Skip to main content
sharethis

มหาวิทยาลัยซิตี้แห่งฮ่องกง ระบุถึงการที่ธุรกิจห้างสรรพสินค้าในใจกลางกรุงเทพฯ และการใช้ชีวิตของคนชั้นกลาง-สูงของไทย มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงที่ลงทุนสร้างโดยบริษัทเอกชนและรัฐไทยร่วมกับรัฐบาลลาว ซึ่งเขื่อนดังกล่าวได้ทำลายสภาพแวดล้อมของลาวและทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน เพราะไทยได้ซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนของลาวมาใช้ ทั้งที่นักวิชาการเคยระบุว่าไทยมีพลังงานไฟฟ้าสำรองเพียงพอเกินกว่าการใช้งานอยู่ราว 1 หมื่นเมกะวัตต์

เขื่อนดอนสะโฮง ภาพจาก สถานกงศุลใหญ่แขวงสะหวันนะเขต

สื่อฮ่องกง เซาธ์ไชนามอร์นิงโพสต์นำเสนอบทความที่ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยซิตี้แห่งฮ่องกง ระบุถึงกรณีการเปิดศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ห้างหรูยักษ์ใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ ที่เปิดขึ้นตั้งแต่เมื่อราว 6 ปีที่แล้ว และภายในเดือนเดียวกันองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล(WWF) เคยเรียกร้องให้ระงับการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงในทางตอนใต้ของลาวเพราะอาจทำให้โลมาอิระวดี ซึ่งเป็นโลมาน้ำจืดที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ได้ รายงานชิ้นนี้ได้อธิบายว่าทั้งสองเรื่องนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกัน

เมื่อปี 2562 มหาวิทยาลัยซิตี้แห่งฮ่องกงออกรายงานวิจัยที่ระบุถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างสองเหตุการณ์ข้างต้นที่ดูจะไม่เกี่ยวกันนี้ว่า เพื่อให้สามารถเติมเต็มความต้องการใช้ไฟฟ้าราคาถูกของคนชนชั้นกลาง-สูงในเมือง บริษัทเอกชนและการไฟฟ้าของไทยได้ทำสัญญาร่วมกับรัฐบาลลาวเพื่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำในลาวโดยไทยจะเป็นลูกค้านำเข้าไฟฟ้าต่อจากลาว แม้ว่าเขื่อนเหล่านี้จะทำลายทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคมของประชาชนชาวลาว มีบางชุมชนที่ถูกบีบบังคับให้ต้องย้ายออกจากพื้นที่ไปตั้งรกรากที่อื่นและมักจะทำให้ชีวิตของคนเหล่านี้ย่ำแย่ลงกว่าเดิมหลังจากนั้น

ที่มา: www.livingriversiam.org 

อย่างไรก็ตาม ในไทยมีคนที่รับรู้เรื่องความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นนี้น้อยมากโดยเฉพาะคนในกรุงเทพฯ ถึงแม้ว่าจะมีการประท้วงการต่อต้านการสร้างเขื่อนในไทย แต่ก็ไม่มีการพูดถึงเรื่องการสร้างเขื่อนในลาว มีชาวบ้านชาวไทยบางส่วนที่ฟ้องร้องรัฐบาลที่ไปลงนามเซ็นสัญญาซื้อพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำแห่งใหม่ที่อยู่บนแม่น้ำโขงตอนล่างในแขวงไชยบุรี แต่คนเหล่านี้ก็เป็นคนต่างจังหวัดในภาคอีสานทั้งหมดไม่ใช่คนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ

แดนนี มาร์กส์ และจุนจาง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาเอเชียและนานาชาติศึกษา วิทยาลัยศิลปศาสตร์และสังคมวิทยา ของม.ซิตี้ ที่วิจัยเรื่องนี้เสนอให้มีการตีแผ่ประเด็นความอยุติธรรมและไร้เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังของการสร้างเขื่อนดังกล่าวนี้เพื่อช่วยให้เกิดแรงต้านจากในกรุงเทพฯ เอง

เมื่อ 2 ปีที่แล้วเคยมีนักวิชาการไทยวิทูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง กล่าวถึงกรณีเขื่อนไฟฟ้าในลาวว่าภาพรวมการผลิตไฟฟ้าในไทยยังมีเพียงพอ โดยมีตัวเลขอยู่ที่ 42,299 เมกะวัตต์ (จากการวัดล่าสุดเมื่อเดือน พ.ค. 2563 อยู่ที่ 46,227 เมกะวัตต์ มีซื้อจากต่างประเทศรวม 5,720 เมกะวัตต์) แต่การใช้งานสูงสุดนั้นไม่ถึง 30,000 เมกะวัตต์


เรียบเรียงจาก

Damning Link between a Bangkok Mall and Injustice in Laos, South China Morning Post, 24-06-2020

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

ชี้สัดส่วน“ไฟฟ้า” ไทยยังพอไม่ต้องสร้างเขื่อนในลาวเพิ่ม, ไทยพีบีเอส, 09-08-2018

สถิติกำลังผลิตในระบบไฟฟ้า, การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net