ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองยังไม่รื้อ เขตแจง จุฬาฯ ยังไม่ขออนุญาตก่อสร้าง

สำนักงานเขตปทุมวันมีหนังสือชี้แจง กรณีสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ จะรื้อย้ายศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง ระบุ ไม่ได้ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างทั้งในพื้นที่ศาลเจ้าแม่ทับทิมเดิมและในพื้นที่ใหม่ ปัจจุบันศาลเจ้ายังอยู่ แม้เลยกำหนดรื้อเมื่อ 16 มิ.ย. มาแล้ว ทางกลุ่มผู้คัดค้านชี้ จุฬาฯ เพิ่งใส่ใจหลังมีกระแสบนสื่อและโซเชียล

ประชาชนเข้ากราบไหว้เจ้าแม่ทับทิมเมื่อ 15 มิ.ย. 63

2 ก.ค. 2563 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า สำนักงานเขตปทุมวันมีหนังสือชี้แจง ลงวันที่ 25 มิ.ย. 63 ถึงผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง ที่ยื่นหนังสือเข้าสอบถามถึงสถานะการขอรับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารและความถูกต้องตามกฎหมายกรณีสำนักจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) จะรื้อย้ายศาลเจ้าแม่จากจุดที่ตั้งอยู่เดิมไปอยู่ในบริเวณอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียง

สำนักงานเขตปทุมวันชี้แจงว่า อาคารศาลเจ้าแม่ทับทิม เลขที่ 177/1 ซอยจุฬาฯ 30 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กทม. ตั้งอยู่บนพื้นที่ของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ปัจจุบันไม่ปรากฏหลักฐานการยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งใหม่ที่สำนักงานเขตปทุมวันแต่อย่างใด

และกรณีมีการก่อสร้างอาคารภายในบริเวณอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ นั้น สำนักงานเขตปทุมวันได้ตรวจสอบอาคารดังกล่าวแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานการได้รับนุญาตจากสำนักงานเขตปทุมวันแต่อย่างใด  ทั้งนี้ สำนักงานเขตปทุมวันจักได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

หนังสือชี้แจงจากสำนักงานเขตปทุมวัน

เมื่อ 22 มิ.ย. เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล และณัฐนันท์ ทองเกื้อสกุล นิสิตจุฬาฯ ได้ทำหนังสือถึงมาศวัลย์ ปิ่นสุวรรณ ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน สืบเนื่องจากคำร้องก่อนหน้า 2 ฉบับในกรณีเดียวกัน ให้ดำเนินการทางกฎหมายต่อสำนักงานทรัพย์สิน จุฬาฯ หากตรวจสอบแล้วพบว่ายังมิได้รับใบอนุญาตก่อสร้างจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามมาตรา 21 หรือมิได้แจ้งเจ้าพนักงานท้องถิิ่นและดำเนินการอย่างครบถ้วนตามมาตรา 39 ทวิ ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และมิได้ดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างตามข้อง 7 ของกฎกระทรวงว่าด้วยการยกเว้น ผ่อนผัน หรือกำหนดเงื่อนไขในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร

การรื้อย้ายศาลเจ้าแม่ทับทิมถูกเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในสาธารณะเมื่อช่วงต้นเดือน มิ.ย. 63 ที่มีการเผยแพร่ประกาศกำหนดการรื้อถอนศาลเจ้าในวันที่ 16 มิ.ย. และให้ผู้ดูแลศาลเจ้าย้ายออกจากพื้นที่ในวันที่ 15 มิ.ย. 

เมื่อ 23 มิ.ย. 63 สำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ ชี้แจงว่าพื้นที่ดังกล่าวจะถูกนำไปสร้างหอพัก 972 ห้องสำหรับนิสิตและบุคลากร โดยศาลเจ้าแม่จะถูกย้ายไปประดิษฐานที่อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียง โดยจะคำนึงถึงความดั้งเดิมพร้อมสถาปัตยกรรมร่วมสมัย และจัดทำให้เข้าถึงง่าย ส่วนคณะกรรมการดูแลศาลเจ้าแม่นั้นได้ย้ายไปตั้งศาลแห่งใหม่ที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการตั้งแต่ปี 2558 แล้ว

ทั้งนี้ กลุ่มผู้คัดค้านตอบโต้ว่า สำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ เพิ่งคำนึงถึงการปรับปรุงและย้ายศาลโดยรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมเมื่อเกิดกระแสในสังคมออนไลน์และสื่อ การย้ายศาลย่อมสร้างความเสียหายแก่ศาลเจ้าที่เดิมทีมีรอยร้าวอยู่แล้ว ส่วนศาลที่ จ.สมุทรปราการที่สร้างใหม่นั้นเกิดจากกลุ่มผู้ค้าอะไหล่เก่า (เซียงกง) ที่ย้ายไปอยู่บริเวณนั้นหลังถูกจุฬาฯ ขอคืนพื้นที่ ซึ่งคณะกรรมการศาลเจ้าใหม่ก็ยังกลับมาช่วยจัดงานที่ศาลสะพานเหลืองอยู่ตลอด และคณะกรรมการศาลเจ้าสะพานเหลืองก็ยังอาศัยอยู่ที่ศาลเจ้าเดิม

ภาพการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เมื่อ 15 มิ.ย. 63

เมื่อ 15 มิ.ย. 63 ประชาชนและนิสิตจุฬาฯ เดินทางมากราบไหว้เจ้าแม่และเยี่ยมชมพื้นที่ โดยมีบางส่วนได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ คัดค้านการรื้อย้ายศาลเจ้าแม่ทับทิม 

ประชาชน-นิสิตจุฬาฯ ค้านย้ายศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง

ศาลเจ้าแม่ทับทิมหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2513 หลังย้ายจากที่ประดิษฐานเดิม หนึ่งในหลักฐานที่บ่งชี้ความเก่าแก่ของศาลเจ้าที่ถูกยกมาอ้างอิงถึงบ่อยครั้งคือการเสด็จพระราชดำเนินมาถวายสักการะโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และกระถางธูปสังเค็ดที่พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. 2454 จากพระราชพิธีพระบรมศพของรัชกาลที่ 5

อนึ่ง คุณค่าทางสถาปัตยกรรมของศาลเจ้านั้นถือว่าแตกต่างจากศาลเจ้าแต้จิ๋วอื่นๆ คือสถาปัตยกรรมเฉพาะของอำเภอเตี่ยเอ๊ย โผวเล้ง และกิ๊กเอี๊ย ที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมแบบ “เตี่ยโผวกิก”

นอกจากสาเหตุเรื่องความเก่าแก่และการเป็นที่เคารพนับถือแล้ว ผู้ที่คัดค้านการรื้อถอน รื้อย้ายบางคนให้เหตุผลว่า การย้ายศาลเจ้าไปอยู่ที่สวนจุฬาฯ 100 ปี ซึ่งเป็นสวนสาธารณะจะทำให้เกิดปัญหาในการทำพิธีจุดธูป เผาไหม้สิ่งบูชา นอกจากนั้น ที่ตั้งที่เป็นสวนสาธารณะที่มีทางวิ่งยกระดับทำให้คนวิ่งข้ามหัวศาลเจ้าแม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท