ภารกิจตามหาอนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช

หลังอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช หายไปจากที่ตั้งบริเวณวงเวียนหลักสี่ ย่านบางเขน กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ 28 ธ.ค. 2561 ก่อนตัวฐานจะถูกรื้อตามมาในวันที่ 22 ก.พ. 2563 จนปัจจุบันก็ยังไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด ประชาไทจึงใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ติดตามหาคำตอบจากผู้น่าจะมีอำนาจหน้าที่ดูแลอนุสาวรีย์นี้

รายงานข่าวก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2561 มีกระบวนการย้ายอนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดชช่วงกลางดึก ท่ามกลางการควบคุมสถานการณ์โดยตำรวจและทหาร รวมถึงมีการกักตัวประชาชนและผู้สื่อข่าวบางสำนักที่พยายามเข้าไปบันทึกเหตุการณ์ด้วย

เมื่อวีรนันต์ กัณหา ผู้สื่อข่าววอยซ์ โทรไปสอบถามศักดิ์ชัย บุญมา ผอ.สำนักการโยธา กทม. ก็ได้รับคำตอบว่าไม่ทราบเรื่องการเคลื่อนย้าย

แล้วใครพอจะให้คำตอบเรื่องนี้ได้?

ประชาไทใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 สอบถามไปยังกรมศิลปากร หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ดูแลโบราณสถาน เนื่องจากอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดชเป็นโบราณสถาน ตามประกาศกรมศิลปากร เรื่อง รายชื่อโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 30 ก.ย. 2558 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2561

ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มาตรา 10 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน ต่อเติม ทำลาย เคลื่อนย้ายโบราณสถานหรือส่วนต่าง ๆ ของโบราณสถาน หรือขุดค้นสิ่งใด ๆ หรือปลูกสร้างอาคารภายในบริเวณโบราณสถาน เว้นแต่จะกระทำตามคำสั่งของอธิบดีหรือได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี และถ้าหนังสืออนุญาตนั้นกำหนดเงื่อนไขไว้ประการใดก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นด้วย

ขณะที่ มาตรา 10 ทวิ ระบุว่า พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในโบราณสถาน เพื่อตรวจดูว่าได้มีการซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน ต่อเติม ทำลาย เคลื่อนย้ายโบราณสถานหรือส่วนต่าง ๆ ของโบราณสถาน หรือมีการขุดค้นสิ่งใด ๆ หรือปลูกสร้างอาคารภายในบริเวณโบราณสถานหรือไม่ โดยการตรวจในเขตกรุงเทพมหานครให้รายงานต่ออธิบดีกรมศิลปากร

นั่นหมายความว่า การซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน ต่อเติม ทำลาย หรือเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช จะต้องมีคำสั่งหรือได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากรเสียก่อน ในฐานะที่ได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานแล้ว

หากอธิบดีกรมศิลปากรไม่ได้มีคำสั่งให้ซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน ต่อเติม ทำลาย หรือเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช ก็จะต้องมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจดูและทำรายงานต่ออธิบดีกรมศิลปากร

นอกจากนี้ พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มาตรา 32 มีบทกำหนดโทษไว้อีกว่า ผู้ใดบุกรุกโบราณสถาน หรือทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 700,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าเป็นการกระทำความผิดต่อโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หลังประชาไทยื่นขอข้อมูลไปเมื่อ 16 มิ.ย. 2563 กรมศิลปากรแจ้งความคืบหน้าเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2563 ว่าได้ส่งหนังสือขอข้อมูลของเราไปยังกองโบราณคดีเพื่อหาคำตอบในเรื่องนี้แล้ว

คงต้องจับตาดูว่า กรมศิลปากรจะใช้เวลาเท่าใดในการหาคำตอบ และคำตอบนั้นจะเป็นเช่นไร เราจะนำมารายงานต่อสาธารณะอย่างแน่นอน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท