Skip to main content
sharethis

คดีสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กและประชาชน จ.ระยอง ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่เยียวยาแก้ไขปัญหาน้ำมันรั่วเมื่อปี 2556 อย่างเป็นธรรมและถูกต้องตามหลักวิชาการ ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่าควรยกฟ้อง เนื่องจากหน่วยงานรัฐปฏิบัติตามหน้าที่แล้ว ด้านประชาชนโต้แย้งว่ายังคงได้รับผลกระทบจนถึงปัจจุบัน ข้อมูลที่ตุลาการผู้แถลงคดีรับฟังยังมีข้อบกพร่อง ศาลปกครองระยองนัดฟังคำพิพากษา 21 ก.ค. 2563

30 มิ.ย. 2563 เวลา 14.00 น. ศาลปกครองระยองออกนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก คดีที่สมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง และประชาชน 454 คน ฟ้องผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (กปน.) กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมควบคุมมลพิษ ที่ไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษ บรรเทาผลกระทบที่เกิดแก่ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงชดเชยค่าเสียหายให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและความเป็นจริงอย่างเป็นธรรม จากกรณีที่ท่อขนส่งน้ำมันดิบของ บริษัท พีทีที โกบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) รั่ว จนมีปริมาณน้ำมันดิบรั่วไหลสู่ท้องทะเลไม่น้อยกว่า 50,000 ลิตร และใช้สารเคมีอันตรายเพื่อสลายคราบน้ำมันเมื่อปี 2556

ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากศูนย์ข้อมูลชุมชน ตัวแทนของผู้ฟ้องคดี เปิดเผยว่า ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นว่าผู้ฟ้องคดีมีสิทธิฟ้องคดีนี้ โดยเชื่อได้ว่ามีน้ำมันรั่วประมาณ 50,000 ลิตร และ บริษัท พีทีที โกบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ใช้สารเคมีสลายคราบน้ำมันอย่างถูกต้อง ปริมาณไม่มากเกินจำเป็น เนื่องจากเดิม บริษัท พีทีที โกบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ขออนุญาตใช้สารเคมีฉีดพ่นสลายคราบน้ำมันจำนวน 12,000 ลิตร แต่กรมควบคุมมลพิษกำหนดให้ใช้สารเคมีไม่เกิน 5,000 ลิตรเท่านั้น ขณะที่ผู้ฟ้องคดีคำนวณว่าอาจจะมีการใช้สารเคมีสลายคราบน้ำมันมากถึง 30,000 ลิตร โดยคำนวณจากพื้นที่เกิดเหตุ แต่ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่าไม่น่าจะเป็นไปได้

ตุลาการผู้แถลงคดียังเห็นว่า หน่วยงานที่มีหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยก็มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อเยียวยาความเสียหายทันที จนมีการกำหนดให้บริษัทชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ได้รับผลกระทบวันละ 1,000 บาท เป็นเวลา 30 วัน ผู้ได้รับผลกระทบได้รับการเยียวยาทุกกลุ่มแล้ว นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐยังได้แจ้งความดำเนินคดีต่อ บริษัท พีทีที โกบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เป็นที่เรียบร้อย

ในส่วนการฟื้นฟู ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่า มีงานศึกษาวิจัยที่บริเวณปากคลองเพและเกาะเสม็ด พบว่าสารโลหะหนักมีค่าไม่เกินมาตรฐาน มีการปล่อยสัตว์น้ำในพื้นที่อ่าวมะขามป้อม และพื้นที่อื่นๆ ถือว่าหน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการฟื้นฟูแล้ว นอกจากนี้ ยังให้นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการในลักษณะศึกษาวิจัย เพื่อนำข้อมูลมาใช้จัดการฟื้นฟูด้วย

ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหกจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ กรณีน้ำมันรั่วไหลในทะเล จ.ระยอง ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่า กรณีนี้ไม่มีกฎหมายกำหนดให้จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม จึงไม่สามารถสั่งให้นำผลกำไรของบริษัท พีทีที โกบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) 5% มาตั้งเป็นกองทุนตามที่ผู้ฟ้องคดีขอได้

ประชาชนเดินทางไปฟังการออกนั่งพิจารณาครั้งแรกที่ศาลปกครองระยอง
(ภาพจากเครือข่ายพัฒนาชุมชนประมงท้องถิ่นระยอง)

ในนัดนี้ ผู้ฟ้องคดีและทนายความประจำมูลนิธิศูนย์ข้อมูลขุมชน ได้แก่ ส.รัตนมณี พลกล้า, เฉลิมศรี ประเสริฐศรี, วีรวัฒน์ อบโอ, ชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ และทนายความเครือข่ายของมูลนิธิศูนย์ข้อมูลขุมชน ได้แก่ แสงชัย รัตนเสรีวงษ์ และวราภรณ์ อุทัยรังษี เดินทางไปร่วมฟังการพิจารณาคดี บางส่วนขอแถลงด้วยวาจาต่อศาล ได้แก่ ไพบูลย์ เล็กรัตน์ ผู้ฟ้องคดี แถลงด้วยวาจาต่อศาลว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยังไม่ได้รับการแก้ไข สัตว์ทะเลยังคงไม่กลับมาเหมือนก่อนเกิดเหตุการณ์ ประชาชนยังได้รับความเดือดร้อน ข้อมูลที่หน่วยงานต่างๆ ใช้วิจัยก็เป็นข้อมูลจากบริษัท พีทีที โกบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และยังมีข้อบกพร่องอยู่ทั้งสิ้น

บรรเจิด ล่วงพ้น ผู้ฟ้องคดี แถลงด้วยวาจาต่อศาลว่า มีรายงานชัดเจนว่าสามารถเก็บกู้น้ำมันที่รั่วได้เพียง 20% จากปริมาณน้ำมันรั่วทั้งหมด 50,000 ลิตร แต่อีก 80% ที่คาดว่าจะตกตะกอนจมลงไปในทะเล หรือที่อ้างว่าใช้สารเคมีเพื่อย่อยสลาย คงเหลือตกค้างหรือไม่ ยังคงไม่มีหน่วยงานใดสามารถให้คำตอบเรื่องนี้ได้ มีเพียงรายงานระยะสั้น 3 เดือน ก็มีข้อสรุปแล้วว่าทุกอย่างดำเนินการไปโดยถูกต้อง ทั้งที่ยังคงพบสัตว์ทะเลเกยตื้นตาย ทั้งเต่าทะเล กาบปลาหมึก และหอยจำนวนมาก ปัญหาสำคัญ คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้เข้ามาพิสูจน์หรือตรวจสอบสาเหตุของปรากฏการณ์เหล่านี้

วิระศักดิ์ คงณรงค์ ผู้ฟ้องคดี แถลงความเห็นด้วยวาจาเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลของหน่วยงานรัฐว่า ไม่มีการเก็บข้อมูลอย่างทั่วถึง รวมถึงไม่ได้เข้ามาสอบถามข้อมูลจากกลุ่มประมงที่ฟ้องคดีเลย ข้อมูลที่รวบรวมมาจึงไม่น่าจะครอบคลุม ส่วนที่ระบุว่าเป็นการฟื้นฟูกลายเป็นการพัฒนาอาชีพประมง โดยวางซั้งปล่อยปู ทำบ้านปลา ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง

กิตติพงษ์ สมุลไพร ผู้ฟ้องคดี แถลงด้วยวาจาต่อศาลว่า ก่อนเกิดเหตุเขาเคยหากุ้งเคยได้ฤดูละ 4 ตัน ในปีเกิดเหตุหาได้ 1.7 ตัน แต่ปีที่ผ่านมาหาได้เพียง 350 กิโลกรัม เห็นได้ชัดว่ามีความแตกต่างกันอย่างมาก ข้อมูลเหล่านี้ควรถูกเก็บรวบรวมไปพิจารณา และนำไปใช้แก้ไขฟื้นฟู

ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความผู้ฟ้องคดี แถลงต่อศาล ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อกฎหมายว่า หน่วยงานรัฐโดยเฉพาะคณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (กปน.) มีหน้าที่กำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก แต่จากการสืบพยานในคดีแพ่งที่ประชาชนฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท พีทีที โกบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) พบว่า ท่อส่งน้ำมันไม่ได้รับการตรวจสอบและบำรุงรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยขาดการตรวจสอบเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ จึงไม่สามารถตรวจพบเมื่อมีท่อเสื่อมสภาพ ทำให้เกิดเหตุการณ์ในคดีนี้ กปน. และกรมเจ้าท่า ซึ่งเป็นผู้อนุญาตให้มีการส่งน้ำมันมีหน้าที่ต้องเข้าไปควบคุมและตรวจสอบตลอดเวลา กปน. เองควรออกระเบียบให้ชัดเจนเกี่ยวกับการตรวจสอบท่อ และมีมาตรการที่ชัดเจนหากเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วอีก เพราะจากเหตุการณ์ในคดีนี้ ใช้เวลาถึง 11 วันในการจัดการน้ำมันที่รั่ว ทั้งที่ควรใช้เวลาจัดการโดยเร็วที่สุด แต่กลับต้องรอผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสิงคโปร์มาดำเนินการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะถูกต้อง

ทนายความจากศูนย์ข้อมูลชุมชนให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ระยะเวลาที่ยาวนานในการพิจารณาคดี หลังยื่นฟ้องเมื่อปี 2557 มีส่วนทำให้ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่าคดีควรยกฟ้อง เนื่องจากตุลาการไม่อาจมีความเห็นได้ทันต่อสถานการณ์ และแม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะผ่านมาหลายปี แต่ผลกระทบยังคงเกิดอยู่จนถึงปัจจุบัน ทว่าตุลาการผู้แถลงคดีไม่ได้รับฟังสิ่งที่ประชาชนผู้ฟ้องคดีชี้แจง โดยเชื่อตามรายงานของส่วนราชการ และฝ่ายวิชาการที่บริษัท พีทีที โกบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ว่าจ้างให้ดำเนินการตรวจสอบเป็นส่วนใหญ่ ทำให้มีข้อกังขาเกี่ยวกับความเป็นกลางของรายงานเหล่านี้

นอกจากนี้ ประชาชนผู้ฟ้องคดียังเห็นว่า การนำสัตว์น้ำไปปล่อยเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แต่หน่วยงานของรัฐควรไปตรวจสอบด้วยว่ายังมีคราบน้ำมันหรือสารเคมีที่ใช้สลายคราบน้ำมันตกตะกอน หรือตกค้างในทะเลอยู่อีกหรือไม่ เมื่อไม่มีการตรวจสอบ หรือตรวจสอบไม่ครบถ้วน ทำให้สารเหล่านี้ยังคงไม่ถูกกำจัดออกไป

อย่างไรก็ตาม ความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีไม่มีผลผูกพันต่อการทำคำพิพากษาของตุลาการเจ้าของคดี ศาลปกครองระยองนัดฟังคำพิพากษาคดีนี้วันที่ 21 ก.ค. 2563

หมายเหตุ: 20 ก.ค. 2563 เวลา 17.00 น. มีการแก้ไขพาดหัวและเนื้อหาวันนัดฟังคำพิพากษา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net