Skip to main content
sharethis

29 มิ.ย. 2563 ศบค. มีมติต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีกเดือน ด้านพีเพิลโกเน็ตเวิร์ก ยื่นหนังสือถึง ศบค. และ ครม. ให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และใช้กฎหมายปกติจัดการโรคระบาด

วอยซ์ออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ว่า ขณะนี้อยู่ในห้วงเวลาสำคัญ แม้ช่วงที่ผ่านมาทุกอย่างดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีความเสี่ยงหลายประการ ซึ่งในระยะแรก และระยะที่ 2-3-4 ต้องมีการปฏิบัติตามมาตรการอย่างเข้มงวด และวันนี้จะมีการผ่อนคลายในระยะที่ 5 ซึ่งยังมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก ดังนั้นขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชนทุกคนและสถานประกอบการต่างๆ 

"ขอให้ย้อนกลับไปดูว่าในช่วงที่ผ่านมาที่มีติดเชื้อไม่มากนักเกิดจากอะไร ซึ่งเกิดจากมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด และมีการใช้มาตรการพิเศษ โดยเฉพาะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกมาถึงควบคุมได้ถึงวันนี้ ซึ่งเหตุผลที่ทำไมถึงต้องมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ได้บอกหลายครั้งแล้วว่าแม้มีกฎหมาย 40 ฉบับแต่ละหน่วยงานถือไว้ แต่หลายกิจกรรมไม่สามารถดำเนินการได้ทันที เช่น การเปิด-ปิดสถานที่ต่างๆ หรือการเข้าออกประเทศ ที่ต้องผ่านขั้นตอนทำให้หลายอย่างอาจไม่ทันต่อเวลาในการแก้ปัญหาจึงต้องมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ปิดกั้นใครทั้งนั้น" นายกรัฐมนตรี กล่าว 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ที่สำคัญในห้วงที่ยังมีการแพร่ระบาด จะเห็นหลายประเทศที่มีการประกอบกิจกรรมที่มีรวมตัวทำกิจกรรมของคนจำนวนมากก็มียอดผู้ติดเชื้อสูง ดังนั้นจึงจำเป็นพิจารณาตามขั้นตอนโดยในระยะที่ 5 จะมีการผ่อนคลายสถานประกอบการต่างๆรวมถึงการเข้าออกประเทศของนักธุรกิจต่างๆ แต่ย้ำว่าต้องมีมาตรการเชิงรุก โดยต้องมีการรองรับในวันข้างหน้า โดยเฉพาะในเรื่องการท่องเที่ยว การค้าขายและการประกอบกิจกรรมต่างๆ โดย ในรายละเอียดโฆษก ศบค. และปลัดกระทรวงชี้แจงเหตุผลถึงความจำเป็นต่อไป อย่างไรก็ตามเหตุผลถึงความจำเป็นในการผ่อนคลายระยะที่ 5 สิ่งสำคัญคือเห็นใจผู้มีรายได้น้อยและ ผู้ที่ต้องประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัว โดยต้องมีมาตรการสำคัญที่จะรองรับ เพื่อให้เห็นว่าเรามีความพร้อมแต่ไม่สามารถรับรองได้ 100% เพราะทุกอย่างอยู่ที่คนไทยทุกคนที่จะร่วมมือกันทุกอย่าง ถึงจะผ่านพ้นไปด้วยดี 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสั้นๆ ระหว่างเดินกลับไปยังทำงาน ถึงการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถือ เป็นการลิดรอน สิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือไม่ ว่า "คนละกาลเทศะ"

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ อ่านแถลงการณ์ขอให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หน้าทำเนียบรัฐบาล

ด้านบริเวณประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล เวลา 10.00 น. เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะตัวแทนพีเพิลโกเน็ตเวิร์ก อ่านแถลงการณ์บริเวณหน้าประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล ว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 กระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คน การประกอบอาชีพ และกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง เมื่อไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท จึงเป็นมาตรการที่ต้องใช้ในสถานการณ์ที่เร่งด่วนจริงๆ เท่านั้น เมื่อหมดความจำเป็นก็ควรต้องยกเลิก โดยสามารถใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 แทนได้

พีเพิลโกเน็ตเวิร์กเห็นว่า การคงไว้ซึ่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีเพื่อจะบริหารประเทศได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไร้การตรวจสอบถ่วงดุล หรือเพื่อยึดอำนาจการบริหารประเทศ ส่วนการป้องกันและควบคุมโรคระบาดเป็นมาตรการที่เดินหน้าตามกฎหมายในระบบปกติอยู่แล้ว จึงขอเรียกร้องให้ ครม. ยุติการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เดี๋ยวนี้ และขอให้สาธารณชนเข้าสังเกตการณ์การประชุม ครม. วันที่ 30 มิ.ย. 2563 หรือจัดถ่ายทอดสดการประชุมเพื่อให้ประชาชนติดตามและร่วมรับรู้เหตุผลในการตัดสินใจด้วย

จากนั้น เลิศศักดิ์เป็นตัวแทนยื่นหนังสือ 2 ฉบับ ถึง ศบค. และ ครม. ผ่านทางพันศักดิ์ เจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายประสานมวลชนและประชาชน ที่ออกมารับหนังสือบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล

พันศักดิ์ เจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายประสานมวลชนและประชาชน ออกมารับหนังสือบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล

คัดค้านการอ้างโรคระบาดยึดอำนาจ
ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เดี๋ยวนี้!

รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ตั้งแต่ 26 มีนาคม 2563 โดยอ้างเหตุว่า มีการระบาดของโรคโควิด 19 จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยของประชาชน และการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน และได้ขยายระยะเวลาบังคับใช้เรื่อยๆ ไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยมีท่าทีว่าจะขยายเวลาบังคับใช้ต่อไป

การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามมาด้วยการออกข้อกำหนดและมาตรการต่างๆ ที่กระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คน การประกอบอาชีพ และกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง โดยกำหนดโทษการไม่ปฏิบัติตามไว้อย่างสูง คือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท เป็นโทษสถานเดียวเท่ากันหมดสำหรับทุกเรื่อง จึงเป็นมาตรการที่ต้องใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในสถานการณ์ที่ "เร่งด่วนจริงๆ" เท่านั้น เมื่อความจำเป็นหมดลงก็ต้องยกเลิกมาตรการที่กระทบต่อ "การดำรงชีวิตโดยปกติสุข" โดยเร็วที่สุด

จากข้อมูลของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) พบว่า วันสุดท้ายที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อภายในประเทศ คือ วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ซึ่งเมื่อนับถึง 29 มิถุนายน 2563 ก็เท่ากับว่า เป็นเวลา 34 วันเต็มที่ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศเลย ข้อมูลผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบ เป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศทั้งสิ้น

ขณะที่คำแนะนำในการดูแลตัวเองสำหรับผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และองค์การอนามัยโลก (WHO) ต่างก็ระบุตรงกันให้แยกตัวเองออกจากสังคมเป็นเวลา "14 วัน" ดังนั้น จึงนับได้ว่า ประเทศไทยปลอดจากการแพร่ระบาดภายในประเทศแล้ว

จริงอยู่ที่เชื้อโควิด 19 ยังระบาดรุนแรงในหลายประเทศทั่วโลก และยังมีโอกาสที่ประเทศไทยจะกลับมาระบาดระลอกใหม่ได้ ดังนั้น มาตรการที่ยังจำเป็นต้องเข้มงวดในช่วงเวลานี้ คือ การกักตัวผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและตรวจหาผู้ติดเชื้อที่ด่านพรมแดน ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 39-42 กำหนดไว้ละเอียดเพียงพอแล้ว

ที่ผ่านมาการใช้อำนาจของรัฐออกคำสั่งที่เพื่อดำเนินการควบคุมโรค เช่น การตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ก็เป็นไปตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 11 การสั่งปิดสถานบันเทิง การสั่งห้ามเดินทางข้ามพื้นที่ การสั่งห้ามรวมตัวในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ก็เป็นไปตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 การสั่งห้ามกักตุนสินค้าจำเป็น ก็เป็นไปตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ซึ่งกฎหมายในระบบปกตินั้นให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในการควบคุมโรคระบาดไว้ได้อยู่แล้ว

การใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในช่วงเวลากว่าสามเดือนที่ผ่านมา ให้อำนาจเพิ่มแก่รัฐบาลสี่กรณี ได้แก่
1. อำนาจสั่งห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ซึ่งหมดความจำเป็นและยกเลิกไปแล้ว

2. ให้นายกรัฐมนตรีสั่งโอนอำนาจการสั่งการจากรัฐมนตรี และหน่วยงานต่างๆ มาเพื่อเป็นผู้สั่งการเองแทนทั้งหมด ซึ่งกลายเป็นประเด็นหลักในขณะนี้

3. ใช้ข้อห้ามการรวมตัวสั่งห้ามประชาชนแสดงออกในประเด็นที่กระทบต่อรัฐบาลปัจจุบัน โดยมีคนถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วอย่างน้อย 23 คน

4. การยกเว้นความรับผิดให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานและการยกเว้นการตรวจสอบโดยศาลปกครอง

การคงไว้ซึ่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงมีประโยชน์เพียงแต่กับรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้น เพื่อจะบริหารประเทศได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไร้การตรวจสอบถ่วงดุล หรือเรียกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีไว้เพื่อการ “ยึดอำนาจ” การบริหารประเทศ ส่วนการป้องกันและควบคุมโรคระบาดเป็นมาตรการที่เดินหน้าตามกฎหมายในระบบปกติอยู่แล้ว

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้นไม่ได้ออกแบบมาเพื่อสร้างมาตรการรับมือกับโรคระบาด แต่เป็นกฎหมายที่เน้นเพิ่มอำนาจให้รัฐกรณีมี “ภัยคุกคามทางการทหาร” หากรัฐบาลมีความจริงใจที่จะป้องกันควบคุมโรคแต่เพียงอย่างเดียว ก็ควรใช้กฎหมายในระบบปกติ หรือถ้ามีความจำเป็นก็ออกแบบระบบกฎหมายขึ้นใหม่สำหรับสถานการณ์โรคโควิด19 ที่อาจยังอยู่กับมนุษย์ไปอีกเป็นปี โดยมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่ชัดเจน ให้กระบวนการการแก้ปัญหาเกิดจากการมีส่วนร่วม กระจายอำนาจการตัดสินใจไปยังตำแหน่งที่เหมาะสม

เครือข่าย People Go Network เห็นว่า ความจำเป็นที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหมดไปนานแล้ว และขอเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรียุติการใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เดี๋ยวนี้! และในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ขอให้สาธารณชนเข้าสังเกตการณ์ หรือจัดถ่ายทอดสดการประชุมเพื่อให้ประชาชนติดตามและร่วมรับรู้เหตุผลในการตัดสินใจด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net