Skip to main content
sharethis

สืบพยานคดี วิ่งไล่ลุง จ.พังงา ฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เสร็จแล้ว ขณะที่จำเลยยื่นศาล รธน.วินิจฉัย กฎหมายนี้ ขัด รธน.หรือไม่ ชี้นิยาม “ผู้จัดการชุมนุม” แคบ ขัดต่อหลักนิติธรรม เนื่องจากจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเกินสมควร

1 ก.ค.2563 ช่วงระหว่าง 24-25 มิ.ย. และ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดตะกั่วป่า จ.พังงานัดสืบพยานในคดี "วิ่งไล่ลุง"  ข้อหา เห็นผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มาตรา 4, 10, 14, 28 โดยมี ประเสริฐ กาหรีมการ อายุ 25 ปี อดีตเจ้าหน้าที่ของพรรคอนาคตใหม่ เป็นจำเลยในคดี โดยมี ผศ.สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ นักวิชาการ กฏหมายมหาชน ศึกษาเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา มาเป็นพยานในวันสุดท้าย

ประเสริฐ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวประชาไทเพิ่มเติมว่า คดีวิ่งไล่ลุง พังงา นับได้ว่าเป็นการใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เป็นครั้งแรกของ จังหวัดพังงา เป็นคดีนโยบาย ทีจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้อำนาจดุลพินิจแก่เจ้าหน้าที่มากจนเกินไปและคลุมเครือในบทนิยาม รวมไปถึงการตีความของข้อกฏหมาย

โดยคดีนี้อัยการฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้โพสต์นัดหมายให้คนออกมาวิ่งไล่ลุง และได้จัดการชุมนุมโดยมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล จึงถือเป็นการชุมนุมสาธารณะและจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุม ขณะที่พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกันว่า ที่ดำเนินคดีจำเลยเนื่องจากจำเลยเป็นผู้โพสต์นัดหมายวัน เวลา ในการชุมนุม ซึ่งถือว่าเป็นการเชิญชวนให้ผู้คนออกมาชุมนุม จึงเข้าข่ายเป็นผู้จัดการชุมนุม อันจำเป็นต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตามกฏหมาย 

จำเลยในคดีนี้กล่าวด้วยว่า หลังสืบพยาน เสร็จตนอาศัยมาตรา 212 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มาตรา 10 วรรคสอง, 14, 28 ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะใช้บังคับกับจำเลยในคดีนี้ ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 26, 34 และ 44 หรือไม่ โดยศาลเห็นควรให้ส่งคำร้องของจำเลยต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และนัดมาฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 1 ต.ค.2563  หลังจากนั้นจะนัดจำเลยมาฟังคำตัดสินของคดีต่อไป

ทั้งนี้ ประเสริฐ เห็นว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มาตรา 10 วรรคสอง กำหนดนิยาม “ผู้จัดการชุมนุม” ที่แคบว่า ให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ เป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ ในขณะที่มีมาตรา 4 นิยามไว้แล้วว่า ผู้จัดการชุมนุมซึ่งมีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุม หมายถึง ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ รวมถึงผู้ซึ่งเชิญชวนให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมโดยมีพฤติการณ์ทําให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น จำเลยในคดีนี้เห็นว่า บทบัญญัติที่แคบตามมาตรา 10 วรรคสอง ขัดต่อหลักนิติธรรม เนื่องจากจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเกินสมควร จึงได้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความ ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

สำหรับการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้น ก่อนหน้านี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า พิศาล บุพศิริ อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 4 จ.นครพนม พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งถูกดำเนินคดีข้อหานี้จากการจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” จ.นครพนม อาศัยมาตรา 212 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 วรรคสอง, 14, 28 ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะใช้บังคับกับจำเลยในคดีนี้ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26, มาตรา 34 และมาตรา 44 หรือไม่ และให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยเช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net