สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 21-27 มิ.ย. 2563

กสร.ชู 'ชุดนักเรียนตราสมอ' แบบอย่างที่ดี ดูแลคุณภาพชีวิตแรงงานให้ห่างไกลยาเสพติด

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) มอบประกาศเกียรติคุณยกย่อง บริษัท สมอทอง การ์เม้น จำกัด ให้เป็นแบบอย่างที่ดีในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด หวังเป็นต้นแบบให้สถานประกอบกิจการทั่วประเทศ ได้พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานในสถานประกอบกิจการของตน สร้างภูมิคุ้มกันด้านยาเสพติด และรู้จักการบริหารจัดการให้สถานประกอบกิจการเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติด

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกิจการเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่กรม มุ่งมั่น ห่วงใยในการดูแลคุณภาพชีวิตแรงงาน ให้มีความตระหนักรู้ถึงโทษ พิษภัยจากยาเสพติด สร้างภูมิคุ้มกัน ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติด โดยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการโรงงานสีขาว และการจัดทำมาตรฐานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกิจการ (มยส.) โดยในปี 2562 ที่ผ่านมา มีสถานประกอบกิจการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จัดทำระบบการจัดการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด จำนวน 784 แห่ง แบ่งเป็นสถานประกอบกิจการที่ผ่านเกณฑ์โรงงานสีขาว จำนวน 592 แห่ง ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด (มยส.) จำนวน 192 แห่ง ลูกจ้างมีภูมิคุ้มกันยาเสพติด จำนวน 68,725 คน

อธิบดี กสร. กล่าวต่อไปว่า บริษัท สมอทอง การ์เมนท์ จำกัด เป็นสถานประกอบกิจการแห่งหนึ่ง ที่ผ่านเกณฑ์ต่ออายุมาตรฐานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด (มยส.) ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงานไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดในทุกรูปแบบ อีกทั้งให้ความช่วยเหลือ ให้โอกาสรับกลับเข้าทำงานเพื่อคืนคนดีสู่สังคม

ดังนั้นเพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติ บริษัท สมอทอง การ์เมนท์ จำกัด ว่าเป็นสถานประกอบกิจการที่มีความรับผิดชอบทางสังคมด้านแรงงาน และคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน โดยการให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ห่วงใย ดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงานในสถานประกอบกิจการซึ่งเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สอง ของแรงงานให้มีความอบอุ่นและความปลอดภัย ห่างไกลจากยาเสพติด กรมจึงได้มอบประกาศเกียรติคุณให้เป็น ที่ประจักษ์แก่แรงงาน และสถานประกอบกิจการทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดีในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดต่อไป

ที่มา: สยามรัฐ, 27/6/2563

ก.ยุติธรรม เตรียมประสาน ก.แรงงาน ทำ MOU ส่งผู้ต้องขังพ้นโทษทำงานต่างประเทศ เล็งฝึกภาษาเข้มข้นให้พร้อมรับโอกาส

26 มิ.ย. 2563 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า เวลานี้ตนได้มีการพูดคุยกับ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งท่านสนับสนุนการให้ผู้ต้องขังที่พ้นโทษได้ไปทำงานยังต่างประเทศ โดยตนได้มอบหมายให้ นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ประสานไปยังปลัดกระทรวงแรงงาน เพื่อขอทำข้อตกลงเอ็มโอยู ในการขอโควต้าส่งผู้ต้องขังที่พ้นโทษไปทำงานยังต่างประเทศ โดยกระทรวงยุติธรรมมีความตั้งใจทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขังที่พ้นโทษ จากนี้จะเดินหน้าทำข้อตกลงร่วมกับกระทรวงแรงงาน  ตนขอย้ำว่ากรมราชทัณฑ์ต้องฝึกภาษาอังกฤษ รวมทั้งภาษาของท้องถิ่นนั้นๆให้กับผู้ต้องขังเพื่อให้มีความพร้อม เมื่อโอกาสมาถึงเขาจะได้มีงานที่ดีทำ ขอย้ำอีกครั้งกรมราชทัณต้องฝึกภาษา

"การที่ผมเดินหน้าในเรื่องนี้นั้น เพราะผมต้องการให้ผู้ต้องขังได้กลับคืนสู่สังคม มีงานทำเหมือนคนปกติทั่วไป วันนี้ผมอยู่ที่กระทรวงยุติธรรม เรื่องนี้จะเป็นนโยบายสำคัญที่ผมจะเดินหน้าให้สำเร็จให้ได้" นายสมศักดิ์ กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แสดงความเป็นห่วงและสั่งการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไปดำเนินการจับกุมผู้ขายสินค้าปลอมทางออนไลน์ ซึ่งขณะนี้มีการค้าขายเป็นจำนวนมาก ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำให้เรียบร้อย และต้องทำให้ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายด้วย

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 26/6/2563

เลิกกิจการสายการบินนกสกู๊ต หลังขาดทุนต่อเนื่อง เลิกจ้างพนักงาน 425 คน

บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทวาระพิเศษ ครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 ได้มีมติรับทราบการเลิกกิจการและชำระบัญชีของบริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด โดยมีบริษัท นกมั่งคั่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ เข้าถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 49.65 ของทุนจดทะเบียน หรือคิดเป็น 1,470 ล้านบาท

เนื่องจากบริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด มีผลขาดทุนจากการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานอีกด้วย ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด ครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 ได้กำหนดจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 เพื่อเสนอต่อที่ประชุมให้พิจารณาอนุมัติการเลิกกิจการและการชำระบัญชีต่อไป

ทั้งนี้ บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด มีส่วนของผู้ถือหุ้นขาดทุนเกินทุน มีทรัพย์สินและสัดส่วนรายได้เฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 37.16 และ 37.10 ของบริษัทฯ ในปี 2562 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม การเลิกกิจการของบริษัทสายการบิน นกสกู๊ต จำกัด นั้นไม่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินของบริษัท สำหรับการดำเนินธุรกิจต่อไปนั้น เส้นทางที่เป็นสิทธิการบินที่บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด มีอยู่นั้นจะหยุดให้ดำเนินการในเส้นทางบินจีน ได้แก่ นานจิง ชิงเต่า เทียนจิน เฉินหยาง เส้นทางบินไต้หวัน ได้แก่ ไทเป เส้นทางบินญี่ปุ่น ได้แก่ นาริตะ โอซาก้า ซัปโปโร และเส้นทางบินอินเดีย ได้แก่ เดลลี เส้นทางบินเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลกระทบในการดำเนินธุรกิจของบริษัททั้งทางตรงและทางอ้อมแต่อย่างใด

ในส่วนของบริษัทฯ นั้น ยังคงให้บริการในเส้นทางบินในประเทศเป็นหลัก และเส้นทางบินระหว่างประเทศที่มีสิทธิการบินเป็นของตนเอง ได้แก่ เส้นทางบินเมียนมา ได้แก่ ย่างกุ้ง เส้นทางบินเวียดนาม ได้แก่ โฮจิมินห์ และเส้นทางบินญี่ปุ่น ได้แก่ ฮิโรชิม่า และบริษัทฯ จะแจ้งการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีของบริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด ให้ทราบต่อไป

ด้านสายการบินนกสกู๊ต ออกแถลงการณ์ว่า สายการบินนกสกู๊ตรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งที่จะประกาศให้ทราบว่า คณะกรรมการของบริษัทได้มีมติเลิกกิจการ โดยผู้ถือหุ้นของนกสกู๊ตจะลงมติเป็นอย่างเดียวกันในที่ประชุมใหญ่ที่จะมีขึ้นในอีกประมาณ 14 วัน

หลังจากนกสกู๊ต สายการบินร่วมทุนราคาประหยัดระหว่างสายการบินนกแอร์ของคนไทย และสายการบินสกู๊ต จากประเทศสิงคโปร์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 นกสกู๊ตได้ดำเนินธุรกิจท่ามกลางความท้าทายในสถานการณ์ต่าง ๆ รวมถึงข้อจำกัดในการขยายเครือข่ายการบินภายใต้สภาพแวดล้อมการแข่งขันที่รุนแรงและการระบาดของโควิด-19 ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงอย่างรุนแรง ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการของบริษัท จึงไม่เห็นหนทางสู่การฟื้นตัวและการเติบโตที่ยั่งยืนของสายการบินอีกต่อไป

จนถึงปัจจุบัน มีพนักงานนกสกู๊ตที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 425 คน โดยสายการบินนกสกู๊ตได้ชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างถูกต้อง ทั้งนี้พนักงานจำนวนหนึ่งยังคงปฎิบัติหน้าที่ เพื่อดำเนินการกระบวนการชำระบัญชีให้เสร็จสมบูรณ์ และพนักงานกลุ่มนี้จะได้รับการชดเชยอย่างถูกต้องเช่นเดียวกัน

นกสกู๊ตจะชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้งเมื่อได้มีการแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี และจัดให้เจ้าหนี้ได้ยื่นข้อเรียกร้อง

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 26/6/2563

ประกันสังคมให้โอกาสผู้สูงวัยอายุระหว่าง 60-65 ปี สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้แล้ว

26 มิ.ย. 2563 นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าสำนักงานประกันสังคม ได้ให้ความสำคัญแก่แรงงานอิสระ โดยการปรับปรุงกฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้ แรงงานอิสระหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่มีอายุเกิน 60 ปีแต่ไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ สามารถสมัครขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้แล้ว โดยกฎหมายฉบับดังกล่าว มีผลตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป สำหรับความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ประกันสังคม ที่ผู้สูงวัยสามารถเลือกได้ทุกทางเลือก ปัจจุบันมี 3 ทางเลือก คือ ทางเลือกที่ 1 จ่าย 70 บาท ทางเลือกที่ 2 จ่าย 100 บาท ทางเลือกที่ 3 จ่าย 300 บาท

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่าสำหรับผู้สูงวัยที่สนใจสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 สามารถสมัครได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/ จังหวัด/ สาขา ทั่วประเทศ ที่สะดวก รวมถึงหน่วยบริการเคลื่อนที่ของสำนักงานประกันสังคม สมัครผ่านภายใต้เครือข่ายประกันสังคม สมัครด้วยตนเองผ่านมือถือที่เว็บไซต์ www.sso.go.th โทรศัพท์สายด่วน 1506 หรือผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส (7-11) เคาน์เตอร์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)

ที่มา: คมชัดลึก, 26/6/2563

กลุ่มผู้ประกันตนยื่นสภาฯ ขอเพิ่มแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม เปิดช่องใช้กองทุนชราภาพ ก่อนกำหนด

นายเอกภพ กตัญญู ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้แรงงานและผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม พร้อมเครือข่าย เข้ายื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่าน นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอริเริ่มเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม เนื่องจากการช่วยเหลือตามมาตรา 33 มีเวลาเพียง 90 วันเท่านั้น จึงจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายให้สามารถเบิกเงินของผู้ประกันตนในกองทุนชราภาพตามมาตรา 77 ทวิ มาใช้ก่อนได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งเคยเข้ายื่นหนังสือต่อสํานักงานประกันสังคม และกระทรวงแรงงานแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้า จึงมาขอยื่นริเริ่มเสนอร่างแก้ไขกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร

นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กระบวนการยื่นริเริ่มเสนอร่างกฎหมาย ต้องผู้รับรองมีจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน และนำเสนอชื่อต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาว่าเป็นไปตามกระบวนการหรือไม่ หากมีความไม่ถูกต้อง สภาผู้แทนราษฎรก็จะรับเป็นผู้ช่วยในการแก้ไขปรับปรุงร่างกฎหมาย และจะส่งให้ภาคประชาชนรับไปดำเนินการต่อไป เพื่อรวบรวมรายชื่อไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคน เพื่อเสนอร่างกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 26/6/2563 

ญี่ปุ่นพร้อมรับแรงงานไทย 14 สาขาอาชีพ ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคแล้ว

26 มิ.ย. 2563 นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการประชุม "ชี้แจงแนวทางการปฏิบัติงาน กรณีการจ้างแรงงานที่มีทักษะเฉพาะไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น" แก่องค์กรผู้ส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ ภายใต้โครงการฝึกปฏิบัติงานเทคนิคไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 51 องค์กร โดยมี นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวรายงาน และ นายสายชล อกนิษฐวงศ์ อัครราชทูตที่ปรึกษาด้านแรงงาน ณ กรุงโตเกียว ร่วมชี้แจงให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ผ่านระบบ Video Conference ณ ห้องอบรมคนหางานก่อนไปทำงานต่างประเทศ ชั้น 11 อาคารสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 กระทรวงแรงงาน

นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การจัดส่งแรงงานไทยไปประเทศญี่ปุ่นถือเป็นเรื่องที่กระทรวงแรงงานมุ่งเน้นและติดตามผลการปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง เมื่อวันที่ 4 ก.พ.63 กระทรวงแรงงานได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือด้านข้อมูลพื้นฐานเพื่อการจัดระบบและการพำนักของแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ (MOC) กับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศญี่ปุ่น 4 หน่วยงาน คือกระทรวงยุติธรรม กระทรวง การต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมการจัดส่งและการรับแรงงาน ที่มีทักษะเฉพาะจากประเทศไทยไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นให้เป็นไปอย่างราบรื่น แก้ไขปัญหาในการส่งและการรับแรงงาน และปัญหาของการพำนักอยู่ในญี่ปุ่นของแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ อันเป็นการคุ้มครองแรงงานซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ

โดยกำหนดสาขาอาชีพของแรงงานที่มีทักษะเฉพาะในเบื้องต้นไว้ 14 สาขาอาชีพได้แก่ การบริบาล การจัดทำความสะอาดอาคาร การทำชิ้นส่วนเครื่องจักรกลและเครื่องมือสำหรับประกอบอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเครื่องจักร ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมสารสนเทศ อุตสาหกรรมการก่อสร้าง การต่อเรือและอุตสาหกรรมเครื่องจักรเรือ การซ่อมแซมรถยนต์และการบำรุงรักษา อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมโรงแรม เกษตรกรรม การประมงและการเพาะเลี้ยง สัตว์น้ำ การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมบริการ ซึ่งในระยะแรกประเทศญี่ปุ่นจะเปิดรับใน 4 สาขาอาชีพ คือ (1) งานบริบาล (2) งานอุตสาหกรรมก่อสร้าง (3) งานจัดการทำความสะอาดอาคาร และ (4) งานเกษตรกรรม โดยมีระยะเวลาการทำงานสูงสุด 5 ปี

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการจัดหางาน มีหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลการจัดส่งแรงงานไทยไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อให้การดำเนินแนวทางการจัดส่งแรงงานที่มีทักษะเฉพาะไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด แต่เนื่องจากการปฏิบัติการจัดส่งแรงงานทักษะเฉพาะของไทยและประเทศญี่ปุ่น มีความแตกต่างจากระบบการอนุญาตผู้ฝึกงานเทคนิคซึ่งเป็นระบบเดิม ทั้งสองประเทศเพิ่งจะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปและยังไม่เกิดผลสัมฤทธิ์

ดังนั้นกรมการจัดหางานจึงจัดการประชุมชี้แจงแนวทางการปฏิบัติงานกรณีการจ้างแรงงานที่มีทักษะเฉพาะไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นให้กับภาคเอกชน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและให้สามารถปฏิบัติงานตามแนวทางการจัดส่งแรงงานที่มีทักษะเฉพาะได้ ซึ่งจะเป็นการจุดประกายและสร้างความตระหนักให้องค์กรผู้ส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศเห็นถึงความสำคัญของการจัดส่งแรงงานไทยที่มีทักษะเฉพาะไปทำงานใน 14 สาขาอาชีพ ซึ่งเป็นอาชีพที่แรงงานไทยมีโอกาสในญี่ปุ่น และเป็นช่องทางการขยายจำนวนแรงงานไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นได้เพิ่มมากขึ้น โดยมีองค์กรผู้ส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ ภายใต้โครงการฝึกปฏิบัติงานเทคนิคไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น เข้าร่วมจำนวน 51 องค์กร

"เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นเปลี่ยนนโยบายการรับคนเข้าเมือง เพื่อให้ทันกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จึงมีแผนกำหนดสถานะของการพำนักอาศัยใหม่ให้แก่แรงงานต่างชาติ เป็นแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ เพื่อดึงดูดกำลังแรงงานต่างชาติให้เข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น และลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรกรรม ก่อสร้างภาคบริการโรงแรม และการบริบาลผู้สูงอายุ โดยที่ผ่านมา รัฐบาลมีการส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นอย่างถูกกฎหมาย ในรูปแบบรัฐจัดส่ง ผ่านโครงการจัดส่งผู้ฝึกงานเทคนิคคนไทยไปฝึกงานในประเทศญี่ปุ่นกับองค์กรพัฒนาแรงงานระดับนานาชาติประเทศญี่ปุ่น (IM Japan) ซึ่งที่ผ่านมาแรงงานไทยได้รับความสนใจเป็น อย่างมาก เนื่องจากมีทักษะการทำงานที่ดี มีความขยัน อดทน อย่างไรก็ดี กระทรวงแรงงานจะเร่งหามาตรการเสริม เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมและพัฒนาทักษะแรงงานไทย จะได้เพิ่มโอกาสในการไปทำงานในตำแหน่งที่เปิดรับต่อไป" นายสุชาติกล่าว

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 26/6/2563 

กยศ. เปิดตัวระบบบริหารหนี้ DMS พร้อมให้บริการผู้กู้ยืมผ่านแอปพลิเคชัน “กยศ. Connect”

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดให้บริการระบบกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแบบดิจิทัล (DSL) เริ่มใช้งานระบบบริหารหนี้ (DMS) เพิ่มความสะดวกให้ผู้กู้ยืมผ่านแอปพลิเคชัน กยศ. Connect หรือเว็บไซต์ https://wsa.dsl.studentloan.or.th เพื่อตรวจสอบยอดหนี้ และข้อมูลบัญชีของตนเอง โดยนำเงินไปชำระผ่านช่องทางรับชำระทั่วประเทศและ Mobile Banking ของทุกธนาคาร

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กองทุนได้เปิดใช้งานระบบบริหารหนี้ (Debt Management System - DMS) ซึ่งจะทำให้ผู้กู้ยืมสามารถตรวจสอบข้อมูลบัญชีเงินกู้ ยอดเงินที่ต้องชำระ หรือรายการชำระเงินย้อนหลังได้แบบ Real-time และจัดการข้อมูลได้ด้วยตนเอง รวมถึงผู้ค้ำประกันยังสามารถตรวจสอบข้อมูลการค้ำประกันตามสัญญาได้อีกด้วย โดยผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันต้องลงทะเบียนเข้าใช้งานผ่านทางแอปพลิเคชัน “กยศ. Connect” โดยใช้ได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android หรือลงทะเบียนทางเว็บไซต์ https://wsa.dsl.studentloan.or.th ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป ซึ่งผู้กู้ยืมยังคงสามารถชำระเงินผ่านช่องทางบริการรับชำระทั่วประเทศและ Mobile Banking ของทุกธนาคาร โดยระบบบริหารหนี้ได้พัฒนาขึ้น เพื่อรองรับการให้บริการผู้กู้ยืม ผู้ค้ำประกัน ให้ได้รับความสะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นผ่านช่องทาง “กยศ. Connect” และเว็บไซต์

สำหรับวันที่ 5 กรกฎาคมของทุกปี ถือเป็นวันครบกำหนดชำระเงินคืนกองทุน ซึ่งในปีนี้มีผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระประมาณ 3.5 ล้านราย กองทุนจึงขอฝากประชาสัมพันธ์ให้ผู้กู้ยืมรุ่นพี่มาชำระเงินคืนภายในกำหนดดังกล่าว และกองทุนต้องขอขอบคุณผู้กู้ยืมรุ่นพี่ทุกท่านที่มาชำระเงินคืนเพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษารุ่นน้อง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line บัญชีทางการ กยศ. หรือโทร 0 2016 4888” ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าวในที่สุด

ที่มา: กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.), 22/6/2563 

โรงงานผลิตชุดชั้นในสตรีปราจีนบุรี ปิดกิจการ ลูกจ้างตกงานนับร้อยคน

24 มิ.ย. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงงานผลิตชุดชั้นในสตรี สัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรม 304 อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ต้องปิดตัวลง ทำให้พนักงานที่มีอยู่ประมาณ 400 ชีวิตถูกเลิกจ้างทันที

โดย ผู้บริหารโรงงานดังกล่าวได้ใช้พื้นที่ในโรงอาหาร พูดคุยกับพนักงาน โดยมีเจ้าหน้าที่จากแรงงานจังหวัดปราจีนบุรี คุ้มครองสวัสดิการแรงงาน โดยการเจรจาพูดคุยเป็นได้ด้วยความสงบเรียบร้อย ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสายตรวจ สภ.ศรีมหาโพธิ ดูแลภายนอกบริษัท

จากการพูดคุยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง โดยโรงงานได้มีการจ่ายเงินให้กับพนักงานทุกคน ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของทางหน่วยงาน หรือข้อบังคับการว่าจ้าง ตามอายุงานที่ทำมา มีตั้งแต่ 1-10 กว่าปี ขึ้นไป ตกอยู่คนละ 30,000-100,000 บาท/ตามอายุงาน พร้อมกับเงินชดเชย 1 เดือน ทำให้เป็นที่พอใจของพนักงาน

หลังจากนั้น พนักงานได้เก็บข้าวของสัมภาระต่างๆ ออกจากโรงงานให้หมด เพราะจะไม่สามารถเข้ามาในโรงงานได้อีก ทำให้คนงานต่างเริ่มทยอยเดินทางกลับบ้าน บรรยากาศตรงนี้ทำให้พนักงานหลายๆ คนอดที่จะกลั้นน้ำตาไว้ได้

ทั้งนี้ เพราะหลายๆ คนที่ร่วมงานกันมาเป็นเวลานาน บางคน 10-15 ปี จนมีความผูกพันระหว่างเพื่อนร่วมงาน และโรงงาน บางคนเสียดายงาน ที่ต้องมาเลิกจ้าง เพราะที่ผ่านมา อยู่กันเหมือนพี่น้องไม่เคยมีปัญหา หลังจากวันนี้คงไม่มีงานทำ และไม่เห็นหน้ากันเหมือนที่เป็นมา

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ต้องปิดโรงงานเนื่องจากบริษัทขาดทุนหมุนเวียนมาโดยตลอด โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 หลังจากรัฐบาลมีคำสั่งปิดประเทศ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงทำให้บริษัทไม่มีออเดอร์ และส่งออกไม่ได้ ขาดทุนหมุนเวียน และไม่เห็นมีทางกลับมาฟื้นตัวได้

โดย ปัญหาดังกล่าว ทีมงานผู้บริหารได้พยายามเต็มความสามารถเพื่อที่จะแก้ไขทุกวิถีทางแล้ว แต่ไม่ดีขึ้นขาดเงินทุนหมุนเวียนจนไม่สามารถดำเนินการกิจการต่อไปได้ จึงมีความจำเป็น ต้องปรับโครงสร้างขององค์กร

ทั้งนี้ หากบริษัทสามารถฟื้นตัว และกลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และพนักงานมีความประสงค์จะกลับเข้ามาทำงาน บริษัทยินดีและพิจารณาเป็นอันดับแรกๆ เพื่อร่วมงานกันต่อไปในอนาคต

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 24/6/2563 

ผลสำรวจความสุขแรงงานไทยหดเหลือ 59%

น.ส.พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่าดัชนีความสุขในการทำงานของแรงงานไทยลดลงเมื่อมีการระบาดของไวรัสโควิด โดยก่อนการระบาดดัชนีความสุขอยู่ที่ 85% และในช่วงระบาดลดลงเหลือ 59% และ 46% ของคนทำงานระบุว่าชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพนักงานในสายงานโฆษณา งานประชาสัมพันธ์ รวมถึงสายงานการตลาดดิจิทัล อี-คอมเมิร์ซ และโซเชียลมีเดีย เป็นกลุ่มที่ทำงานต่อวันนานขึ้นเมื่อต้องทำงานอยู่ที่บ้าน

ทั้งนี้ จ๊อบส์ดีบีได้สำรวจผู้ประกอบการและคนทำงานถึงผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ครอบคลุมคนทำงานกว่า 1,400 คน และผู้ประกอบการกว่า 400 บริษัท พบอีกว่าคนทำงาน 1 ใน 4 ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อสถานะการทำงาน ระดับความรุนแรงมีดังนี้คือ 9% ถูกเลิกจ้าง, 16% ถูกหยุดงานแต่ยังคงสถานะลูกจ้าง ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือพนักงานอยู่ในกลุ่มเงินเดือนต่ำกว่า 16,000 บาท มีลักษณะงานเป็นสัญญาจ้าง อายุมากกว่า 45 ปี และทำงานให้กับองค์กรที่มีพนักงานน้อยกว่า 50 คน

ส่วนคนที่ยังคงทำงานอยู่ ได้รับผลกระทบได้แก่ 48% ต้องทำงานที่บ้าน (Work From Home), 45% ได้รับผลกระทบเชิงโครงสร้างรายได้ ในจำนวนนี้ 27% ไม่ได้โบนัส, 20% ไม่มีการปรับเงินเดือน และ 14% ถูกลดเงินเดือน ส่วนใหญ่ถูกลดเงินเดือนระหว่าง 11-20% ของรายได้

และผลสำรวจเรื่อง “Laws of Attraction” (LOA) หรือแรงดึงดูดใจให้อยากทำงานใน 6 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า 3 ปัจจัยแรกที่คนให้ความสำคัญมากที่สุด ได้แก่ 1.เงินเดือน/ค่าตอบแทน 2.ความมั่นคงในการทำงาน และ 3.ความก้าวหน้าในสายอาชีพ

โดยคำตอบจากคนทำงานในไทย มองเรื่องความมั่นคงในการทำงานมีความสำคัญมากกว่าเรื่องสวัสดิการถึง 3 เท่า สำคัญกว่าตำแหน่งที่ตั้งของที่ทำงาน 2 เท่า และสำคัญกว่าเรื่องความสมดุลในชีวิต (Work-life balance) 1.4 เท่า

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 24/6/2563

กระทรวงแรงงานจ้างงานชาวเชียงใหม่ที่ตกงาน โครงการฟาร์มตัวอย่างต้านภัย COVID-19

23 มิ.ย. 2563 นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการฟาร์มตัวอย่าง ต้านภัย COVID– 19 ณ โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (บ้านดงเย็น) จ.เชียงใหม่ ม.15 ต.บ้านแปะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

นางเธียรรัตน์ กล่าวว่าเนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีพระราชทานพื้นที่ในฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้กระทรวงแรงงานร่วมกับศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินกิจกรรมแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ ภายใต้ “โครงการฟาร์มตัวอย่างต้านภัย COVID– 19”

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนที่ว่างงานจากผลกระทบCOVIDมีงานทำ มีรายได้ เพื่อจุนเจือภายในครอบครัว โดยจัดสรรงบประมาณจำนวน 19.8 ล้านบาท ดำเนินการในพื้นที่ 17 จังหวัด 30 ฟาร์มตัวอย่าง ภายในระยะเวลา 60 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม – 28 กรกฎาคม 2563 ปฏิบัติงานวันละ 8 ชั่วโมง หยุดเฉพาะวันอาทิตย์ ประชาชนจะได้รับค่าตอบแทนวันละ 300 บาทต่อคน ทั้งนี้จะมีพี่น้องแรงงานเข้าร่วมโครงการรวมจำนวนทั้งสิ้น 1,101 คน

นางนงคราญ อุปธรรม อายุ 51 ปี ชาวบ้านดงเย็น ต.บ้านแปะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ หนึ่งผู้เข้าร่วมโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ บอกว่า เดิมมีอาชีพรับจ้างเย็บผ้าแต่ถูกเลืกจ้างเพราะสถานประกอบการปิดกิจการจากผลกระทบ COVID-19 จึงทำให้ว่างงานหลังจากเข้าร่วมโครงการฯ ทำให้มีรายได้วันละ 300 บาท และยังได้ความรู้ด้านการเกษตรทฤษฏีใหม่ ไปต่อยอดในอาชีพเกษตรกรอีกด้วย

สำหรับจังหวัดเชียงใหม่มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 60 คน เป็นชาย 18 คน หญิง 42 คน ขณะนี้เหลือ 57 คน โดยบางส่วนได้กลับไปทำงานที่สถานประกอบการเนื่องจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ทำสวน ทำไร่ มากที่สุด รองลงมา คือ รับจ้าง โดยเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค.- 13 ก.ค.63 ระยะเวลา 60 วัน หยุดทุกวันอาทิตย์ ค่าตอบแทนวันละ 300 บาทต่อคน

ซึ่งการจ่ายเงินเจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับผู้จัดการฟาร์มตัวอย่างฯจะออกไปจ่ายให้กับผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนเป็นเงินสด 10 วัน/จ่ายครั้ง นอกจากนี้ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน จะช่วยเติมเต็มตามภารกิจ อาทิ สำนักงานแรงงานจังหวัดดำเนินการขับเคลื่อนโครงการฯ การจ่ายเงินค่าตอบแทนผู้เข้าร่วมโครงการฯ การประชาสัมพันธ์ภารกิจของกระทรวงแรงงาน สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ได้แนะนำการส่งเสริมการมีงานทำ

ในส่วนการต่อยอดงานภาคเกษตรกรรมของสถานประกอบการ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ สาธิตการปลูกพืชผักไฮโดรโปนิกส์ การปลูกพืชไร้ดิน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ ได้แนะนำ พ.ร.บ.การคุ้มครองแรงงาน ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน และสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ ได้แนะนำสิทธิประโยชน์ประกันสังคมและรับสมัครผู้ประกันตนมาตรา 40

ที่มา: Thai PBS, 23/6/2563

ครม. อนุมัติงบ 699 ล้านบาท จ่ายค่าตอบแทนพิเศษ 7 เดือน ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเป็นกรณีพิเศษหลังทำงานช่วงโควิด

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ว่า ที่ประชุมเห็นชอบวงเงิน 699 ล้านบาท เพื่อเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ เป็นกรณีพิเศษ ในลักษณะเงินเพิ่มพิเศษรายเดือนรวมระยะเวลา 7 เดือน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่เพิ่มเติมร่วมป้องกันและลดความเสี่ยงในการแพร่โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยให้พิจารณาอัตราเงินเพิ่มพิเศษเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละตำแหน่ง

พร้อมกันนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง 5 ฉบับ เพื่อยกเว้นและลดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎร ทะเบียนครอบครัว ทะเบียนชื่อบุคคลและบัตรประชาชน สำหรับประชาชนที่มาใช้บริการเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการติดต่อขอรับบริการเกี่ยวกับการทะเบียนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้แก่

-ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

-ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยปฏิบัติเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

-ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

-ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจดทะเบียนชื่อสกุลและค่าธรรมเนียมการออกหนังสือสำคัญ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

-ร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับคนสัญชาติไทย ในเขตพื้นที่ประสบภัยตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ทั้งการขอคัดสำเนา หรือคัดและรับรองสำเนารายการทะเบียนราษฎร การออกบัตรประจำตัวประชาชน การแจ้งเกิดและการตายต่างท้องที่ การแจ้งการย้ายที่อยู่ รวมถึงการขอรับสำเนาทะเบียนบ้านยกเว้นค่าธรรมเนียม

ทั้งนี้ สำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ประสบภัยหรือได้รับผลกระทบจากภัยตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ได้แก่ การออกบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย การขอคัดสำเนาหรือคัดและรับรองสำเนารายการทะเบียนหรือบัตรประจำตัวและรายการข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร แจ้งเกิดและการตายต่างท้องที่ แจ้งการย้ายที่อยู่ ขอรับสำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และในช่วงสถานการณ์ที่เกิดสาธารณภัยอื่นด้วย

นอกจากนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยว่า ที่ประชุมรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน สมัยพิเศษเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ต่อแรงงานและการจ้างงาน ผ่านระบบประชุมทางไกล และเห็นชอบการรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมระดับรัฐมนตรีเพื่อตอบสนองต่อผลกระทบของโควิด-19 ต่อแรงงานและการจ้างงาน รวมทั้งยืนยันเจตนารมณ์ของไทยที่จะร่วมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินมาตรการ เพื่อรองรับผลกระทบต่อแรงงานและการจ้างงานจากปัญหาโควิด-19 รวมถึงส่งเสริมให้ไตรภาคี (ภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง) ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการลดผลกระทบ ในปัจจุบัน อาเซียนมีแนวทางความร่วมมือด้านแรงงานที่ชัดเจน เพื่อลดผลกระทบต่อแรงงานและการจ้างงานในภูมิภาค โดยสาระสำคัญของร่างถ้อยแถลงร่วมนี้ จะสนับสนุนความเป็นอยู่และสุขภาพของแรงงานทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานกลุ่มเสี่ยง เพื่อจัดหาค่าตอบแทนอย่างเหมาะสมให้กับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และสิทธิที่จะเข้าถึงการช่วยเหลือทางสังคม หรือสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากภาครัฐ อำนวยความสะดวกให้แรงงานที่ติดเชื้อโควิด-19 ทุกคนเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขที่จำเป็น

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 23/6/2563 

กรมจัดหางาน ย้ำแรงงานไทยทุกคนจะไปทำงานต่างประเทศ ต้องสมัครสมาชิกกองทุน ช่วยคุ้มครอง

23 มิ.ย. 2563 นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือ และให้การคุ้มครองแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศแล้ว ประสบปัญหาต่างๆ โดยให้การสงเคราะห์แก่แรงงานไทยที่ไปหรือจะไปทำงานในต่างประเทศ หรือทายาทโดยธรรมของสมาชิกกองทุนฯ ซึ่งผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกต้องเป็นคนหางานที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ โดยบริษัทจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง กรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง ส่วนคนหางานที่แจ้งการเดินทางไปทำงานด้วยตนเองสามารถสมัครเป็นสมาชิกกองทุนฯ ได้ตามความสมัครใจ โดยมีอัตราค่าสมัครสมาชิก 300 - 500 บาท แตกต่างกันตามประเทศที่จะเดินทางไปทำงาน เป็นการจ่ายครั้งเดียว แต่ให้การคุ้มครองตลอดระยะเวลาสัญญาจ้าง รวมทั้งหากยังอยู่ หรือยังทำงานอยู่ในต่างประเทศ จะได้รับความคุ้มครองจากกองทุนฯ ต่อไปอีกเป็นเวลา 5 ปี และจะมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ตามสาเหตุของปัญหา ดังนี้ กรณีถูกทอดทิ้งในต่างประเทศหรือกรณีประสบปัญหาในต่างประเทศ เช่น รอเข้าทำงานใหม่ รอการส่งกลับ เป็นต้น สงเคราะห์เป็นค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็น โดยจะได้รับการสงเคราะห์ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน คนละ 30,000 บาท กรณีประสบอันตรายจนพิการ หรือทุพพลภาพทั้งก่อนเดินทางและไปทำงานต่างประเทศแล้ว โดยกรณีพิการสงเคราะห์ คนละ 15,000 และกรณีทุพพลภาพสงเคราะห์คนละ 30,000 บาท กรณีเสียชีวิตในต่างประเทศจะสงเคราะห์แก่ทายาทจำนวน 40,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการจัดการศพเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 40,000 บาท กรณีถูกเลิกจ้างจากสาเหตุประสบอันตรายและเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลในต่างประเทศ สงเคราะห์คนละ 15,000 บาท

อธิบดีกรมจัดหางาน กล่าวต่อว่า กรณีต้องเดินทางกลับประเทศไทยก่อนสิ้นสุดการเป็นสมาชิกกองทุนฯ เนื่องจากเป็นโรคต้องห้ามของประเทศที่ไปทำงาน โดยทำงานไม่ถึง 6 เดือน สงเคราะห์คนละ 25,000 บาท ถ้าทำงานเกินกว่า 6 เดือน สงเคราะห์คนละ 15,000 บาท และกรณีประสบปัญหาเนื่องจากความไม่สงบ ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาด ซึ่งทางการ ของประเทศนั้นๆ ประกาศกำหนดแล้ว สงเคราะห์คนละ 15,000 บาท กรณีถูกดำเนินคดีอาญาในความผิดซึ่งมิได้กระทำโดยเจตนาในต่างประเทศ ให้จ่ายเป็นค่าจ้างทนายความเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยสมาชิกกองทุนฯ หรือทายาทสามารถยื่นคำร้องขอรับเงินสงเคราะห์ได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ หรือจะยื่นคำร้องขอรับการสงเคราะห์เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ณ สำนักงานแรงงานในต่างประเทศ สถานทูตไทยหรือสถานกงสุลไทยในประเทศนั้นๆ

นายสุชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถิติในรอบปีงบประมาณ 2563 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 – พฤษภาคม 2563 กรมการจัดหางานได้ช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศแล้ว 166 ราย คิดเป็นเงิน 5,038,415.36 บาท เป็นการสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต จำนวน 62 ราย เป็นเงิน 2,470,000 บาท กรณีตรวจโรคไม่ผ่าน จำนวน 6 ราย เป็นเงิน 120,000 บาท กรณีทุพพลภาพ จำนวน 52 ราย เป็นเงิน 1,560,000 บาท ถูกเลิกจ้าง/ประสบปัญหาอื่นๆ จำนวน 16 ราย เป็นเงิน 523,320 บาท และประสบปัญหาในต่างประเทศ จำนวน 30 ราย เป็นเงิน 365,095.36 บาท

"การไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะได้รับการคุ้มครอง และหากเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ จะได้รับการดูแลสิทธิประโยชน์หากประสบอันตราย หรือประสบปัญหา จึงขอให้ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ตระหนักถึงความสำคัญ ของการเป็นสมาชิกกองทุนฯ โดยเฉพาะการเดินทางไปทำงานด้วยวิธีแจ้งการเดินทางด้วยตนเอง เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้เป็นสมาชิกกองทุนฯ ได้ด้วยความสมัครใจ เพื่อที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ เมื่อประสบปัญหาหรือประสบอันตรายตามกฎหมายกำหนด อย่างไรก็ดี ก่อนตัดสินใจไปทำงานในต่างประเทศ ก็ควรศึกษาข้อมูลก่อนเดินทาง โดยสอบถามข้อมูลสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ฝ่ายกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ เพื่อเป็นการป้องกันการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพ หรือโทร.สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน"อธิบดีกรมจัดหางาน กล่าว

ที่มา: สยามรัฐ, 23/6/2563

กลุ่ม ขรก.กว่า 100 คนรับผลกระทบถูกตรึงตำแหน่ง ร้อง รมช.สธ. ช่วยเหลือ

21 มิ.ย. 2563 ภญ.ชุติมน ศรีศิริสิทธิกุล กลุ่มข้าราชการที่ได้รับผลกระทบจากการตรึงตำแหน่ง ตามคำสั่งบรรจุรุ่นครม.ปี2557 เปิดเผยว่าที่ผ่านมาตนและกลุ่มข้าราชการสายวิชาชีพเภสัชกรรมได้ร้องไปยังกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมาธิการสาธารณสุขเมื่อช่วงเดือนม.ค. 2563 และสำนักนายกรัฐมนตรี ถึงกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมในสายวิชาชีพเภสัชกรรม เริ่มตั้งแต่การบรรจุสองมาตรฐานสมัยที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว เพราะยกเลิกระบบใช้ทุน ต่อมากลับให้มีตำแหน่งใช้ทุนอีกในรุ่นหลังๆ จนลูกจ้างชั่วคราวในยุคก่อนต้องรวมตัวกันขอความเป็นธรรมจนเกิดการบรรจุรุ่นครม.เมื่อปี 2557 แต่กลับถูกตรึงตำแหน่งไม่ให้ตัดโอนย้ายตำแหน่งข้ามเขตบริการสุขภาพ

ภญ.ชุติมน กล่าวอีกว่า แม้หลังบรรจุจะปฏิบัติงานที่รพ.ที่บรรจุจนครบ 3 ปี พอทำเรื่องขอย้ายกลับภูมิลำเนาเพื่อดูแลบุพการีที่แก่ชราและเจ็บป่วย ที่อยู่ในเขตบริการสุขภาพอื่นตามระบบการย้ายหมุนเวียน 3 วิชาชีพ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร แต่กระทรวงฯ ไม่ตัดโอนตำแหน่งให้ ระบุว่าหนังสือที่ออกมาเรื่องการบรรจุในปี 2557 นั้น ระบุว่าให้ตรึงตำแหน่งไว้ในเขตสุขภาพ ซึ่งไม่มีการระบุเวลาตรึงตำแหน่ง กรณีนี้แบบนี้แสดงว่าต้องตรึงตำแหน่งไว้ชั่วชีวิตของการเป็นข้าราชการหรือไม่ โดยส่วนตัวเป็นข้าราชการและขอย้ายจาก รพ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เขตบริการสุขภาพที่ 5 มาอยู่ รพ.จุน จ.พะเยา เขตบริการสุขภาพที่ 1 ซึ่งทำไม่ได้ ที่ทำได้คือ การขอไปช่วยราชการที่เขตอื่น และรอจนกว่าจะมีตำแหน่งว่าง เพื่อขอย้ายมาแทนเลขว่าง ซึ่งเลขตำแหน่งว่างก็ถูกดึงกลับเข้าไปที่ส่วนกลาง เพื่อบรรจุนักศึกษาใช้ทุนต่อ ขณะที่บางคนตอนนี้ขอไปช่วยราชการ เมื่อครบกำหนดเขาไปขอให้ช่วยต่อก็ต้องกลับไป ซึ่งไม่มีความยั่งยืน

สรุปต้องให้ตรึงกี่ปี เพราะหากอยู่ครบ 3 ปีแล้วก็น่าจะสามารถย้ายตัดโอนได้เหมือนข้าราชการอื่นๆ ซึ่งไม่มีใครทราบ ตอนมาเจอกับตัวเองเมื่อขอย้ายโอน กลับมาพบว่า การตรึงตำแหน่งนั้นไม่มีกรอบเวลา แสดงว่า ต้องตีความใหม่กันหมดหรืออย่างไร ที่ผ่านมาพวกเราที่มีการพูดคุยกันและประสบปัญหาตอนนี้มีอยู่ประมาณ 109 คน ได้สอบถามและทำหนังสือร้องเรียนขอความเห็นใจมาทาง สธ. เกินครึ่งปีแล้ว แต่เรื่องไม่ได้ถูกพิจารณา พยายามขอพบปลัด สธ. จนบัดนี้ก็ไม่ได้พบ ซึ่งคนที่ถูกตรึงตำแหน่งไม่ได้มีแค่เภสัชกร แต่ยังมีนักกายภาพบำบัด นักเทคนิคการแพทย์ พยาบาลก็ยังมี” ภญ.ชุติมน กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการร้องเรียนไปยังท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ภญ.ชุติมน กล่าวว่าใช่เรื่องนี้ตนได้ร้องเรียนผ่านเฟซบุ๊กไปยังท่านสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) เพื่อให้ท่านช่วยเหลืออีกทางเช่นกัน เนื่องจากมีคนบอกว่า น่าจะร้องเรียนผ่านทางเฟซบุ๊กของท่านได้ เพราะท่านอ่านเฟซบุ๊ก และตอบทุกความทุกข์ร้อนของบุคลากรในกระทรวงฯ จึงอยากขอความเห็นใจท่านลงมาช่วยเหลือ

ที่มา: Hfocus, 21 มิ.ย. 2563

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท