COVID-19 : 27 มิ.ย. ไทยไม่พบผู้ติดเชื้อ สะสม 3,162 คน

27 มิ.ย. 2563 ศบค. รายงานไทยไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่ รวมผู้ติดเชื้อสะสม 3,162 คน รวมผู้เสียชีวิตสะสม 58 คน รักษาหายเพิ่ม 13 คน รวมรักษาหายสะสม 3,053 คน - สปคม.ตรวจความพร้อมสถานบริการอาบอบนวด ก่อนที่จะมีการผ่อนคลายระยะ 5

27 มิ.ย. 2563 ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ไทยไม่พบผู้ป่วยใหม่ ส่งผลให้ยอดรวมผู้ป่วยสะสมคงที่ 3,162 คน หายป่วยเพิ่ม 13 คน รวมหายป่วยสะสม 3,053 คน และเสียชีวิตคงที่ 58 คน

ส่วนสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ทั่วโลก พบผู้ติดเชื้อรวม 9,904,963 คน ป่วยเพิ่มวันเดียวถึง 194,758 คน อาการรุนแรง 57,643 คน รักษาหายแล้ว 5,357,840 คน และเสียชีวิต 496,866 คน สหรัฐอเมริกา ยังมีผู้ป่วยสะสมมากสุด 2,552,956 คน รองลงมาคือ บราซิล จำนวน 1,280,054 คน รัสเซีย 620,794 คน อินเดีย 509,446 คน และอังกฤษ 309,360 คน ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 95 ของโลก

ผลสำรวจประชาชนมีความพึงพอใจมากต่อการบริหารจัดการ COVID-19  

กรุงเทพโพลโดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ประเมินความพึงพอใจต่อการบริหารจัดการ COVID-19”  โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,214 คน พบว่า 

ในภาพรวมประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจต่อการบริหารจัดการ COVID-19 ในด้านต่างๆ เฉลี่ย 3.79 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน ซึ่งแปลผลได้ว่ามีความพึงพอใจมาก โดยด้านที่ได้คะแนนมากที่สุดคือ การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ 4.23 คะแนน (ความพึงพอใจมากที่สุด) รองลงมาคือ การบริหารจัดการ ควบคุม แก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ได้ 4.08 คะแนน (ความพึงพอใจมาก) การบริหารจัดการจัดการเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาให้กับประชาชนและการต่อต้านและป้องกันข่าวลวง (fake news) ได้ 3.43 คะแนนเท่ากัน (ความพึงพอใจมาก)
    
เมื่อถามว่ากังวลต่อการกลับมาแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19  ในรอบ 2  มากน้อยเพียงใดพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 50.5 มีความกังวลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 49.5 กังวลค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด

ทั้งนี้เมื่อถามต่อว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีส่วนต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 มากน้อยเพียงใดพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 76.7 มีส่วนต่อการควบคุมค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 23.3 มีส่วนต่อการควบคุมค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด

สำหรับข้อคำถาม “จากนโยบายที่นายกฯ  แถลงการณ์วันที่ 17 มิ.ย. 2563 ท่านคิดว่าการขับเคลื่อนประเทศด้านใด ที่จะช่วยกำหนดอนาคตประเทศ ภายหลังการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19” ส่วนใหญ่ร้อยละ 66.3 เห็นว่าเป็นด้านความเป็นอยู่ของประชาชน รักษาระยะห่าง ใช้ชีวิต New Normal รองลงมาร้อยละ 42.8 เห็นว่าเป็นด้านเศรษฐกิจ การค้าต่างประเทศ และร้อยละ 32.5 เห็นว่าเป็นด้านการสาธารณสุข พัฒนาการรักษา วัคซีนป้องกัน

สปคม.ตรวจความพร้อมสถานบริการอาบอบนวด ก่อนที่จะมีการผ่อนคลายระยะ 5

เจ้าหน้าที่สถาบันป้องกันควบคุมโรคติดต่อเขตเมือง หรือ สปคม.ตรวจความพร้อมสถานบริการอาบ อบ นวด และคาเฟ่ชื่อดังย่านพระราม 9 ก่อนที่จะมีการผ่อนคลายระยะ 5 โดยนายสุขสันต์ จิตติมณี และนางอรวรรณ บำรุง รอง ผอ.สปคม. เปิดเผยว่าการลงพื้นที่ในวันนี้เป็นการตรวจสอบมาตรฐานการบริการของสถานอาบ อบ นวด และคาเฟ่ ว่าเป็นไปตามข้อปฏิบัติในสถานการณ์ COVID-19 หรือไม่   ทั้งในส่วนของพื้นที่โต๊ะบริเวณคาเฟ่ด้านล่าง และภายในห้องซาวน่า ซึ่งยังคงมีบางส่วนที่ผู้ประกอบการต้องแก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจากผู้มาใช้บริการและผู้ให้บริการยังไม่เว้นระยะห่าง เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของ COVID-19

ด้านประกอบการ เตรียมนำข้อแนะนำจากเจ้าหน้าที่ไปปรับปรุงแก้ไข และมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินกิจการและกิจกรรมให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านสุขอนามัยของกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดเอาไว้

ที่มาเรียบเรียงจาก: Thai PBS | สำนักข่าวไทย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท