Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในหนังสือ “รัฐกับพระพุทธศาสนาถึงเวลาชำระล้างหรือยัง?” สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระธรรมปิฎก” ให้ภาพรวมเปรียบเทียบการอุปถัมภ์พุทธศาสนาในยุคราชาธิปไตย-สมบูรณาญาสิทธิราชย์กับยุคประชาธิปไตยไว้ในหน้า 38-39 ว่า

ระยะแรก ตั้งแต่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์มาถึงครบศตวรรษที่ 1 คือ ถึงในราวรัชกาลที่ 5 ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาแน่นแฟ้นมาก เป็นไปตามแบบแผนประเพณี และบางทีก็แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รัฐกับพระพุทธศาสนาเรียกได้ว่า มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากทีเดียว วัดยังเป็นศูนย์กลางของสังคม เป็นแหล่งการศึกษาและวัฒนธรรม รัฐก็ช่วยอุปถัมภ์ในด้านวัตถุปัจจัย 4 การก่อสร้างปูชนียสถานวัดวาอารามเป็นไปอย่างมากมาย และเน้นมากเป็นพิเศษในบางยุคสมัย

นอกจากนั้น ทางรัฐก็ได้ช่วยคุ้มครองให้คณะสงฆ์มีความบริสุทธิ์หมดจด เช่น การที่ได้ออกกฎหมาย กฎพระสงฆ์ เริ่มตั้งแต่รัชกาลที่ 1 รัฐได้ช่วยอุปถัมภ์บำรุงกิจการพระศาสนาโดยเฉพาะการศึกษามาก เช่นว่าองค์พระประมุข ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลต่างๆ ทรงเอาพระทัยใส่ในการศึกษาทางพระพุทธศาสนา โดยพระองค์ก็ได้ศึกษาเอง หลายพระองค์ทรงเป็นปราชญ์ในทางพระพุทธศาสนา และอุปถัมภ์การศึกษาทางพระพุทธศาสนา เช่น การสอบเป็นต้น โดยถือเป็นพระราชภารกิจ และโปรดเสด็จไปในการสอบด้วยพระองค์เอง เช่น รัชกาลที่ 5 ซึ่งมีเรื่องปรากฏอยู่ในบันทึกต่างๆ ว่าเสด็จไปฟังการสอบความรู้พระสงฆ์และอุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์ที่สอบได้ โดยที่ปัจจุบันก็มีร่องรอยของประเพณีต่างๆ เหลือไว้ให้เห็น เช่น การพระราชทานพัดเปรียญเป็นต้น ในรัชกาลที่ 1 ก็มีการสังคายนาด้วย และแม้ในตอนที่รับความเจริญจากตะวันตกใหม่ๆ องค์พระประมุขก็พยายามให้พระพุทธศาสนามีส่วนสำคัญในการดำเนินการศึกษา หรือปรับปรุงการศึกษาของบ้านเมือง

ระยะที่ 2 เมื่อสิ้นศตวรรษที่ 1 ขึ้นสู่ศตวรรษที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้มีการรับอารยธรรมตะวันตกเข้ามาเต็มที่แล้ว โดยเฉพาะในยุคประชาธิปไตยนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันศาสนากับรัฐเป็นในด้านรูปแบบ โดยเฉพาะพิธีกรรมเป็นส่วนมาก ในด้านตัวท่านผู้ปกครองเองก็ได้รับการศึกษาสมัยใหม่จากตะวันตก ไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพุทธศาสนา แต่มีความรักและอยากอุปถัมภ์บำรุงพุทธศาสนาอยู่ จึงเป็นไปในทำนองที่ว่า มักจะจับจุดในการอุปถัมภ์ไม่ถูก หรือสัมพันธ์ไม่ถูกจุดอะไรดังนี้ เป็นต้น ถึงกับได้เกิดความรู้สึกในทำนองที่ว่าเรื่องของรัฐกับเรื่องของศาสนาแยกกัน ไม่ก้าวก่ายกัน เช่นว่า การศึกษาทางฝ่ายสงฆ์กับของรัฐ ควรเป็นเรื่องต่างคนต่างทำ ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวก้าวก่ายดังนี้เป็นต้น

ข้อเปรียบเทียบข้างบนนี้ในทางตรรกวิทยาถือว่าเป็น “เหตุผลวิบัติ” (fallacy) แบบหนึ่ง เพราะอ้างสิ่งที่แตกต่างกันคนละประเภท เพื่อสรุปแบบเดียวกัน นั่นคือ การนำรัฐราชาธิปไตย-สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเป็น “รัฐพุทธศาสนา” (Buddhist state) ที่กษัตริย์พุทธมามกะอาศัยความชอบธรรมทางปรัชญาการเมืองแบบพุทธเป็นรากฐานของสถานะและอำนาจในการปกครอง กับรัฐประชาธิปไตยที่ไม่ใช่รัฐศาสนาใดๆ และความชอบธรรมของรัฐบาลก็มาจาก “ความยินยอม” (consent) ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ดังนั้น บทบาททางศาสนาของรัฐสองประเภทจึงแตกต่างกันโดยพื้นฐาน จึงนำมาเปรียบเทียบเพื่อสรุปอย่างสมเหตุสมผลไม่ได้ว่า รัฐราชาธิปไตย-สมบูรณายาสิทธิราชย์กับรัฐประชาธิปไตยแบบไหนอุปถัมภ์พุทธศาสนาได้ดีกว่ากัน

อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบแบบท่าน ป.อ. ปยุตฺโตก็เป็นที่ยอมรับกัน โดยปราศจากการตั้งคำถาม เพราะ “ทึกทักเอา” ตามๆ กันมาว่า เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ก็เท่ากับเป็นการ “ถ่ายโอน” การอุปถัมภ์พุทธศาสนามาสู่รัฐบาลประชาธิปไตย ความคิดเช่นนี้คล้ายๆ กับความคิดที่ว่า การเปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตยเกิดจากกษัตริย์สละ “พระราชอำนาจ” ลงมาให้ประชาชน ดังที่ฝ่ายกษัตริย์นิยมโฆษณาชวนเชื่อมายาวนาน

แต่ที่จริงแล้วอำนาจในระบบกษัตริย์คือ “อำนาจเผด็จการจารีต” (despotism of custom) จึงไม่ใช่อำนาจที่จะมอบให้ประชาชนได้ เพราะอำนาจของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ที่เรียกว่า “อำนาจอธิปไตย” (sovereignty) นั้น เป็นอำนาจแบบใหม่ที่สถานปนาขึ้นบนหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคจากระบอบประชาธิปไตย หลังจากที่คณะราษฎรทำการปฏิวัติยกเลิกระบบอำนาจเผด็จการจารีตไปแล้วในวันที่ 24 มิถุนายน 2475

เช่นเดียวกัน การอุปถัมภ์พุทธศาสนาแบบรัฐราชาธิปไตย-สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ย่อมไม่อาจถ่ายโอนหรือส่งมอบมาสู่รัฐประชาธิปไตยได้ คือจะให้รัฐประชาธิปไตย หรือรัฐบาลประชาธิปไตยต้องปฏิบัติในเรื่องอุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนาแบบกษัตริย์ยุคก่อนประชาธิปไตยย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะหลักการและอุดมการณ์ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยคือบรรทัดฐานในการกำหนดว่า รัฐจะเกี่ยวข้องกับศาสนาในขอบเขตแค่ไหนอย่างไร ไม่ใช่เอาบรรทัดฐานของรัฐยุคก่อนประชาธิปไตยมาเป็นตัวกำหนด

โดยทั่วไปแล้วรัฐประชาธิปไตยจะ “แยกรัฐกับศาสนา” ชัดเจน แต่บ้านเราขาดความชัดเจนในเรื่องนี้ตั้งแต่แรก หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยังไม่ได้แยกรัฐกับศาสนาตามหลักการโลกวิสัย แต่ได้พยายามจะปรับโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองตามข้อเรียกร้องของพระสงฆ์หัวก้าวหน้าในยุคนั้น ที่เรียกตนเองว่า “กลุ่มปฏิสังขรณ์การพระศาสนา” จึงยกเลิก “ระบบมหาเถรสมาคม” ที่ตั้งขึ้นในยุคเก่า มาใช้ “ระบบสังฆสภา” แทน ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 และพยายามรวมคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายกับมหานิกายเข้าด้วยกัน ทว่าล้มเหลว

แต่การเคลื่อนไหวของพระหนุ่มกลุ่มปฏิสังขรณ์ฯ, การพยายามรวมสองนิกาย และการยกเลิกระบบมหาเถรสมาคมและสร้างระบบสังฆสภาขึ้นมาแทน นัยสำคัญหนึ่ง ก็คือการพยายามดึงคณะสงฆ์ห่างออกมาจาก “พระราชอำนาจ” แปลว่า ในทางการเมืองวัฒนธรรม คณะสงฆ์มีแนวโน้มจะเป็นกลไกสนับสนุนอำนาจชอบธรรมของกษัตริย์น้อยลง แต่อาจจะพัฒนาไปในทางสอดคล้องกับประชาธิปไตยมากขึ้น

ยิ่งปรากฏการณ์ของคณะปฏิสังขรณ์ฯ ที่อ้าง “หลักประชาธิปไตย” วิจารณ์ความไม่เป็นธรรมระหว่างสองนิกายและความเป็นเผด็จการภายใต้ระบบปกครองสงฆ์ที่กษัตริย์ตั้งขึ้น ประกอบกับปรีดี พนมยงค์ได้เข้ามาผูกมิตรกับพระหนุ่มที่มีความคิดก้าวหน้าในยุคนั้น เช่น พุทธทาสภิกขุ, ปัญญานันทภิกขุ, พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) เป็นต้น โดยปรีดีปรึกษาหารือแนวทางการเผยแพร่พุทธศาสนาให้เป็นไปในทางสนับสนุนประชาธิปไตย โดยเฉพาะพุทธทาสในยุคนั้นได้ถูกนิมนต์มาบรรรยายธรรมสนับสนุนประชาธิปไตยที่พุทธสมาคม กรุงเทพฯ โดยมีปรีดี และปัญญาชนชั้นนำไปร่วมฟัง มีการนำเสนอคำเทศนาสนับสนุนประชาธิปไตยผ่านสื่อมวลชน เป็นต้น

เฉพาะพระพิมลธรรมนั้น เป็นพระหนุ่มที่ก้าวหน้าเร็วทางสายการปกครองในระบบสังฆสภา เป็นผู้ที่คุ้นเคยกับปรีดีและแสดงความเห็นในทางสนับสนุนปรีดีทำนองว่าที่ปรีดี “พลิกแผ่นดินใหม่” ให้พวกเรานี้ “ก็คือการเอาในหลวงมาอยู่ใต้กฎหมาย ก็เป็นแผ่นดินใหม่ เป็นเจ้าแผ่นดินใหม่ แผ่นดินของประชาชน ไม่ใช่ของพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียว ทำให้คนไทยนี้เป็นเจ้าของแผ่นดินไทยร้อยเปอร์เซ็นต์” (ดู https://pridi.or.th/th/content/2020/06/290)

ปรากฎการณ์ดังกล่าว ย่อมไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายกษัติย์นิยม เมื่อเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำรัฐประหารนอกจากเขาจะเห็นว่า ประชาธิปไตยแบบตะวันตกที่คณะราษฎรนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2475 นั้น สร้างปัญหาขัดแย้งในหมู่นักการเมืองและพรรคการเมือง สู้ “ประชาธิปไตยแบบไทย” ไม่ได้

ประชาธิปไตยแบบไทยคือ ประชาธิปไตยที่ผู้ปกครองไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้ แต่ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ เพื่อความสามัคคีของคนในชาติ ประชาธิปไตยแบบนี้ประเทศไทยเรามีมาแต่สมัยสุโขทัย เรียกว่า “ระบบพ่อปกครองลูก” หรือระบบพ่อขุนอุปถัมภ์ ที่เข้ากันได้ดีกับพื้นฐานวัฒนธรรมไทยและลักษณะนิสัยของคนไทย

ชื่อทางการของประชาธิปไตยแบบไทยคือ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ส่วนหนึ่งอ้างอิงแนวคิดพุทธศาสนาจาการตีความของรัชกาลที่ 4 คือ “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ” ที่ถือว่ากษัตริย์ถูกเลือกโดยชุมชนทางการเมืองที่มาประชุมตกลงกัน ถือว่า ผู้ใต้ปกครองมีสถานะเป็นสามัญชนเสมอภาคกันตามระบอบประชาธิปไตย ส่วนกษัตริย์มีสถานะสูงสุดเหนือสามัญชนทั่วไป ยุคเผด็จการสฤษดิ์ก็เชิดชูสถาบันกษัตริย์ให้มีความสำคัญมากขึ้นในความหมายนี้ จึงมีการรื้อฟื้น “ประเพณีหมอบคลาน” เข้าเฝ้าเพื่อเน้นความสูงส่งเหนือสามัญชนของกษัตริย์ และเน้นบทบาทอื่นๆ ที่ทำให้สถาบันกษัตริย์สูงเด่นมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อสฤษดิ์เห็นว่าประชาธิปไตยแบบที่คณะราษฎรนำมาจากตะวันตกสร้างความแตกแยก ระบบสังฆสภาก็สร้างความแตกแยกด้วย เพราะพระสงฆ์อภิปรายถกเถียงกันไม่ต่างจากระบบสภาทางโลก ดังนั้น จึงต้องยกเลิกระบบสังฆสภา และนำระบบมหาเถรสมาคมกลับมาใช้แทน นี่คือการดึงระบบสงฆ์จากการถูกคณะราษฎรปรับเปลี่ยนไปในทางสนับสนุนประชาธิปไตยให้กลับมาอยู่ใต้อำนาจของกษัตริย์มากขึ้น และมากขึ้นเรื่อยๆ จนทุกวันนี้

ในยุคล้มล้างระบบสังฆสภาเปลี่ยนมาใช้ระบบมหาเถรสมาคมโดยอำนาจเผด็จการทหารนี่เอง พระพิมลธรรมที่เป็นฝ่ายปรีดี ถูกล่าวหาว่า “มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์” และถูกบังคับถอดจีวรจำคุกโดยไม่มีความผิดเป็นเวลา 5 ปี

จากนั้นมาพุทธศาสนาก็ถูกกำหนดให้อยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจที่ไม่อาจสนับสนุนประชาธิปไตยได้อีก เพราะคำสั่งมหาเถรสมาคมห้ามพระสงฆ์ และวัดต่างๆ ทำกิจกรรมทางการเมืองในทางสนับสนุนประชาธิปไตย ไม่ว่าการจัดอภิปราย เสวนา ชุมนุม “ในทางเรียกร้องสิทธิแก่บุคคลหรือในทางการเมือง” ทำไม่ได้ทั้งนั้น แต่การจัดกิจกรรมทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นการเทศนา และทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นการสรรเสริญกษัตริย์ หรือ “ถวายเป็นพระราชกุศล” ถือเป็นความดีงาม หรือเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ต้องทำ

จะว่าไปแล้ว กลไกต่างๆ ของรัฐ เช่น กองทัพ ศาล ระบบราชการโดยรวม ระบบการศึกษา กระทั่งสถาบันศาสนาที่คณะราษฎรพยายามปรับเปลี่ยนให้เป็นกลไกของระบอบประชาธิปไตย ถูกฝ่ายอำนาจเก่าดึงกลับคืนไปเป็นกลไกของระบอบประชาธิปไตยแบบไทยอันมีกษัตริย์เป็นประมุขแทบทั้งหมด

ประวัติศาสตร์ของบ้านเราแปลกๆ ไม่เหมือนประเทศอื่นๆ ในยุคคณะราษฎรปฏิวัติ ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีการศึกษามาก ยังไม่ตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตยมากเท่าทุกวันนี้ แต่ก็ทำการปฏิวัติได้สำเร็จ (ในขั้นแรก) โดยคณะราษฎรประมาณ 100 คน และเป็นการปฏิวัติที่ไม่นองเลือด

แต่ในยุคสมัยของเรา ประชาชนมีการศึกษามาก รู้เรื่องประชาธิปไตยมากแล้ว แม้แต่คนชนชบทก็ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ แต่ระบบอำนาจของฝ่ายกษัตริย์นิยมกลับเหมือนเข้มแข็งยิ่งกว่า และท้าทายสายตา ท้าทายมโนธรรมของประชาชนอย่างโจ่งแจ้งยิ่งกว่ายุค 2475 เสียอีก และเส้นทางการต่อสู้อย่างสันติของฝ่ายประชาธิปไตย ก็นับวันจะถูกฝ่ายเผด็จการทำให้แคบลงๆ

 

หมายเหตุ: สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)
และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ขณะเยี่ยมนายปรีดี พนมยงค์

(ที่มา https://pridi.or.th/th/content/2020/06/290)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net