Skip to main content
sharethis

กิจกรรมรำลึก “อภิวัฒน์สยาม” 24 มิถุนายน 2475 ปีหน้าปีโน้น (ครบ 90 ปี) จะร้อนแรงเพียงไร นึกภาพไม่ออก

เพราะปีนี้ไม่เพียงมีคนเข้าร่วม คนติดตาม มีการเผยแพร่ความรู้ ขุดคุ้ยประวัติศาสตร์ จำนวนมากขึ้นๆ อำนาจรัฐก็ยังช่วย “ตีปี๊บ” สร้างความสนใจ เช่นจู่ๆ พบอาวุธสงครามที่แม่สอด ก็บอกว่าโยงการเมือง ขู่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินกับนักกิจกรรม หาว่ามีคน “จ้างมา” ราวกับรำลึก 2475 เป็นการทำผิดคิดร้าย เอ๊ะ เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่หรือ

พีกสุดคือ กองทัพบก บวงสรวงพระองค์เจ้าบวรเดช พระยาศรีสิทธิสงคราม แล้วชี้หน้าคณะราษฎร “รัฐประหารล้มเจ้า” ถือเป็นการแสดงจุดยืนชัดเจนเป็นทางการครั้งแรกของกองทัพ ในรอบ 63 ปี นับแต่สฤษดิ์รัฐประหาร 2500 โค่นจอมพล ป.

เพราะก่อนหน้านี้ กองทัพที่ขึ้นมาเป็นใหญ่หลังหนุนจอมพล ป. รัฐประหาร 2490 แม้มีบทบาทสำคัญในการลบลืมประวัติศาสตร์คณะราษฎรตั้งแต่ยุคสฤษดิ์ แต่ก็ไม่ถึงขั้นประณามกันอย่างเปิดเผย สายสัมพันธ์ก็ค่อนข้างสับสน เช่นคนลอบยิงพระยาศรีสิทธิสงคราม ก็คือ ร.ท.ตุ๊ ประภาส จารุเสถียร ซึ่งเป็นขุนพลสำคัญยุคเผด็จการสฤษดิ์-ถนอม 2500-2516 นั่นเอง

ในทางความคิด อ.ชาตรี ประกิตนนทการ บอกว่าในยุค 2530-2540 จอมพล ป.ยังถือเป็นวีรบุรุษของทหารอยู่เลย มีการสร้างอนุสาวรีย์จอมพล ป.ขึ้นในพื้นที่ทหารหลายแห่ง

กองทัพบกคงทำให้คนถกเถียงกันอีกเยอะ เช่น 2475 เป็นแค่รัฐประหารหรือ เพราะคือการเปลี่ยนแปลงระบอบ จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ในทางการเมืองคือ ทรงพ้นไปจากภาระที่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐบาล ซึ่งก่อน 2475 “รัฐบาล” ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

แม้หลัง ร.7 สละราชสมบัติ คณะราษฎรก็ทำตามกฎมณเฑียรบาล เสนอพระนามในหลวงอานันทมหิดล ให้สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ นี่เรียกว่าล้มราชบัลลังก์? คนรุ่นหลังคงได้ถกกันเยอะเลย

คณะราษฎรกลับมาเกิดใหม่ ในกระแสความสนใจของคนรุ่นหลัง เมื่อหลังรัฐประหาร 2549 นี่เอง หรือขีดเส้นใต้ให้ชัดเจน ก็หลังพฤษภา 53 หลังรัฐประหาร 2557 ซึ่งเกิดกระแสเอียงขวา ปฏิเสธประชาธิปไตยจากเลือกตั้ง หวนไปด่าคณะราษฎรนำเข้า “ประชาธิปไตยฝรั่ง” ทั้งที่ในหลวง ร.7 จะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ฯลฯ ก็เลยเกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวาง เกิดการขุดค้นประวัติศาสตร์ ว่าทำไมต้องมี 2475 คณะราษฎรทำอะไรไว้บ้าง

ซึ่งก็ทำให้คนรุ่นหลังอึ้งทึ่ง ว่ามีหลากหลายเหตุการณ์ในช่วง 25 ปี นับแต่ 2475 ถึง 2500 ที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลย เพราะแบบเรียนของกระทรวงศึกษาฯ เต็มไปด้วยการครอบงำ บิดเบือน ลบเลือน และสร้างมายาคติ จนทำให้คณะราษฎรเป็นผู้ร้าย ทั้งที่มีคุณูปการมากมาย แม้มีด้านที่ผิดพลาดบ้างเช่นกัน

ก่อนปี 2549 แม้มีการยกย่อง อ.ปรีดี แต่ก็อยู่ในแวดวงวิชาการ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลกร้ายคือ ปี 2543 มีการจัดงาน 100 ปีชาตกาล โดยสังคมไทยไม่มีข้อขัดแย้ง พากันยกย่องปรีดีทั้งที่ตอนหลังแยกเป็นเหลืองแดง

เพียงแต่ภาพลักษณ์ของคณะราษฎรโดยรวม ไม่มีกล่าวถึงมากนัก ปรีดีเป็นพระเอก จอมพล ป. ก็ยังเป็นเหมือน “ผู้ร้าย” โดยเฉพาะยุคที่เป็นเผด็จการทหารนิยม ยุคหลัง 2490 อัศวินผยองอุ้มฆ่า หรือโกงเลือกตั้ง 2500 จนสฤษดิ์รัฐประหารไม่ต้องมีเลือกตั้งอีก 12 ปี

แต่ไม่กี่ปีมานี้ ในโลกออนไลน์เต็มไปด้วยคำพูดหลวงพิบูลสงครามเมื่อปี 2483 มีการพลิกฟื้นประวัติศาสตร์ถกเถียงกันว่ากระทั่งหนัง “โหมโรง” ก็ทำให้จอมพล ป. (และพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) เป็นผู้ร้ายเกินจริง

เพราะอะไร คณะราษฎรจึงเกิดใหม่ ก็เพราะรัฐประหาร 49 ทำลายประชาธิปไตย เผาบ้านไล่ทักษิณ แล้วพอพรรคพลังประชาชนชนะ ก็ไม่ยอมรับเสียงข้างมาก ปลุกแนวคิดอนุรักษนิยม เสียงข้างมากเลือกคนเลว ประชาธิปไตยไม่ได้ผล จนยุบพรรคเปลี่ยนรัฐบาล จนเกิดพฤษภา 53 ซึ่งทำให้มวลชนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมหวนไปรำลึก 6 ตุลา 2519 พร้อมกับหวนไปศึกษาการเปลี่ยนแปลง 2475 เพื่อตอบโต้พวกที่อ้างว่า “ประชาธิปไตยเลว”

นักวิชาการที่ได้รับการยกย่องในมวลชนฝ่ายประชาธิปไตย จึงเป็นนักนิติศาสตร์ แบบนิติราษฎร์ และนักประวัติศาสตร์ แบบ อ.ยิ้ม บุตรชายพระยาพหลฯ พ.ต.พุทธินาถ ก็กลายเป็น “พี่แมว” ขวัญใจมวลชน ได้รับเชิญไปงานไม่ขาดสาย

รัฐประหาร 57 ยิ่งไปใหญ่ เพราะยึดอำนาจแล้วไม่สามารถหาจุดลงตัวของระบอบ ไม่สามารถหาฉันทมติใหม่ ใช้อำนาจอยู่บนภาวะแข็งขืน ด้วยปืนด้วยกฎหมาย นานถึง 5 ปี สืบทอดอำนาจด้วยกติกาถอยหลัง ไม่เป็นที่ยอมรับ ต้องการให้ประชาชนสยบยอมต่ออำนาจเท่านั้น

แล้วยังพยายามปิดกั้น ขัดขวาง ลบลืม ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย ซึ่งเปล่าประโยชน์ เพราะอยู่ในโลกยุคที่สืบค้นข้อมูลได้ง่ายดาย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่ติดแฮชแท็กในทวีตภพ

พลังอนุรักษนิยมควรเลิกถกเถียงเรื่องประวัติศาสตร์ ที่มีแต่เข้าเนื้อ แล้วมองไปข้างหน้าดีกว่าว่า จะสร้างฉันทมติอย่างไร ไม่ใช่แค่บังคับคน

 

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/newspaper-column/news_4383776

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net