Skip to main content
sharethis

องค์การค้าของ สกสค. เลิกจ้างพนักงาน 961 คน อ้างประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภาชี้ เลิกจ้างไม่เป็นธรรม พนักงานเดือดร้อนหนัก ติงองค์กรการค้าของ สกสค. จะหาเงินที่ไหนมาจ่าย ด้าน รมต.ศธ. แจง พนักงาน 74 คนที่เหลือ ผ่านการประเมินแล้วว่าเพียงพอต่อการขับเคลื่อนองค์กร

องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (องค์การค้าของ สกสค.) ออกคำสั่งขององค์การค้าของ สกสค. ที่ 85/2563 เรื่อง เลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. ลงวันที่ 29 มิ.ย. 2563 ระบุว่า ด้วยองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (องค์การค้าของ สกสค.) เป็นองค์กรจัดหาผลประโยชน์ให้แก่องค์การค้าของ สกสค. มีหน้าที่บริการส่งเสริมอำนวยความสะดวกในการจัดระบบการศึกษาของชาติในด้านการพิมพ์ หนังสือเรียน เอกสารทางการศึกษา ผลิตอุปกรณ์การศึกษา บริการธุรกิจทางการศึกษา ตามที่ สกสค. มอบหมาย ประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลามากกว่า 15 ปี องค์การค้าของ สกสค. จึงมีความจำเป็นที่ต้องเลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปรับปรุงอัตรากำลังและผลประโยชน์ตอบแทนขององค์การค้าของ สกสค. ให้สอดคล้องกับภาระกิจ

อาศัยอํานาจตามความในข้อ 16 (5) แห่งข้อบังคับคณะกรรมการ สกสค. ว่าด้วยการ บริหารงานองค์การค้าของ สกสค. พ.ศ. 2554 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ประกอบกับ มติคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของสํานักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา คราวประชุมครั้งที่ 5/2563 วันที่ 23 มิ.ย. 2563 จึงให้เลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่ จํานวน 961 ราย โดยให้ได้สิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกําหนด ตั้งแต่ 1 ส.ค. 2563 เป็นต้นไป

มติชนออนไลน์ รายงานว่า นิวัติชัย แจ้งไพร ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา เปิดเผยเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2563 ว่า ขณะนี้พนักงานองค์การค้าของ สกสค. จำนวน 961 คน ถูกลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ผู้อำนวยการองค์การค้าฯ ลงนามในคำสั่งองค์การค้าของ สกสค. ที่ 75/2563 เรื่อง ขยายระยะเวลาให้เจ้าหน้าที่หยุดงานต่อเนื่อง โดยให้เหตุผลเรื่องการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่ส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงินขององค์การค้าฯ จึงกำหนดให้มีการขยายระยะเวลาการหยุดงานโดยไม่ถือเป็นวันลา เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินขององค์การค้าฯ ซึ่งพนักงานที่หยุดงานไปให้รับค่าจ้างในอัตรา 75% ของเงินเดือนปัจจุบันจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563

ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา กล่าวต่อว่า จากคำสั่งองค์การค้าที่ 75/2563 ระบุว่าให้เจ้าหน้าที่หยุดงานโดยไม่นับเป็นวันลา ได้รับค่าจ้าง 75% ตั้งแต่วันที่ 1-30 มิ.ย. นั้น แต่ต่อมาในวันที่ 19 มิ.ย. กลับมีหนังสือจากผู้อำนวยการองค์การค้าฯ ถึงรองผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ผู้อำนวยการสำนักบริหารการเงินและบัญชี ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกลาง และหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและวินัย ให้งดการจ่ายเงินจ่ายค่าจ้างในเดือน มิ.ย. 2563 นี้ โดยระบุให้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงแรงงาน ที่กำหนดการได้รับประโยชน์ทดแทนจากการว่างงาน จากเหตุสุวิสัยอันเกิดจากโรคระบาดของโรคติดต่ออันตราย ว่าให้ลูกจ้างที่ไม่ได้รับค่าจ้าง ไปติดต่อรับสิทธิจากกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 62 แทน จึงระงับการจ่ายเงินเดือนในเดือน มิ.ย. ไป

นิวัตชัย กล่าวต่อว่า ต่อมาวันที่ 25 มิ.ย. มีประกาศองค์การค้าของ สกสค. ที่ 84/2563 เรื่องให้พนักงานเจ้าหน้าที่หยุดงาน โดยในคำสั่งระบุว่า อาศัยอำนาจตามกฎกระทรวงกรณีการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย อันเกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2563 และ ตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 และมาตรา 79/1 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับ 4) พ.ศ.2558 และอาศัยอำนาจตามความในข้อ 16 (4) แห่งข้อบังคับคณะกรรมการ สกสค. ว่าด้วยการบริหารงานองค์การค้า (ฉบับ2 ) พ.ศ.2556 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. หยุดงานโดยไม่ถือเป็นวันลา และให้ใช้สิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน ให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการ แต่ไม่เกิน 90 วัน กับ สปส. ทั้งนี้ให้เริ่มหยุดงานตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

“และเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. องค์การค้าออกคำสั่ง ที่ 85/2563 เรื่อง เลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. โดยระบุว่า ด้วยองค์การค้า เป็นองค์กรจัดหาผลประโยชน์ให้แก่ สกสค. มีหน้าที่บริการส่งเสริมอำนวยความสะดวกในการจัดระบบการศึกษาของชาติในด้านการพิมพ์ หนังสือเรียน เอกสารทางการศึกษา ผลิตอุปกรณ์การศึกษา ตามที่ สกสค.มอบหมาย ประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลามากกว่า 15 ปี องค์การค้า จึงมีความจำเป็นที่ต้องเลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อปรับปรุงอัตรากำลังและผลประโยชน์ตอบแทนขององค์การค้า ให้สอดคล้องกับภารกิจ จึงอาศัยอำนาจตามความในข้อ 16 (5) แห่งข้อบังคับคณะกรรมการ สกสค. ว่าด้วยการบริหารองค์การค้า ประกอบกับมติคณะกรรมการบริหารองค์การค้า ของ สกสค. วันที่ 23 มิ.ย. จึงให้เลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่ จำนวน 961 ราย ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2563” ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา กล่าว

นิวัตชัยกล่าวว่า ตนมองว่าองค์การค้าฯ นั้น มีหนี้สินสะสมจริง แต่ไม่ถึงจะล้มละลายหรืออยู่ไม่ได้ ตนขอตั้งคำถามว่าการกระทำเช่นนี้ถูกกฎหมายหรือไม่ ผิดตามที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน กำหนดหรือไม่ และการเลิกจ้างเช่นนี้มีธรรมาภิบาลและเป็นธรรมกับพนักงานเจ้าหน้าที่หรือไม่ จำเป็นที่ต้องเลิกจ้างงานในขณะที่องค์การค้าฯ มีหนี้สินเยอะ แต่งานและภารกิจต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ศธ. ก็มีจำนวนมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นภารกิจการพิมพ์หนังสือ จะดำเนินการอย่างไรต่อ หรือจะไปเอื้อผลประโยชน์ให้กับเอกชนในการจัดพิมพ์หนังสือต่อ และเมื่อประกาศว่าเลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยจะจ่ายตามกฎหมายนั้น องค์การค้าฯ จะนำเงินจากไหนมาจ่าย จะนำเงิน สกสค. มาจ่ายหรือไม่ หากทำเช่นนั้น จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

“เรื่องดังกล่าวสร้างความเดือดร้อนให้แก่พนักงานอย่างมาก และมองว่ายิ่งแก้ไขปัญหายิ่งผิด เดิมทีรัฐบาลกำหนดว่าจะต้องส่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาฟื้นฟูองค์การค้าฯ แต่การกระทำเช่นนี้เรียกว่าฟื้นฟูองค์กรหรือไม่ แม้จะไม่ยุบองค์การค้าฯ ก็ตาม แต่ภารกิจที่องค์การค้าฯ รับผิดชอบนั้นใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อเลิกจ้างพนักงานเช่นนี้ แล้วผู้ปกครอง นักเรียนจะได้รับความเสียหายหรือไม่ เพราะต่อไปจะซื้อหนังสือเรียนราคาเท่าไหร่ เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าการบริหารงานของคณะกรรมการบริหารองค์การค้า และรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ไม่มีธรรมาภิบาล ต่อไปทางสหภาพแรงงานฯ จะไปดูว่ามติที่ออกมานั้นชอบด้วยกฎหมาย เป็นธรรมกับลูกจ้างหรือไม่ และขัดต่อกฎหมายใดบ้าง ขณะนี้สหภาพกำลังปรึกษาผู้รู้ด้านกฎหมาย และนำเรื่องนี้เข้าหารือในการประชุมวิสามัญสหภาพแรงงานฯ ในวันที่ 2 ก.ค. นี้ เพื่อหาข้อสรุปในการดำเนินการครั้งต่อไป เพื่อเอาผิด หรือฟ้องร้องกับผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร และประเทศชาติต่อไป” ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภากล่าว

นิวัตชัย กล่าวต่อว่า ผลกระทบที่ได้รับคือ หนังสือที่จะพิมพ์ในปีถัดไปจะดำเนินการอย่างไร นักเรียน ผู้ปกครองก็กังวลว่าเมื่อองค์การค้าฯ เลิกจ้างพนักงานไป การจัดพิมพ์ คุณภาพหนังสือ และราคาขายจะได้ราคาที่เป็นธรรมและเป็นกลางเพื่อช่วยเหลือผู้ปกครองหรือไม่ และพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ได้รับความเดือดร้อนแน่นอน ที่บางคนมีภาระต้องหาเลี้ยงครอบครัวเมื่อถูกเลิกจ้างในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ พนักงานจะทำอย่างไร

ด้านณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมต.ศธ.) ให้สัมภาษณ์มติชนออนไลน์กรณีที่องค์การค้าเลิกจ้างพนักงาน 961 คน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2563 ว่า ส่วนตัวรู้สึกหนักใจ เพราะตนเป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่ตัดสินใจเรื่องดังกล่าว แต่กว่า 1 ปีที่ปฏิบัติหน้าที่ รมต.ศธ. ได้เห็นการทำงานในทุกหน่วยงานใน ศธ. ตนเน้นย้ำมาตลอดว่าทุกหน่วยงานใน ศธ. ต้องพร้อมปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ ขณะที่การใช้งบประมาณทุกบาททุกสตางค์ ต้องทำให้เกิดความคุ้มค่าในการขับเคลื่อน ซึ่งในส่วนของการเลิกจ้างพนักงานองค์การค้าฯ ตนทราบดีในเรื่องของความผูกพันในอดีตกับ ศธ. แต่องค์กรใดที่ขาดทุนทุกปี ปีละ 600-700 ล้านบาท ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการบริหารองค์การค้าฯ ก็ตัดสินใจพิจารณาตามความเหมาะสม

“ผมทราบดีว่า เจ้าหน้าที่ทุกคนอาจมีความไม่สบายใจ แต่ก็มีการชดเชยตามกฎหมาย ได้รับเงินชดเชยอยู่ที่ 1-4 ล้านบาท บอร์ดองค์การค้า ฯ ได้อนุมัติโดยย้ำว่าการดำเนินการทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย ส่วนขั้นตอนรายละเอียด เป็นการดำเนินการขององค์การค้าตามกฎหมาย ผมเข้าใจว่าเรื่องนี้ ไม่ง่ายต่อการตัดสินใจ ส่วนที่มองว่า การเลิกจ้างครั้งนี้ไม่เป็นธรรมนั้น ผมอยากให้ความเป็นธรรมกับผู้บริหาร ซึ่งทำหน้าที่บริหารองค์การด้วยความปกติ เสนอข้อมูลมาให้บอร์ดตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูล ไม่ได้ตัดสินใจด้วยความรู้สึก และไม่ได้ตัดสินใจด้วยความผูกพันอะไร วันนี้เราต้องทำให้องค์การค้าฯ อยู่รอดได้ เรามองภาพใหญ่ ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า หนักใจ แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ” นายณัฏฐพลกล่าว

รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาองค์การค้าฯ มีพนักงานอยู่ 1,035 คน เลิกจ้าง 961 คน เหลือ 74 คน ซึ่งจำนวนพนักงานที่เหลือได้ผ่านประเมินแล้วว่า เพียงพอต่อการขับเคลื่อนองค์กรและด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน อาจไม่จำเป็นต้องใช้คนจำนวนมาก ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงการทำงานเพื่อให้องค์การค้าฯ สามารถยืนอยู่ได้ภายใต้การแข่งขันที่สูง และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันเป็นการปรับเพื่อรักษาองค์กรของ สกสค. ส่วนการเซ็นสัญญาจ้างนายอดุลย์ บุสสา เป็นผู้อำนวยการองค์การค้าฯ นั้น อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net