'ประยุทธ์' แถลงงบฯ 64 ต่อสภาฯ วงเงิน 3.3 ล้านล้าน ฝ่ายค้านอัดจัดงบเหมือนไม่มีวิกฤตโควิด-19

 

  • 'ประยุทธ์' แถลงงบฯ 64 ต่อสภาฯ วงเงิน 3.3 ล้านล้าน อ้างเน้นฟื้นฟูเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน
  • ด้านผู้นำฝ่ายค้าน ชี้ต้องไม่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของพรรคฝ่ายรัฐบาล 
  • 'อนุดิษฐ์' ชี้ไม่ได้ตอบสนองเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19
  • 'พิธา ก้าวไกล' ซัดรัฐบาลไร้วิสัยทัศน์ “จัดงบเหมือนประเทศไทยไม่มีวิกฤต” แทบไม่ต่างจากปีที่แล้ว

1 ก.ค.2563 วันนี้ (1 ก.ค.63) เวลา 09.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ต่อสภาผู้แทนราษฎรวงเงินไม่เกิน 3,300,000,000,000 บาท เน้นฟื้นฟูเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ควบคู่ไปกับส่งเสริมการสร้างรายได้ของประชาชนเพื่อกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ.2563 โดยใช้งบประมาณเป็นเครื่องมือผลักดันแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แผนการปฏิรูปประเทศ และนโยบายสำคัญของรัฐบาลสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสบผลสำเร็จ เป็นรูปธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยเน้นฟื้นฟูเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ควบคู่ไปกับส่งเสริมการสร้างรายได้ของประชาชนเพื่อกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง  พร้อมย้ำว่า ฐานะการเงินต่างประเทศของไทยอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง  มีเงินสำรองระหว่างประเทศจำนวน 235,708.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 3.8 เท่า ของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น โดยเป้าหมายสำคัญของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่ง  

ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ครอบคลุม 6 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคง เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ  รักษาความสงบภายในประเทศ ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์  ป้องกัน ปราบปรามและบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ เตรียมพร้อมระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ เป็นต้น ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ การพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ พัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก เขตเศรษฐกิจพิเศษ  การท่องเที่ยว พัฒนาผู้ประกอบการ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล การพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต  การพัฒนาพื้นที่ระดับภาค สร้างมูลค่าการเกษตร ความมั่นคงทางพลังงาน พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล พัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เป็นต้น ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์  เพื่อเสริมสร้างให้คนมีสุขภาวะที่ดี พัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต พัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ เสริมสร้างศักยภาพการกีฬา เป็นต้น  ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เสริมสร้างพลังทางสังคม กระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย พัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก  สร้างหลักประกันทางสังคม สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยแผนงานการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ  การจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ  การจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ยุทธศาสตร์ที่ 6 : ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ มีแผนงานทั้งการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รัฐบาลดิจิทัล พัฒนาบริการประชาชนและการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ พัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สนับสนุนด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ เป็นต้น

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย เพื่อรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และรายจ่ายงบกลางเพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรงและภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ รวมทั้งบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตลอดจนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรวมทั้งการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ นายกรัฐมนตรีย้ำรัฐบาลจะใช้จ่ายงบประมาณอย่างรอบครอบและกรอบระเบียบกฎหมาย เพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางการคลังและการเงินรวมทั้งการรักษาวินัยทางการคลังด้วย

ผู้นำฝ่ายค้าน ชี้งบฯ 64 ต้องไม่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของพรรคฝ่ายรัฐบาล

สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564

โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับการบริหารประเทศในแต่ละปี และสำคัญมากขึ้นเป็นทวีคูณ สำหรับการบริหารประเทศในภาวะวิกฤติแบบที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นการอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 2564 ที่สภากำลังดำเนินการอยู่นี้ จึงต้องกระทำด้วยความรอบคอบ ละเอียดถี่ถ้วน และต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศเป็นหลัก

การจัดทำงบประมาณประจำปี จำเป็นอย่างยิ่งต้องจัดทำให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ และสังคมในช่วงเวลานั้นๆ

ขณะนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันวิกฤติด้านสาธารณสุขที่ถูกรับมือโดยมาตรการที่รุนแรงเกินกว่าเหตุของรัฐบาล กำลังจะนำประเทศไทยไปสู่อีกวิกฤติหนึ่ง นั่นคือวิกฤติเศรษฐกิจ การจัดทำงบประมาณในครั้งนี้ จึงมีลักษณะพิเศษที่ต้องพิจารณา นั่นคือ ต้องสามารถเป็นเครื่องมือรองรับวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังคืบคลานเข้ามาให้ได้

ต้องเข้าใจก่อนว่า วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 แตกต่างจากวิกฤติครั้งที่ผ่านๆ มาโดยสิ้นเชิง เช่น ในวิกฤติต้มยำกุ้ง ภาคธุรกิจชั้นบนมีปัญหาไม่ว่าจะเป็นภาคธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ แต่ภาคการผลิตข้างล่างไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร การท่องเที่ยว และการส่งออก ยังสามารถทำงานได้ และยังมีเรื่องของเงินบาทอ่อน ทำให้การส่งออกเป็นหัวหอกในการกอบกู้เศรษฐกิจในครั้งนั้นได้

แต่ในวิกฤติโควิด-19 นี้ กระทบพร้อมกันทุกภาคส่วน ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ จนถึงขนาดเล็ก ตั้งแต่ภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร และกระทบไปทั่วโลกพร้อมกัน และยังกระทบทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกำลังซื้อ การส่งออกที่เป็นอัมพาต และอุปทานที่เกี่ยวข้องกับการผลิต เรียกได้ว่า ทั้งหมดทุกอย่างพังพินาศไปพร้อมๆ กัน

แต่ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่...

ประเทศไทยได้รับผลกระทบน้อยในด้านการระบาดของโรค แต่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ กลับติดอันดับต้นๆ ของโลก นี่เป็นสิ่งที่น่ากังวล อันเกิดจากมาตรการที่ผิดพลาดของรัฐบาล เป็นมาตรการที่มีต้นทุนที่สูงเกินความจำเป็น โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นเบื้องต้น คาดว่าถึงระดับ 2 ล้านล้านบาท โดยล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย คาดการณ์ GDP ปี 2563 จะหดตัวติดลบ 8.1% ลงลึกกว่าตอนวิกฤติต้มยำกุ้ง ตอกย้ำความผิดพลาดของรัฐบาลในการรับมือโควิด-19 อย่างชัดเจน

เรื่องท้าทายสำคัญต่อรัฐบาลในเวลานี้คือ มาตรการรองรับผลกระทบด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างไร มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด

ในระยะก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.เกี่ยวกับมาตรการทางการเงินอีก 2 ฉบับ รวมถึง พ.ร.บ. โอนงบประมาณปี 2563 เพื่อรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจ

โดยสรุปมองว่าที่ผ่านมา รัฐบาลใช้มาตรการแบบสักแต่ว่าได้ทำ แต่ไม่มองถึงประสิทธิภาพที่ปลายทาง ที่ผิดพลาด และมีช่องโหว่ และเข้าไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายอยู่มาก

ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 จะมากหรือน้อย ฟื้นตัวเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่คาถาที่รัฐบาลต้องท่องไว้ 3 อย่าง คือ... ป้องกันธุรกิจล้ม รักษาการจ้างงาน ป้องกันผลกระทบที่ลามถึงระบบการเงิน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ธุรกิจล้มกันระยาว แรงงานตกงานมหาศาล และกำลังจะลามถึงสถาบันการเงินในระยะต่อไป หลังหมดมาตรการเยียวยาและพักหนี้ เราจะเห็นเสถียรภาพของระบบธนาคารที่มีปัญหา ถ้าเกิดขึ้น มันคือเรื่องใหญ่ หนี้ภาคเอกชนไม่ได้เพิ่มขึ้นเร็ว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ หนี้เสียที่จะพุ่งทะยานขึ้น

ขณะนี้เราอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจ ภาคธุรกิจก็กำลังจะล้มละลาย ภาคแรงงานก็จะตกงานมากมายเหลือเกิน จึงต้องตรวจสอบดูว่า ในระยะต่อไปคือ เราจะจัดทำงบประมาณอย่างไร เพื่อแก้ไขและบรรเทาผลกระทบต่อความผิดพลาดของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา

งบประมาณแผ่นดินเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ที่สามารถมีพลังมากในการขับเคลื่อนและปลุกเศรษฐกิจให้ฟื้นขึ้นมาได้ ถ้าทำอย่างเข้าใจและถูกวิธี

คำถามที่สำคัญ คือ งบประมาณที่รัฐบาลจัดทำมา คำตอบที่จะแก้ไขปัญหาเศรฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น

งบประมาณ ปี 2564 ฉบับนี้ ไม่ได้ตอบโจทย์เหล่านี้เลย ยังคงใช้วิธีการจัดทำงบประมาณแบบเก่าๆ ไม่ได้มีการปรับให้เหมาะกับสภาวะเศรษฐกิจที่เราเผชิญอยู่ นอกจากนั้นยังยึดโจทย์เดิมๆ ที่ต้องปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ และยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณแบบเก่าๆ ไม่ทันต่อสถานการณ์ ไม่ได้ตอบโจทย์ข้างต้น

งบประมาณ ปี 2564 ถูกจัดสรรแบบเก่า มุ่งไปสู่การก่อสร้าง ขุดลอกคูคลอง รวมถึงการจัดอบรมต่างๆ เสมือนทำไปวันๆ ทำตามหน้าที่ไปเรื่อยๆ ตามที่หน่วยราชการเสนอมา ซึ่งรัฐบาลไม่ได้มองไปที่ภาพใหญ่กว่านั้น คือ อนาคตของไทยจะก้าวไปในทิศทางไหน จะรองรับธุรกิจที่จะเกิดขึ้นใหม่จากพฤติกรรมผู้บริโภคใหม่ยังไง สินค้าการเกษตรจะถูกยกระดับอย่างไร เพื่อให้เกษตรสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งการอุดหนุนภาครัฐไปเรื่อยๆ อุตสาหกรรมใดจะเป็นเป้าหมายในระยะ 5 ปีข้างหน้า เราจะเอาประเทศไทยไปอยู่ส่วนไหนของห่วงโซ่อุปทานใหม่ของโลก

ยิ่งไปกว่านั้น “ทรัพยากรมนุษย์” เป็นสิ่งที่ถูกละเลยมาตลอด และงบประมาณ ปี 2564 ก็ยังขาดแผนเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า หากประชาชนขาดทักษะในการสร้างรายได้ ประเทศไทยไม่มีทางก้าวหลุดพ้นประเทศรายได้ปานกลางได้ อยากฝากไว้ว่างบประมาณควรถูกใช้ไปกับการสร้างทักษะเพื่อสร้างงานที่มีผลผลิตต่อหน่วยสูง เพื่อให้คนไทยมั่งคั่งขึ้นแบบถาวรและยั่งยืน

นอกจากนั้น งบประมาณปี 2564 ต้องไม่ถูกใช้ไปแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของพรรคฝ่ายรัฐบาล โดยนโยบายสารพัดแจกเพื่อหวังผลด้านคะแนนเสียงและความนิยม เสมือนเป็นการรีดภาษีประชาชนไปซื้อเสียงล่วงหน้า ขอย้ำว่าไม่อยากเห็นนโยบายแจกเงินเที่ยว รวมถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในส่วนที่เป็นทางผ่านของเม็ดเงินไปสู่กลุ่มทุนใหญ่ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล เป็นมาตรการเพื่อตนและพวกพ้อง โดยใช้ประชาชนและภาษีประชาชนเป็นเครื่องมือ เหมือนที่กระทำมาในอดีต

โดยสรุป งบประมาณ ปี 2564 ไม่ได้ตอบคำถามที่สำคัญในหลายๆ ข้อ เช่น

งบประมาณ ปี 2564 ไม่ได้ตอบคำถามว่าจะปรับปรุงการรองรับแรงงาน ที่ตกงานจำนวนมหาศาลอย่างไร คนเหล่านี้รัฐบาลมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อรองรับอย่างไร จะใช้ภาคส่วนไหนในการรองรับ มีการจัดสรรงบประมาณไปภาคส่วนนั้นอย่างไร

งบประมาณ ปี 2564 กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายหลังโควิด-19 อย่างไร จะใช้อุตสาหกรรมในลักษณะไหน เป็นที่ทราบกันดีว่าพฤติกรรมผู้ผลิตและผู้บริโภคมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากหลังเกิดโควิด-19 อุตสาหกรรมดาวรุ่งเกิดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ด้านความมั่นคงทางอาหาร ด้านการบริการ และด้านอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ รวมถึงการจัดสรรระเบียบโลกใหม่ ห่วงโซ่การผลิตรูปแบบใหม่ รัฐบาลมียุทธศาสตร์แล้วหรือยังว่า ประเทศไทยจะเดินไปทางไหน ก่อนที่จะจัดสรรงบประมาณหว่านไปทั่วแบบเก่าๆ แบบนี้จะไม่ทำให้ประเทศฟื้นตัว และสามารถไขว่คว้าโอกาสที่เกิดจากวิกฤติได้เลย

งบประมาณ ปี 2564 มีแผนรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างไร ณ ปัจจุบัน สิ่งที่งบประมาณต้องเข้าไปดูแลให้มากคือด้านกำลังซื้อ ด้านการสร้างงานที่มีผลผลิตต่อหน่วยสูง รัฐบาลมีแผนเหล่านี้อย่างไร

งบประมาณ ปี 2564 มีแผนในการรับมือธุรกิจที่ล้มตายจำนวนมากอย่างไร และหากมาตรการเยียวยาหมดอายุลง งบประมาณ ปี 2564 จะรับมือผลกระทบถึงสถาบันการเงินอย่างไร หากมีการผิดนัดชำระหนี้จำนวนมาก จะทำอย่างไร

สุดท้าย งบประมาณ ปี 2564 วางแผนการรับมือภาวะราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำอย่างไร มีงบประมาณสำหรับพัฒนาผลผลิตการผลิตต่อหน่วยของเกษตรกรหรือไม่ หรือแค่คิดแบบเดิมๆ ทำแบบเดิมๆ แล้วเกษตรกรก็ยากจนแบบเดิมๆ ต่อไป

คำถามเหล่านี้ ก็เพื่อให้รัฐบาลได้เกิดแนวคิดว่าขณะนี้เรากำลังประสบกับปัญหา จากการที่โควิด-19 ได้ทำให้เราต้องหยุดทุกสิ่งทุกอย่างอย่างไป 2-3 เดือน พี่น้องประชาชนขาดรายได้ และเมื่อโควิด-19 ดีขึ้นแล้วเราจะทำอย่างไร จะรับมืออย่างไร

จึงอยากให้รัฐบาลช่วยตอบคำถามเหล่านี้

งบประมาณฉบับนี้ หากดำเนินการไม่ถูกต้อง ก็จะเป็นอันตรายกับประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติเช่นนี้

หากรัฐบาลไม่สามารถชี้แจงต่อคำถามข้างต้นนี้ได้ ก็ไม่อาจจะสนับสนุบงบประมาณฉบับนี้ให้ผ่านไปได้

'อนุดิษฐ์' ชี้ไม่ได้ตอบสนองเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ว่า โครงสร้างของงบประมาณปี 2564 ที่ตั้งงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนไม่เกิน 3.3 ล้านล้านบาท โดยรายจ่ายแบ่งออกได้เป็น 3 รายการใหญ่ๆ คือ 1. รายจ่ายประจำ 2.526 ล้านล้านบาท 2. รายจ่ายลงทุน 6.74 แสนล้านบาท และ 3. รายจ่ายชําระคืนต้นเงินกู้ 99,000 ล้านบาท เมื่อพิจารณารายจ่ายประจำและรายจ่ายชําระคืนต้นเงินกู้ ซึ่งรวมแล้วเป็นเงินจำนวน 2.625 ล้านล้านบาท ในขณะที่รายได้ที่มาจากการจัดเก็บภาษีประมาณไว้ 2.677 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้กัน ไม่มีเงินเหลือที่จะพัฒนาปรับปรุงหรือลงทุนเพื่อเพิ่มรายได้ ยกเว้นจะต้องไปกู้มาเพิ่ม ซึ่งฐานะทางการคลังของรัฐบาลมีความเปราะบางและสุ่มเสี่ยงต่อการล้มละลายเป็นอย่างมาก

รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจได้สร้างรัฐราชการ จึงทำให้มีรายจ่ายประจำสูงขึ้น ประเทศไทยเรามีจำนวนข้าราชการมากกว่าความจําเป็น รัฐบาลจะต้องลดจำนวนข้าราชการลงอย่างจริงจังเพื่อลดรายจ่ายประจำที่ไม่ก่อให้เกิดเงินได้มากที่สุด เพราะรัฐราชการไม่สามารถผลิตภาษีได้ รัฐบาลต้องลดอำนาจรัฐและสร้างรัฐประชาชนที่สามารถผลิตภาษีเป็นรายได้ให้กับประเทศมากกว่า

การจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ของรัฐบาลไม่ได้ตอบสนองเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19 รัฐบาลยังคงมุ่งเน้นไปที่การวางโครงสร้างพื้นฐานแบบเดิมที่เคยทำมาเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในเขตอุตสาหกรรม เช่น การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า หรือถนนเพื่อขนส่งสินค้า เป็นต้น แต่อุตสาหกรรมหลังวิกฤติโควิด-19 จะเน้นเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย เพราะประชาชนจะให้ความใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้น ดังนั้น การวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศจะต้องสอดคล้องกับอุตสาหกรรมในอนาคตที่จะเป็นฐานการผลิตภาษีแหล่งใหม่

เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวอีกว่า การจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าประมาณการแปลว่าประชาชนขาดกําลังซื้อจึงทำให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้น้อยลง แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มตกต่ำมาตั้งแต่การยึดอำนาจ และหากประมาณการรายได้ปี 2564 ผิดพลาด โดยจัดเก็บได้น้อยกว่าประมาณการซึ่งมีความเป็นไปได้สูง เพราะรัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินนโยบายอะไรที่เป็นการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากการดำเนินนโยบายที่จะทำให้เศรษฐกิจหดตัวอันจะทำให้งบประมาณที่ตั้งไว้ไม่เป็นไปตามที่กำหนด รัฐบาลต้องหยุดสร้างภาพความหวาดกลัว แต่เปลี่ยนความหวาดกลัวให้เป็นโอกาส ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลกําลังกระทำจะตรงข้ามกับที่ควรจะเป็น เพราะเพิ่งขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปอีกโดยไม่มีเหตุความจําเป็น

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือประชาชนขาดกําลังซื้อ หรือประชาชนไม่มีรายได้ แต่มีหนี้สูงตามตัวเลขหนี้ครัวเรือน ปัญหาของรัฐบาลคือจะสร้างกําลังซื้อให้เกิดกับประชาชนเพื่อให้ประชาชนได้ออกไปจับจ่ายใช้สอย เพื่อสร้างการบริโภคภายในได้อย่างไร ยิ่งการเยียวยาไม่ทั่วถึง ยิ่งทำให้ประชาชนขาดกําลังซื้อมากขึ้นไปอีก ที่แย่ไปกว่านั้นคือการเยียวยาจะจบลงในเดือนมิถุนายนนี้ อันจะทำให้สถานการณ์ของประเทศแย่หนักขึ้นไปอีก ที่จะสาหัสยิ่งขึ้นคือในเดือนตุลาคมนี้ตัวเลขคนตกงานจะพุ่งสูงขึ้นถึง 7-10 ล้านคน รัฐบาลเตรียมการรับมือไว้อย่างไร นอกจากขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อจํากัดสิทธิเสรีภาพ และเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งดูเหมือนรัฐบาลห่วงเสถียรภาพของตัวเองมากกว่าเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประชาชน

น.อ.อนุดิษฐ์ อภิปรายอีกว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 มีความไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะสัดส่วนของงบประมาณและการจัดสรรงบประมาณไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาของประเทศ ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่นํามาเป็นฐานในการคํานวณมีความคลาดเคลื่อนผิดไปจากความเป็นจริงอย่างมาก รวมถึงสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการล้วนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะทำให้การใช้เงินสูญเปล่าเป็นภาระแก่งบประมาณ จึงไม่เห็นด้วยกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฉบับนี้

'พิธา ก้าวไกล' ซัดรัฐบาลไร้วิสัยทัศน์ “จัดงบเหมือนประเทศไทยไม่มีวิกฤต” แทบไม่ต่างจากปีที่แล้ว

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นำทีมส.ส.พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ที่เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 ว่า  วันนี้เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง ที่สภาผู้แทนราษฎรจะกำหนดอนาคตของพี่น้องชาวไทย ด้วยงบประมาณปี 2564 มูลค่า 3.3 ล้านล้านบาท ปี 2564 นอกจากจะเป็นปีที่ประชาชนทุกข์แสนสาหัสแล้ว ยังต้องถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทยด้วยว่า เป็นปีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้งบประมาณแผ่นดินครบ “20 ล้านล้านบาท” ตั้งแต่บริหารประเทศมาจากปี 2557 จนถึงปัจจุบัน แต่น่าแปลกใจที่เงินมหาศาลนั้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้น้อยมากเพียง 3 ล้านล้านบาทเท่านั้น

"ผมเคยกล่าวไปว่า การแก้ไขปัญหาประเทศต่อจากนี้ ถ้าเราจะบริหารงบประมาณแบบเดิม แล้วคาดหวังว่า จะได้รับผลลัพธ์ใหม่ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าเราจะใส่เม็ดเงินลงไปมากเท่าใดก็ตาม น่าเสียดายที่งบประมาณปี 64 เป็นการ จัดงบประมาณเหมือนประเทศไทยไม่มีวิกฤต ไม่ได้ต่างอะไรกับงบปี 63 มากหนัก สถานการณ์ประเทศ ณ ขณะนี้ เดือนมิถุนายนเป็นเดือนสุดท้ายที่ผู้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาท โดยที่รัฐบาลยังไม่ได้ประกาศมาตราการรองรับใดๆ เดือนกรกฎาคมก็จะเป็นเดือนสุดท้ายที่พี่น้องเกษตรกรกว่า 7 ล้านครัวเรือน รับเงิน 5,000 บาท ส่วนกลุ่มคนเปราะบางไม่ว่าจะเป็น เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ กว่า 6.7 ล้านคน จะได้รับเงินเยียวยา 1,000 บาทเป็นเดือนสุดท้ายเช่นเดียวกัน" พิธา อภิปราย

พิธา อภิปรายถึงปัญหาของกลุ่มแรงงานนอกระบบ ที่ใช้ชีวิตกันอย่างไม่มีหลักประกันและได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งชัดเจนว่ากระทรวงแรงงานนั้นน่าจะต้องเพิ่มขึ้นและมีโครงการที่จะช่วยเหลือให้พี่น้องนอกระบบให้เข้าสู่ระบบ มีหลักประกันในชีวิต มีโครงข่ายทางสังคมรองรับ แต่ผมต้องขอแสดงความเสียใจกับพี่น้องด้วยครับ งบประมาณของกระทรวงแรงงานถูกลดลง 3 พันล้านบาท และไม่มีแผนโครงการที่จะช่วยนำพี่น้องเข้าสู่ระบบ สำหรับพี่น้องที่กำลังจะตกงานและต้องหางานใหม่กว่า 8 ล้านคนทั่วประเทศ 

ในส่วนพี่น้องชาวภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาไฟป่า ปัญหา PM 2.5 พร้อมกับปัญหาโควิดในช่วงที่ผ่านมา ผมต้องขอแสดงความเสียใจด้วยครับ ปีนี้งบประมาณแผนยุทธศาสตร์จัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อมแทบจะไม่เพิ่มขึ้นเลย ส่วนงบของการแก้ไขปัญหาไฟป่านั้นเพิ่มขึ้น 260 ล้านบาท แต่ตัวชี้วัดไม่ได้เพิ่มขึ้นตามงบประมาณด้วย นั้นก็หมายความว่า มีโอกาสที่พี่น้องชาวภาคเหนือจะต้องทุกข์ทรมาณกับปัญหาเดิมๆ หรืออาจแย่กว่าเดิม

ด้านพี่น้องชาวอีสานที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งพร้อมกับปัญหาโควิด ถึงแม้งบประมาณปีนีกรมชลประทานจะได้งบประมาณมากขึ้นถึง 8,000 ล้าน แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่า งบประมาณนั้นจะสะท้อนความรุนแรงของปัญหาน้ำในประเทศ การร่วมศูนย์ของงบประมาณและการเน้นการเยียวยามากกว่าป้องกันปัญหา ไม่ต่างอะไรกับที่ผมได้อภิปรายไปเมื่อปีที่แล้ว

ทั้งนี้ พี่น้องภาคใต้ที่รายได้จากการท่องเที่ยวหายไปเกือบทั้งหมด ประสบปัญหาราคายางตกต่ำเพราะส่งออกไม่ได้พร้อมกับปัญหาโควิด โดยสามัญสำนึกผมคิดว่ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ควรจะมีแผนการการประมาณการที่สะท้อนสถานการณ์จริง แต่กลับเป็นเช่นนั้นไม่ นี่เป็นตัวอย่างตัวอย่างแสดงให้เห็นว่างบประมาณปีนี้สร้างความหวังหรือทำให้คนสิ้นหวัง ประชาชนก็คงจะเป็นคนที่ตอบคำถามนี้ได้เป็นอย่างดี

“พี่น้องประชาชนที่เคยหวังพึ่งระบบ AI ของรัฐบาล และทุลักทุเลกับการขอเงินเยียวยา 5 พันบาท สามัญสำนึกก็บอกผมว่าน่าจะมีงบประมาณอะไรสักอย่างที่จะมาต่อยอดจาก “เราไม่ทิ้งกัน” ทำ Digital Wallet หรือ Smart ID Card ที่ทำให้รัฐบาลสามารถแก้ปัญหานี้ได้ดีกว่าเดิม ทั่วถึงกว่าเดิม รวดเร็วกว่าเดิม ถ้าเกิดเหตุที่ทำให้รัฐต้องปิดเมืองอีกครั้งหนึ่ง แต่ผมต้องขอแสดงความเสียใจด้วยครับ ไม่มีงบประมาณ โครงการ เหล่านี้อยู่ในงบปี 64 หรือถ้ามีก็ไม่รู้ว่าตัวชี้วัดคืออะไร" พิธา กล่าว

ขณะที่ในส่วนของการกู้เงินให้เป็นนั้น รัฐบาลต้องบริหารให้เกิดความน่าเชื่อถือ สร้างเสถียรภาพให้กับประเทศ และกู้มาสร้างรายได้ให้กับประเทศ ถ้ารัฐบาลกู้มาคอร์รัปชั่นแบ่งเค้กกันเอง กู้แล้วประเทศก็ไม่เกิดรายได้ ประเทศก็ไม่น่าเชื่อถือดอกเบี้ยก็จะยิ่งแพง แล้วยิ่งถ้ารัฐบาลหันมาปราบปรามประชาชนที่เห็นต่างจนเกิดความไร้เสถียรภาพ ดอกเบี้ยก็จะยิ่งแพงขึ้นไปอีก ซึ่งผมอยากฝากไว้กับรัฐบาลว่าในกรณีที่ใช้เงินก็ไม่เป็น หาเงินก็ไม่เป็น วิกฤติครั้งนี้เราคาดหวังความช่วยเหลือจากต่างประเทศเหมือนในอดีตไม่ได้แล้วเพราะลำบากกันทั้งโลก โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ในวิกฤติครั้งนี้เราหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากต่างชาติไม่ง่ายอีกต่อไป เราต้องคิดเพื่อรองรับระเบียบโลกใหม่ตรงนี้ไว้ด้วยเช่นกัน  

โดยสรุป งบประมาณที่ตนเเละพรรคก้าวไกลเห็นชอบ จะต้องสะท้อนว่ารัฐบาลใช้เงินเป็น หาเงินเป็น และกู้เป็น
การใช้เงินเป็นรัฐบาลต้องเตรียมสวัสดิการโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคมให้เพียงพอกับความเดือดร้อนของประชาชนในมหาวิกฤต และรัฐบาลต้องใช้จ่ายเพื่อสร้างอุตสาหกรรมแห่งโลกอนาคตไม่ใช่แค่การตัดถนน 2 แสนล้าน การหาเงินให้เป็นนั้นรัฐบาลต้องกระจายอำนาจให้การคลังท้องถิ่นจัดเก็บรายได้และบริหารเงินได้เองมากขึ้น และต้องหารายได้จากภาษีให้มากขึ้นจากคนบนยอดปิระมิดของสังคม ไม่ใช่คนรากหญ้า

พิธา กล่าวทิ้งท้ายว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 นั้น ตนได้อ่านดูแล้วเหมือนรัฐบาลเห็นว่าประเทศไม่มีวิกฤต โลกปรับแล้ว แต่งบไทยยังไม่เปลี่ยน ประเทศเผชิญมหาวิกฤตรุมเร้าแต่รัฐบาลยังคงจัดกระเป๋าไปตามปกติ ผมจึงไม่สามารถเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 64 ในวาระ1ได้

 

เรียบเรียงจาก กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก เฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทยและทีมสื่อพรรคก้าวไกล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท