เครือข่ายผู้ป่วยค้านประกาศ 10 หน้าที่ของผู้ป่วยของแพทยสภา ชี้ไม่มีอำนาจ

เครือข่ายผู้ป่วยคัดค้านแพทยสภา ออกประกาศหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย 10 ข้อ โดยไม่มีอำนาจ อาจส่งผลต่อการพิจารณาคดีทางการแพทย์ วิจารณ์ทำตัวเป็นเจ้าชีวิตผู้ป่วยแทนที่จะช่วยทำหน้าที่ซักถามผู้ป่วย ด้านเลขาธิการแพทยสภา แจงเป็นข้อแนะนำ ยกเหตุโควิดปกปิดข้อมูลทำให้ติดเชื้อ ระบุบางพฤติกรรมอาจละเมิด กม.อื่นๆ จึงต้องเตือน เช่น ตีกันใน รพ.

30 มิ.ย.2563 จากกรณีวานนี้ (29 มิ.ย.63)  เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศแพทยสภา ที่ 50/2563 เรื่อง หน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย 10 ข้อ ลงนามโดย ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา มีผลตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปนั้น

วันนี้ (30 มิ.ย.63)ฝ่ายข้อมูลเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค แจ้งว่า ธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย และในฐานะประธานเครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรังทุกประเภท (Healthy forum) คัดค้านการออกประกาศแพทยสภาเรื่องหน้าที่ของผู้ป่วย เห็นว่าขัดต่อกฎหมายแพทยสภา และไม่มีอำนาจในการออกหน้าที่ของผู้ป่วยแต่อย่างใด แพทยสภาอ้างว่า การออกหน้าที่ผู้ป่วยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 (1) ซึ่งเป็นการให้อำนาจคณะกรรมการแพทยสภาในการบริหารกิจการแพทยสภา ตามวัตถุประสงค์ในมาตรา 7 และหากพิจารณาตามอำนาจของแพทยสภาตามวัตถุประสงค์ในมาตรา 7 (2) เป็นการส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการประกอบอาชีพในทางการแพทย์ และ (4) ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้การศึกษาแก่ประชาชน และองค์กรอื่นในเรื่องที่เกี่ยวกับการแพทย์และการสาธารณสุข ซึ่งไม่ได้เป็นอำนาจในการออกประกาศที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยแต่อย่างใด ทำได้เพียงการช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และการให้การศึกษาแก่ประชาชน แต่ไม่ใช่การออกคำสั่งต่อการทำหน้าที่ของผู้ป่วยหรือประชาชน

ธนพลธ์ กล่าวต่อว่า หากจะมีการออกหน้าที่ผู้ป่วยจริง ควรเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข และกระบวนการควรจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างกว้างขวาง ทุกส่วน และต้องระบุอย่างชัดเจนว่า หน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วยไม่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีทางการแพทย์ และหากพิจารณาเนื้อหาผู้ป่วยทั้ง 10 ข้อที่กำหนด “หน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย” สะท้อนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเป็นอย่างดี และทัศนคติของแพทยสภาที่มองผู้ป่วยเป็นลบ ไม่สนใจปัญหาสุขภาพของตนเอง ทั้งที่เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนทั้งสิ้น

รวมทั้งหน้าที่ของผู้ป่วยหลายประการเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพที่จะซักถามจากผู้ป่วย ผู้ป่วยจำนวนมาก ไม่ทราบว่าสิ่งไหนสำคัญไม่สำคัญที่จำเป็นจะต้องให้ข้อมูลบางเรื่องที่เขียนเป็นเรื่องที่สามารถอธิบายให้ผู้ป่วยหรือญาติได้รับทราบ เช่น การใช้ห้องฉุกเฉิน ความเหมาะสม หรือบางหน้าที่เป็นพฤติกรรมเฉพาะตนของผู้ป่วยในบางกรณีที่มีสาเหตุมาจากความไม่พอใจ ซึ่งไม่ควรกำหนดเป็นหน้าที่ของผู้ป่วยโดยภาพรวม

ธนพลธ์ ได้ทิ้งท้ายว่า เรื่องนี้คงต้องปรึกษาหารือในกลุ่มผู้ป่วยว่าจะมีการดำเนินการใด หรือไม่ เพราะเพิ่งจะทราบข้อมูลเรื่องนี้ ที่ปรากฎเป็นข่าว

เลขาธิการแพทยสภา แจงเป็นข้อแนะนำ ยกเหตุโควิดปกปิดข้อมูลทำให้ติดเชื้อ

ผู้จัดการออนไลน์รายงานเพิ่มเติมว่า พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่โรคโควิด-19 ระบาด ทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมากไม่กล้าเปิดเผยความจริง จนมีบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากติดเชื้อ จึงมีการออกประกาศหน้าที่ผู้ป่วยนี้ขึ้น ซึ่งไม่ใช่กฎหมาย ไม่มีโทษ เป็นเพียงคำแนะนำที่จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อผลประโยชน์ของผู้ป่วย โดยขอให้ผู้ป่วยให้ประวัติตามจริง ไม่อย่างนั้นอาจจะทำให้ผู้รักษาเกิดการติดเชื้อ แล้วผู้ป่วยก็ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เมื่อแพทย์ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างไร แล้วมีการทำตาม จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ เนื่องจากประเทศเราทรัพยากรมีจำกัด การรักษา การใช้ การบริการ เราจะเห็นว่าในช่วงโควิดเครื่องช่วยหายใจมีจำกัด จึงต้องช่วยกันถนอมรักษาและแบ่งปันกันตามความจำเป็น และในช่วงก่อนหน้านี้มีปัญหาผู้ก่อความรุนแรง ตีกันใน รพ. ทำให้ข้าวของอุปกรณ์เสียหาย ในส่วนนี้จะมีโทษตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ใช่กฎหมายของแพทยสภา จึงต้องเตือนกันไว้ แม้แต่การถ่ายรูปผู้ป่วยใน รพ.อาจจะมีการติดภาพญาติ คนไข้คนอื่นๆ ใน รพ. ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องเคารพสิทธิคนอื่นด้วย

“แพทยสภาต้องขออภัยที่ประกาศดังกล่าวทำให้เกิดการเข้าใจผิด ขอย้ำว่า ประกาศดังกล่าวไม่ได้มีการจำกัดสิทธิแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อปี 2558 แพทยสภา ได้มีการออกประกาศเรื่อง สิทธิผู้ป่วยแล้วด้วย โดยสามารถขอการรักษาได้ แต่เมื่อมีสิทธิแล้ว ก็ต้องมีหน้าที่ในการดูแลตัวเอง และปฏิบัติตามคำแนะนำการรักษา ช่วยกันรักษาอุปกรณ์การแพทย์ เพื่อให้ผลการรักษาที่ดี การร่วมมือของผู้ป่วยเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่จะนำไปสู่ชัยชนะต่อโรคภัย ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด คือการต่อสู้กับโควิด-19 ที่เราชนะในยกแรกมาแล้ว ก็เกิดจากการร่วมมือของประชาชน ถ้าผู้ป่วย แพทย์ ประชาชนไม่ร่วมมือกันไม่มีทางชนะ เป็นอันดันดับต้นๆ ของโลก” พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท