Skip to main content
sharethis

1 ก.ค. 2563 ไครียะห์ส่งจดหมายฉบับที่ 2 ถึงปู่ประยุทธ์ ขอให้ยกเลิกมติ​ ครม.​ นิคมอุตสาหกรรม​ฯ​ จะนะ​ ชวนศึกษาศักยภาพของพื้นที่เพื่อหาทางเลือกที่ดีกว่านิคมอุตสาหกรรม ขอปักหลักอยู่ยาวจนกว่าจะได้คำตอบ

10.00 น. ไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนจาก อ.จะนะ จ.สงขลา ยื่นจดหมายน้อยฉบับที่ 2 จากลูกสาวแห่งทะเลจะนะ ถึงปู่ประยุทธ์ ขอให้ยกเลิก มติ ครม.นิคมอุตสาหกรรมฯจะนะ ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาลที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

ไครียะห์กล่าวว่า หลังจากส่งจดหมายครั้งแรก เมื่อ 12 พ.ค. 2563 เธอไปนั่งปักหลักอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา เพื่อที่จะเรียกร้องให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็นวันที่ 14-20 พ.ค. 2563 เนื่องจากเป็นเวทีรับฟังความเห็นที่ไม่ชอบธรรม รับฟังความเห็นหลังจากอนุมัติโครงการไปแล้ว แต่เพิ่งมาถามประชาชนทีหลังว่าจะยอมรับนิคมอุตสาหกรรมไหม จึงไปยืนหนังสือขอให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว และเขียนจดหมายถึงคุณปู่ประยุทธ์ด้วย แต่ในจดหมายฉบับแรกยังไม่ได้รับคำตอบ จึงเขียนจดหมายฉบับที่สอง และมารอฟังคำตอบที่นี่ เพราะไม่สามารถส่งเสียงจากที่บ้านได้

ไครียะห์ ระหมันยะ (กลาง) และชาวจะนะ ยื่นจดหมายที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล

มติ ครม. ที่ไครียะห์เรียกร้องขอให้ยกเลิก ได้แก่ มติ ครม. วันที่ 7 พ.ค. 2562 และ 21 ม.ค. 2563 โดยมติเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2563 ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการขยายผลเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยมความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา "เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" และการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารเขตพื้นที่พัฒนาเฉพาะกิจเมืองต้นแบบฯ อ.จะนะ จ.สงขลา ตามที่ ศอ.บต. เสนอ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ส่วนมติวันที่ 21 ม.ค. 2563 ที่ประชุม ครม. รับทราบการประกาศกำหนดให้ อ.จะนะ จ.สงขลา ในฐานะเมืองต้นแบบที่ 4 “เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ และเห็นชอบในหลักการของแผนเร่งด่วนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับแผนงานดังกล่าว ไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

โครงการเมืองต้นแบบที่ 4 นี้ ตามแผนจะมีเนื้อที่ 16,753 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 18,680 ล้านบาท คาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 1 แสนอัตรา มีกิจกรรม 6 ประเภท 1.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเบา จำนวน 4,253 ไร่ 2.พื้นที่อุตสาหกรรมหนัก จำนวน 4,000 ไร่ 3.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า จำนวน 4,000 ไร่ จำนวน 4 โรง กำลังผลิตรวม 3,700 เมกะวัตต์ 4.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือ จำนวน 2,000 ไร่ 5.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า จำนวน 2,000 ไร่ และ 6.พื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัย จำนวน 500 ไร่ โดย ศอ.บต. กำหนดจัดเวทีรับฟังความเห็นอีกครั้ง วันที่ 11 ก.ค. 2563

ภาพผังเมือง อ.จะนะ ที่จะเปลี่ยนไป หากมีการเปลี่ยนแปลงผังเมืองเพื่อเปิดพื้นที่ให้นิคมอุตสาหกรรม

ไครียะห์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ ศอ.บต. พยายามล่ารายชื่อคนไปสนับสนุนโครงการ โดยใช้วิธีให้ตัวแทน ศอ.บต. เข้าไปในหมู่บ้าน เคาะประตูบ้าน แล้วขอบัตรประชาชนไปแลกกับน้ำตาลทราย น้ำมัน ข้าวสาร เป็นต้น แต่เมื่อประชาชนสอบถามเกี่ยวกับโครงการก็ไม่ได้รับคำตอบ ซึ่งเธอเห็นว่า ก่อนจัดเวทีรับฟังความเห็นก็ควรให้ข้อมูลแก่ประชาชน เพื่อประชาชนจะได้คิดเองว่าสมควรไหม

เยาวชนจาก อ.จะนะ กล่าวว่า เราอยากได้การพัฒนาที่เรามีความสุขและยั่งยืนจริงๆ ไม่ใช่ทำลายในสิ่งเรามีอยู่แล้วเอาอย่างอื่นมาทดแทนให้กับเรา ซึ่งมันเป็นการทำลายแล้วเอาสิ่งที่เราไม่ต้องการเข้ามา

ไซหนับ ยะหมัดยะ จาก อ.จะนะ จ.สงขลา เสริมว่า ถ้าสร้างนิคมอุตสาหกรรมแล้วทะเลเสียหาย ป่าไม้ก็หมดไป ทั้งยังต้องขนหินจากภูเขาไปถมในทะเลอีก ก็จะเป็นการสูญเสียททั้งทะเล ภูเขา และป่า กลายเป็นยิ่งพัฒนาก็ยิ่งเสียหาย ควรจะนำสิ่งที่มีอยู่มาพัฒนาให้ดีขึ้น ไม่ใช่พัฒนาแล้วทำลายพื้นฐานเดิม

"ที่บ้านของหนูเขาทำอาชีพประมง วันไหนวันใดที่ปลามันขายไม่หมด เพราะมันได้เยอะมากจริงๆ เราก็แปรรูปเป็นปลาเส้นบ้าง เป็นปลาเค็มบ้าง ของที่เราทำอยู่ทำแบบชาวบ้าน ถ้าคิดจะส่งออกมันไม่สะดวก เราต้องการงบประมาณมาสร้างโรงเรือนที่จะสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนต่อไปเรื่อยๆ มันก็เป็นอะไรที่ยั่งยืนแล้ว หรือเอางบประมาณมาทำโซลาร์เซลล์แล้วให้ชาวบ้านช่วยกันขยายต่อเอาเอง สอนวิธีการทำโซลาร์เซลล์ น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า" ไครียะห์กล่าว

เยาวชนจะนะเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ควรยกเลิกมติ ครม. ก่อน แล้วมาศึกษาศักยภาพของจะนะกันใหม่ เพื่อที่จะหาทางเลือกที่ดีกว่านิคมอุตสาหกรรม กลุ่มของเธอไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา แต่ควรมานั่งคิดด้วยกัน หาทางออกไปด้วยกันว่าอันไหนน่าจะดีกว่า เพราะปกติการอนุมัติโครงการใดๆ มักจะมาจากบนลงล่างเสมอ จึงอยากชวนคิดว่า เรามานั่งคิดด้วยกัน แก้ปัญหาไปด้วยกัน หาทางเลือกที่ดีเพื่อประเทศชาติได้

"จะนั่งรอจนกว่าจะมีคำตอบว่ายกเลิกมติ ครม." ไครียะห์ย้ำ

จดหมายน้อยฉบับที่ 2 จากลูกสาวแห่งทะเลจะนะ ถึงปู่ประยุทธ์ ขอให้ยกเลิก มติ ครม.นิคมอุตสาหกรรมฯจะนะ

จากจดหมายฉบับแรกที่หนูได้เขียนถึงปู่ประยุทธ์ บอกเล่าถึงเรื่องราววิถีชีวิต การอนุรักษ์ ปกป้องทะเลจะนะ ที่เป็นบ้าน ของหนูและครอบครัว และได้หล่อเลี้ยงพวกเราในชุมชนมาอย่างยาวนาน อีกทั้งทรัพยากรสัตว์น้ําที่เราหามาได้ ยังเป็นแหล่งอาหารที่สําคัญของคนจังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง

จนเมื่อรัฐบาลปู่ประยุทธ์ได้มีมติ (คณะรัฐมนตรี) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 อนุมัติโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต โดยจะใช้พื้นที่ 3 ตําบล คือ ตําบลนาทับ ตลิ่งชัน และสะกอม รวมเนื้อที่ทั้งหมด 16,753 ไร่ เปลี่ยนเมืองจะนะให้เป็นเมืองอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นคือบ้าน ชุมชน และที่ทํากินของพ่อแม่หนู

หนูต้องบอกให้ปู่ประยุทธ์ได้ทราบด้วยว่า การทํางานของศูนย์อํานวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ที่มีหน้าที่บริหารจัดการความขัดแย้งพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่กลับเข้ามาผลักดันโครงการนี้จนเป็นตัวปัญหาสร้างความขัดแย้งเสียเอง เข้ามาทําหน้าที่ออกหน้าแทนกลุ่มทุนที่ต้องการเข้ามาสร้างนิคมอุตสาหกรรมในชุมชนของพวกเรา จนทําให้เกิดความแตกแยกของคนภายในชุมชนเพิ่มมากขึ้นทุกวัน โดยลืมไปแล้วว่าตนเองคือเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องทํางานแทนรัฐบาล และหนูยังเชื่อว่าการอนุมัติโครงการนี้ของรัฐบาลปู่ประยุทธ์ทั้งสองครั้งที่ผ่านมาเกิดขึ้นจากฐานข้อมูลที่ไม่ถูกต้องที่ ศอ.บต. จัดทําขึ้น ซึ่งเห็นได้จากหลายเวทีที่ผ่านมา ชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง แต่แค่ต้องการล่ารายชื่อผู้สนับสนุนโครงการเท่านั้น โดยไม่มีการให้ข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริงใดๆ เลย ซึ่งรวมถึงความพยายามที่จะจัดเวทีเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 ที่ได้เลื่อนไป และจะมีการจัดเวทีดังกล่าวใหม่ ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 เพื่อเปลี่ยนผังเมืองบ้านหนูซึ่งเป็นสีเขียวให้เป็นผังเมืองสีม่วงสําหรับการเป็นนิคมอุตสาหกรรม

ในโอกาสนี้ หนูอยากจะบอกให้ปู่ประยุทธ์ทราบอีกครั้งว่า บ้านและชุมชนของพวกหนูมีความสวยงาม และมีศักยภาพทางด้านอาหารมากพอที่จะหล่อเลี้ยงชาวอําเภอจะนะและคนในจังหวัดสงขลาให้อยู่ได้ท่ามกลางสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ที่ยังระบาดอยู่ในขณะนี้ ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว จึงไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะเปลี่ยนสภาพของพื้นที่แห่งนี้ให้กลายเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มทุนภายนอกที่พยายามอ้างว่าอยากจะเข้ามาสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ ทั้งที่จริงแล้วคือประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น

หนูพยายามติดตามอ่านข่าวการทํางานของปู่ประยุทธ์ในสถานการณ์ของโรคโควิดว่า ท่านและรัฐบาลจะใช้วิธีการ อย่างไรให้ข้ามพ้นวิกฤตินี้ไปได้ จนเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563 ปู่ประยุทธ์ได้ประกาศว่า “แนวทางการทํางานรูปแบบ New Normal ที่ต้องการผนึกทุกภาคส่วนให้ร่วมกันสร้างอนาคตประเทศ โดยจะเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายต่างๆ ได้มีส่วนร่วมมากขึ้นด้วย” หนูจึงอยากให้นำแนวคิดดังกล่าวนี้ที่ปู่ประยุทธ์ได้พูดไว้มาใช้แก้ปัญหาที่กําลังเกิดขึ้นกับบ้านและชุมชนของหนูด้วย นั่นคือการยกเลิก มติ ครม.ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเมืองอุตสาหกรรมฯ จะนะ ทั้ง 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 และ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 ออกไปก่อน พร้อมกันนี้ให้มีการปรับกระบวนการทํางานของ ศอ.บต. ใหม่ และที่สําคัญคือจัดให้มีการศึกษาศักยภาพของอําเภอจะนะเพื่อสร้างทางเลือกการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งหนูเชื่อว่านี่คือ หนทางที่จะนําไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทั้งหมดได้อย่างแท้จริง

จึงเรียนมาด้วยความเคารพ

นางสาวไครียะห์ ระหมันยะ

1 กรกฎาคม 2563

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net