'กลุ่มแคร์' เสนอรัฐหนุนสินเชื่อผ่อนปรนวงเงิน 2 ล้านล้านบาทให้ SME

'กลุ่มแคร์' เสนอให้รัฐบาลสนับสนุนสินเชื่อผ่อนปรนวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ดอกเบี้ย 2% ต่อปี ปลอดการชำระเงินต้นเป็นเวลา 4 ปี เมื่อปล่อยกู้แล้ว SME ต้องมีเงินทำธุรกิจต่อเนื่องราว 1 ปี คืนหนี้ 4 ปี ทั้งนี้ต้องสร้างเงื่อนไขว่าเงินต้องลงไปที่ SME จริง

28 มิ.ย. 2563 มติชนออนไลน์ รายงานว่ากลุ่มแคร์คิดเคลื่อนไทย ไลฟ์สดทางเฟสบุ๊คแฟนเพจ CARE คิด เคลื่อน ไทย หัวข้อ ทางรอดจาก ตุลามหาวิกฤต CARE เสนอปังๆ และเปย์ๆ แบบ #DareToCare ฟังแล้วถึงกับ อ้าปากค้าง โดย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชาชน สมาชิกเริ่มต้นกลุ่มแคร์, นายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกชื่อดัง สมาชิกเริ่มต้นกลุ่มแคร์ และนายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร สมาชิกเริ่มต้นกลุ่มแคร์ ดำเนินรายการโดย น.ส.ลักขณา ปันวิชัย หรือแขก คำผกา

นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า ที่คุยกันว่าผู้ป่วยในประเทศเป็น 0 คนมานานกว่า 30 วัน หรือผู้ป่วยที่อาการรุนแรงจริงๆ บางวันมี 1 คน บางวันไม่มีเลย ฉะนั้น สถานการณ์แบบนี้หลายประเทศประกาศชัยชนะ พร้อมเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจแล้ว ขณะที่ไทยยังไม่รู้ว่าจะต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์หรือไม่ ทั้งนี้ ได้บอกตั้งแต่ต้นแล้วว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่จำเป็นเลย เราสามารถใช้ พ.ร.บ.โรคระบาด หรือ พ.ร.บ.เดินอากาศได้ และทำได้อย่างดีจนทุกประเทศบอกว่าไทยเป็นตัวอย่าง ศักยภาพของไทยวันนี้อยากให้ผู้ป่วยใหม่เป็น 0 เรื่อยๆ แต่ถ้ามีขึ้นมาบ้างก็ไม่น่ากลัวแล้ว เพราะเรามีเตียงไอซียูเพียงพอในการรองรับ

นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่าวันนี้น้ำเสียงของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่เหมือนเดิมแล้ว สธ.ระบุว่าสามารถสบายใจได้แล้ว ถ้ามีผู้ป่วยเล็กน้อยก็ไม่น่ากังวล วันนี้ควรเริ่มคุยกันเรื่องท่องเที่ยวได้แล้ว ทั้งหมดนี้ทำให้คิดว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้คนที่รับผิดชอบจริงๆ หรือมีความรู้เรื่องนี้ตัดสินใจเองไม่ได้ ต้องรอ ผอ.ศบค.คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายรัฐมนตรี ตัดสินใจเท่านั้น อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวที่เห็นข้อมูลวอร์รูมจาก สธ.ทุกวันรู้สึกสบายใจแล้วว่าเรื่องโควิด-19 ไม่มีอะไรต้องกังวลแล้ว แต่ที่กังวลมากกว่าคือ 150 วันอันตราย หรือเดือนตุลาคมที่จะมาถึง เศรษฐกิจจะหนักหนามากชนิดที่ไม่เคยเห็นมาก่อน กล่าวได้ว่าเป็น 'ตุลามหาวิกฤต'

นายดวงฤทธิ์กล่าวว่า ข่าวทำให้ใจแป้วคือเรื่องแทรเวล บับเบิล ที่ระบุว่าอีก 2 เดือนค่อนยมาคุยกัน ไม่ได้หมายความว่าจะเปิด เพราะสิ่งต่อเนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยวจำนวนมากน่าเป็นห่วง อาทิ อาหาร ร้านอาหาร โรงแรม งานฝีมือที่ทำขายนักท่องเที่ยว ซึ่งกำลังพูดถึงเอสเอ็มอีที่มีอยู่ส่วนใหญ่ จนถึงซัพพลายเชนของอาหาร เช่น การเกษตรทั้งหมด โดยจะเห็นว่าถ้าไม่ตัดสินใจเปิดการท่องเที่ยวก็น่าห่วง ผมเองทำงานออกแบบให้โรงแรม ร้านอาหาร เห็นภาพแล้วว่าไม่มีความหวังเลย

นายศุภวุฒิกล่าวว่า อยากเปรียบเทียบว่าวิกฤตโควิด-19 เสมือนเราเดินอยู่แล้วแผ่นดินแยกเป็นเหว ซึ่งเป็นหน้าที่รัฐบาลในการสร้างสะพานข้ามไปอีกฟากหนึ่ง หากสะพานนี้สร้างไม่ครบก็ไม่มีประโยชน์เพราะเดินแล้วตก หรือหากสร้างแล้วเกิดช่องว่าง คนอ่อนแอก็ตกลงไปตาย ผู้ที่แข็งแรงเท่านั้นที่จะกระโดดข้ามไปได้ ดังนั้น ถ้าสร้างสะพานต้องสร้างแบบก้าวให้ครบ ทั้งนี้ ในเชิงวิชาการพูดกันเสมอว่าโควิด-19 ใช้เวลาหาวัคซีน และฉีดทั่วโลกได้ 2 ปี ดังนั้น ต้องมีมาตรการให้คนมากที่สุดรอดใน 2 ปีข้างหน้า ถ้าคิดในกรอบนี้จึงรู้ว่าขนาดของแพคเกจที่ออกมาต้องเพียงพอช่วยธุรกิจส่วนใหญ่ก้าวข้ามไปได้ประมาณ 2 ปี

นายศุภวุฒิกล่าวว่า โมเดลที่นำเสนออย่างถ้วนหน้าเท่าที่คิดว่ามีประสิทธิผลคือ ก่อนหน้านี้เรามีเอ็นพีแอลแล้ว 5 แสนล้าน มีหนี้จากชั้นพิเศษ 1.2 และคาดว่าจะหล่นชั้นมาเอ็นเอ็นพีแอลอีก 1.7 ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลจากแบงก์ชาติว่ามีเอสเอ็มอีที่มาขอพักดอกเบี้ยราว 1 ล้านกว่าราย รวมมูลค่า 2 ล้านล้านบาท ดังนั้นจึงเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนสินเชื่อผ่อนปรนวงเงิน 2 ล้านล้านบาท คิดดอกเบี้ย 2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ปลอดการชำระเงินต้นเป็นเวลา 4 ปี เมื่อปล่อยกู้แล้วเอสเอ็มอีต้องมีเงินทำธุรกิจต่อนเนื่องราว 1 ปี คืนหนี้ 4 ปี ทั้งนี้ ต้องสร้างเงื่อนไขว่าเงินต้องลงไปที่เอสเอ็มอีจริง อย่างไก็ตาม รัฐบาลต้องทำใจว่าหนี้ 2 ล้านล้านบาท อาจสร้างความเสียหายได้ถึง 4 แสนล้านบาท แต่หากทำดี ทำเร็วจริง เศรษฐกิจฟื้นได้ดี มูลค่าหนี้อาจต่ำกว่านี้

จำนวนเงิน 2 ล้านล้านบาทนั้น คนใส่เงินคือแบงก์ชาติ โดยให้แบงก์ชาติปล่อยกู้แบงก์อื่น ๆ ในอัตราดอกเบี้ย 0.01 เปอร์เซ็นต์ ให้แบงก์ปล่อยกู้ 2 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้น 5 แสนล้านบ้านแปลงเป็น 2 ล้านล้านบาทได้ง่ายมาก ขณะเดียวกันก็แนะนำให้รัฐบาลออกพันธบัตรให้แบงก์ชาติซื้อ โดยรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ย 0.01 เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นพันบัตร 100 ปี และให้สามารถต่ออายุได้อีก 100 ปี

แถลงการณ์แคร์ -​
ชุบชีวิตเศรษฐกิจไทย: อัดฉีด SME 2 ล้านล้าน ลดดอกปลอดต้น 4 ปี

ตุลามหาวิกฤตเศรษฐกิจ

ประเทศไทยปราศจากผู้ติดเชื้อโรค COVID-19 ในประเทศมา 34 วันแล้ว แต่ความเสียหายทางเศรษฐกิจยังคงเพิ่มพูนขึ้นทุกวัน เพราะธุรกิจต่างๆ ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการได้ปกติเหมือนเดิม ต้องเผชิญกับภาวะที่ยอดขายลดลงอย่างมาก หรือยังไม่มีรายได้เลย ในขณะที่ต้นทุนการดำเนินกิจการเพิ่มขึ้นตามเงื่อนไขระยะห่างทางสังคม (Social distancing) และมาตรการป้องกันอื่นๆ ที่ได้ถูกกำหนดขึ้นมาใหม่

มาตรการเยียวยาของภาครัฐมีข้อจำกัดทั้งในเชิงของความทั่วถึง และระยะเวลาที่สั้นอย่างมาก เช่น การเยียวยาผู้ว่างงาน 15 ล้านคน และเกษตรกร 10 ล้านคน ซึ่งได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อเดือนเพียง 3 เดือน ในขณะที่ประเมินกันว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกให้กลับมาสู่สภาวะปกตินั้นต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3 ปี

และที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือ ผู้ได้รับผลกระทบมีจำนวนมาก เห็นได้จากลูกหนี้สถาบันการเงินที่ขอความช่วยเหลือจากมาตรการผ่อนปรนการจ่ายดอกเบี้ยและคืนเงินต้นซึ่งมีมากถึง 16.3 ล้านรายโดยมีมูลหนี้สูงถึง 6.84 ล้านล้านบาท หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของสินเชื่อทั้งหมดในระบบ ในส่วนนี้มีธุรกิจที่ขอผ่อนปรนหนี้มากถึง 1.148 ล้านรายโดยมีมูลหนี้ทั้งสิ้นประมาณ 2.98 ล้านล้านบาทและมีหนี้บุคคลอีก 15.22 ล้านคน มูลหนี้ 3.87 ล้านล้านบาท

หนี้ 6.84 ล้านล้านบาทดังกล่าว ได้รับการผ่อนปรนเป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน เริ่มต้นจากเดือนเมษายน 2563 และแม้ว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 2 (ประมาณ 15.2 ล้านคน) โดยให้สถาบันการเงินมีมาตรการผ่อนปรนต่อไปถึง 31 ธันวาคม 2563 แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเพราะ SME กว่า 1 ล้านรายที่เป็นผู้จ้างงานและผลิตสินค้าและบริการก็ยังอยู่ในภาวะที่คับขันมากขึ้นทุกวัน

แคร์เห็นว่า ประชาชนกว่าสิบล้านคนและธุรกิจกว่าล้านรายคาดหวังว่า เขาจะสามารถกลับมาทำงานได้เหมือนเดิมภายในเร็ววัน และธุรกิจนับล้านรายเหล่านั้นหวังว่า จะสามารถสร้างยอดขายได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนการระบาดของโรค COVID-19 โดยเร็วเพราะ “สายป่าน” ที่สะสมเอาไว้ได้ใช้ไปจนหมดแล้ว แต่อนาคตกลับยังดูมืดมนอย่างยิ่งเพราะการเปิดเศรษฐกิจกระทำอย่างกระท่อนกระแท่น ประชาชนไม่มั่นใจในการใช้ชีวิตตามปกติ แม้แต่การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ซึ่งหมายถึงประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน การรบหรือการสงคราม) ก็ยังคงอยู่

และที่สำคัญคือการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ก็ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเริ่มต้นเมื่อใด หากมองในทิศทางบวกมากที่สุดตามที่รัฐบาลเคยแถลงไว้ว่า รัฐบาลจะอนุญาตให้นักธุรกิจจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 1,000 คนต่อวัน ซึ่งหากเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป ก็หมายความว่าในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยไม่ถึง 100,000 คน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับภาวะปกติที่ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยถึง 10 ล้านคน เราจะสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 170,000 ล้านบาทต่อเดือน

ภายใต้สภาวการณ์ดังกล่าว จึงมีการคาดการณ์โดยภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องว่า คนไทยอาจตกงานได้มากถึง 5 ถึง 7 ล้านคน นอกจากนั้นนักศึกษาที่เพิ่งจบการศึกษาจะว่างงานอีก 400,000 คน มีข่าวต่อเนื่องว่า บางธุรกิจปิดโรงงานและย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทย และบางธุรกิจ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์จะปลดคนงานเพราะยอดขายรถยนต์ตกต่ำ อีกทั้งต้องปรับตัวกับแนวโน้มใหม่ของอุตสาหกรรมที่หันมาผลิตรถไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้เร่งทดแทนแรงงานคนโดยการใช้หุ่นยนต์ ซึ่งทำให้พนักงานโดยเฉพาะวัยกลางคนเสี่ยงตกงานอีกนับหมื่นคน

ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 นั้นมีคนไทยตกงานประมาณ 1.4 ล้านคน ดังนั้นมหาวิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้จึงมีแนวโน้มรุนแรงมากกว่า 4 เท่าตัว ในปี 2540 เราเห็นการล่มสลายของสถาบันการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ความรุนแรงอยู่ในวงจำกัดและกระทบคนรวยเป็นส่วนสำคัญ จึงมีวลี “ไม่มีไม่หนีไม่จ่าย”แต่ครั้งนี้ชนชั้นกลางและคนยากจนหลายสิบล้านคนตลอดจนธุรกิจ SME เป็นล้านรายมีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องล้มละลายเพราะจ่ายหนี้สินคืนธนาคารไม่ได้

ความเดือดร้อนของประชาชนและธุรกิจจะปรากฏให้เห็นอย่างกว้างขวางตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้

มาตรการของรัฐไม่เพียงพอและขาดเอกภาพ

1. มาตรการเยียวยาประชาชน 25 ล้านคนโดยจ่ายเงินชดเชยเดือนละ 5,000 บาทใกล้สิ้นสุดลงแล้ว โดยคนไทยกลุ่มนี้ยังไม่สามารถบอกตัวเองได้ว่าอนาคตของตนจะเป็นอย่างไร

2. มาตรการสินเชื่อผ่อนปรนช่วยเหลือ SME ที่เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงิน วงเงิน 500,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีผู้ผ่านการกู้เพียง 82,701 ล้านบาทหรือเพียง 16.5 เปอร์เซ็นต์ของวงเงิน โดยมี SME ที่ได้รับการช่วยเหลือเพียง 51,991 รายจากจำนวน SME ซึ่งเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินที่มีปัญหากว่า 1.1 ล้านราย นอกจากนั้น ยังมีธุรกิจ หรือ SME ซึ่งไม่ได้เป็นลูกค้าของสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบแต่ไม่สามารถขอรับความช่วยเหลืออีกจำนวนมาก

3. โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทของรัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติ โดยมีการเสนอโครงการมากถึง 46,411 โครงการมูลค่า 1.448 ล้านล้านบาท แต่โครงการที่เสนอเข้ามานั้นไม่มีความชัดเจนว่า จะสามารถนำพาประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศไปในทิศทางที่ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีและเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืนในระยะยาว เพราะเป็นโครงการที่ไม่มียุทธศาสตร์และขาดเอกภาพทางความคิด เนื่องจากเป็นการนำเสนอโครงการจากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐด้วยความเร่งรีบ ดังนั้นจึงกล่าวกันว่า จะเป็นมาตรการที่ไร้พลัง ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และเป็นการ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ”

รัฐมีหน้าที่ช่วยให้ประชาชนและธุรกิจก้าวข้ามวิกฤตเศรษฐกิจหลัง COVID-19

แคร์ยืนยันแน่วแน่ว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องช่วยให้ประชาชนและธุรกิจสามารถก้าวข้ามวิกฤตเศรษฐกิจหลัง COVID-19 ไปให้ได้โดยไม่ทอดทิ้งใคร เปรียบเสมือนกับการสร้างสะพานเพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถก้าวข้ามทั้งเหวสุขภาพที่เพิ่งผ่านพ้นมา และเหวเศรษฐกิจที่อันตรายกว่ามาก

แนวทางหลักคือ การสนับสนุนจากภาครัฐที่ต้องให้เวลาอย่างเพียงพอกับประชาชนและธุรกิจประมาณ 4 ปี เพื่อฟื้นฟูและปรับตัวเพื่อเข้าสู่ภาวะ New Normal หลังจากวิกฤต COVID-19 ผ่านพ้นไปแล้ว และพลิกสถานการณ์จากปัจจุบันที่ประชาชนกำลังไร้ความหวังและเศรษฐกิจไทยกำลังรอวันตาย

ข้อเสนอของแคร์

แคร์ ขอเสนอให้รัฐบาลสนับสนุน “สินเชื่อผ่อนปรนวงเงิน 2 ล้านล้านบาท คิดดอกเบี้ย 2 % ต่อปี ปลอดการชำระเงินต้นเป็นเวลา 4 ปี” (โดยธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยกู้ผ่านธนาคารพาณิชย์ที่ดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี) และรัฐบาลรับความเสี่ยงของความเสียหายจากการปล่อยกู้ดังกล่าวเกือบทั้งหมด (ซึ่งแตกต่างจากสินเชื่อ 500,000 ล้านบาทในปัจจุบันที่เมื่อประเมินในรายละเอียดแล้ว รัฐบาลจะรับใช้ความเสียหายให้เพียงประมาณ 30%) โดยขยายขอบเขตให้ SME ที่ไม่ใช่ลูกหนี้สถาบันการเงินได้รับการสนับสนุนสินเชื่อดังกล่าวด้วย

หากมีความเสียหายจากการปล่อยกู้ รัฐบาลสามารถออกเป็นพันธบัตรให้ธนาคารแห่งประเทศไทยซื้อที่ดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ระยะเวลาใช้คืน 100 ปี เพื่อชดใช้ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากหนี้เสียให้กับสถาบันการเงินในอนาคต

มาตรการ “อัดฉีด SME 2 ล้านล้าน ลดดอกปลอดต้น 4 ปี” จะช่วยให้ SME นับล้านรายสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจและยังจ้างพนักงานกว่า 10 ล้านคนต่อไปได้ ช่วยให้ประชาชนกว่า 10 ล้านคนไม่ต้องพักชำระหนี้ และเปิดโอกาสให้ SME มีเวลาเพียงพอที่จะวางแผนปรับตัว ปรับต้นทุน เพิ่มการลงทุน หรือแม้กระทั่งปรับเปลี่ยนธุรกิจไปทำธุรกิจประเภทอื่นๆ ก็ได้

วิกฤตสุขภาพและวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้เป็นวิกฤตทั่วโลก ทำให้กำลังซื้อทั้งในประเทศและจากต่างประเทศถดถอยลงอย่างมาก (ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกสินค้าและบริการมากถึง 68% ของ จีดีพี) ดังนั้น เมื่อเทียบกับภาวะปกติที่มี NPL ประมาณ 3-4% จึงมีความเป็นไปได้ว่า NPL จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว แต่การให้เวลาที่เพียงพอกับธุรกิจในการปรับตัวและหลีกเลี่ยงการปลดพนักงาน และการรอให้สถานการณ์ทั่วโลกคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี เช่น การค้นพบวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ย่อมจะช่วยลดความเสียหายดังกล่าว ต่างจากการดำเนินนโยบายแบบ “ค่อยเป็นค่อยไป” ในปัจจุบัน ซึ่งจะไม่สามารถยับยั้งความเสียหายทางเศรษฐกิจที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกวันได้เลย

แคร์ คิดเคลื่อนไทย
28 มิ.ย. 2563

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท