สมาคมขนส่งทางบก และ หมอพื้นบ้าน 4 ภาค ค้านร่วม CPTPP เหตุกระทบธุรกิจโลจิสติกส์และสมุนไพร

สมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ยื่นรัฐบาล-สภา ค้านเข้า CPTPP เหตุผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ภาคบริการสินค้าและการลงทุนในภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ ขณะที่ 'หมอพื้นบ้าน 4 ภาค' ร่อนจดหมายเปิดผนึกถึง 'ประยุทธ์' ค้านเข้าร่วม CPTPP เหตุ UPOV 1991 เสี่ยงเสียพันธุ์กรรมสมุนไพร และเสี่ยงผูกขาดตลอดห่วงโซ่ผลิตสมุนไพร

 

29 มิ.ย.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงสาย วันนี้ (29 มิ.ย.63) ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล พีรพัชร์ จิระวัฒนเอก นายกสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการสมาคมฯ เข้าร่วมการยื่นหนังสือคัดค้านการเป็นสมาชิก CPTPP หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ของรัฐบาล โดยระบุว่าจะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ภาคบริการสินค้าและการลงทุนในภาคการขนส่งและโลจิสติกส์

เดลินิวส์ รายงานด้วยว่า ที่รัฐสภา สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร รับยื่นหนังสือจาก ทองอยู่ คงขันธ์ ประธานที่ปรึกษาสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย เพื่อขอคัดค้านการเข้าร่ว CPTPP  สืบเนื่องจากรัฐบาลมีแนวนโยบายที่ต้องการให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ซึ่งในส่วนการเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุนใน CPTPP ได้กำหนดให้สมาชิกเปิดเสรีในระดับสูง เพื่อให้สิทธิต่อผู้ให้บริการต่างชาติเข้ามาถือหุ้นข้างมากในนิติบุคคลในประเทศสมาชิก ตลอดจนการให้สิทธิเข้ามาซื้อกิจการอย่างเสรีและการให้สิทธิจัดตั้งกิจการแข่งขันกับ SMEs ในประเทศสมาชิกได้อย่างเสรี

ทองอยู่ กล่าวว่า สมาพันธ์ฯ ได้ศึกษาถึงผลกระทบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พบว่า CPTPP จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจการขนส่งทางบก ธุรกิจโลจิสติกส์ และความมั่นคงของประเทศไทย จึงมีความเห็นและข้อเสนอแนะ 7 ข้อ ดังนี้ 1. การเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ของไทย ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในขณะนี้ ไทยควรมีการพัฒนาจนกว่ามีระบบเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน 2. กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดใน CPTPP ยังไม่สอดคล้องกับกฎหมายไทย ต้องใช้เวลาในการปรับสมดุลและความพร้อมด้านต่าง ๆ มากกว่านี้  รวมทั้งหน่วยงานรัฐควรทำความเข้าใจกับภาคเอกชนให้ครอบคลุมกว่าที่เคยปฏิบัติมา โดยให้มีส่วนร่วมในการเตรียมความพร้อมในทุกมิติ

3. ต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ผู้ประกอบการไทย โดยจัดตั้งสภาการขนส่งทางถนนแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้แทนขององค์กรเอกชน เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยในทุกกรณี อาทิ การแก้ไขปัญหาและการเยียวยา การสนับสนุนรัฐในการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยและครอบคลุมรอบด้าน4.จัดให้มีกฎหมายรองรับในการสนับสนุนส่งเสริมและการพัฒนาที่ครอบคลุมทุกกระบวนการของภาคธุรกิจโลจิสติกส์ อาทิ ปรับปรุง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ พ.ศ. .......

5. จัดหามาตรการด้านการเงินเพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการและสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการไทย ได้แก่ 1.จัดสรรเงินกู้ หรือจัดตั้งกองทุนให้ผู้ประกอบการเพื่อลดต้นทุนสำหรับผู้นำเข้าและผู้ส่งออก 2.ลดอัตราการเรียกเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม 3.ลดค่าธรรมเนียมและค่าบริการกับธนาคารพาณิชย์

6. ผ่อนผันกฎระเบียบผู้นำเข้าและผู้ส่งออกให้กับกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับ Supply chain ระหว่างประเทศ อาทิ ค่าระวาง ค่าสินค้าและบริการภายในประเทศ ฯลฯ และ 7. รัฐบาลควรสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมด้านโลจิสติกส์ ส่งเสริมการพัฒนาเครือข่ายทางธุรกิจ และพัฒนาบุคลากรให้เป็นมาตรฐาน

สมบูรณ์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่าจะนำเรื่องดังกล่าวกราบเรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งต่อให้กับคณะ กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP เพื่อศึกษาและพิจารณาต่อไป 

หมอพื้นบ้าน 4 ภาค ร่อยจดหมายเปิดผนึกถึง 'ประยุทธ์' ค้านเข้าร่วม CPTPP เหตุ UPOV 1991 เสี่ยงเสียพันธุ์กรรมสมุนไพร และเสี่ยงผูกขาดตลอดห่วงโซ่ผลิตสมุนไพร

วันเดียวกัน เครือข่ายหมอพื้นบ้าน 4 ภาค ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอคัดค้านการเข้าร่วมสมาชิก ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP เนื่องจาก UPOV 1991 เป็นความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียพันธุ์กรรมพืชสมุนไพร และเสี่ยงการผูกขาดตลอดห่วงโซ่การผลิตสมุนไพร

รายละเอียดจดหมายเปิดผนึกมีดังนี้

จดหมายเปิดผนึก คัดค้านการเข้าร่วมสมาชิก ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership)

วันที่  29 มิถุนายน 2563

กราบเรียน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ด้วยเครือข่ายหมอพื้นบ้าน 4 ภาค ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายที่ดำเนินงานส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกัน ฟื้นฟูและบำบัดรักษาโรคให้กับคนในชุมชน ซึ่งเป็นแนวทางการพึ่งตนเองด้านสุขภาพที่สำคัญยิ่งและเป็นรากฐานสุขภาวะของคนไทย จากการทำงานที่ผ่านมาได้สนับสนุนให้หมอพื้นบ้าน ปราชญ์ชุมชน ต่าง ๆ รวมรวมความรู้ทั้งจากเอกสารโบราณหรือคัมภีร์ดั้งเดิม รวมถึงจัดการความรู้จากประสบการณ์ของหมอพื้นบ้านนับพันคน นำมาประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพให้กับคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี รวมทั้งตำรับยาหลายตำรับยังได้รับความสนใจจากหน่วยงานวิชาการและหน่วยงานราชการนำไปศึกษาพัฒนาต่อยอดอีกด้วย ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพนั้นเกี่ยวข้องกับพันธุ์พืชสมุนไพรอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการนำมาใช้ในอาหารสมุนไพร และตำรับยาในการบำบัดรักษาโรคต่าง ๆ มากมาย

เครือข่ายหมอพื้นบ้าน 4 ภาค ได้ติดตามสถานการณ์ที่รัฐบาลจะอนุมัติให้ประเทศไทยไปเข้าร่วมเจรจาเพื่อเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP  (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) ซึ่งเครือข่ายฯ พบว่าจะนำความเสียหายต่อพันธุ์พืชสมุนไพรและภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพอย่างใหญ่หลวง เปรียบเสมือน “การตกเป็นเมืองขึ้นทางภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ” เพราะพืชพันธุ์ที่เป็นทั้งอาหารและสมุนไพรต่าง ๆ ที่บริษัทเอกชนได้สิทธิครอบครองไปนั้น เข้าข่ายการผูกขาดและทำลายวิถีชีวิตและสิทธิดั้งเดิมของบรรพชนที่เคยปลูกต้นไม้ไว้ให้ลูกหลานใช้เป็นอาหารและยา และใช้ประกอบสัมมาอาชีพต้องสูญสลายไป เครือข่ายหมอพื้นบ้านจึงขอคัดค้านการเข้าร่วม CPTPP ดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

  1. ความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียพันธุ์กรรมพืชสมุนไพร

การที่ประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP จะต้องยอมรับการเข้าร่วมในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ อนุสัญญายูปอฟ 1991 – UPOV 1991 ซึ่งเป็นการคุ้มครองคล้ายกฎหมายสิทธิบัตร ดังนั้น UPOV 1991 ส่งผลกระทบต่อการปรับปรุงสายพันธุ์พืช และส่งผลต่อสิทธิของผู้ปรับปรุงพันธุ์ของพืชทั้งอาหารและสมุนไพรแน่นนอน การให้สิทธิคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่นั้นนำมาจากพันธุ์พืชตามธรรมชาติหรือพันธุ์ที่เกษตรกร หมอพื้นบ้านได้ช่วยกันคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์มาอย่างยาวนาน แต่เมื่อนักปรับปรุงพันธุ์ของบริษัทนำไปปรับปรุงกลับได้สิทธิผูกขาดไปทันที วิถีปกติที่เก็บพันธุ์จากสวนไร่นาป่าเขาเพื่อนำมาเพาะขยายพันธุ์และพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ต่อไปได้นั้นจะไม่สามารถทำได้อีก หรือต้องขออนุญาต และจะต้องจ่ายเงินให้เสียก่อน มิเช่นนั้นก็จะสุ่มเสี่ยงกลายเป็นอาชญากรทำผิดกฎหมาย ประเทศไทยจะต้องสูญเสียพันธุ์พืชสมุนไพรไป ทั้งๆ ที่สิทธิการปลูกเป็นความมั่นคงของอาหารและสมุนไพรของชุมชนสืบต่อมาแต่บรรพกาล

ที่ผ่านมาประเทศไทยทำตาม UPOV 1978 ซึ่งได้สูญเสียหรือมีผลกระทบไปบ้างแล้ว แต่โดยสาระสำคัญนั้นไม่โหดร้ายหรือไม่ส่งผลกระทบต่อคนไทยมากเท่ากับ UPOV1991เนื่องจาก UPOV 1978 จะคุ้มครองพืชที่ได้รับสิทธิในการปรับปรุงพันธุ์อย่างน้อย 24 ชนิดและจะต้องเร่งประกาศการให้สิทธิคุ้มครองใน 8 ปี และยังคงสิทธิของเกษตรกรในการเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อได้ ซึ่งประเทศไทยยอมให้เกิดผลกระทบในวงจำกัดแล้ว แต่ UPOV1991 จะให้สิทธิคุ้มครอง “พืชทุกชนิด” และให้เวลาประกาศใน 10 ปี อีกทั้งยังลิดรอนสิทธิเกษตรกรและหมอพื้นบ้านในการเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อ การยอมให้สิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืชทุกชนิดเช่นนี้ และริดรอนสิทธิเกษตรและหมอพื้นบ้านเช่นนี้ ประเทศไทยซึ่งร่ำรวยความหลายหลายทางชีวภาพยังจะเหลืออะไรอีก ?

  1. ความสุ่มเสี่ยงการผูกขาดตลอดห่วงโซ่การผลิตสมุนไพร

ขอบเขตการให้สิทธิคุ้มครองใน UPOV1991 ไม่เพียงได้สิทธิครอบครองพันธุ์พืชที่มีการปรับปรุงใหม่ไปแล้ว หรือเรียกว่าได้ ”ผูกขาด” พันธุ์พืชและห้ามใครนำไปปลูกต่อแล้ว UPOV 1991 ยังได้สิทธิผูกขาดไปถึงผลผลิตและผลิตภัณฑ์ เพราะถ้าผลิตภัณฑ์นั้นมีส่วนของพันธุ์พืชที่มีผู้ถือสิทธิครอบครองไว้ ก็จะสามารถตามมาเอาผิดทางกฎหมายได้อีก ดังนั้นเกษตรกรไทย หมอพื้นบ้าน ผู้ผลิตยาสมุนไพรจะเป็นเพียงผู้ปลูกที่ซื้อเมล็ดพันธุ์หรือพันธุ์ไปตลอด ห้ามนำพันธุ์ไปปลูกต่อ และหากนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ก็ต้องจ่ายผลประโยชน์ให้กับเจ้าของพันธุ์ด้วย ดังนั้น UPOV1991 จะพาวิถีชีวิตของเกษตรกรและหมอพื้นบ้าน ซึ่งเป็นนักปลูกพืช นักขยายพันธุ์พืช และนักผลิตผลิตภัณฑ์ที่สืบต่อมาแต่บรรพบุรุษดำดิ่งลงสู่ความหายนะอย่างแน่นอน

  1. ความไม่น่าเชื่อถือของแนวทางเข้าเจรจาก่อน หากไม่พอใจก็ไม่ต้องเข้าร่วม

แม้ว่ามีข้าราชการ นักวิชาการและนักลงทุนจำนวนหนึ่งพยายามสื่อสารเสนอแนวทางให้เข้าร่วมการเจรจาเป็นทางเลือกที่ดีกว่าไม่ร่วมเจรจานั้น โดยเสนอทำนองว่าการเจรจาอาจนำไปสู่การต่อรองไม่รับในสิ่งที่ประเทศไทยเสียเปรียบหรือส่งผลกระทบต่อไทยได้ ทางเครือข่ายฯ ได้ศึกษาจากบทเรียนในประเทศที่เข้าร่วม CPTPP แล้ว พบว่าทุกประเทศไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้มีแต่ต้องยอมรับ UPOV1991 จะทำได้เพียงขอผ่อนผันการบังคับใช่ แต่ถึงที่สุดประเทศเหล่านั้นไม่สามารถหลุดรอดจาก UPOV1991 เช่น ประเทศนิวซีแลนด์และบรูไน ขอผ่อนผัน 3 ปี มาเลเซียและเม็กซิโก ขอผ่อนผัน 4 ปี ใครก็ตามที่อ้างให้เข้าสู่การเจรจาก่อนนั้นจึงไม่มีความน่าเชื่อถือ เครือขายฯ จึงมีความกังวลและห่วงใยที่จะพาประเทศสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียอิสรภาพและการพึ่งตนเองทางอาหารและสมุนไพร

เครือข่ายฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี จะมีความตระหนัก และไม่อนุมัติให้ประเทศไทยไปเข้าร่วมเจรจาเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP  เพราะจะนำมาซึ่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงอย่างที่ไม่สามารถจะฟื้นคืนได้ต่อพันธุ์พืชสมุนไพรและภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพของไทย

 

ด้วยความนับถืออย่างสูง

(นายรณเกียรติ คำน้อย)

เครือข่ายหมอพื้นบ้านจังหวัดแพร่

ตัวแทนเครือข่ายหมอพื้นบ้าน 4 ภาค 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท