กัมพูชารับทุน รบ. จีน ฝึกทูตพม่า ลาว กัมพูชารับมือประเด็นออนไลน์

รมว.ต่างประเทศกัมพูชา เซ็นรับกองทุนความร่วมมือจากรัฐบาลจีนจำนวน 223 ล้านบาท หนึ่งในนั้นมีโครงการมูลค่า 15 ล้านบาท ให้สถาบันด้านการทูตของกัมพูชาสร้างเสริมศักยภาพด้าน "การทูตไซเบอร์" ฝึกเทคนิค กรอบคิดให้นักการทูตพม่า กัมพูชา ลาวจัดการและวิเคราะห์ประเด็นปัญหาต่างๆ บนโลกไซเบอร์

ซ้ายไปขวา: หวัง เวิ่นเทียน และปรั๊ก สุคน จับมือระหว่างพิธีลงนามข้อตกลงกองทุนพิเศษด้านความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (ที่มา:Facebook/ Ministry of Foreign Affairs and International Cooperation - Cambodia)

เมื่อ 24 มิ.ย. 2563 สถาบันแห่งชาติด้านการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (NIDIR) เผยแพร่เอกสารว่า เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (23 มิ.ย.) ปรั๊ก สุคน (Prak Sokhonn) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงกิจการและความร่วมมือต่างประเทศของกัมพูชา ได้ลงนามร่วมกับหวัง เวิ่นเทียน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำกัมพูชา ในโครงการความร่วมมือภายใต้กองทุนพิเศษด้านความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง ปี 2563 

กองทุนดังกล่าวมีมูลค่า 7,225,400 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 223.3 ล้านบาท) เพื่อการพัฒนาด้านต่างๆ อาทิ สังคม เศรษฐกิจ และทรัพยากรมนุษย์ ความมั่นคงไซเบอร์ การท่องเที่ยว การบริการ สิ่งแวดล้อม การคุ้มครองด้านวัฒนธรรม ฯลฯ 

ภายใต้กองทุนดังกล่าว สถาบันแห่งชาติด้านการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (NIDIR) ได้รับทุนพิเศษภายในชื่อโครงการ “เสริมสร้างศักยภาพด้านการทูตไซเบอร์” ในจำนวนเงิน 498,740 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 15.4 ล้านบาท) โดยมี Chhiv Yiseang เป็นผู้อำนวยการโครงการ โครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสริมศักยภาพให้กับนักการทูตในกัมพูชา ลาว พม่า ในเรื่องการทูตไซเบอร์ เพื่อให้สามารถนำเทคนิคและชุดความคิดด้านการทูตไปวิเคราะห์และจัดการประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกไซเบอร์

เอกสารยังระบุว่ารัฐบาลจีนได้สนับสนุนสถาบัน NIDIR มาตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มด้วยการบริจาคอุปกรณ์ด้านสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์เมื่อปี 2561 และ 2563

ภาพเอกสาร (ที่มา:Facebook/ National Institute of Diplomacy and International Relations - NIDIR)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการข้างต้นเกิดขึ้นหลังจากที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จีนมากขึ้นตามประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะในประเด็นผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงหลังมีผลการศึกษาของ อายส์ ออน เอิร์ธ อิงค์ (Eyes on Earth) บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้านน้ำที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานเรื่องระดับน้ำที่เปลี่ยนไปจากธรรมชาติ อันเป็นผลจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงจำนวนมาก ทำให้ทางการจีนต้องออกมาปฏิเสธ

สถานทูตจีนลงบทความ ยืนยันเขื่อนจีนไม่มีผลทำให้ลุ่มน้ำโขงตอนล่างแห้งแล้ง

สถานทูตสหรัฐฯ โพสต์บทความห่วงแม่น้ำโขงเหมือนกัน

ชวนดูความร่วมมือ ‘แม่โขง-ล้านช้าง’ กับความพยายามคุมเกมบนแม่น้ำโขงของจีน

ความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (LMC) ถูกเสนอขึ้นโดยหลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน ในเวทีประชุมผู้นำจีน-อาเซียน ที่พม่าเมื่อปี 2557 กรอบความร่วมมือ LMC ก่อตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2559 ที่เมืองซานย่า มณฑลไห่หนาน ประเทศจีน โดยมีนายกฯ ไทยและจีนเป็นประธานร่วม มีประเทศลุ่มน้ำโขงอีก 4 ประเทศเป็นสมาชิก มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และระหว่างอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกับภูมิภาคอื่น ๆ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับประชาคมอาเซียนในภาพรวม

ปัจจุบัน กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม ไทย และจีน

ก่อนหน้าที่จะเกิดกรอบความร่วมมือ LMC ขึ้น ประเทศลุ่มน้ำโขงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีข้อตกลงความร่วมมืออีกชุดหนึ่งที่ชื่อว่า คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission -  MRC) ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศของไทยรายงานว่า ความร่วมมือดังกล่าวจัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2500 โดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจสำหรับเอเชียและตะวันออกไกล โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจจากผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 2 และปัญหาน้ำท่วมของประเทศลุ่มน้ำในภูมิภาค แต่ประเทศสมาชิกมีเพียง 4 ประเทศได้แก่ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม ส่วนจีนและพม่านั้นมีปัญหาการเมืองภายในและไม่ได้เข้าร่วม

รศ. ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Institute of Security and International Studies - ISIS) เคยให้ความเห็นว่า การจัดตั้งความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (Lancang – Mekong Cooperation) สะท้อนว่าจีนไม่เล่นตามกติกาที่จีนไม่ใช่คนตั้ง ประเทศขนาดเล็กที่อยู่ตามลุ่มน้ำโขงก็ต้องยอมจีน ถ้าหากประเทศในอาเซียนทั้งบนบกและผืนน้ำไม่ผนึกกำลังกันใช้อำนาจต่อรองในการร่วมมือทางการทูตกับกับจีนโดยเอาประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย มาคานอำนาจกับจีน กลุ่มประเทศเหล่านี้จะเสียเปรียบจีนมากขึ้นเรื่อยๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท