Skip to main content
sharethis

กลุ่มประชาชน 4 คนเข้าปฏิเสธข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลังเรียกร้องความเป็นธรรมกรณี ‘วันเฉลิม’ หน้าสถานทูตกัมพูชาฯ ชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีไว้คุมคนเห็นต่างมากกว่าคุมโรค

2 ก.ค.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเช้าวันนี้ (2 ก.ค.63) ที่ สน.วังทองหลาง กรุงเทพฯ กลุ่มประชาชน 4 คนที่ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดข้อที่ 5 (ฉบับที่ 1) ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกอบด้วย ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี, แชมป์ 1984 (นามแฝง), มัทนา (สงวนนามสกุล), นภัสสรณ์ บุญรีย์ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาและปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

ผู้ต้องหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 4 คน ยืนชู 3 นิ้ว หน้า สน.วังทองหลาง กทม.

คดีดังกล่าวเกิดขึ้นจากกรณีเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทั้ง 4 คน ร่วมกิจกรรมชูป้ายเรียกร้องความเป็นธรรมให้ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ถูกอุ้มหายที่ประเทศกัมพูชา พร้อมขอให้รัฐบาลกัมพูชา-รัฐบาลไทยช่วยเหลือติดตามคดีดังกล่าว ที่บริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชา

ประชาชนราว 30 คน แสดงออกเชิงสัญลักษณ์เรียกร้องความเป็นธรรมให้ วันเฉลิม หน้าสถานทูตกัมพูชาฯ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.63

ทัตเทพ หนึ่งในผู้ต้องหากล่าวว่า การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่หน้าสถานทูตกัมพูชาฯที่ผ่านมา เป็นการเรียกร้องความเป็นธรรมไม่ใช่แค่กรณีของวันเฉลิม แต่เป็นทุกกรณีการอุ้มหายของคนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งเป็นการกระตุ้นให้รัฐบาลติดตามและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ หากรัฐบาลยังคงนิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ดังกล่าว เท่ากับรัฐบาลเลือกที่จะนิ่งเฉยต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น 

"เราแค่ไปเรียกร้องความเป็นธรรมไม่ใช่แค่ของกรณีวันเฉลิม แต่รวมไปถึงผู้ถูกอุ้มหายคนอื่นๆ เป็นการกระตุ้นให้รัฐบาลติดตามและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ถ้าเกิดเขายังนิ่งเฉย แสดงว่าเขาเลือกที่จะนิ่งเฉยกับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น และยิ่งไปกว่านั้นการมาแจ้งข้อกล่าวหาเรา เท่ากับเป็นการทำลายหลักการประชาธิปไตยที่ประชาชนมีเสรีภาพในการชุมนุมและแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ" ทัตเทพกล่าว

ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี หนึ่งในผู้ต้องหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยืนชูสามนิ้ว หน้าหน้า สน.วังทองหลาง กทม.

ทัตเทพกล่าวต่อว่า ตอนนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกนำมาใช้โดยอ้างว่ามาควบคุมโรคระบาด แต่ขณะนี้สถานการณ์อยู่ในช่วงที่ควบคุมได้พอสมควร จึงไม่มีความจำเป็นต้องบังคับใช้อีกต่อไป

“การเอา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาใช้ อ้างว่าควบคุมโรคระบาด แต่ถ้าอ้างอิงจากตัวเลขที่รัฐรายงาน ผมเห็นว่าอยู่ในช่วงที่ควบคุมได้พอสมควรแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกต่อไป และไม่ควรแจ้งข้อหากับพวกเรา หรือประชาชนที่ออกมาเรียกร้องความยุติธรรม เรียกร้องประชาธิปไตยให้กับสังคม” หนึ่งในผู้ต้องหากล่าว

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเพิ่มเติมว่า คดีนี้นับเป็นการนำข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาดำเนินคดีกับการจัดกิจกรรมแสดงออกทางการเมืองในเชิงสัญลักษณ์เป็นคดีที่ 3 โดยก่อนหน้านี้มีการดำเนินคดีกับ อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ ‘ฟอร์ด เส้นทางสีแดง’ ในการจัดกิจกรรมรำลึกกิจกรรมครบรอบ 10 ปี การถูกสังหารของพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดงฯ เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2563  และอนุรักษ์ยังได้ถูกดำเนินคดีอีกครั้งในการทำกิจกรรมกิจกรรม​เล่นดนตรีเปิดหมวกหาเงินช่วยเหลือ​ชาวบ้านที่เดือดร้อนเพราะโควิด-19 ในวันรำลึก 6 ปีการรัฐประหาร ร่วมกับ น.พ.ทศพร เสรีรักษ์ บริเวณลานหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 63 ต่อไปนี้คือความคิดเห็นของผู้ต้องคดีจากการทำกิจกรรมเรียกร้องความเป็นธรรมให้วันเฉลิมในครั้งนี้

ขณะที่กิจกรรมเรียกร้องความเป็นธรรมให้ 'วันเฉลิม' หน้าสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชา เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา นอกจาก 4 คนที่เข้ารับทราบข้อหาแล้ว ยังมีผู้ถูกดำเนินคดีคนอื่นอีกรวมประมาณ 10 คนแล้ว อีกทั้ง ภาณุพงศ์ จาดนอก อายุ 23 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ในนามแกนนำเยาวชน จ.ระยอง ที่จัดกิจกรรมชูป้าย 'ใคร-สั่ง-อุ้ม ? วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์' เดินรอบสวนศรีเมือง จ.ระยอง เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมาก็ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุมผู้เห็นต่างมากกว่าคุมโรค

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์แสดงความเห็นต่อการกระทำของกลุ่มดังกล่าวว่า มิใช่เป็นการมั่วสุมหรือการ “ร่วมกันชุมนุม ทำกิจกรรม หรือกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” หากแต่เป็นการดำเนินการที่ชอบธรรม โดยสงบ และอยู่ในกรอบของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Human Rights Defender) ดังนั้น การตั้งข้อหาและออกหมายเรียกเพื่อดำเนินคดีกับผู้ยื่นหนังสือเช่นนี้ อาจถูกมองได้ว่าเป็นการใช้อำนาจจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ไม่ชอบธรรม เพื่อกลั่นแกล้งและลิดรอนสิทธิผู้ที่มีความเห็นทางการเมือง

อนึ่ง วันเฉลิม คือผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทย ที่ถูกกลุ่มชายพร้อมอาวุธนำตัวขึ้นรถสีดำออกไปจากบริเวณหน้าที่พักภายในประเทศกัมพูชาเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรม 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net