คดีไต่สวนการตาย 'อับดุลเลาะ' หลังคุมตัวเข้าค่ายทหาร ศาลนัดสืบพยานปลายปีนี้

ศาลสงขลานัดสืบพยาน 24-26 พ.ย. และ 15-18 ธ.ค.นี้ คดีไต่สวนการตาย 'อับดุลเลาะ อีซอมูซอ' หลังคุมตัวเข้าค่ายอิงคยุทธบริหาร อัยการสืบพยาน 20 ปาก และฝ่ายญาติ 10 ปาก ระหว่างนัดตรวจพยานยังห้ามสื่อ-ผู้สังเกตการณ์เข้า อ้างโควิด

30 มิ.ย.2563 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดสงขลานัดตรวจพยานหลักฐาน คดีหมายเลขดำที่ ช.1/2563 คือคดีไต่สวนการตายของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ พนักงานอัยการ และทนายความของซูไมยะห์ มิงกะ ภรรรยาอับดุลเลาะ ได้ตรวจพยานหลักฐานที่จะใช้ประกอบในการสืบพยานแล้ว แถลงต่อศาลว่าประสงค์จะซักถามพยานทุกปากที่แต่ละฝ่ายอ้าง พนักงานอัยการแถลงมีความประสงค์นำพยานเข้าสืบจำนวน 20 ปาก ประกอบด้วย แพทย์จากโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหารและโรงพยาบาลสงขลานครินทร์  เจ้าหน้าที่ทหารผู้ควบคุมนายอับดุลเลาะฯออกจากบ้าน  เจ้าหน้าที่ทหารศูนย์ซักถามในค่ายอิงคยุทธบริหาร และพนักงานสอบสวน

ส่วนทนายความของ ซูไมยะห์ มีความประสงค์สืบพยานจำนวน 10 ปาก ประกอบด้วย ภรรยาและญาตินายอับดุลเลาะ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุ  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ  ประธานหรือผู้แทนคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ กอ.รมน.แต่งตั้ง  พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ประธานหรือผู้แทนคณะกรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร และพยานคนอื่น ๆ ที่จะเพิ่มเติมอีก ซึ่งศาลได้กำหนดวันนัดสืบพยานวันที่ 24-26 พ.ย. 2563 และวันที่ 15-18 ธ.ค. 2563 เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป

คดีดังกล่าว ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและประชาชนจำนวนมาก แต่เฉพาะอัยการ ภรรยาผู้ตายและทนายความเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้าห้องการพิจารณาได้ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีญาติพี่น้องและประชาชนจำนวนมากไม่สามาถเข้ารับฟังการพิจารณาคดีได้ ซึ่งโดยหลักสิทธิมนุษยชนและกฎหมายแล้วการพิจารณาคดีของศาลเป็นการพิจารณาคดีที่เปิดเผยต่อประชาชน ทนายความของ ซูไมยะห์ จึงได้แถลงต่อศาลให้ทราบถึงความสำคัญในการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม จึงได้ขอให้ศาลจัดเตรียมห้องพิจารณาคดีที่สามารถรองรับบุคคลภายนอกหรือผู้ที่สนใจได้ประมาน 50 คน ศาลจึงแจ้งว่าจะหาห้องให้ในครั้งถัดไปที่นัดสืบพยาน

ภาพญาติของอับดุลเลาะและประชาชนที่สนใจคดีนี้รอฟังไต่สวนคดี แต่ไม่สามารถเข้าร่วมรับฟังได้เนื่องจากศาลให้เหตุผลเรื่อง Covid-19  

'พรรณิการ์' ร่วมสังเกตการณ์

ทีมสื่อคณะก้าวหน้า รายงานด้วยว่า พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า และที่ปรึกษา กมธ.กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนได้มาร่วมสังเกตการณ์ที่ศาลจังหวัดสงขลา ในคดีนี้ โดย พรรณิการ์ กล่าวว่า หลังจากการเสียชีวิตของอับดุลเลาะ ครอบครัวมีความกระตือรือร้นในการเรียกร้องความเป็นธรรม และสังคมตื่นตัวโดยมีการรับรู้เป็นวงกว้างของประชาชนทั่วไป แต่กว่าจะมาถึงกระบวนไต่สวนคดีครั้งแรกนี้นั้น เวลาก็ล่วงเลยมาแล้วกว่า 10 เดือน ได้แต่หวังว่ากระบวนการจะไม่ล่าช้าเกินไปมากกว่านี้ เพราะความยุติธรรมที่มาล้าช้าก็คือความไม่ยุติธรรมอย่างหนึ่ง นอกจากนี้มองว่าคำตัดสินของศาลและการมีกระบวนการที่โปร่งใส เป็นธรรมและมุ่งแสวงหาข้อเท็จจริง จะเป็นสิ่งสำคัญมาก แม้จะยังไม่สามารถนำเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิดมาลงโทษหรือมารับผิดชอบได้ แต่หากข้อเท็จจริงปรากฎ โดยมีคำสั่งศาลออกมาว่าเป็นการตายโดยการกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ จะเป็นหมุดหมายและหลักฐานที่สำคัญว่ามีการซ้อมทรมานเกิดขึ้นจริงในกองทัพ ก็จะนำไปสู่การต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมต่อไป รวมทั้งการที่กองทัพเป็นแดนสนธยา ลอยตัวเหนือการตรวจสอบและยังแตะต้องไม่ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ทาง กมธ.กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ก็ได้มีการพยายามเชิญ กอ.รมน. และหน่วยทหารพรานที่ 44 มาให้ข้อมูล แต่ทางทหารก็อ้างว่าติดราชการด่วน มีเพียงตำรวจจากสถานีหนองจิกและแพทย์โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ซึ่งก็ไม่ใช่ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์มาให้ข้อมูลเท่านั้น

 

 

“นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของคนคนเดียว กรณีของนายอับดุลเลาะไม่ใช่กรณีแรกที่มีคนโดนทหารควบคุมตัวโดยไม่ต้องมีพยานหลักฐานใดๆ แล้วกลับออกจากค่ายในสภาพบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต การเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะคือตัวอย่างที่น่าเศร้าของคนธรรมดาที่ต้องได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมายพิเศษในสามจังหวัด ผู้ชายวัยหนุ่มจำนวนมากในสามจังหวัดที่ถูกเจ้าหน้าที่จับเข้าค่ายไปสอบสวนโดยไม่ต้องมีการตั้งข้อหา ไม่ต้องมีหลักฐาน แค่สงสัยว่าเป็นผู้ร่วมขบวนการ เรื่องแบบนี้ทำได้เพราะการประกาศใช้กฎอัยการศึกมานานกว่า 15 ปีแล้ว จนถึงขณะนี้แม้ว่าทหารจะมีการปรับตัว และระมัดระวังมากขึ้น แต่ก็ยังมีการยังจับกุมชายวัยรุ่นในพื้นที่อยู่ เป็นการให้อำนาจทหารล้นเกินจนนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะเกิดการใช้อำนาจในทางมิชอบ และการใช้อำนาจจับกุมใครก็ได้โดยไม่ต้องมีหลักฐาน ไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ก็มีแต่จะสร้างความหวาดระแวงและแบ่งแยกระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่”พรรณิการ์กล่าว

คดีนี้สืบเนื่องจากเหตุการณ์อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 20 ก.ค.2562 โดยหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44  และส่งตัวไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 21 ก.ค.2562 พบว่าหมดสติอยู่ในห้องควบคุมศูนย์ซักถามของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพราน ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร และได้รักษาตัวอยู่ที่ห้อง ICU ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ซึ่งต่อมาได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 25 ส.ค.2562 มาจนถึงวันนี้เวลาล่วงเลยมากว่า 10 เดือนแล้ว

อย่างไรก็ตามก่อนที่จะมาถึงศาลวันนี้ ทางฝ่ายภรรยาของอับดุลเลาะ ได้มีการยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิมนุษยชน อาทิ กมธ.กฎหมายฯ สภาผู้แทนราษฎร, กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), ตำรวจในพื้นที่แล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท