เครือข่ายเกษตรกร เบรกรัฐบาลร่วม CPTPP ค้าน UPOV 1991 หวั่นกระทบพันธุกรรม-พัฒนาการเกษตร

เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ซึ่งเป็นเครือข่ายของเกษตรกร องค์กรชุมชน และนักวิชาการจาก 4 ภาค มีสมาชิกกว่า 3,000 คนทั่วประเทศได้ร่วมกันจัดงานมหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน 2563 ตลอดเดือนมิถุนายน โดยเป็นการสัมมนาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ พัฒนา และปรับปรุงพันธุกรรมข้าว ผัก ไม้ผล และสัตว์ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนด้วยองค์กรของเกษตรกรในเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกทั้ง 4 ภาค 

25 มิ.ย.2563 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันนี้ (25 มิถุนายน 2563) ในพิธีปิดงานมหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน สุเมธ ปานจำลอง ตัวแทนเครือข่ายฯ ได้อ่านคำประกาศพันธุกรรมพื้นบ้านในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่แสดงถึงจุดยืนของเครือข่ายเกษตรกรในการคัดค้านการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ภายใต้ UPOV 1991   

โดยระบุว่า 

“เราขอประณามความพยายามของรัฐบาลและบรรษัทที่เร่งผลักดัน CPTPP อันเป็นการบังคับให้ต้องเข้าร่วมอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยต้องแก้ไขกฎหมาย ขยายสิทธิผูกขาดให้แก่บรรษัทเมล็ดพันธุ์ ห้ามเกษตรกรเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ ขยายสิทธิผูกขาดจากส่วนขยายพันธุ์ รวมถึงผลผลิตและผลิตภัณฑ์ ขยายระยะเวลาการผูกขาด รวมทั้งลดทอนกลไกการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหารของประเทศอย่างร้ายแรง

พวกเราประกาศยืนยันด้วยเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะปกป้องรักษา แลกเปลี่ยนแบ่งปัน และร่วมกันพัฒนาปรับปรุงให้พันธุกรรมอันเป็นฐานทรัพยากรชีวภาพที่สำคัญต่อระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและอธิปไตยทางอาหารเป็นของเกษตรกรและมวลมนุษยชาติสืบไป"

 

สำหรับรายละเอียดคำประกาศ มีดังนี้

 

คำประกาศพันธุกรรมพื้นบ้านในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ปี 2563
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกประเทศไทย  

ในนามเครือข่ายชาวนา เกษตรกร ชุมชน ท้องถิ่นและเพื่อนมิตรเกษตรกรรมทางเลือกทั้งหลาย เรามีเจตจำนงแน่วแน่ที่จะร่วมกันผนึกกำลังแสดงความเข้มแข็งเพื่อรักษาไว้ซึ่ง วิถีเกษตรกรรมของชาวนาเกษตรกรรายย่อย เมล็ดปกป้องพันธุกรรมพื้นบ้านให้หลุดพ้นจากการผูกขาดและครอบงำในทุกรูปแบบ เพราะเราเข้าใจเป็นอย่างดีว่าการแลกเปลี่ยนเมล็ดแบ่งปันพันธุกรรม์โดยเสรีระหว่างเกษตรกรและการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์เพื่อการเพาะปลูกนั้น คือพื้นฐานแห่งความงอกงามของระบบเกษตรกรรมยั่งยืน และเป็นการรักษาความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพอันเป็นหลักประกันสำหรับสำคัญยิ่งของอธิปไตยทางด้านอาหารของประชาชนและความอยู่รอดของผู้คนบนโลกใบนี้  
 
สิทธิของเกษตรกร ชาวนาชาวไร่ และชุมชนท้องถิ่นทีมีต่อแผ่นดิน สายน้ำ ป่าไม้ ภูเขา และเมล็ดพันธุ์ ย่อมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มิอาจล่วงละเมิดได้ พันธุกรรมพืชและสัตว์ท้องถิ่นเป็นรากฐานสำคัญของระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่เป็นอิสระและเป็นอธิปไตยทางด้านอาหารของประชากรทุกคนบนโลกใบนี้ พวกเราเข้าใจเป็นอย่างดีว่าการส่งเสริมให้ใช้พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์สายพันธุ์ปรับปรุงใหม่และการดัดแปลงพันธุกรรม คือการปล้นชิงใช้ประโยชน์เป็นการแสวงหากำไรสูงสุดโดยบรรษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติด้านการเกษตร มันส่งผลให้เกิดการทำลายฐานทรัพยากรเมล็ดพันธุ์พันธุกรรมและอาหาร ซึ่งเป็นความสูญเสียอย่างร้ายแรงที่มิอาจประเมินค่า    
 
พวกเราทั้งหลายที่มารวมกันบนโลกออนไลน์ในวันนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของพวกเราผ่านการทำงานในไร่นา ผ่านงานวิชาการชาวบ้าน บนความพร้อมเพียงสามัคคี โดยตระหนักในศักดิ์ศรีของชาวนาชาวไร่ หลักสิทธิมนุษยชนและสมานฉันท์ภาคประชาชนทั่วโลกเพื่อต่อต้านการผูกขาดระบบเกษตรกรรมและอาหาร และเพื่อสร้างชีวิตที่ดีของประชาชนทั้งมวล โดยไม่ขอยอมรับบทบัญญัติ ข้อตกลงระหว่างประเทศและกฎหมายใดๆ ที่มุ่งครอบครองทรัพยากรพันธุกรรมอันเป็นมรดกของชุมชนท้องถิ่นชาวนาชาวไร่ ที่เป็นเจ้าของและใช้ประโยชน์สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ     
 
เราขอประณามความพยามของรัฐบาลและบรรษัทข้ามชาติที่เร่งผลักดัน CPTPP หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก อันเป็นการบังคับให้ต้องเข้าร่วมอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยต้องแก้ไขกฎหมาย ขยายสิทธิผูกขาดให้แก่บรรษัทเมล็ดพันธุ์ ห้ามเกษตรกรเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ ขยายสิทธิผูกขาดจากส่วนขยายพันธุ์ รวมถึงผลผลิตและผลิตภัณฑ์ ขยายระยะเวลาการผูกขาด รวมทั้งลดทอนกลไกการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหารของประเทศอย่างร้ายแรง เป็นการเอื้ออำนวยประโยชน์แก่บรรษัทใหญ่ให้มีอิทธิพลเหนือตลาด ผูกขาดมากยิ่งขึ้นไปอีก รวมทั้งประเด็นที่สำคัญและอ่อนไหวอีกหลากหลายประเด็นภายใต้ข้อตกลง CPTPP ทั้งการยกเลิกมาตรการปกป้องสินค้าเกษตร, การห้ามกำหนดข้อห้ามเกี่ยวกับฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งระบอบทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นจะอุปสรรคและภัยคุกคามประชาชนในการเข้าถึงยาเพื่อรักษาชีวิต ในภาวะโลกหลังวิกฤต COVID-19 สังคมไทยยิ่งต้องตระหนักและพยายามเลือกใช้มาตรการต่างๆ เพื่อให้สามารถจัดหายาและเวชภัณฑ์ให้กับประชาชนได้อย่างทันท่วงที จึงข้อเรียกร้องให้ภาคประชาชนไม่ยอมรับระบอบทรัพย์สินทางปัญญาที่มุ่งกอบโกยและเอาเปรียบ  
พวกเราและขอประกาศไม่ยอมรับให้ประเทศไทยเข้าร่วมในความตกลง CPTPP ที่จะก่อให้ผลกระทบเลวร้ายต่อประชาชน และยืนยันด้วยเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะปกป้องรักษา แลกเปลี่ยนแบ่งปัน และร่วมกันพัฒนาปรับปรุงให้พันธุกรรมอันเป็นฐานทรัพยากรชีวภาพที่สำคัญต่อระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและอธิปไตยทางอาหารเป็นของเกษตรกรและมวลมนุษยชาติสืบไป  
 
ประกาศไว้ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2563
มหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน 4 ภาค  
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท