ศาลฎีกายกฟ้อง 'อานดี้' เปิดข้อมูลบริษัทผลไม้กระป๋องละเมิดสิทธิลูกจ้าง

ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง อานดี้ ฮอลล์ นักวิจัยด้านสิทธิแรงงานที่ถูกบริษัทผลไม้กระป๋องฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทฯ จากการเผยแพร่รายงานว่าบริษัทได้ละเมิทสิทธิลูกจ้าง โดยศาลให้เหตุผลว่าการเผยแพร่รายงานดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในอนาคตจึงถือเป็นการติชมโดยสุจริต

30 มิ.ย.2563 ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดีระหว่าง บริษัท เนเชอรัล ฟรุต จำกัด เป็นโจทก์ฟ้องอานดี้ ฮอลล์ เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จากกรณีจัดแถลงข่าวและเผยแพร่รายงาน "Cheap Has a High Price" กล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติชาวพม่าในบริษัทโจทก์

สำนักกฎหมายเอ็นเอสพีได้แจ้งข่าวการอ่านคำพิพากษาว่า ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาในวันนี้ ศาลได้ออกหมายจับจำเลยมาเกิน 1 เดือนแล้ว ยังไม่ได้ตัวมาศาล จึงอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้โจทก์และทนายความจำเลยฟัง และถือว่าจำเลยฟังคำพิพากษาตามกฎหมายแล้ว

ทั้งนี้อานดี้ไม่ได้มาฟังคำพิพากษาในครั้งนี้เนื่องจากเดินทางออกนอกประเทศไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 (อ่านคำแถลงก่อนเดินทาง

สำนักกฎหมายเอ็นเอสพีระบุว่า ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องตามศาลอุทธรณ์ โดยระบุว่าการที่องค์กรฟินน์วอทช์ (Finnwatch) ทราบข้อมูลของโจทก์ที่ปฎิบัติต่อแรงงานต่างชาติโดยไม่ถูกต้อง และโจทก์ไม่ให้ความร่วมมือในการแสวงหาข้อเท็จจริงและแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว การที่องค์กรฟินน์วอทช์นำข้อมูลดังกล่าวมาเผยแพร่โดยจัดทำเป็นเอกสาร ซึ่งเป็นการสรุปข้อเท็จจริงทีได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลตามรายงานวิจัยของจำเลยซึ่งได้ข้อมูลมาจากแรงงานไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบ คุ้มครองและส่งเสริมด้านสิทธิแรงงานโดยตรง รวมทั้งจัดให้มีการแถลงข่าวเพื่อเผยแพร่ให้ผู้ที่เข้ารับฟังการแถลงข่าวทราบจึงเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีสิทธิที่จะกระทำเพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริงอันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในอนาคตถือเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.329 (3) จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง

ศาลฎีการะบุอีกว่า ไม่วินิจฉัยประเด็นความผิดข้อหานำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตาม พ.ร.บ คอมพิวเตอร์ ซึ่งตามฟ้องของโจทก์ที่กล่าวหาว่าจำเลยทำการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ซึ่งกรณีนี้ตามบทบัญญัติของกฎหมายทีบัญญัติในภายหลังตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไข พ.ศ.2560 ได้ให้การกระทำตามฟ้องของโจทก์ไม่เป็นความผิดต่อไปเนื่องจากมาตรา 14 (1) ได้ระบุว่าไว้ว่าการกระทำดังกล่าวต้องไม่ใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท และโจทก์ไม่ได้โต้แย้งไว้ในชั้นอุทธรณ์

คดีนี้แม้ว่าศาลชั้นต้นจะพิพากษาลงโทษอานดี้ให้จำคุก 4 ปี ปรับ 200,000 บาท แต่ให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษให้ 1 ใน 4 คงจำคุก 3 ปีและปรับเป็นเงิน 150,000 บาท และอานดี้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เคยทำประโยชน์ต่อสังคม และไม่ปรากฏว่าเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้มีกำหนด 2 ปี รวมทั้งให้ลงโฆษณาคำพิพากษาบนสื่อตามกำหนด ต่อมาอานดี้อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง ส่วนฝ่ายโจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลลงโทษโดยไม่ต้องรอลงอาญา

แต่ศาลชั้นอุทธรณ์ เคยพิพากษายกฟ้องอานดี้ไว้ โดยระบุว่าแม้ว่าฝ่ายโจทก์จะมีพยานที่มายืนยันแต่กลับไม่มีเอกสารสำเนามายืนยันทั้งที่ต้องมีเอกสารของลูกจ้างแต่ละคน จึงถือเป็นการเบิกความลอยๆ ของโจทก์ และศาลเห็นว่าพยานที่เป็นลูกจ้างของโจทก์ โจทก์ก็สามารถให้คุณให้โทษได้ทำให้พยานไม่มีน้ำหนัก อีกทั้งการที่โจทก์ไม่เคยถูกร้องเรียนมาก่อนก็ไม่ได้หมายความว่าโจทก์ปฏิบัติถูกต้อง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

รวมข่าวคดีระหว่างอานดี้ ฮอลล์กับเนเชอรัล ฟรุต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท