Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความเรื่อง #1เฟมินิสต์ประสาทแดก: ระบอบชายเป็นใหญ่ไม่มีอยู่แล้ว (?) นี้ ได้ขยายความบทความก่อนหน้า (สังคมไทยยังต้องการเฟมินิสต์) ที่ประชาไทได้เผยแพร่ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ บทความชุด เฟมินิสต์ประสาทแดก ซึ่งมีจุดประสงค์ เพื่อทำความเข้าใจว่าเหตุใดคนบางส่วนจึง "ไม่ซื้อ" เรื่องการต่อสู้สิทธิสตรีและการต่อสู้กับระบอบชายเป็นใหญ่ ผู้เขียนได้ใช้เวลาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพื่อพยายามทำความเข้าใจความคิดของคนเหล่านั้น และได้ข้อสรุปคร่าวๆประมาณ 3 ประเด็นหลักๆ ที่เห็นในสังคมออนไลน์ (ไทย)

 #1เฟมินิสต์ประสาทแดก: ระบอบชายเป็นใหญ่ไม่มีอยู่แล้ว (?)  
มีคนไม่เชื่อว่าระบอบชายเป็นใหญ่ยังมีอยู่ในสังคมไทย ซึ่งผู้เขียนในพยายามวิเคราะห์และแบตัวอย่าง/ตัวเลข ให้เห็นหลักฐานว่าสังคมเรายังเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ (แนบว่าในเมล์นี้พร้อมรูปประกอบ)

 #2เฟมินิสต์ประสาทแดก: มายาคติเรื่องสมองของสองเพศ 
บางคนไม่ปฏิเสธการมีอยู่ของสังคมชายเป็นใหญ่ แต่ยังมีมายาคติเรื่อง Gender role
และมักอ้างว่าสังคมชายเป็นใหญ่ดีอยู่แล้ว เพราะสมองของผู้หญิงและผู้ชายต่างกัน จึงทำให้ผู้หญิงและผุู้หญิงเหมาะกับงานที่ต่างกัน(ซึ่งไม่จริง) ผู้เขียนได้อ่านงานวิจัยเรื่องสมองและประสาทมาบ้าง และได้เรียนรู้ว่า งานวิจัยด้านนี้นอกจากซับซ้อน มี controversial แล้ว ยังมีความ Neurosexism อีกด้วย มีงานวิจัยยุคใหม่หลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า สมองมนุษย์นั้นคล้ายกับพลาสติกที่สามารถแปรรูป เปลี่ยนโครงสร้างได้ตลอดเวลา และเพศกำเนิดไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ส่งผลกับโครงสร้างสมอง สังคม วัฒนธรรม พฤติกรรม และสภาพแวดล้อมก็ส่งผลต่อโครงสร้างสมองเช่นกัน ทั้งยังมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ทำให้เราต้องทบทวนมายาคติ และ Stereotype ที่เรามีเกี่ยวกับเรื่องเพศ อีกสิ่งที่ผู้เขียนอยากสื่อในบทความนี้คือ สุดท้ายแล้วแม้ความรู้ทาง Brain และ Neuroscience จะเป็นอย่างไร เราก็ไม่ควรทำความรู้พวกนี้มา stereotype และปิดกั้นโอกาสของคนเพศต่างๆ เราควรเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ค้นหาศักยภาพที่แท้จริงของตัวเอง ผู้เขียนเชื่อว่า สังคมควรขับเคลื่อนด้วยคนที่ได้ทำสิ่งที่ตัวเองรักได้อย่างมีความสุข

#3 เฟมินิสต์ประสาทแดก: ทำไมจึงเกรี้ยวกราด?
ผู้เขียนอพยายามเข้าใจความเกรี้ยวกราดของตัวเองและเฟมินิสต์คนอื่นๆ

ผู้เขียนคิดว่า การแสดงความเกรี้ยวกราด คือ การทวงคืนอำนาจอย่างหนึ่ง การบอกให้ผู้หญิงต้องเรียบร้อย พูดจาอ่อนหวาน ถือเป็นการควบคุมผู้หญิงอย่างหนึ่ง เหมือนที่ผู้มีอำนาจในประเทศนี้ชอบควบคุมประชาชน

ฉันเองพยายามเข้าใจความประสาทแดกของเฟมินิสต์ (ที่คนเขาว่ากัน) มาสักพักแล้ว น่าเสียดายที่ราชบัณฑิตยสถานไม่ได้นิยามคำว่า ประสาทแดก เอาไว้ มีแต่ในเว็ปไซต์สนุกที่นิยาม ประสาทกิน ไว้ว่า คิดสับสนวุ่นวายเหมือนเป็นโรคประสาท คำนิยามนี้น่าจะใกล้เคียงอารมณ์ของผู้วิจารณ์เฟมินิสต์มากที่สุด จากการเข้าไปสังเกตการณ์และมีส่วนร่วมในการถกเถียงประเด็นเฟมินิสต์ประสาทแดกในเฟสบุ๊คและทวีตเตอร์ ฉันได้ข้อสรุปคร่าวๆว่า เฟมินิสต์ “ประสาทแดก” ด้วยเหตุผลที่ต่างกันออกไป 

ในบทความนี้จะโฟกัสความประสาทแดกที่ 1: ระบอบชายเป็นใหญ่ไม่มีจริงในปัจจุบัน 

เฟมินิสต์ประสาทแดก โทษแต่ระบอบชายเป็นใหญ่ที่ไม่มีอยู่จริงแล้ว!

ระบอบชายเป็นใหญ่ คือ ระบบทางสังคมที่เอื้อให้ผู้ชายมีอำนาจมากกว่า ทั้งอำนาจทางการเมือง อำนาจทางศีลธรรม และอภิสิทธิ์ทางสังคมต่าง ๆ นี่คือหลักฐานว่าชายเป็นใหญ่ยังมีอยู่ในสังคมไทย

1. ช่องว่างทางเพศ 
จากรายงานของ World Economic Forum เรื่อง Global Gender Gap 2020 [1] โดยวัดจากความพยายามปิดช่องว่างระหว่างเพศทางเศรษฐกิจ การศึกษา สุขภาพ และการเมือง พบว่า ดัชนีการลดช่องว่างทางเพศของไทยอยู่ที่ 0.708 (ถ้าลดช่องว่างได้สำเร็จ ดัชนีจะอยู่ที่ 1, ถ้าลดช่องว่างนี้ไม่ได้เลย ดัชนีจะเท่ากับ 0) นับเป็นอันดับที่ 75 จาก 153 ประเทศ โปรดสังเกตุว่าในปี 2020 นี้ประเทศไทยตกอันดับจากปี 2006 ในทุก ๆ ด้าน 

กราฟ [1] และตารางแสดงช่องว่างทางเพศในมิติต่าง ๆ

สำหรับคนที่คิดว่าเฟมินิสต์ “ประสาทแดก” เพราะคิดว่าเฟมินิสต์ต้องการให้ผู้หญิงเป็นใหญ่ ฉันอยากให้ลองพิจารณากราฟความไม่เสมอภาคด้านบนนี้ เพื่อจะได้ตระหนักร่วมกันว่า การต่อสู่เพื่อสิทธิสตรีนั้นเป็นการต่อสู้ให้ผู้หญิงมีอำนาจที่สมดุลกับผู้ชาย ไม่ได้คาดหวังให้ผู้หญิงเป็นใหญ่กว่าเลย

ในด้านสุขภาพและการศึกษา ประเทศไทยและโลกดูมีความหวังว่าจะสามารถปิดช่องว่างนี้ได้ในอีกไม่ช้า (ประมาณ 12 ปี ในด้านการศึกษา) ส่วนด้านเศรษฐกิจนั้น แม้ว่าไทยทำคะแนนได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยโลก แต่ผู้รายงานแสดงความกังวลว่า ช่องว่างทางเศรษฐกิจของโลกมีความถดถอยในปีนี้ และได้คาดการไว้ว่าจะต้องใช้เวลาถึง 257 ปี เพื่อปิดช่องว่าง สาเหตุเพราะ 1) ผู้หญิงทำงานที่สามารถถูกแทนที่ได้ด้วยเทคโนโลยี 2) ยังมีผู้หญิงไม่มากพอในสายงานที่อาศัยความเชี่ยวชาญสูง (ซึ่งมักมีอัตราค่าตอบแทนสูง) และ 3) ผู้หญิงยังประสบปัญหาเดิม ๆ ในเรื่อง Care Infrastructure ที่ไม่เพียงพอและขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน 

การให้อำนาจทางการเมือง (Political Empowerment) ซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้แทนหญิงในสภา รัฐมนตรีกระทรวงหญิง และผู้หญิงเป็นประมุขของรัฐ พบว่าดัชนีของไทยและค่าเฉลี่ยของโลกกลับต่ำมาก ไทยปิดช่องว่างได้เพียง 0.086 ในขณะที่ดัชนีค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 0.25 และไม่มีประเทศไหนที่ปิดช่องว่างนี้ได้ 100% เลย อย่างไรก็ตามในรายงานได้ระบุว่า ดัชนีด้านการเมืองเพิ่มขึ้นในปีนี้และได้คาดการว่าการปิดช่องว่างนี้จะใช้เวลา 95 ปี 

2. สัดส่วนอำนาจทางการเมืองและศาสนา (พุทธ)
จากการสำรวจของ UN Women เดือนมกราคม ปี 2020 [2] โดยวัดจากสัดส่วนผู้แทนหญิงในสภาพบว่า ไทยอยู่ที่อันดับ 130 จาก 193 ประเทศ โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิง 81 คน จาก ทั้งหมด 500 คน และมีสมาชิกวุฒิสภาหญิง 26 คน จากทั้งหมด 250 คน สัดส่วนรัฐมนตรีกระทรวงที่เป็นผู้หญิง อยู่อันดับสุดท้ายของโลกเพราะ ไม่มีเลย (จาก 24 กระทรวง) 

อำนาจทางศีลธรรมส่วนใหญ่ในประเทศไทยยึดโยงกับศาสนาพุทธอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในปี 2019 ผลสำรวจพบว่ามีพระภิกษุสงฆ์-สามเณร ประมาณ 250,000 รูป [3] พระภิกษุณี จำนวน 270 รูป ซึ่งภิกษุณีเหล่านี้ต้องไปบวชนอกประเทศ โดยเฉพาะที่ศรีลังกา เพราะภิกษุณียังไม่ได้รับสถานะนักบวชตามกฎหมายไทย [4]

ฉันเองเป็นคนไม่มีศาสนา ฉันเชื่อว่ารัฐกับศาสนาควรแยกออกจากกัน และศาสนาควรเป็นเรื่องปัจเจก แต่ฉันก็รู้สึกว่าการกีดกันผู้หญิงออกจากศาสนาเช่นนี้ มันช่างไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย 

3.ประเพณีสินสอด
ประเพณีสินสอดนอกจากจะปฏิบัติกันให้ครึกโครมแล้ว ยังมีเว็บไซต์คำนวณสินสอด มีธุรกิจให้เช่าสินสอด แถมสินสอดยังถูกกฎหมายตามมาตรา 1437 วรรค 3 อีกด้วย ถ้าเรามองว่าผู้หญิงและผู้ชายมีศักดิ์ศรีเท่ากัน มีความเสมอภาคกันแล้ว สินสอดเป็นสิ่งไม่จำเป็นเลย แม้โดยผิวเผินครอบครัวฝ่ายหญิงเป็นผู้ได้เปรียบเพราะได้เงินทอง แต่นี่คือการได้เงินทองผ่านการมองว่า ผู้หญิงมีสถานะทางอำนาจที่ด้อยกว่า จำเป็นต้องพึ่งผู้ชายที่มีอำนาจเหนือกว่า อำนาจที่เหนือกว่านี้แสดงผ่านสองมือและร่างกายของผู้หญิงที่บรรจงก้มลงกราบตักสามีในพิธีแต่งงาน ตอกย้ำ/ผลิตซ้ำค่านิยมชายเป็นใหญ่ [5] การอ้างเรื่องค่าน้ำนมและหน้าตาทางสังคมของพ่อแม่ถือเป็นเรื่องไร้สาระ (เพราะผู้ชายก็ดื่มนมแม่เหมือนกัน!) การอ้างความเป็นไทยและความถูกต้องทางประเพณีก็ไร้สาระเช่นกัน ประเพณีควรลื่นไหลเหมือนสายน้ำตามการเรียนรู้และวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ เราควรเลิกนำข้ออ้างเหล่านี้มาสร้างความเป็นธรรมให้กับประเพณีที่ไม่ส่งเสริมความเท่าเทียมของมนุษย์เสียที

ฉันเคยคิดเปรียบเทียบระบอบชายเป็นใหญ่ว่าเป็นเหมือนแสงที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เช่นแสง Ultra-Violet และ X-ray เรามองไม่เห็นแสงเหล่านี้ แต่มันมีอยู่จริงและสามารถทำอันตรายเราได้ ตอนนี้ฉันคิดว่าเราคงไม่สามารถเปรียบระบอบชายเป็นใหญ่ให้เหมือนแสงที่มองไม่เห็นได้อีกแล้ว เพราะหลักฐานการมีอยู่ของระบอบชายเป็นใหญ่ชัดเจนมาก โดยเฉพาะในสถาบันที่กุมอำนาจทางสังคมไว้เหนียวแน่นอย่างสถาบันการเมือง ศาสนา และประเพณี

4.ความรุนแรงที่เกิดกับเพศหญิง
ข้อมูลที่หาได้ ปี 2019 [6]

- ข้อมูลในสื่อทุกแขนง พบว่าผู้หญิงถูกละเมิดทางเพศ รวมถึงความรุนแรงทางกายและใจไม่น้อยกว่าวันละ 7 คน

- กรมสุขภาพจิตเผยว่า ทุกชั่วโมงมี เด็ก-ผู้หญิงถูกกระทำรุนแรง 3 ราย

งานวิจัยชิ้นหนึ่งนำโดยอาจารย์มนทกานติ์ เชื่อมชิตและคณะ [7] ได้สำรวจความรุนแรงในผู้หญิงจากคู่ครอง (ทั้งที่แต่งงานและไม่ได้แต่งงาน) ในปี 2018 พบว่า 1 ใน 6 ของผู้หญิงเหล่านี้เคยถูกทำร้าย (ทั้งทำร้ายจิตใจ ทำร้ายร่างกาย และข่มขืน) ผู้ชายที่มีลักษณะชอบควบคุมคู่ของตัวเองนั้นมีโน้มแนวที่จะทำร้ายคู่ของพวกเขา งานวิจัยโดย Stuckless และคณะ [8] พบว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นเหยื่อความรุนแรงจากคู่ครองมากกว่าผู้ชายถึง 8 เท่า ในงานวิจัยของอาจารย์มนทกานติ์ยังได้เสนอว่า ในบริบทของสังคมไทยนั้น ความรุนแรงลักษณะนี้ถูกมองว่าเป็นเรื่องในครอบครัว ซึ่งทำให้ความไม่สมดุลทางอำนาจยิ่งเข้มข้นไปอีก 

กลุ่มต่อต้านเฟมินิสต์บางคนเห็นว่า เฟมินิสต์ประสาทแดกเพราะมองว่าความรุนแรงในผู้หญิงเกิดจากระบอบชายเป็นใหญ่ พวกเขามองว่าความรุนแรงเหล่านั้นเป็นการกระทำส่วนบุคคล พวกเขาพยายามอธิบายว่า ความรุนแรงเหล่านั้นเกิดโดย “ธรรมชาติ” ของผู้ชาย นี่คือเรื่อง “ธรรมดา” ที่ผู้ชายจะใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงซึ่งโดย “ธรรมชาติ” แล้วอ่อนแอกว่า ราวกับพวกเขาจะยอมรับกลายๆว่า การข่มขืน/ความรุนแรงในผู้หญิงเป็นเรื่องที่ (สามารถยอมให้) เกิดขึ้นได้

ข้ออ้างเหล่านั้นเป็นเพียงเสียงสะท้อนของวัฒนธรรมข่มขืน ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมทางสังคมที่อนุญาตให้ความรุนแรงทางเพศเป็นเรื่องธรรมดา (normalized) และสมควรแก่เหตุ (justified) เชื้อเพลิงของวัฒนธรรมนี้คือ ความไม่เท่าเทียมทางเพศ ทัศนคติ และ อคติที่มีต่อเพศต่าง ๆ [9] ที่ฝังรากอยู่ในระบอบชายเป็นใหญ่ หากเราอยากกำจัดวัฒนธรรมนี้ เราต้องระลึกไว้ในใจเสมอว่าเราต้องไม่ justify การกระทำของผู้ร้าย ไม่ว่าความรุนแรงทางเพศจะเกิดกับใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไรก็ตาม 

ฉันเชื่อว่า ถ้าเราสามารถลดช่องว่างระหว่างเพศในมิติทางอำนาจต่าง ๆ ได้ นักการเมืองหญิง-ชายมีสัดส่วนเท่ากัน ผู้หญิงได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีได้บ่อยพอๆกับผู้ชาย รัฐมีสวัสดิการที่เพียงพอต่อการลาคลอดและเลี้ยงบุตร ผู้หญิงมีโอกาสและอำนาจทางเศรษฐกิจมากขึ้น ภิกษุณีไทยได้รับรองให้เป็นนักบวชที่ถูกกฎหมาย พร้อม ๆ กับที่ประเพณีสินสอดถูกทำให้ผิดกฎหมาย และผู้หญิงไม่ต้องกราบตักสามีในงานแต่งงานอีกต่อไป จะทำให้อำนาจคนทุกเพศสมดุลกัน ฉันเชื่อว่าเมื่ออำนาจทางเพศสมดุลกันแล้ว ความรุนแรงที่เกิดกับผู้หญิงก็จะลดลงไปด้วย 
.............................................................................................

ฉันมองว่า การเรียกเฟมินิสต์ว่าประสาทแดกด้วยเหตุผลข้างต้นนี้ เป็นการปฏิเสธความจริง 

คล้ายกับคนที่ยังเชื่อว่าโลกแบนทั้งที่โลกกลม

คล้ายกับคนที่ปฏิเสธเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโลกร้อน

คล้ายกับพวกศักดินา-เผด็จการ ที่ปฏิเสธประชาธิปไตยเพราะกลัวตัวเองเสียอำนาจ มองการเรียกร้องความเสมอภาคว่าเป็นแค่การร้องแรกแหกกระเชอ สร้างวาทกรรมอย่าง ชังชาติ เพื่อลดคุณค่าผู้เห็นต่าง ทั้งยังมี IO มาคอยด้อยค่าและคุกคามผู้เรียกร้องประชาธิปไตยทางโซเชียลมีเดีย 

เช่นเดียวกับพวกต่อต้านเฟมินิสต์ที่ไม่เพียงแต่จะปฏิเสธความจริงเท่านั้น พวกเขายังล้อเลียน ด้อยค่าเฟมินิสต์ด้วยมุกตลกราคาถูก รวมถึงการคุกคาม(ทางชีวิตและเพศ)เฟมินิสต์ในโลกออนไลน์ ไม่ว่าพวกเขาจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม การกระทำเหล่านี้เป็นความพยายามบิดเสียงของเฟมินิสต์ให้เบี้ยว ลดทอนคุณค่าของเสียงที่เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ รวมถึงทำให้เฟมินิสต์รู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศในพื้นที่สาธารณะอย่างโลกออนไลน์ ช่างน่าเศร้าและเป็นเรื่องตลกร้ายที่ว่า ผู้ต่อต้านเฟมินิสต์กลุ่มนี้ส่วนหนึ่งคือกลุ่มคนที่ออกมาวิจารณ์สถาบันหลักของประเทศ วิจารณ์รัฐบาลคุณประยุทธ จันทร์โอชา และเรียกร้องประชาธิปไตย ...

ปรากฏการณ์นี้ทำให้ฉันนึกถึงปาฐกถาพิเศษของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล (ในงาน ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17) ที่อาจารย์พูดว่า “... ใครจะเรียกว่านี่คือการชังชาติก็ช่างเขา เราต้องกล้าเรียกความอยุติธรรมว่าความอยุติธรรมอย่างตรงไปตรงมา ...” ครั้งแรกที่ฉันฟังปาฐกถานี้ ฉันเองที่เคยรู้สึกหงุดหงิดกับวาทกรรมชังชาติก็รู้สึกสงบลงอย่างน่าอัศจรรย์ ฉันจึงขออนุญาตนำท่าทีการพูดของอาจารย์ธงชัยมาใช้ เพื่อให้กำลังเพื่อนเฟมินิสต์ในทวีตเตอร์และตัวเองว่า อย่าหยุดพูด อย่าหยุดเขียน และอย่าเงียบ

ใครจะว่าเฟมินิสต์ประสาทแดกก็ช่างเขา เราต้องกล้าชี้นิ้วไปที่ระบอบชายเป็นใหญ่และวิจารณ์มันอย่างตรงไปตรงมา เราต้องคืนอำนาจให้ผู้รอดชีวิตจากการคุกคามทางเพศด้วยการฟังเสียงของพวกเขา ที่เราออกมาส่งเสียงเพราะเราแคร์ และมีความหวังว่าสังคมไทยดีกว่านี้ได้ การด้อยค่าเฟมินิสต์โดยคนเขลาและไร้ยางอายต่างหากที่น่ารังเกียจ เพราะเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงระบอบชายเป็นใหญ่เอาไว้ 

 

อ้างอิง

[1] “Global Gender Gap Report 2020.” World Economic Forum. www.weforum.org, https://www.weforum.org/reports/gender-gap-2020-report-100-years-pay-equality/. Accessed 28 June 2020.
[2] “Women in Politics: 2020 | Digital Library: Publications.” UN Women. www.unwomen.org, https://www.unwomen.org/digital-library/publications/2020/03/women-in-politics-map-2020. Accessed 28 June 2020.
[3] Chonrada. “สำนักพุทธฯ เผยผลสำรวจ พระสงฆ์-สามเณร ยอดลดฮวบ ทั่วประเทศ เหลือ 2.5 แสนรูป.” ข่าวสด, 8 Oct. 2019. www.khaosod.co.th, https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_2957304.
[4] “ภิกษุณีแห่งวัตรทรงธรรมกัลยาณี นักบวชหญิงของไทยที่แสวงหาพระธรรม แม้ยังไม่ได้รับสถานะตามกฎหมาย.” THE STANDARD, 4 Jan. 2019. thestandard.co, https://thestandard.co/songdhammakalyani-monastery/.
[5] สินสอดมีไว้ทำไม? มองสินสอดด้วยเศรษฐศาสตร์ | The 101 World. 13 Feb. 2018. www.the101.world, https://www.the101.world/pride-price/.
[6] “ความรุนแรงทางเพศต่อเด็ก-สตรีสูงขึ้น ต้นตอจากคนรอบตัวมากสุด.” มติชนออนไลน์, 10 July 2019. www.matichon.co.th, https://www.matichon.co.th/publicize/news_1575556.
[7] Chuemchit, Montakarn, et al. “Prevalence of Intimate Partner Violence in Thailand.” Journal of Family Violence, vol. 33, no. 5, 2018, pp. 315–23. PubMed Central, doi:10.1007/s10896-018-9960-9.
[8] Stuckless, Noreen, et al. “Perspectives on Violence Against Women: Social, Health, and Societal Consequences of Inter-Partner Violence.” Women’s Mental Health: Resistance and Resilience in Community and Society, Springer International Publishing, 2015, pp. 51–66. Springer Link, doi:10.1007/978-3-319-17326-9_4.
[9] “16 Ways You Can Stand against Rape Culture.” UN Women. www.unwomen.org, https://www.unwomen.org/news/stories/2019/11/compilation-ways-you-can-stand-against-rape-culture. Accessed 28 June 2020.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net