Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ประวัติศาสตร์คือการศึกษาว่าด้วยความเปลี่ยนแปลง

นั่นคือเหตุผลที่ในสมัยหนึ่ง นักประวัติศาสตร์จึงคิดว่าตนคือผู้ที่เข้าใจความเปลี่ยนแปลง ทั้งที่เกิดมาแล้วและที่จะเกิดในอนาคตได้ดีที่สุด เพราะประวัติศาสตร์มองความเปลี่ยนแปลงจากทุกมิติ ในทางเศรษฐกิจ, การเมือง, วัฒนธรรม หรืออื่นๆ ในขณะที่สังคมศาสตร์แขนงอื่น มองจากมิติเดียว นอกจากมิติอันหลากหลายแล้ว ประวัติศาสตร์ยังสอนให้ประเมินความเปลี่ยนแปลงจากผลที่ปัจจัยหลากมิติเหล่านี้กระทำต่อกัน เช่น โรคระบาดใหญ่ไปกระทบต่อพฤติกรรมด้านต่างๆ ของคนอย่างไร และไปเปลี่ยนคุณค่าด้านความงาม, ความเชื่อ, หรือเกียรติยศ และช่วงชั้นทางสังคม ฯลฯ ของเขาหรือไม่อย่างไร

แต่ทั้งหมดนั้นอาจเป็นเพียงความลำพองของนักประวัติศาสตร์ในสมัยหนึ่งเท่านั้น เพราะสังคมศาสตร์แขนงอื่นๆ ได้ก้าวพ้นความเป็น “ช่าง” ไปแล้ว ผมหมายความว่านักรัฐศาสตร์ไม่ใช่ “ช่าง” ทางการเมือง, เศรษฐศาสตร์ไม่ควรเป็นเพียง “ช่าง” ทางเศรษฐกิจ, มานุษยวิทยาไม่ใช่ “ช่าง” ทางวัฒนธรรม ฯลฯ ที่มุ่งหมายมากกว่าคือทำความเข้าใจกับ “ชีวิต” ทางการเมือง, เศรษฐกิจ, วัฒนธรรม ฯลฯ ของคนในสังคมต่างๆ เมื่อขึ้นชื่อว่า “ชีวิต” มันไม่เคยมีมิติเดียวโดดๆ พฤติกรรมด้านใดด้านหนึ่งเช่นเศรษฐกิจเป็นผลรวมของเงื่อนไขทางการเมือง, วัฒนธรรม และอื่นๆ ของคน มากกว่าเงื่อนไขทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว

ทำให้ประวัติศาสตร์ก็ไม่สู้จะต่างอะไรกับสังคมศาสตร์แขนงอื่นมากนัก ใครก็เข้าใจความเปลี่ยนแปลงได้ดีเท่ากัน (แม้เข้าใจไม่ตรงกันก็มีค่าความน่าเชื่อถือไม่ต่างกัน)

ผมอยากพูดถึงความเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย จากแง่มุมของนักเรียนประวัติศาสตร์

ผมคิดว่า ถึงไม่ต้องอ้าง “ศาสตร์” อะไรเลย ใครๆ ก็มองเห็นอยู่แล้วว่าเมืองไทยกำลังเปลี่ยนในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน ทั้งเป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างไพศาลกว่าที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ใช่ในทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่รวมมิติอื่นๆ ทุกด้าน แต่จะเปลี่ยนไปเป็นอย่างไรนี่สิ ที่ทำนายไม่ได้ เพราะมีความเป็นไปได้หลายทางมาก

เราทุกคนต่างร่วมอยู่ในบรรยากาศ “ตื่นเต้นเร้าใจ, สงสัยกังวลใจ, กระสับกระส่าย” (เอามาจากคำแปล suspense ในดิกชันนารีครับ) เพราะรู้ว่าอะไรสักอย่างที่ใหญ่มากๆ กำลังจะเกิดขึ้นข้างหน้า แต่ไม่รู้ว่าอะไรนั้นคืออะไร

สัญญาณที่ทำให้เกิดบรรยากาศดังกล่าวมีให้เห็นได้ รู้สึกได้ คาดการณ์ได้ ในทุกด้านมานานพอสมควรแล้ว

เช่น เศรษฐกิจไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ไม่ใช่เพราะโควิดนะครับ แต่เพราะระบบการผลิตของเราในเกือบทุกด้านไร้ประสิทธิภาพเสียจนไม่อาจแข่งขันกับใครได้ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรมหรือหัตถอุตสาหกรรม แม้แต่ภาคบริการซึ่งดูเหมือนจะพอไปได้ ก็มีเฉพาะด้านการท่องเที่ยวซึ่งล้ำหน้าเพื่อนบ้าน แต่ไม่ใช่ภาคบริการด้านอื่น เช่น ไม่ใช่ด้านการเงิน, ไม่ใช่ด้านการวิจัย ฯลฯ เป็นต้น ด้านที่ยังพอแข่งขันได้ เช่น การแพทย์, เสริมความงาม, ภาพยนตร์ ฯลฯ ก็เป็นการแข่งขันด้านราคา หรือมีช่องในตลาดที่ยังไม่ถูกแข่งขัน ล้วนเป็นปัจจัยที่ไม่ยั่งยืนทั้งสิ้น

การยึดอำนาจของ คสช.ที่ผ่านมา 5+1 ปี ไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ซ้ำจะยิ่งทรุดลงไปด้วยซ้ำ มันจะเปลี่ยนอย่างไรไม่ทราบได้ พังหรือค่อยๆ ทรุดลงจนมาตรฐานการครองชีพของคนไทยตกต่ำลงสุดๆ ก็เป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่ง เกิดการปฏิรูปใหญ่ที่ช่วยปรับให้เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนไปอีกทางหนึ่งที่เข้มแข็งขึ้น ก็เป็นความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่ง

แต่เป็นไปไม่ได้ที่มันจะประคองตัวอย่างกะปลกกะเปลี้ยไปได้ไม่สิ้นสุด

การเมืองไทยจะเป็นอย่างนี้ตลอดไปไม่สิ้นสุดก็เป็นไปไม่ได้อีกเหมือนกัน การเมืองถูกยึดกุมโดยคนจำนวนน้อยนั้นไม่สู้จะแปลกนักในเมืองไทย เพราะมันเป็นอย่างนี้มานานแล้ว แม้ในระบอบที่ใช้การเลือกตั้งเพื่อให้อำนาจแก่ผู้บริหารก็ตาม แต่การเมืองของ คสช.นั้นกลับทำให้จำนวนคนที่เข้ายึดกุมอำนาจการเมืองหดตัวเหลือน้อยลงอย่างมาก ท่ามกลางความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนกว้างขวางขึ้นกว่าในยุคสมัยใดๆ แม้จะร่างรัฐธรรมนูญเพื่อรักษาอำนาจของคนจำนวนน้อยนั้นให้ยึดการเมืองไว้อย่างมั่นคงเพียงไร ก็ไม่ทำให้การผูกขาดทางการเมืองชอบธรรมขึ้นมาได้

มีหรือ ระบอบการเมืองอะไรที่ขาดความชอบธรรมถึงเพียงนี้จะดำรงอยู่ได้ เราทำนายไม่ถูกเท่านั้นว่ามันจะพังลงอย่างไร

อำนาจในการสร้าง “วาระทางสังคม” หลุดจากมือของสถาบันเดิมๆ ไปแทบจะสิ้นเชิงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสื่อต่างๆ, ระบบราชการ, นักการเมือง, มหาวิทยาลัย หรือแม้แต่สถาบันวิจัยเช่น TDRI บัดนี้อำนาจนี้ตกอยู่ในมือประชาชนในวงกว้างอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ยิ่งสถาบันเดิมๆ พยายามลดทอนอำนาจของประชาชนในด้านนี้ลงด้วยความรุนแรง นับตั้งแต่เรียกปรับทัศนคติ, ตั้งข้อหาร้ายแรง, ไปจนถึงอุ้มหาย แทนที่จะเกิดความสมดุลของอำนาจมากขึ้น กลับยิ่งทำให้อำนาจการกำหนด “วาระทางสังคม” ตกอยู่ในมือของกลุ่มคนที่สถาบันเดิมๆ ไม่อาจควบคุมได้ยิ่งขึ้น ขยายจากโลกเสมือนจริงมาเป็นความเคลื่อนไหวในโลกจริง

วาระทางสังคมนั้นเป็นพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ของสถาบันอำนาจทุกอย่าง ถ้าสร้าง, กำหนด และขัดเกลาไม่ได้เลย สถาบันเหล่านั้นจะใช้อำนาจต่อไปอย่างชอบธรรมได้อย่างไร คนเรายอมรับอำนาจ ก็เพราะรู้สึกว่าอำนาจนั้นชอบธรรม ถ้าไม่รู้สึก อำนาจก็กลายเป็นการกดขี่

สัญญาณแห่งความเปลี่ยนแปลงที่กล่าวข้างต้นนั้น เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดและมีผู้พูดถึงมามากแล้ว ผมอยากจะยกสัญญาณอื่นๆ ที่อาจไม่ชัดอย่างนั้นมากล่าวไว้เป็นตัวอย่างด้วย

ผมคิดว่าระบอบเกียรติยศ (prestige regime) ในสังคมไทยกำลังเปลี่ยน แต่จะเปลี่ยนไปเป็นอย่างไรผมจับไม่ได้ เห็นชัดแต่ว่าระบอบเก่ากำลังพังสลายลง ตำแหน่งสาธารณะที่เคยมีเกียรติยศอย่างสูง กลายเป็นตำแหน่งที่ทุกฝ่าย ซึ่งแม้อยู่ตรงข้ามกัน ก็เห็นว่าคือ “ลูกกะโล่” ของผู้มีอำนาจ แม้ฝ่ายที่เชียร์ก็ยังเห็นว่าเป็นลูกกะโล่อยู่นั่นเอง ดังนั้น สถานะที่เขาดำรงอยู่ นับตั้งแต่เงินเดือนไปจนถึงอำนาจตามกฎหมาย จึงไร้ความหมาย ทุกฝ่ายรู้อยู่แล้ว ในสถานการณ์อย่างนี้ คุณต้องพูดอย่างนี้ และต้องทำอย่างนี้ ส่วนจะได้รับการปรบมือหรือก้อนหิน ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละฝ่าย

เกียรติยศเป็นส่วนหนึ่งของการจัดช่วงชั้นทางสังคมของผู้คน มันไม่ได้มาพร้อมกับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่มีผลตอบแทนทาง “อำนาจ” อยู่ด้วย ทำให้แต่ละสังคม (สมัยใหม่) มีทางมาของอำนาจที่หลากหลาย เกิดการถ่วงดุลทางอำนาจที่ไม่ใช่บริหาร-ตุลาการ-นิติบัญญัติเท่านั้น ระบอบเกียรติยศที่แข็งแกร่งจึงมีส่วนอยู่ไม่น้อยในการประกันเสถียรภาพของสังคม คนอย่างอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, ศรีบูรพา, ท่านพุทธทาสภิกขุ ฯลฯ (ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับคำกล่าวของท่านเหล่านั้นหรือไม่) จึงช่วยทำให้ระบอบเผด็จการทหารในเมืองไทย ซึ่งมีความมั่นคงอย่างยิ่ง ไม่กลายเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จไปได้

เคยสังเกตบ้างไหมครับว่า ในการยกคำพูดคำกล่าวของบุคคลขึ้นตอกย้ำจุดยืนทางการเมืองหรือสังคมของตนเองในสื่อโซเชียล คำกล่าวที่ถูกยกมาใช้ล้วนเป็นของคนต่างชาติ หากเป็นคนไทย คือคนที่ตายไปแล้วทั้งนั้น

สิ่งที่เคยถือว่า “ศักดิ์สิทธิ์” ก็เสื่อมความยอมรับไปมากขึ้นตลอดมา คำกล่าวว่า ชั่วช่างชีดีช่างสงฆ์นั้น ถึงจะถูกนักปราชญ์แต่ก่อนโจมตีมาตลอดว่า ทำให้วงการสงฆ์ไทยเลื่อนเปื้อนโดยสังคมไม่อาจควบคุมได้ ซึ่งก็จริงแน่ แต่พระสงฆ์นั้นอยู่ในแดน “ศักดิ์สิทธิ์” จึงยากที่จะให้ชาวบ้านกล้าวิพากษ์วิจารณ์ แต่ในความคิดของคนไทยปัจจุบัน พระสงฆ์ได้เลื่อนหลุดออกมาจากแดนศักดิ์สิทธิ์ไปแล้ว

อย่าว่าแต่พระสงฆ์เลย แม้แต่พระพุทธและพระธรรมก็กำลังเลื่อนออกมาจากแดนนั้นเหมือนกัน

ไม่แต่เพียงศาสนาเท่านั้น อะไรที่เคยศักดิ์สิทธิ์ในเมืองไทย ก็กำลังสูญเสียความศักดิ์สิทธิ์ไปอีกหลายอย่าง

อันที่จริงในการเข้าสู่สังคมสมัยใหม่โดยส่วนใหญ่ ความศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งที่ถูกท้าทายอันดับต้นๆ เลยก็ว่าได้ ไม่เฉพาะแต่ความศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาเท่านั้น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในทางโลกอื่นๆ ก็ถูกท้าทายได้เหมือนกัน วิธีรับมือกับความเสื่อมสลายของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสังคมอื่นมีอยู่สองอย่าง คือสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ใหม่ที่ผู้คนล่วงละเมิดไม่ได้ เช่น พรรคคอมมิวนิสต์และศาสดาทั้งหลายของลัทธิ แต่ก็พิสูจน์ให้เห็นในยุโรปตะวันออกและกลางแล้วว่า อำนาจดิบเพียงอย่างเดียวไม่อาจรักษาความศักดิ์สิทธิ์ใหม่ไว้ได้

อย่างที่สองคือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์เก่าเปิดตัวรับคำวิพากษ์วิจารณ์ได้เต็มที่ แต่ปรับตัวโดยการเน้นประโยชน์ต่อสังคมของตนให้มาก และตอบสนองต่อคำวิจารณ์อย่างแนบเนียน ถึงอย่างไร สถาบันศักดิ์สิทธิ์เดิมนั้นก็มี “ทุน” ทั้งทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ พอจะตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจดิบโดยขาดความถูกต้องตามกฎระเบียบและความชอบธรรม

ความถูกต้องตามกฎระเบียบ (legitimacy) และความชอบธรรม (decency) เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในอันที่จะทำให้สังคมดำรงอยู่ได้ แต่ผมคิดว่าทั้งสองอย่างกำลังมีปัญหาอย่างแรงในเมืองไทย (ซึ่งมีผู้กล่าวไว้มากแล้ว) สองอย่างนี้ที่จริงแล้วเป็นสองด้านของสิ่งเดียวกัน อำนาจของกฎหมายไม่ได้อยู่แต่เพียงว่า มันบัญญัติอะไรเอาไว้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับว่าสิ่งที่บัญญัตินั้นมีความชอบธรรมในทัศนะของผู้ถูกบังคับใช้ด้วย

ในระยะกว่าทศวรรษที่ผ่านมาในเมืองไทย ทั้งความชอบด้วยกฎหมายและความชอบธรรม ถูกสงสัยและไม่ยอมรับจากคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่จำกัดเฉพาะคนที่มีการศึกษาสูงเท่านั้น แต่เลยไปถึงชาวบ้านร้านถิ่นทั่วไป

อาการนี้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น เช่น เมื่อสลิ่มใช้การฟ้องร้องด้วยการแจ้งความในจังหวัดห่างไกลจากผู้ที่ตนฟ้องร้อง เพื่อให้เกิดความยากลำบากแก่ผู้ถูกกล่าวหา ก็หมายความว่าสลิ่มไม่เชื่อในความเที่ยงแท้แน่นอนของกฎหมายและความชอบธรรมของกระบวนการยุติธรรมเหมือนกัน จึงหาช่องทาง “ลงโทษ” ผู้ถูกกล่าวหาแทนกฎหมายมาแต่ต้น และไม่สนใจผลของกระบวนการยุติธรรม

ทั้งนี้ โดยเรายังไม่ได้พูดถึงการใช้กฎหมายในระยะกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งคนจำนวนมากเห็นว่าขาดความชอบธรรม ในขณะที่คนจำนวนมากอีกฝ่ายหนึ่งไม่สนใจว่าชอบธรรมหรือไม่ กฎหมายที่ไม่ตั้งอยู่บนความชอบธรรมในความเห็นของใครสักฝ่ายเดียวเช่นนี้ จะเป็นระบบที่รักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมได้ละหรือ

ความเสื่อมโทรมของสถาบันสำคัญๆ ของสังคม เช่น เกียรติยศ, ความศักดิ์สิทธิ์, ความชอบด้วยกฎหมาย และความชอบธรรมเช่นนี้ ทำให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้น ไม่น่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงโดยสงบ หรือความเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่ความสงบ

ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยมีความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่มาแล้ว คือการอภิวัฒน์ใน 2475, การรัฐประหาร 2490, การรัฐประหาร 2500, 14 ตุลา, พฤษภามหาโหด 2535, แต่ความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นเกิดขึ้นในยามที่สถาบันหลักๆ ของสังคมยังแข็งแกร่ง เกียรติยศเดิมก็ยังอยู่ ความศักดิ์สิทธิ์เดิมก็ยังอยู่ ความชอบด้วยกฎหมายและธรรมก็ยังอยู่ แม้ความเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้เสียเลือดเนื้ออย่างน่าสลดใจสักเพียงไร สังคมก็ฟื้นขึ้นมาและเดินต่อไปได้

แต่ความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่กำลังจะมาถึงข้างหน้า จะเกิดขึ้นท่ามกลางการล่มสลายของสถาบันหลักๆ เหล่านั้น ผมเกรงว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่สูญเสียอย่างมาก อย่างที่เราไม่เคยประสบมาก่อน และที่น่าเศร้าสลดยิ่งกว่านั้นก็คือ แม้สูญเสียมากถึงเพียงนั้นแล้ว กว่าจะฟื้นตัวขึ้นมาเดินต่อไป ไม่ว่าบนหนทางอะไร ก็ต้องใช้เวลานานมาก อาจเกินหนึ่งชั่วอายุคนด้วยซ้ำ ส่วนใหญ่ของเราที่หายใจอยู่ในทุกวันนี้ จะไม่ได้เห็น

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_318173

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net