Skip to main content
sharethis

โครงการสำรวจอีสานโพล มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยคนหนุน 'เพื่อไทย' เลือกตั้งท้องถิ่น 54.1% 'พปชร.' 21% 'คณะก้าวหน้า' 12.2% อยากให้เลือกตั้งช่วง ม.ค.-มี.ค. 2564 'นิด้าโพล' เปิดผลสำรวจคะแนนนิยมการเมืองล่าสุดชี้คนไทยไม่มีนายกฯ-พรรคการเมืองในใจ ด้าน 'ซูเปอร์โพล' ระบุ 'อุตตม' คะแนนความซื่อสัตย์สุจริตนำโด่ง


แฟ้มภาพสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

28 มิ.ย. 2563 ผศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการสำรวจอีสานโพล มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่าจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ 20 จังหวัดภาคอีสานต่อความเห็นเรื่องคนอีสานกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่ได้ดำเนินการสำรวจในช่วงระหว่างวันที่ 19-21 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา เมื่อถามว่าการเลือกตั้งท้องถิ่น การสังกัดพรรคหรือกลุ่มการเมืองใด ที่จะทำให้มีโอกาสชนะมากขึ้น โดยผลการสำรวจพบว่าร้อยละ 54.1 เลือกพรรคเพื่อไทย รองลงมา คือพรรคพลังประชารัฐ ด้วยคะแนน ร้อยละ 21 คณะก้าวหน้า คะแนน ร้อยละ 12.2 และพรรคภูมิใจไทยร้อยละ 9.0 ขณะที่ร้อยละ 3.7 เลือกพรรคและกลุ่มการเมืองอื่น ๆ

ขณะที่การสำรวจถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการเลือกตั้งนั้นพบว่าส่วนใหญ่อยากให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นในช่วง ม.ค.-มี.ค.2564 ที่เป็นช่วงที่เหมาะสมต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นมากที่สุด และปัจจัยสำคัญในการชนะการเลือกตั้ง ประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย การสังกัดพรรคการเมือง, นโยบายในการหาเสียง และประวัติกับผลงานของผู้สมัคร

หัวหน้าโครงการสำรวจอีสานโพล กล่าวอีกว่าผลสำรวจความเห็นของคนอีสานต่อ ความสำคัญต่อการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง พบว่า ร้อยละ 74.9 คนอีสานให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง ส.ส. ร้องลงมาคือร้อยละ ร้อยละ 12.5 ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง อบต. หรือเทศบาล และร้อยละ 4.6 ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง อบจ.ขณะที่ความคิดเห็นถึงการกระจายอำนาจและการจัดการเลือกตั้งเหมือนกันกับกรุงเทพมหานครหรือไม่ ผลสำรวจระบุว่ามากถึงร้อยละ 58.7 ต้องการให้เกิดขึ้นภายใน 5 ปี โดยร้อยละ 21.7 ไม่แน่ใจ และร้อยละ 12.1 แสดงความคิดเห็นว่าไม่ต้องการ

'นิด้าโพล' เปิดผลสำรวจคะแนนนิยมการเมืองล่าสุดชี้คนไทยไม่มีนายกฯ-พรรคการเมืองในใจ

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 2” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 22 – 24 มิถุนายน 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,517 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 44.06 ระบุว่าเป็น ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 2 ร้อยละ 25.47 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะ บริหารงานดีอยู่แล้ว ทำงานตรงไปตรงมา มีความซื่อสัตย์ บ้านเมืองสงบไม่วุ่นวายช่วยเหลือประชาชนได้จริง และอยากให้ดำรงตำแหน่งต่อไป อันดับ 3 ร้อยละ 8.07 ระบุ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคเพื่อไทย) เพราะ มีประสบการณ์การทำงาน การบริหารงานที่ผ่านมาได้ดี พูดจริง ทำจริง และชื่นชอบเป็นการส่วนตัวอันดับ 4 ร้อยละ 7.03 ระบุว่าเป็น ไม่ตอบ/ไม่สนใจ อันดับ 5 ร้อยละ 4.57 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) เพราะ เป็นคนตรงไปตรงมา  พูดจริง ทำจริง มีความซื่อสัตย์ และชื่นชอบเป็นการส่วนตัว อันดับ 6 ร้อยละ 3.93 ระบุว่าเป็น 

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) เพราะ อยากได้คนรุ่นใหม่มาบริหารประเทศ และชื่นชอบนโยบายพรรค อันดับ 7 ร้อยละ 1.67 ระบุว่าเป็น นายกรณ์ จาติกวณิช (พรรคกล้า) เพราะมีวิสัยทัศน์ที่ดี มีความเป็นผู้นำ มีความสามารถทางด้านเศษฐกิจ และมีความเข้าใจการเมืองทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ อันดับ 8 ร้อยละ 0.99 ระบุว่าเป็น นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ (พรรคเพื่อไทย) เพราะ ชอบผลงานของพรรคเพื่อไทย และเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น อันดับ 9 ร้อยละ 0.95 ระบุว่าเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพราะ มีความเป็นผู้นำ การทำงานมีความยืดหยุ่น อันดับ 10 ร้อยละ 0.87 ระบุว่าเป็น นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ (พรรคเศรษฐกิจใหม่) เพราะ มีนโยบายพรรคที่ชัดเจน น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ดี อันดับ 11 ร้อยละ 0.83 ระบุว่าเป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (พรรคประชาธิปัตย์) เพราะ ไม่มีประวัติด่างพร้อย และมีวิสัยทัศน์ที่ดี อันดับ 12 ร้อยละ 0.44 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) เพราะ มีผลงานในการทำงานที่ดี และบริหารจัดการงานได้ดี อันดับที่ 13 ร้อยละ 0.32 ระบุว่า นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ) เพราะ ชอบในการทำงาน และชื่นชอบเป็นการส่วนตัว และนายชวน หลีกภัย ในสัดส่วนที่เท่ากัน อันดับ 14 ร้อยละ 0.20 ระบุว่าเป็น นายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์ อันดับ 15   ร้อยละ 0.16 ระบุว่าเป็น นายอุตตม สาวนายน (พรรคพลังประชารัฐ) อันดับที่ 16 ร้อยละ 0.08 ระบุว่าเป็น หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล เพราะ มีประสบการณ์ในการทำงานที่ยาวนาน และน่าช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ดี และอันดับ 17 ร้อยละ 0.04 ระบุว่าเป็น นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) 

และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ คะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 1 เดือนธันวาคม 2562 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายชวน หลีกภัย หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล และนางสาวกัญจนา ศิลปอาชา มีสัดส่วนลดลง ซึ่งในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส นายกรณ์ จาติกวณิช นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายอุตตม สาวนายน ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ และไม่ตอบ/ไม่สนใจ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 32.38 ระบุว่าเป็น ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย อันดับ 2 ร้อยละ 20.70 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย อันดับ 3 ร้อยละ 15.73 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ อันดับ 4 ร้อยละ 13.47 ระบุว่าเป็น พรรคก้าวไกล อันดับ 5 ร้อยละ 7.75 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 6 ร้อยละ 3.42 ระบุว่าเป็น ไม่ตอบ/ไม่สนใจ อันดับ 7  ร้อยละ 2.50 ระบุว่าเป็น พรรคเสรีรวมไทย อันดับ 8 ร้อยละ 1.43 ระบุว่า พรรคภูมิใจไทย อันดับ 9 ร้อยละ 1.11 ระบุว่าเป็น พรรคกล้า อันดับ 10 ร้อยละ 0.60 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อชาติ อันดับ 11 ร้อยละ 0.36 ระบุว่าเป็น พรรคชาติไทยพัฒนา อันดับ 12 ร้อยละ 0.20 ระบุว่าเป็น พรรคเศรษฐกิจใหม่ อันดับ 13 ร้อยละ 0.16 ระบุว่าเป็น พรรคประชาชาติ อันดับ 14 ร้อยละ 0.11 ระบุว่าเป็น พรรคชาติพัฒนา และอันดับ 15 ร้อยละ 0.08 ระบุว่าเป็น พรรครวมพลังประชาชาติไทย และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ คะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 1 เดือนธันวาคม 2562 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเศรษฐกิจใหม่ และพรรคประชาชาติ มีสัดส่วนลดลง ซึ่งในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า พรรคเพื่อไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคชาติพัฒนา ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย และไม่ตอบ/ไม่สนใจมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น และผู้ที่ระบุว่า พรรครวมพลังประชาชาติไทย มีสัดส่วนเท่าเดิม

'ซูเปอร์โพล' ระบุ 'อุตตม' คะแนนความซื่อสัตย์สุจริตนำโด่ง

ด้านดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง "เหตุปัจจัย" กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินการเก็บข้อมูลแบบผสมผสาน (Mixed Method) ทั้งการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ การลงพื้นที่ และการเก็บข้อมูลในโลกโซเชียล ทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,187 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25-26 มิ.ย.2563 ที่ผ่านมา

เมื่อสอบถามถึงความเดือดร้อน ทุกข์ยากของประชาชนด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.9 ระบุเงินไม่พอใช้ในแต่ละเดือน รองลงมาคือร้อยละ 49.5 ระบุงานไม่มั่นคง, ร้อยละ 32.9 ระบุไม่มีงานทำ, ร้อยละ 32.0 ระบุอาหารและของใช้จำเป็นราคาแพง และร้อยละ 23.9 มีปัญหาครอบครัว เมื่อสอบถามถึงเหตุปัจจัยของปัญหาด้านการเมืองการปกครอง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.7 ระบุความล้มเหลวในการแก้ปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม รองลงมาคือร้อยละ 89.7 ระบุความเหลื่อมล้ำ เลือกปฏิบัติ ที่ประชาชนถูกกระทำ, ร้อยละ 89.1 ระบุความไม่ชอบธรรมของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐเกิดขึ้นในทุกระดับ, ร้อยละ 87.3 ระบุความไม่เชื่อมั่นต่อองค์กรอิสระ และร้อยละ 85.9 ระบุผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาล ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีต่อเด็กและเยาวชน

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงการรับรู้ต่อความซื่อสัตย์ สุจริตของรัฐมนตรีทั้งสี่ ที่ตกเป็นข่าวจะถูกถูกปรับออก พบผู้ที่ได้คะแนนความซื่อสัตย์ สุจริต สูงที่สุด ได้แก่ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ร้อยละ 59.3 รองลงมาคือ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รม.พลังงาน ร้อยละ 59.2, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อุดมศึกษาฯ ร้อยละ 59.0 และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 52.5 ตามลำดับ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ การรับรู้ต่อประวัติด่างพร้อย หรือเกี่ยวโยงทุจริต ผลประโยชน์ต่างตอบแทนบุญคุณของบางคนที่ตกเป็นข่าวจะเข้ามาเป็นรัฐมนตรี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.3 เคยได้ยินต่อบุคคลที่มีประวัติด่างพร้อย เกี่ยวโยงทุจริต ผลประโยชน์ต่างตอบแทนบุญคุณกัน เข้ามาจะถอนทุนคืน มีเพียงร้อยละ 9.7 เท่านั้นที่ไม่เคยได้ยิน

นอกจากนี้ ที่น่าเป็นห่วงอีกคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.8 ระบุผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลทำงานการเมืองเก่าแบบเดิม ที่เคยถูกอ้างก่อนการยึดอำนาจ ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 14.2 ระบุ รัฐบาลทำงานแบบการเมืองใหม่ และที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ ภายหลังมีข่าวต่ออายุ ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พบว่าแนวโน้มจุดยืนการเมืองของประชาชนต่อการสนับสนุนรัฐบาลลดฮวบลง จากร้อยละ 22.3 ในช่วงผ่อนปรนโควิด-19 เหลือร้อยละ 13.5 ในช่วงหลังมีข่าวต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า สารพัดเหตุปัจจัยรุมเร้าทำให้ประชาชนหนุนรัฐบาลลดต่ำลงอย่างน่าหวาดเสียว ซึ่งอาจจะอยู่ในสภาพคล้ายๆ กับช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด ที่เคยตกลงไปต่ำสุดที่ร้อยละ 9 เท่านั้น โดยผลโพลนี้พบเหตุปัจจัยสำคัญอยู่ที่ปัญหาด้านการเมือง เพราะประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลกำลังทำการเมืองเก่าแบบเดิมที่เคยเป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจ ไม่ใช่ “การเมืองใหม่” จึงขอให้ผู้หลักผู้ใหญ่ที่จริงจังจริงใจต่อประชาชนกลับมาฟังเพลงของ คสช.ทุกวัน ทุกวันที่เคยสร้างความหวังและคำสัญญาที่เคยอยู่ในบทเพลง คืนความสุขให้ประเทศไทย “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน เราจะทำอย่างซื่อตรง ขอให้เธอจงไว้ใจและศรัทธาแผ่นดินจะดีในไม่ช้า ขอคืนความสุขให้เธอประชาชน” และขอความกรุณารักษาประเทศชาติและประชาชนให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างสงบสุข โดยทบทวนการตัดสินใจที่กำลังจะทำการเมืองแบบเก่าๆ ที่อาจจะทำให้วัฏจักรของความเลวร้าย วนกลับมาซ้ำซากอย่างน่าสงสารประชาชนทั้งประเทศที่จะทุกข์ยากแสนสาหัสบนซากปรักหักพัง แต่จะมีคนแค่หยิบมือได้ประโยชน์จากความวุ่นวายของบ้านเมือง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net