่คนในสังคมจะลืมเรื่องราวของคณะราษฎรแต่กลับไปปลุกเร้าความสนใจใคร่รู้ของคนในสังคมหรือคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยรู้จักคณะราษฎรมาก่อน ซึ่งหากว่ารัฐไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับสัญลักษณ์ของราษฎร สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างก็ได้ ซึ่งการทุบ สร้าง แทนที่ (Iconoclasm) นี้ก็ทำให้เกิด Popular object ขึ้นมา คล้ายกับการทำรูป meme หรือรูปล้อเลียน ซึ่งถูกเอาไปแปรรูปรวมกับอย่างอื่นกลายเป็นวัตถุข้าวของเล็กน้อยหรือของที่ระลึกและเป็นสิ่งที่เราซื้อขายกันได้ เช่น คุกกี้หมุดคณะราษฎร นับว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่แพร่กระจาย Popular object เหล่านี้ให้เป็นที่รู้จักได้ ยิ่งยุคนี้เป็นยุคของโซเชียลมีเดีย ยิ่งทำให้กระบวนการรื้อถอนหรือลบเลือนนั้นทำได้ยากเมื่อเทียบกับยุคสมัยก่อนที่จะมีอินเทอร์เน็ต ซึ่งรัฐเผด็จสามารถลบเลือนความทรงจำได้ด้วยการเผาห้องสมุดหรือการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ  แต่ยุคโซเชียลมีเดียนั้น การบันทึกภาพทำให้ภาพที่ไหลเวียนอยู่ในอินเทอร์เน็ต แต่ทั้งนี้การมีอินเทอร์เน็ตก็มีสองด้านเช่นเดียวกัน หากเราสามารถเก็บข้อมูลหรือโพสต์อะไรต่างๆ ได้อย่างอิสระ รัฐก็จะมีมาตรการอะไรบางอย่างที่จะควบคุมพื้นที่ออนไลน์ แต่ในขณะเดียวกันก็ยากที่รัฐจะจับให้มั่นคั้นให้ตายเพราะว่ามันก็จะมีคนที่รอดออกไปได้หรือหาวิธีที่จะทำให้มันสามารถเป็นไปได้อยู่

สงครามความทรงจำยังไม่สิ้นสุด และยังต่อสู้กันต่อไป

ธำรงศักดิ์ ให้ความคิดเห็นว่า การต่อสู้ระหว่างระบอบเผด็จการกับระบอบประชาธิปไตยแบบสากล มันเพิ่งระเบิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 14 ตุลา ซึ่งก่อนหน้านั้นมันเหมือนกับว่าชัยชนะของระบอบรัฐทหารระบอบเก่ามันเบ็ดเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว แต่ปรากฏว่าการระเบิดตัวของพลังประชาชนนิสิตนักศึกษาในรอบ 40-50 ปี มันได้เปลี่ยนแปลงทิศทางในการต่อสู้ ยิ่งอยากได้ความเป็นประชาธิปไตยแบบสากลมากเท่าไรก็ยิ่งย้อนกลับไปสู่ 2475 และคณะราษฎรมากขึ้นเท่านั้น สำหรับการรื้อถอนสถานที่ที่เกี่ยวกับคณะราษฎรนั้น เราไม่เข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงของการทุบทิ้ง เช่น การทุบโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย ในครั้งนั้นทุกสถานที่จะถูกอธิบายว่าปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น แต่เราไม่เคยถูกโยงให้เห็นเลยว่า นี่คือกระบวนการทุบทำลายมรดกราษฎร จนกระทั่งนักวิชาการอย่างอาจารย์ชาตรี อาจารย์ศรัญญูที่ชี้ให้เห็นว่า เป็นการถูกทำลายอย่างมีเงื่อนงำ

ในขณะที่ ธนาวิ กล่าวว่า หากวัดการแพ้ชนะอยู่ที่ว่าวัตถุถูกทุบทิ้งหรือเปล่า แน่นอนว่าผู้แพ้คือฝ่ายประชาธิปไตย แต่เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าทั้งสองฝ่ายเป็นคู่ต่อสู้ที่ไม่ได้มีกำลังเท่ากัน เราไม่สามารถที่จะป้องกันมรดกเหล่านี้ไม่ให้ถูกทำลายได้  ดังนั้นเราจึงต้องสู้ผ่านภาพตัวแทนที่ถูกผลิตออกมาและไหลเวียนซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้มรดกคณะราษฎรไม่หายไปไหนอย่างสิ้นเชิง เราได้เห็นความพยายามของคนหลายคน เช่น พิพิธภัณฑ์สามัญชน ที่เก็บข้าวของความทรงจำต่างๆ หรือคนทั่วไปที่ถ่ายรูปแชร์รูปหรือโพสต์รูปในโซเชียลมีเดียจึงรู้สึกว่าพื้นที่ออนไลน์เป็นจุดที่ที่พอจะช่วยเก็บความทรงจำนี้ได้ หากจะสู้ ก็สู้กันตรงที่เก็บความทรงจำมากกว่าการรวมพลังกันประท้วงให้ไม่ทุบทิ้ง

มรดกคณะราษฎร ความผูกพันและทรงจำของคนท้องถิ่น

ศรัญญู กล่าวถึงมรดกคณะราษฎรกับความสนใจของคนในท้องถิ่นว่าต้องให้เครดิตกับคนในท้องถิ่นที่ยังสนใจ พื้นที่ความทรงจำ (site of memory) พวกนี้อยู่เช่นคนบุรีรัมย์ที่มีความพยายามที่จะตามหาว่าอนุสาวรีย์นั้นหายไปไหน  แต่ก็ยังมีข้อคำถามต่อไปอีกว่าคนในท้องถิ่นจะมีเสียงมากน้อยแค่ไหนในการรื้อฟื้นหรือหาความหมายของสิ่งที่เป็นมรดกของคณะราษฎร ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วความหมายบางประการก็ถูกทำให้เลือนหายหรือเปลี่ยนความหมายจากยุคคณะราษฎร แต่ทั้งนี้การทุบหรือทำลายนั้นก็ไปปลุกพื้นที่ความทรงจำนั้นขึ้นมา ภายหลังก็มีการทำสารคดีตามรอยอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยหรืออนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในต่างจังหวัดของประชาไท ซึ่งจะทำให้ความจำบางอย่างเกี่ยวกับคณะราษฎรกลับขึ้นมาอีกครั้ง ศรัญญู กล่าวต่อไปอีกว่า ไม่แน่ใจว่า ในทัศนะของผู้มีอำนาจนั้น จะเป็นการชี้เป้าให้ทำลายมากกว่าเดิมหรือไม่ ทั้งนี้ตนมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องสู้กันอีกในระยะยาว

เช่นเดียวกับ ชาตรี ที่มีความคิดเห็นว่าการหาความเชื่อมโยงระหว่าง 14 ตุลากับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจะเป็นกลยุทธ์สำหรับการปกป้องอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไม่ให้ถูกทำลายได้ง่าย ส่วนในกรณีของอนุสาวรีย์จำลองที่ต่างจังหวัดนั้น ตนคิดว่า ความทรงจำส่วนบุคคลท้องถิ่นที่เป็นเรื่องเล่าท้องถิ่นและความผูกพันเฉพาะบุคคล อาจจะช่วยได้ ยกตัวอย่างเช่น โรงพิมพ์วัดสังเวชคุรุสภาที่ตั้งอยู่ริมคลองบางลำพู ซึ่งเป็นมรดกของคณะราษฎรนั้นสามารถอยู่รอดด้วยความทรงจำ ความผูกพันหรือเรื่องราวที่สัมพันธ์กันระหว่างตึกนั้นกับชุมชนบางลำภู มิใช่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎร ซึ่งการทำให้เห็นว่าวัตถุเหล่านี้ไม่ได้มีความทรงจำชุดเดียว  แต่มีความทรงจำที่หลากหลายที่เกี่ยวพันกับคนกว้างไกลในหลายกลุ่ม ก็อาจจะเป็นพลังที่จะช่วยดึงตัววัตถุที่เป็นต้นฉบับยังคงอยู่

สำหรับ รดารัตน์ ศุภศรีและพศวัต แซ่คู้ ผู้รายงานเสวนาชิ้นนี้ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานประจำกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net