ผสานวัฒนธรรมชี้ มีคนถูกซ้อมทรมานมากกว่า 9 คดี และเสี่ยงจะเกิดมากขึ้นช่วง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเผยแพร่รายงานเนื่องในวันสนับสนุนผู้เสียหายจากการทรมานสากล ระบุว่า ระหว่างปี 2562-2563 มีการซ้อมทรมานที่เกิดขึ้นจริงมีมากกว่าที่ถูกรายงานผ่านสื่อ 9 คดี โดยเกิดขึ้นในค่ายทหาร โดยตำรวจ และในโรงเรียนกวดวิชาเข้าโรงเรียมเตรียมทหาร และมีความเสี่ยงจะเกิดการซ้อมทรมานหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้นในระหว่างการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

รายงานเนื่องในวันสนับสนุนผู้เสียหายจากการทรมานสากล โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

ระหว่างปี 2562-2563 มีการรายงานการซ้อมทรมานผ่านสื่อหลักทั้งหมด 9 คดี ซึ่งเป็นการซ้อมทรมานโดยทหารหรือเกิดขึ้นในค่ายทหาร 5 กรณี เป็นการกระทำโดยตำรวจ 3 กรณี และอีกหนึ่งกรณีเกิดขึ้นในโรงเรียนกวดวิชาเข้าโรงเรียมเตรียมทหาร หากแต่เหตุซ้อมทรมานที่เกิดขึ้นจริงมีมากกว่าที่ปรากฏในสื่อหลัก โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา ซึ่งในปี 2562 มีการร้องเรียนการถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งผู้ถูกควบคุมตัวเสี่ยงที่จะถูกทรมานมากกว่า 142 กรณี โดยร้องเรียนไปยังเครือข่ายภาคประชาสังคม และในปี 2563 มีข้อร้องเรียนในลักษณะดังกล่าวจำนวน 22 กรณี ในบรรดาข้อร้องเรียนเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นการซ้อมทรมานโดยไม่ทิ้งร่องรอย (clean torture) รวมไปถึงการขู่ทำร้ายญาติและครอบครัวของผู้ถูกควบคุมตัวหรือถูกทรมานเหล่านั้นด้วย

รูปแบบการซ้อมทรมานและการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างปี 2562-2563 สามารถจำแนกได้เป็น 8 ประเภท คือ 1. การบังคับให้ยืนเปลือยในห้องแอร์เป็นเวลานาน 2. การขู่ทำร้ายญาติและครอบครัวของเหยื่อ 3. การทำร้ายและการทรมานที่ทิ้งร่องรอยบาดแผล 4. การทรมานในลักษณะ waterboarding 5. การห้ามปฏิบัติศาสนกิจ 6. การย่ำยีเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 7. การซ้อมทรมานที่สร้างความเสียหายให้กับอวัยวะภายในโดยไม่ทิ้งร่อยรอยภายนอก และ 8. การตบกกหู  ทั้งนี้ ข้อมูลในปี 2563 บ่งชี้ว่าผู้ถูกควบคุมตัวส่วนใหญ่มักเป็นผู้ที่เคยตกเป็นจำเลย หรือมักถูกกล่าวหาภายใต้อำนาจกฎหมายพิเศษทั้งสองฉบับดังกล่าว

หนึ่งในคดีอื้อฉาวที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้คือ กรณีของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ซึ่งถูกสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อความไม่สงบ และถูกจับมาควบคุมตัวที่ศูนย์ซักถาม ในค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี โดยในการจับและควบคุมตัวไม่มีหมายเรียกหรือหมายศาลใด ๆ ต่อมาในวันรุ่งขึ้นนายอับดุลเลาะมีอาการหมดสติ สมองบวมเนื่องจากขาดออกซิเจน โดยเจ้าหน้าที่ไม่สามารถให้คำอธิบายถึงสาเหตุของอาการดังกล่าว วิธีการสอบสวนที่หน่วยซักถามได้ใช้ รวมทั้งการรักษาเบื้องต้นในค่ายทหารดังกล่าว ก่อนจะนำตัวเขาส่งโรงพยาบาลได้ นายอับดุลเลาะหมดสติไม่รู้สึกตัวและเสียชีวิตในเวลาหนึ่งเดือนต่อมา ทั้ง ๆ ที่ภรรยานายอับดุลเลาะและญาติพี่น้องยืนยันว่าก่อนถูกจับเขามีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว  ภรรยาของนายอับดุลเลาะจึงเชื่อว่าการเสียชีวิตเกิดจากการถูกซ้อมทรมาน และเรียกร้องให้สอบสวนเรื่องที่เกิดขึ้น จึงนำไปสู่การไต่สวนสาเหตุและพฤติกรรมของการเสียชีวิตโดยศาล โดยในวันที่ 29 มิถุนายนที่จะถึงนี้ ศาลได้นัดทนายความของภรรยาและอัยการตรวจพยานหลักฐานที่ศาลจังหวัดสงขลา เพื่อเข้าสู่กระบวนการไต่สวนคดีต่อไป 

อีกกรณีหนึ่งคือกรณีการซ้อมทรมานของสองพี่น้องคือ นายณัฐพงษ์และนายยุทธนา ซ้ายซา ผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่ถูกทหารหน่วยปราบปรามยาเสพจับกุมตัวไปที่ค่ายทหารแห่งหนึ่งในจังหวัดนครพนม โดยไม่มีหมายศาล ทั้งสองถูกซ้อมทรมานให้รับสารภาพว่าค้ายาเสพติด จนทำให้นายณัฐพงษ์ได้รับบาดเจ็บ กระดูกหัก ส่วนนายยุทธนาเสียชีวิตจากการถูกกระทบกระเทือนที่สมองและอกอย่างหนัก ในเวลาต่อมา ทหาร 7 นายรับสารภาพว่าตนได้ซ้อมทรมานนายณัฐพงษ์กับนายยุทธนาจริง และได้จ่ายเงินเยียวยาให้แก่ครอบครัวของเหยื่อ องค์กรสิทธิมนุษยชนจึงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งสืบสวนสอบสวนคดีดังกล่าวและให้ดำเนินคดีต่อทหารที่กระทำผิดทั้งทางวินัยและทางอาญา นอกจากนี้ยังขอให้รัฐกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นอีก

ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยแทบไม่มีมาตรการการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี แม้ว่าจะได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ตั้งแต่ปี 2550 รวมถึงลงนามและรอให้สัตยาบันในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) ตั้งแต่ปี 2555  แต่กระทั่งปัจจุบันประเทศไทยก็ยังไม่ออกกฎหมายอนุวัติการที่กำหนดให้การซ้อมทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญา ร่าง พ.ร.บ.ฯ ของกรมคุ้มครองสิทธิฯ กระทรวงยุติธรรมได้ถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. โดยรัฐบาล คสช. เมื่อปี 2561 แต่กระบวนการพิจารณากลับล่าช้าเพราะถูกคัดค้านโดยหน่วยงานด้านความมั่นคงบางส่วน จนกระทั่ง สนช. ถูกยุบก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562  ร่าง พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าวจึงตกไป  นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลถึงการขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการร่างกฎหมายดังกล่าวด้วย ทำให้บทบัญญัติบางข้อในอนุสัญญาทั้งสองฉบับ ไม่ถูกบรรจุไว้ในร่างกฎหมายดังกล่าว ดังนั้นในช่วงปี 2562-2563 องค์กรสิทธิมนุษยชนจึงได้ร่วมกันร่างกฎหมายฉบับภาคประชาสังคม ที่มีบทบัญญัติสอดคล้องกับอนุสัญญาและหลักสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขึ้น เพื่อเสนอให้ตราเป็นกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหาย แล้วเสนอบรรดาพรรคการเมืองและกรรมาธิการรัฐสภา ซึ่งได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดี ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับประชาชนดังกล่าวอยู่ในระหว่างการปรับปรุงและพิจารณาของคณะอนุกรรมาธิการฯ ศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยพรรคการเมืองบางพรรคได้นำเสนอร่างกฎหมายที่ปรับปรุงจากฉบับประชาชนเข้าสู่รัฐสภาแล้ว จากการเคลื่อนไหวดังกล่าว ประกอบกับกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลสืบสวนสอบสวนการหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมไทยที่ลี้ภัยอยู่ในกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่ผ่านมา ครม. มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ฯ ของกระทรวงยุติธรรมแล้ว แต่ให้ส่งร่าง พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าวให้คณะกรรมการกฤษฎีกาปรับปรุงแก้ไขอีก โดยไม่ชัดเจนว่าจะสามารถเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้เมื่อใด อย่างไรก็ตามเชื่อว่า ในที่สุดแล้วจะมีการนำร่าง พ.ร.บ.ฯ ทุกฉบับมาพิจารณาร่วมกันเพื่อตราเป็นกฎหมายโดยรัฐสภา ดังนั้น ความพยายามผลักดัน พ.ร.บ.ฯ จากภาครัฐ ประชาสังคม และพรรคการเมืองที่ใช้เวลาเกือบสิบปี อาจสำเร็จตามความหวังในการขจัดปัญหาการอุ้มทรมานและอุ้มหาย เพื่อนำความยุติธรรมมาสู่เหยื่อ ครอบครัว และสังคม

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน การซ้อมทรมาน และการอุ้มหายมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดมากขึ้นในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากรัฐบาลสามารถอ้างการแพร่ระบาดของโรค เพื่อคงไว้ซึ่งมาตรการที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่โดยปราศจากการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติและศาล มาตรการเหล่านี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ใน “สภาวะยกเว้น (state of exception)” อย่างเกินความจำเป็น ภายใต้ข้อกล่าวอ้างว่าเป็นไปเพื่อปกป้องพลเมืองจากการแพร่ระบาดของโรค การกระทำเช่นนี้เห็นได้ชัดจาก 3 กรณี คือ

กรณีแรก ว่าด้วยการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่ถูกนำมาใช้เพื่อจำกัดสิทธิในการแสดงความเห็นและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เห็นได้จากการใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์และการทำงานของ ‘ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม’ เพื่อยับยั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่สอดคล้องกับภาครัฐ และทำให้ข้อมูลเหล่านี้เป็นคำอธิบายเพียงชุดเดียวบนพื้นที่สื่อหลัก เช่นกรณีบรรณาธิการ “Patani NOTES” ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคาม หลังจากเผยแพร่บทความวิจารณ์ความล้มเหลวของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งสร้างความยากลำบากในการดำเนินชีวิตให้กับประชาชน 

กรณีที่สอง ว่าด้วยการใช้อำนาจ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในการควบคุมตัวประชาชนซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 1 เดือน จำกัดสิทธิในการเข้าถึงทนายความและสิทธิในการเรียกร้องให้ศาลไต่สวนเพื่อพิสูจน์ความชอบธรรมในการควบคุมตัว  นอกจากนี้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่กักขังผู้ถูกควบคุมตัวในสถานที่ที่ไม่ใช่เรือนจำได้ สภาวะยกเว้นดังกล่าวทำให้การใช้อำนาจรัฐภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน รวมถึงการซ้อมทรมานหรือการละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่รัฐสามารถถูกตรวจสอบหรือตั้งคำถามได้ยากขึ้น นอกจากนี้ การชุมนุมรณรงค์หรือเรียกร้องทางการเมือง ยังถูกกล่าวหาโดยเจ้าหน้าที่ว่าเป็นการกระทำที่ละเมิด พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่ห้ามมั่วสุมชุมนุมเพื่อป้องกันการการแพร่ระบาดของโควิด-19ดังเช่นกรณีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และผู้ชุมนุมที่ร่วมกันเรียกร้องให้รัฐเร่งติดตามคดีการอุ้มหายของวันเฉลิมนั้น ได้ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน กรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการใช้อำนาจ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ของเจ้าหน้าที่เป็นไปเพื่อควบคุมการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน มากกว่าการป้องกันการระบาดของโรค 

กรณีที่สาม ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ดังที่ปรากฏในมาตรการการเก็บข้อมูล biometrics ทั้งการเก็บดีเอ็นเอและการบังคับใช้ระบบยืนยันอัตลักษณ์ใบหน้าเพื่อลงทะเบียนซิมการ์ด ทั้งนี้ รัฐอ้างว่าการเก็บดีเอ็นเอของประชาชนในพื้นที่รวมถึงแรงงานที่กลับจากมาเลเซียนั้นเป็นไปเพื่อตรวจสอบเชื้อโควิด-19 โดยยืนยันว่าการเก็บข้อมูลของประชาชนไม่ได้เชื่อมโยงกับคดีความมั่นคง อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวกลับทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจในการมอบข้อมูลส่วนตัวให้รัฐเก็บไว้ มากไปกว่านั้น ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2563 ชาวบ้านชาวมุสลิม-มลายูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมากยังถูกตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือเนื่องจากไม่ได้ลงทะเบียนซ้ำผ่านระบบยืนยันอัตลักษณ์ใบหน้าตามข้อกำหนดของ กสทช. การตัดสัญญาณท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งโทรศัพท์มือถือมีความจำเป็นต้องใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารมากกว่าปกตินั้น ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในด้านสุขภาพของประชาชน และสร้างความยากลำบากต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในพื้นที่ดังกล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยรายงานการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ให้รัฐภาคีทราบตามพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ที่ประเทศไทยให้สัตยาบันเป็นภาคีอยู่ ทำให้ขาดการตรวจสอบจากประชาคมระหว่างประเทศ ดังนั้น การประกาศใช้กฎหมายพิเศษในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  จึงยิ่งสร้างความกังวลให้กับประชาชนที่อาจถูกลิดรอนสิทธิโดยรัฐบาลได้ง่ายขึ้น  

เพื่อแก้ไขสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกรณีการซ้อมทรมานในประเทศไทย มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการตามข้อเสนอดังต่อไปนี้

1.     ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ถูกใช้ในการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนโดยปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุล และหมดความจำเป็นในการป้องกันการระบาดของโควิด-19 แม้ว่ารัฐได้ประกาศยกเลิกการบังคับใช้มาตรการเคอร์ฟิวและได้เข้าสู่การผ่อนปรนระยะที่สี่แล้ว แต่ก็ยังมีการบังคับใช้และคงอำนาจจาก พ.ร.ก. ฉุกเฉินอยู่ ดังนั้นจึงยังมีข้อกังวลต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยอาศัยอำนาจของ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ทั้งนี้ รัฐบาลควรเลือกใช้มาตรการทางกฎหมายอื่น ๆ เพื่อจัดการกับการแพร่ระบาดของโรคแทนที่ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เช่นการใช้ พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เป็นต้น

2.     ออกกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหายโดยเร็ว เพื่อเป็นมาตรการการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เยียวยาเหยื่อและผู้ได้รับความเสียหาย และป้องกันมิให้การกระทำเช่นนี้เกิดขึ้นอีก และเพื่อปฏิบัติตามอนุสัญญาที่ได้ให้สัตยาบันหรือลงนามไว้ ซึ่งจะนำไปสู่การขจัดปัญหาการทรมาน การบังคับให้สูญหายได้อย่างแท้จริง

3.     เปลี่ยนมุมมองและทัศนคติด้านความมั่นคงของเจ้าหน้าที่ โดยมิได้มุ่งอยู่ที่ความมั่นคงของรัฐบาล แต่เป็นความมั่นคงของมนุษย์หรือประชาชนที่ต้องปลอดพ้นจากความหวาดกลัวและความขาดแคลน โดยรัฐต้องทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน การเปลี่ยนมุมมองเช่นนี้จะเป็นรากฐานให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมิติอื่น ๆ ตามมาได้ รวมทั้งความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตย นิติธรรมและนิติรัฐ รวมทั้งสันติสุขและการพัฒนาด้านเศรษฐกิจที่มั่นคง ยั่งยืน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท