Skip to main content
sharethis

ถอดความเสวนาเวทีนักวิจัยรุ่นใหม่ ว่าด้วยเรื่อง “ทฤษฎีรัฐศาสตร์ว่าด้วยทหารและพัฒนาการของประชาธิปไตย?” ภาณุวัฒน์ พันธ์ประเสริฐ รัฐศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ชี้ภายใต้ช่วงเวลาที่ทหารเข้าแทรกแซงทางการเมือง ประชาธิปไตยไทยไม่ได้เสื่อมถอยลงเพียงเท่านั้น แต่ยังมีแง่มุมที่สะท้อนให้เห็นถึงความคงทนของระบอบประชาธิปไตย จากการต่อต้านของคนเสื้อแดง ความล้มเหลวในการกวาดล้างทักษิณ และสภาวะไม่เป็นดั่งหวังในความรู้สึกของชนชั้นนำไทย

26 มิ.ย. 2563  ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้จัดงานเสวนานักวิจัยรุ่นใหม่ รัฐศาสตร์หลากฉากทัศน์ ในหัวข้อ "ทฤษฎีรัฐศาสตร์ว่าด้วยทหารและพัฒนาการของประชาธิปไตย?" นำเสนอโดย ภาณุวัฒน์ พันธุ์ประเสริฐ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมอภิปรายโดย รองศาสตราจารย์พวงทวง ภวัครพันธุ์  คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจารุพล เรืองสุวรรณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

ภาณุวัฒน์ กล่าวถึงที่มาของชื่อหัวข้อการเสวนาว่า มาจากงานวิทยานิพนธ์ ปริญญาเอก ของตนเองเรื่อง “The Military and Democratic Backsliding in Thailand” ซึ่งทำขึ้นระหว่างศึกษาระดับปริญญาเอกที่ มหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ โดยมีที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์สองคนคือ Duncan McCargo และ Adam Tyson สำหรับที่มาและความสำคัญในการสนใจศึกษาหัวข้อนี้ เพราะเริ่มเห็นบทบาททางการเมืองของทหารไทยในศตวรรษที่ 21 ซึ่งชัดเจนที่สุดตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 และทหารก็ดำรงบทบาททางการเมืองเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อศึกษาหาคำอธิบายของการกลับมามีบทบาททางการเมืองของทหารไทย และหาคำตอบว่าบทบาททางการเมืองทหารมีผลกระทบอย่างไรต่อประชาธิปไตยไทยบ้าง

ทั้งนี้ข้อจำกัดของงานวิจัยนี้ ภาณุวัฒน์ ชี้ว่าเป็นการศึกษาในช่วงรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 ยังไม่ได้ศึกษาถึงรัชสมัยปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีความยากลำบากในการเข้าถึงข้อมูลในช่วงรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

สำหรับแนวคิดทฤษฎีที่ได้นำมาใช้ในการศึกษา ภาณุวัฒน์ ระบุว่า ในงานชิ้นนี้มีลักษณะโดยรวมที่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การใช้แนวคิดทฤษฎีที่เข้มแข็งมานัก เพราะธรรมชาติของการทำงานร่วมกับที่ปรึกษา จะมีแนวคิดที่ไม่เน้นทฤษฎีอย่างแจ่มแจ้ง แต่จะเน้นข้อมูลเชิงประจักษ์มากกว่า แนวคิดทฤษฎีนั้นจะนำมาใช้โดยไม่ต้องยึดติดมากนัก โดยในงานชิ้นนี้มีการอ้างอิงแนวคิดทฤษฎีดังนี้

ความถดถอยของประชาธิปไตย (Democracy Backsliding)

หมายถึงการที่รัฐมีบทบาทนำในการทำให้สถาบันทางการเมืองที่ธำรงอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่ดำรงอยู่ในขณะนั้นอ่อนแอลง หรือเสื่อมสลายไป ซึ่งการกระทำนี้อาจกระทำโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือกระทำโดยกองทัพ หรือตัวแสดงอื่นที่มีอำนาจรัฐ

การมีบทบาททางการเมืองของทหาร

โดยการเข้ามาบทบาททางการเมืองของทหารไม่ได้นับเพียงเฉพาะการทำรัฐประหารเท่านั้น เพราะทหารสามารถแทรกแซงทางการเมืองได้หลายวิธี เช่น การกดดันรัฐบาล การปฏิเสธคำสั่งของรัฐบาลพลเรือน หรือการกระทำบางอย่างโดยไม่มีอำนาจหรือกฎหมายรองรับ

ความชอบธรรมทางการเมือง 

ความชอบธรรมทางการเมือง เป็นสิ่งที่มีส่วนสำคัญในการทำให้ประชาชนยอมรับผู้มีอำนาจ โดยที่ผู้มีอำนาจไม่ต้องใช้กำลังบีบบังคับ ความชอบธรรมสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกระบบการเมือง ระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยจะอ้างอิงความชอบธรรมที่สำคัญคือ รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ส่วนรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากแนวทางประชาธิปไตยมักจะอ้างเหตุผลอื่น กล่าวคือ รัฐบาลที่เป็นเผด็จการไม่จำเป็นต้องใช้กำลังบีบบังคับประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่มีความพยายามอ้างความชอบธรรมอื่นๆ พร้อมกันไปด้วยเช่น การรักษาความสงบเรียบร้อย การพัฒนาประเทศ การพัฒเศรษฐกิจ การปกป้องรักษาหลักการสำคัญบางอย่างของประเทศ

ทำความเข้าใจทหารไทย

ภาณุวัฒน์ กล่าวต่อถึงความเข้าใจเกี่ยวกับทหารไทยว่า จำเป็นต้องมองที่เครือข่ายอำนาจ และระบบอุปถัมภ์ภายในกองทัพ ซึ่งจะปรากฎชัดเจนที่การแต่งตั้งโยกย้าย ทั้งการโยกย้ายตามฤดูกาล และการโยกย้ายนอกฤดูกาล โดยประเด็นนี้หากยึดมั่นในคอนเซปเรื่อง “ทหารอาชีพ” ในการแต่งตั้งโยกย้ายทหารแต่ละครั้งจะต้องยึดหลักการให้รางวัลแก่ผู้ที่สมควรจะได้ ผู้ที่มีผลงานดี ผู้ที่มีศักยภาพดีเด่น ซึ่งนี่คือหลักการอุดมคติของคำว่า "ทหารอาชีพ"

แต่สิ่งที่ปรากฎในกองทัพไทย ภาณุวัฒน์ชี้ว่า จากข้อมูลที่ได้มาจากการสัมภาษณ์คนในกองทัพ มีหลายคนยอมรับว่ามีการปฏิบัติที่ขัดต่อหลักการทหารอาชีพ เช่น การเล่นพวกพ้อง การเอื้อตำแหน่งต่อเครือญาติ และคนสนิท อย่างไรก็ตามผู้ให้ข้อมูลบางคนมองว่า การแต่งตั้งคนใกล้ชิดไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันได้ด้วยดี อย่างไรก็ตามภาณุวัฒน์มองว่า หากเป็นเช่นนี้ หมายความว่า ระบบและเกณฑ์ที่มีอยู่ไม่เข้มแข็งพอหรือไม่ เพราะไม่สามารถทำให้เกิดการไว้วางใจกันได้ในการทำงาน ซึ่งนี่ถือว่าไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเป็นในระบบราชการ

เขากล่าวต่อว่า ภายใต้โครงการบริหารของกองทัพไทย ตำแหน่งที่ถือว่าสำคัญที่สุดคือ ตำแหน่งที่ได้ควบคุมกำลังพล โดยเป็นการคุมกำลังในหน่วยทหารที่มีความสามารถที่จะเข้าทำการรัฐประหารได้

นอกจากนี้ ภาณุวัฒน์ กล่าวต่อด้วยว่า ภายในกองทัพเองมีสิ่งที่เรียก ปทัสสถานเชิงสถานบัน (Institutional Norms) ซึ่งเปรียบได้กับกฎที่ไม่มีการเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร กองทัพไทยมีปทัสสถานลักษณะนี้คือ การยกย่องผู้ที่มีควมเป็นผู้นำ มีการประเมินกันเองว่าใครมีความเหมาะสมว่าใครเป็นผู้นำ

"ผู้ให้ข้อมูลหลายคนมักบอกว่า ตัวเขาเองมีความสนิทกับเพื่อนร่วมรุ่นหลายคนทำให้รู้จักกัน และสามารถประเมินได้ว่าใครเก่งจริง และมีความเป็นผู้นำ โดยเรื่องนี้มีผลทางการเมืองคือ ทำให้ทหารไม่มีความไว้วางใจฝ่ายการเมือง ที่จะเข้ามาแต่งตั้งโยกย้าย เพราะทหารมักคิดว่า ฝ่ายการเมือง หรือนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเป็นคนนอก และการที่เป็นคนนอกนอกถือว่าไม่มีความเข้าใจธรรมชาติของทหาร รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่เข้าใจว่าควรจะตั้งใครเป็นผู้นำในกองทัพ และทหารด้วยกันเองจะรู้ดีที่สุดว่าใครควรได้เป็นผู้นำ และลักษณะของการเป็นผู้นำในมุมมองของทหารนั้น ไม่ได้สัมพันธ์กับผลงานเสียทีเดียว"

ภาณุวัฒน์ กล่าวต่อถึงการแบ่งกลุ่มในกองทัพไทยว่า ผู้ให้ข้อมูลบางคนมองว่า เรื่องนี้คนภายนอกกองทัพเข้าใจเกินความเป็นจริง ว่ามีการแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ ภายในกองทัพ แต่ความจริงแล้วไม่ได้มีแบ่งขาดจากกันขนาดนั้น อย่างไรก็ตามกรณีนี้ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่ามีการแบ่งกลุ่มกันในลักษณะใด แต่จากการรวบรวมข้อมูลการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญของนายทหารในกองทัพ ในบางยุคพบว่ามีการเข้าสู่ตำแหน่งพร้อมกันเป็นแผง เช่น ยุค จปร. 5 ยุค จปร. 7 เตรียมทหารรุ่นที่ 10 และต่อมาก็เป็นยุคบูรพาพยัคฆ์ โดยทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่า การก้าวเข้าสู่อำนาจของนายทหารเหล่านี้ มีความเกี่ยวพันธ์กันเป็นกลุ่ม อาจจะพูดได้ว่ามีการเกาะกลุ่มกัน แต่ในแง่ของระดับความเข้มข้นของการแบ่งกลุ่มนั้น ยังเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาต่อไป

เขากล่าวต่อว่า การแบ่งกลุ่มของทหารเป็นเรื่องที่ขัดแย้งต่อแนวคิดกระแสหลักที่มองว่าทหารเป็น องค์กรที่เป็นเนื้อเดียวกัน มีผู้บัญชาการคนเดียวที่สั่งการ แต่ในความเป็นจริงในกองทัพไทย ไม่ได้เป็นไปตามแนวคิดกระแสหลักเสมอไป ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการแบ่งกลุ่มนั้นมีสาเหตุมาจาการเข้าเรียนไปจนถึงการทำงาน

“มีผู้ให้ข้อมูลท่านหนึ่งเล่าถึงธรรมชาติของนักเรียนเตรียมทหาร นักเรียนนายร้อย ที่จะมีวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง คือการรู้จักกันทั้งหมดในรุ่น รู้จักและเคารพรุ่นพี่ คนที่เป็นพี่ย่อมสำคัญกว่าคนที่เป็นน้องเสมอ และมีคติประจำใจของนักเรียนนายร้อยข้อหนึ่งคือ คนที่ดีเด่นที่สุดในรุ่นของเรา ยังไม่ดีกว่าคนที่แย่ที่สุดในรุ่นพี่เขาเรา”

เขากล่าวต่อถึงการศึกษาวิชาเชิงสังคมศาสตร์ในโรงเรียนนายร้อยว่า ไม่ค่อยมีลักษณะที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์มากนัก โดยส่วนมากจะเป็นการเรียนการสอนแบบกระแสหลัก ซึ่งส่งผลต่อทัศนคติของทหาร

รัฐประหาร 2549 - รัฐประหาร 2557 ประธิปไตยที่ถดถอยและคงทน

ภาณุวัฒน์ กล่าวว่า การเมืองไทยมีจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่เมื่อเกิดเหตุกาารณ์ 14 ตุลาคม 2519 เพราะเป็นการใช้พลังประชาชนครั้งใหญ่ในการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการลงได้ และถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่การชุมนุมของประชาชนสามารถล้มรัฐบาลลงได้ อย่างไรก็ตามหลัง 14 ตุลาคม ได้เกิดภาวะสองประการขึ้นคือ หนึ่งเกิดการเปิดพื้นที่ทางการเมืองที่กว้างขึ้น กล่าวคือ ก่อน 14 ตุลาคม พื้นที่ทางการเมืองของนักการเมืองถูกจำกัดไว้ แต่หลัง 14 ตุลาคม แม้ว่าจะมีประชาธิปไตยแบ่งบานเพียงไม่กี่ปี แต่ในช่วงนั้น นักการเมืองได้เข้ามามีบทบาทและอำนาจในพื้นที่ทางการเมืองได้มากขึ้น คนที่เป็นพ่อค้า นักธุรกิจ เข้ามามีส่วนในการช่วยกำหนดนโยบายทางการเมืองมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันภาวะที่เกิดขึ้นประการที่สองคือ การพัฒนาประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นนั้น ยังคงถูกควบคุมโดยกองทัพ และชนชั้นนำ เพียงแต่เป็นการควบคุมหลังฉาก ซึ่งมองเห็นไม่ชัดเจน

เขากล่าวต่อถึง เหตุการณ์การสำคัญทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาคือ เหตุการณ์พฤษภา 2535 ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่การเสื่อมเสียเกียรติภูมิของทหารไทยอย่างมาก เช่น มีนายทหารบางท่านไม่กล้าแต่งเครื่องแบบออกจากบ้าน เนื่องจากกลัวจะถูกประชาชนต่อว่า อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ครั้งนั้นได้นำไปสู่การปฏิรูปการเมือง แต่ก็ไม่ได้เกิดการปฏิรูปกองทัพอย่างจริงจัง และสถานะของสถาบันกษัตริย์ได้ขยับขึ้นไปอยู่ในจุดที่สูง และโดดเด่นอย่างมาก ภายหลังเหตุการณ์พฤษภา 2535

“เหตุการณ์พฤษภา 35 กล่าวได้ว่า เป็นการเปิดช่องให้เกิดการปฏิรูปกองทัพแล้ว เพราะจุดนั้นเป็นจุดที่กองทัพกำลังอ่อนแอ หากมีใครสักคนฉวยโอกาสนั้นในการปฏิรูปกองทัพก็อาจจะสามารถเปลี่ยนแปลงกองทัพได้ แต่ปรากฎว่าไม่มีใครคิดจะทำอย่างจริงจัง แม้จะเกิดโอกาสดังกล่าวขึ้นมา… และทุกคนดูจะคิดกันเองว่า ทหารคงไม่กลับมายุ่งกับการเมืองแล้ว ฉะนั้นทุกคนก็เลยไม่คิดที่จะปฏิรูปกองทัพ”

เขากล่าวต่อว่า การเกิดขึ้นของการรัฐประหารปี 2549 นั้น ต้องกล่าวไปถึงกาารเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งร่างขึ้นมาโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดรัฐบาบที่เข้มแข็ง ทำให้การเมืองไทยทันสมัย มีความเป็นสถาบันมากขึ้น ผู้ร่างรัฐธรรมนูญมองเห็นจุดอ่อนของการเมืองไทยซึ่งในยุคก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 มักจะเกิดรัฐบาลผสมซึ่งสามารถล้มได้ง่าย และกาารที่เป็นรัฐบาลผสมนั้นทำให้การเมืองภายในพรรคร่วมรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ผลจากการออกแบบรัฐธรรมนูญ 2540 คือการเกิดขึ้นของพรรคไทยรักไทย และเกิดรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

“แม้จะมีการกล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่ในความจริงแล้วถูกแฝงไปด้วยเจตนารมย์ของชนชั้นนำอยู่มาก เช่น ความต้องการเสถียรภาพทางการเมือง และความต้องการจำกัดอำนาจของรัฐบาล เสถียรภาพทางการเมืองส่งผลดีต่อชนชั้นนำ เพราะทำให้ประชาชนไม่ทำออกมาประท้วงอันนำมาสู่ความวุ่นวายในประเทศ ชนชั้นนำมองว่ารัฐบาลที่มีเสถียรภาพจะช่วยปกป้องสถานะอันสุขสบายของพวกเขา ขณะเดียวกันชนชั้นนำก็ต้องการจำกัดอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น การร่างรัฐธรรมนูญโดยให้อำนาจแก่องค์กรอิสระ”

ด้วยโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ และการเข้ามาของพรรคไทยรักไทย ที่สุดแล้วทำให้พรรคไทยรักไทย ได้รับการเลือกตั้งในสมัยที่สอง ภาณุวัฒน์ชี้ว่า ปรากฎการณ์นี้ ทำให้ฝ่ายค้านทั้งในและนอกสภาเริ่มทำการเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้กับทักษิณ ในขณะเดียวกันรัฐบาลทักษิณก็พยายามแทรกแซงทหาร เช่น มีการแต่งตั้งผู้บัญชาการทหารบก ที่เป็นญาติของตนเอง โดยในเวลานั้นไม่สามารถสร้างความยอมรับในหมู่ทหารได้ ซและกลายเป็นเรื่องที่สร้างความไม่พอใจในกองทัพ รัฐบาลทักษิณยังได้ผลักดันเพื่อนเตรียมทหาร 10 (กลุ่มเพื่อนรวมรุ่นของทักษิณ) ขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งสำคัญ ปรากฎการร์เป็นสิ่งที่ทำให้ทหารกลับมาเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างชัดเจนมากขึ้นอีกครั้ง

“การแทรกแซงทหาร สามารถดูได้จากการที่ทักษิณกล่าวไว้ในโทรเลข Wikileaks ในการสนทนากับเจ้าหน้าที่ทูตอเมริกา โดยทักษิณกล่าวไว้เองว่า ตัวเขาได้พยายามผลักดันเพื่อร่วมรุ่นเตรียมทหาร 10 จริง แต่เจตนาคือต้องการป้องกันไม่ให้ฝ่ายอื่นในกองทัพมาล้มรัฐบาล ไม่ใช่ว่าต้องการจะให้เพื่อนมาช่วย แต่ต้องการให้เพื่อนป้องกันการล้มรัฐบาล”

การชุมนุมยืดเยื้อของกลุ่มพันธมิตรเองก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการรัฐประหาร ภาณุวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า การล้มรัฐบาลทักษิณนั้นเกิดจากจุดที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ว่า การที่สนธิ ลิ้มทองกุล ถูกปลดจากรายการทีวี แล้วออกมาจัดเวที จนก่อรูปเป็นการชุมนุมที่ยืดเยื้อของกลุ่มพันธมิตร อย่างไรตามการชุมนุมของกลุ่มพันมิตรไม่ได้เป็นส่วนเดียวที่ทำให้รัฐบาลทักษิณล้มลง แต่ยังมีการใช้ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เข้ามาโจมตี และยังมีกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ที่ปรากฎขึ้นในช่วงการเลือกตั้งเดือน กุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งทำให้การเลือกตั้งครั้งนั้นถูกศาลตัดสินเป็นโมฆะ

“การรัฐประหารครั้งนี้จะเรียกว่าเป็นความเข้มแข็งของชนชั้นนำก็ได้ที่สามารถทำรัฐประหารได้ แต่ในขณะเดียวกันเรามองได้หรือไม่ว่า รัฐประหารคือ ความอ่อนแอของชนชั้นนำ เพราะแทนที่ชนชั้นนำจะอยู่เบื้องหลัง กลับถูกบีบให้ต้องออกมาเปิดหน้า มันคือความอ่อนแอถ้ามองอย่างนี้ แทนที่คุณจะอยู่สบายหลังฉาก คุณต้องออกมาเปิดหน้าทำการล้มรัฐบาล ทำรัฐประหาร มันทำให้คุณถูกบีบไปสู่ภาวะที่ประชาชนจะหันมาด่า แต่ถ้าคุณอยู่เบื้องหลังดีๆ ประชาชนก็มองไม่เห็น และไม่สามารถวิจารณ์คุณได้”

เขากล่าวต่อว่า ภายหลังการรัฐประหารปี 2549 ได้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Democratic Resilience หรือความเหนียวแน่นคงทนของระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ หลังการรัฐประหาร 2549 ทิศทางของประชาธิปไตยไทย ไม่ได้เสื่อมถอยลงอย่างเดียว เพราะชนชั้นนำไม่สามารถทำตามแผนการที่วางไว้ได้ทั้งหมด เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะความคงทนเข้มแข็งของประชาธิปไตยซึ่งปรากฎอยู่ในบางสถาบัน หรือบางตัวแสดงทางการเมือง อย่างไรก็ตามไม่ปฏิเสธว่า ประชาธิปไตยเสื่อมถอยลง เพราะการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเพิ่มอำนาจให้สถาบันการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทั้งยังมีความพยายามออกแบบระบบการเลือกตั้งที่ไม่ต้องการให้เกิดการนับคะแนนรวมทั้งประเทศ หากยังจำได้การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ จะมีการแบ่งปาร์ตี้ลิสต์ออกเป็น 8 เขต โดยผู้ร่างรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า การรวมคะแนนทั้งประเทศจะทำให้สถานะของนักการเมืองขึ้นไปท้าทายพระมหากษัติย์ ซึ่งข้อความนี้ปรากฎอยู่ในบันทึกการประชุมของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550

ภานุวัฒน์กล่าวต่อถึงการเปลี่ยนแปลงภายในกองทัพหลังจากการรัฐประหาร 2549 ว่า หลังจากมีการสั่งยุบพรรคไทยรักไทย ก็มีการเปลี่ยนระบบการแต่งตั้งโยกย้ายภายในกองทัพ โดยกำหนดให้มีสภากลาโหม มีหน้าที่ตัดสินใจอนุมัติโผการแต่งตั้งโยกย้ายในกองทัพ เพราะต้องการจำกัดอำนาจของรัฐบาลในการแต่งตั้งโยกย้ายทหาร โดยกำหนดสัดส่วนให้เสียงในสภากลาโหมมีเสียงทหารเป็นส่วนข้างมาก และเสียงของนักการเมืองเป็นเสียงข้างน้อยเสมอ

เขากล่าวต่อว่า หลังจากชนชั้นนำทุกทุกทางเพื่อที่จะสกัดกั้นการกลับมาของทักษิณ แต่นั่นกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ฝ่ายทักษิณต้องกลับมาพึ่งพิงการเลือกตั้งมากขึ้นกว่าเดิม แม้ฝ่ายทักษิณอาจจะไม่ใช่นักประชาธิปไตยมากนัก แต่เมื่อถูกล้มโดยการรัฐประหาร ทำให้ทักษิณต้องกลับไปหาความชอบธรรมจากการเลือกตั้งมากขึ้นกว่าเดิม

“การเลือกตั้งกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทักษิณใช้ต่อสู้กับอำนาจนอกระบบ ฝ่ายทักทักษิณกลายเป็นนักประชาธิปไตยที่เข้มข้นมากกว่าเดิม อันเป็นผลมาจากการรัฐประหารปี 2549”

ภาณุวัฒน์ กล่าวต่อถึง ตัวแสดงที่เป็นตัวแทนของ ความเหนียวแน่นคงทนของระบอบประชาธิปไตย คือ กลุ่มคนเสื้อแดง เพราะนอกจากจะต่อต้านการทำรัฐประหารแล้ว ยังมีการเรียกร้องประเด็นทางการเมืองที่ไกลไปกว่าขอบเขตเดิม โดยมุ่งเน้นไปที่ระบอบประชาธิปไตยเสียงข้างมาก และจำกัดอำนาจของสถาบันทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการใช้วาทะ เช่น อำมาตย์ และไพร่  เป็นส่วนหนึ่งของการของผลักให้ประเด็นทางการเมืองไปไกลว่าขอบเขตเดิม โดยสิ่งเหล่านี้นับได้ว่าเป็นผลพวงอันคาดไม่ถึงของการรัฐประหารปี 2549

“หลังปี 2549 ถึงแม้ว่า กลุ่มชนชั้นนาจะมีอำนาจมากขึ้นผ่านระบบสถาบันการเมือว องค์กรอิสระ ศาล ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่การที่ฝ่ายทักษิณไม่ถูกกำจัดไปจากเวทีการเมืองได้อย่างสิ้นเชิง ก็สร้างความไม่พอใจให้แก่ฝ่ายต่อต้านทักษิณ หลายคนถึงกับพูดว่ารัฐประหาร 2549 เสียของ เพราะไม่สามารถกำจัดฝ่ายทักษิณได้ ซ้ำร้ายยังทำให้เกิดกลุ่มคนเสื้อแดงขึ้นมาอีก”

ภาณุวัฒน์ กล่าวต่อถึง การรัฐประหารของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 ว่ามีการอ้างความชอบธรรมในการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย นอกจาการที่จะมีการใช้คำสั่ง กฎหมาย ยังมีการอ้างความชอบธรรมเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อย การพัฒนาประเทศ การปฏิรูปประเทศ ขณะเดียวกัน คสช. ยังสานสัมพันธ์เป็นพันธมิตรกับกลุ่มทุนต่างๆ ผ่านโครงการที่ชื่อว่า "สานพลังประชารัฐ" นอกจากนี้ในยุค คสช. ยังทำอีกปฏิบัติการหนึ่งคือ "การเงียบเสียงคนเสื้อแดง" โดยตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ คสช. ครองอำนาจ กลุ่มคนเสื้อแดงไม่สามารถจัดการชุมนุมใหญ่ได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว โดยประเด็นนี้อาจเป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นสภาพของขบวนการคนเสื้อแดงหรือไม่ว่า แท้จริงแล้วขบวนการเสื้อแดงเป็นอย่างไร

ในช่วงเวลาที่ครองอำนาจ คสช. ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด 2 ครั้ง โดยครั้งแรกถูกล้มไป ด้วยเหตุผลที่เป็นปริศนาว่า ทำไม่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกจึงถูกคว่ำลง ต่อมามีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 แต่ก็มีปัญหาเรื่องความชอบธรรมในการร่าง และการลงประชามติ สุดท้ายภาณุวัฒน์พบว่า ผู้ให้ข้อมูลบางท่านที่เป็นคนใกล้ชิดกับ คสช. กล่าวยืนยันว่า ตัวเองเพียงแค่สนับสนุนรัฐประหารปี 2557 ไม่ได้สนับสนุนรัฐประหารปี 2549 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะตามความเข้าใจทั่วไป คนที่เชียร์การรัฐประหารน่าจะเชียร์การรัฐประหารทุกครั้ง เมื่อเชียร์รัฐประหารปี 2557 ก็น่าจะเชียร์รัฐประหารปี 2549 ด้วย ทั้งนี้ผู้ให้ข้อมูลคนดังกล่าวให้เหตุผลว่า การรัฐประหารในปี 2549 มีความเสี่ยงเพราะความผิดของรัฐบาลไม่มีความชัดเจน แต่ในปี 2557 รัฐบาลมีความผิดที่ชัดเจน และบ้านเมืองอยู่ในภาวะที่ไร้ระเบียบ มีความวุ่นวายมาก ซึ่งอาจจะนำไปสู่การฆ่าฟันกัน

“สิ่งที่อยากจะเสนอเป็นประเด็นหลักคือ ผมมองว่าความเสื่อมถอยของระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียว คือไม่ได้เสื่อมถอยอย่างเดียว แต่ยังปรากฎกระแสโต้กลับที่ผู้วางแผนรัฐประหารคาดไม่ถึง ซึ่งกระแสโต้กลับนี้เราอาจจะเอามาอธิบายด้วยคอนเซปเรื่อง Democratic Resilience หรือความยึดมั่นในประชาธิปไตยอันเกิดขึ้นจากสถานการณ์ในเวทีการเมืองไทย”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net