Skip to main content
sharethis

ธนาคารโลก คาดจะมีแรงงาน 8.3 ล้านคน ตกงานหรือสูญเสียรายได้จากวิกฤติโควิดและการล็อคดาวน์กิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ แนะใช้ประโยชน์จากรายรับของภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ที่จะทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น

 

1 ก.ค.2563 สื่อหลายสำนักรายงาน การคาดการณ์ผลกระทบจากโควิด-19 และมาตรการแก้ไขต่อเศรษฐกิจไทย โดยธนาคารโลก (World Bank) ประเทศไทย ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจอาจหดตัวมากกว่า 5% ในปี 63 และน่าจะใช้เวลามากกว่า 2 ปีกว่าที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีจะกลับไปสู่ระดับเดิม พบว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ร่วงรุนแรง โดยมีคนตกงานกระจายไปทั่ว และกระทบต่อครัวเรือนชนชั้นกลาง และครัวเรือนที่ยากจน ซึ่งประมาณการว่าไทยจะมีคนตกงาน และสูญเสียรายได้ กว่า 8.3 ล้านคน ทำให้งานมากมายโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการมีความเสี่ยง

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการ ธนาคารโลก ประจำ ประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทย ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้มีการล็อคดาวน์กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้มีผู้ตกงานจำนวนมาก แม้รัฐบาล จะออกหลายมาตรการมาช่วยเหลือ เยียวยา ทั้งแจกเงิน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน และมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ,ยืดระยะเวลาชำระหนี้ ,ลดภาษีให้ธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อเสริมสภาพคล่องในภาวะวิกฤติโควิด แต่ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจรุนแรงเกินคาด โดยประมาณการณ์ว่า จะมีแรงงาน 8.3 ล้านคน ตกงานหรือสูญเสียรายได้จากวิกฤติโควิดในครั้งนี้ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ

ผู้จัดการ ธนาคารโลก ประจำ ประเทศไทย ระบุอีกว่า เศรษฐกิจไทย ยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกถดถอย ทำให้การค้าโลกหดตัวตาม คาดว่าส่งออกไทยปีนี้ น่าจะติดลบ 6.3% เป็นการชะลอตัวลงรายไตรมาสรุนแรงที่สุดในรอบ 5 ปี

  • สามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่ www.worldbank.org/tem

เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสธนาคารโลก ประจำประเทศไทย บอกว่ามาตรการเยียวยาภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจของไทย ถือเป็นมาตรการที่มีขนาดใหญ่กว่าประเทศเพื่อนบ้าน หรือมีขนาดถึง 13% ของจีดีพี และเสนอแนะรัฐบาล ควรเพิ่มฐานข้อมูลประชากร เพื่อให้สามารถช่วยเหลือได้ตรงจุดและตรงกลุ่มเมื่อเกิดปัญหา โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มแรงงานนอกระบบ และกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อย ส่วนมาตรการทางการเงิน ต้องเข้าไปช่วยเหลือสภาพคล่องของครัวเรือน และภาคธุรกิจ เพื่อไม่ให้เกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้น

ธนาคารโลก มองว่า รัฐบาล ยังมีพื้นที่ทางการคลัง ที่จะรับมือผลกระทบจากโควิด ในระยะถัดไปได้ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากรายรับของภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ที่จะทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น

(ที่มา : ไทยโพสต์, ผู้จัดการออนไลน์, ไทยรัฐออนไลน์และข่าวสดออนไลน์)

ขณะที่รายงาน เศรษฐกิจแรงงาน ประจำเดือน พ.ค. 2563 ระบุว่าการจ้างงานในตลาดแรงงาน เดือน พ.ค. 2563 มีแรงงานในระบบประกันสังคมหรือผู้ประกันตน มาตรา 33 จำนวน 11,391,965 คน มีอัตราการหดตัวร้อยละ -1.29 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 11,540,945 คน) และมีอัตราการหดตัวร้อยละ -1.11 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 11,520,407 คน) โดยการจ้างงานรายอุตสาหกรรมหลักที่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ได้แก่ สาขาขนส่ง ร้อยละ 4.33 สาขาเกษตรกรรม ร้อยละ 3.45 สาขาก่อสร้าง ร้อยละ 1.68 และสาขาการค้า ร้อยละ 0.34 ขณะที่ อุตสาหกรรมหลักที่หดตัว ได้แก่ สาขาที่พักแรม/ร้านอาหาร ร้อยละ -10.36 และสาขาการผลิต ร้อยละ -2.90

การว่างงาน เดือน พ.ค. 2563 มีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมจำนวน 332,060 คน มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 87.68 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 176,931 คน) และมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 53.98 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 215,652 คน) โดยการว่างงานรายอุตสาหกรรมหลักเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่าขยายตัวทุกอุตสาหกรรม ได้แก่ สาขาที่พักแรม/ร้านอาหาร ร้อยละ 282.56 สาขาขนส่ง ร้อยละ 112.16 สาขาก่อสร้าง ร้อยละ 86.07 สาขา การค้า ร้อยละ 74.36 สาขาการผลิต ร้อยละ 55.91 และสาขาเกษตรกรรม ร้อยละ 53.75

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net