Skip to main content
sharethis

ศาลรัฐธรรมนูญ ออกคำชี้แจ้งไม่ใช่องค์กรเถื่อน อย่างที่เป็นข่าวต่อสาธารณะ ยันตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 60 ทําหน้าที่พิทักษ์ สถานะความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ คําวินิจฉัยถือเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ

1 ก.ค.2563 ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ รายงานคำชี้แจงประเด็นเรื่องการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะในประเด็นที่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้จัดตั้งโดยพระราชบัญญัติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 189 และทําให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่ไม่มีสถานะ ตามกฎหมาย การทําหน้าที่และการใช้อํานาจของศาลไม่มีผลตามกฎหมายด้วยนั้น เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ตามความเป็นจริง สํานักงานศาลรัฐธรรมนูญขอเรียนชี้แจงมาเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและสอดคล้อง ตามความเป็นจริง ในประเด็นดังต่อไปนี้ 

1. ศาลรัฐธรรมนูญจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศและมีเพียงศาลเดียว โดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยการจัดตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญแยกเป็นบทเฉพาะอยู่ในหมวด 11 ตั้งแต่มาตรา 200 ถึงมาตรา 214 โดยมีการบัญญัติ เรื่องโครงสร้าง องค์ประกอบ หน้าที่และอํานาจ ตลอดจนวิธีพิจารณาขององค์กรศาลที่ทําหน้าที่พิทักษ์ สถานะความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 203 วรรคสี่ มาตรา 208 วรรคห้า และมาตรา 210 วรรคสอง ได้บัญญัติให้มีการตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญโดยมีสาระสําคัญ ออกเป็นสองส่วน ได้แก่ การสรรหาและการวินิจฉัยการพ้นจากตําแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญรวมทั้งการดําเนินงานของศาลรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันได้มีพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ขึ้นใช้บังคับแล้ว โดยรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีบทให้ต้องไปบัญญัติเรื่องการจัดตั้งศาลไว้ในกฎหมายอื่นอีก ดังปรากฏตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคสาม ที่ไม่ให้นํารัฐธรรมนูญ มาตรา 189 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “บรรดาศาลทั้งหลายจะจัดตั้งขึ้นได้ แต่โดยพระราชบัญญัติ” มาใช้บังคับโดยอนุโลมแต่อย่างใด 

แต่อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคสาม บัญญัติให้นําบทบัญญัติเกี่ยวกับหมวด 10 ศาล ส่วนที่ 1 บททั่วไป ได้แก่ มาตรา 188 (การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอํานาจของศาล ซึ่งต้อง ดําเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์) มาตรา 190 (พระมหากษัตริย์ ทรงแต่งตั้งและให้ผู้พิพากษาและตุลาการพ้นจากตําแหน่ง แต่ในกรณีที่พ้นจากตําแหน่งเพราะความตาย เกษียณอายุ ตามวาระ หรือพ้นจากราชการเพราะถูกลงโทษให้นําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ) มาตรา 191 (ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้พิพากษาและตุลาการต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์) และมาตรา 193 (ให้แต่ละศาลมีหน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการที่มีความเป็นอิสระ และให้มีระบบ เงินเดือนและค่าตอบแทนเป็นการเฉพาะตามความเหมาะสม) มาใช้บังคับแก่ศาลรัฐธรรมนูญด้วยโดยอนุโลม 

2. กรณีศาลรัฐธรรมนูญได้ขอถอนร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดี ของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. .... จากสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ. 2554 ที่เคยส่งให้ สํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ. 2557 นั้น เพื่อนํากลับไปดําเนินการยกร่างใหม่ให้สอดคล้อง กับร่างรัฐธรรมนูญที่อยู่ระหว่างการดําเนินการของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 

3. รัฐธรรมนูญได้บัญญัติหน้าที่และอํานาจของศาลรัฐธรรมนูญไว้ในมาตรา 210 ในการพิจารณา วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และ อํานาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ และหน้าที่และอํานาจอื่น ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคสี่ บัญญัติให้คําวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ 

คำชี้แจงดังกล่าวสรุปตอนท้ายด้วยว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญจัดตั้งขึ้นและมีหน้าที่และอํานาจตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวโดยตรง รวมทั้งผลคําวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ จึงไม่มีปัญหาทางกฎหมายในประเด็นเรื่องการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญและการทําหน้าที่รวมถึงการใช้อํานาจ ของศาลรัฐธรรมนูญตามที่ปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะดังที่กล่าวในข้างต้น แต่ประการใด 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net