Skip to main content
sharethis

ประชาชนทั่วไปจำคุก 1 เดือน ข้าราชการรอดคุก และแรงงานพม่าจำคุก 3 เดือน คือโทษที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วในคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุมตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แม้ประธานศาลฎีกาจะมีคำแนะนำให้เลี่ยงโทษจำคุกในความผิดฐานนี้ ส่วนกิจกรรมทางการเมืองยังต้องลุ้นว่า หากคดีขึ้นสู่ศาลจะมีแนวคำพิพากษาอย่างไร

เป็นเวลา 3 เดือนกว่า หลังโควิด-19 ระบาดภายในประเทศ และมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 26 มี.ค. 2563 เป็นต้นมา ตามด้วยการออกข้อกำหนดถึง 12 ฉบับ เช่น การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค จำกัดการเดินทาง ห้ามทำกิจกรรมบางประเภท ห้ามชุมนุม ควบคุมการเสนอข่าว และห้ามออกนอกเคหสถานตามเวลาที่กำหนด (เคอร์ฟิว) เป็นต้น ผู้ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดเหล่านี้จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ โดยอ้างว่า เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ให้ขยายวงกว้าง

ศาลยุติธรรมเปิดเผยข้อมูลสถิติคดีความผิด พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548, พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 (COVID–19) ตั้งแต่เดือน เม.ย.-มิ.ย. 2563 ว่า มีคดีขึ้นสู่ศาลทั้งหมด 37,833 คดี โดยเป็นคดีในเดือน เม.ย. 17,466 คดี เดือน พ.ค. 14,727 คดี และเดือน มิ.ย. 5,640 คดี มีผู้ถูกฟ้องคดีรวมประมาณ 50,000 คน

ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ได้ออกคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หลังการประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศว่า ศาลควรหลีกเลี่ยงการส่งจำเลยเข้าไปรับโทษกักขังในสถานที่กักขังหรือจำคุกในเรือนจำ เพราะเป็นการเสี่ยงที่จำเลยจะเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสไปแพร่ระบาดในสถานที่กักขังหรือเรือนจำ ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อระบบสาธารณสุขโดยรวมของประเทศ จึงสมควรที่ศาลจะได้นำมาตรการที่มีอยู่หลากหลายในประมวลกฎหมายอาญามาใช้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทั้งในทางลงโทษผู้กระทำความผิดและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นความผิดฐานชุมนุม ทํากิจกรรม หรือมั่วสุมกัน ณ ท่ีใด ๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดูเหมือนศาลชั้นต้นจะมีแนวคำพิพากษาที่ไม่คงที่นัก โดยมีตัวอย่างคำพิพากษา 4 คดี ที่ศาลลงโทษแตกต่างกัน ดังนี้

คดีวัยรุ่น 18 คน
เดลินิวส์ รายงานว่า ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาพิพากษาลงโทษจำเลย 18 คน จากการรวมกลุ่มมั่วสุมกัน สังสรรค์และมีการเสพยาเสพติดที่แพตกปลา ริมตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยา ต.ราชคราม อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2563 ในความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเสพยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 (เมทเเอมเฟตามีน)
โทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ : จำคุกคนละ 1 เดือน

คดีประชาชน 7 คน
สยามรัฐ รายงานว่า ศาลแขวงเชียงใหม่พิพากษาลงโทษจำเลย 7 คน จากการมั่วสุมเสียงดังเล่นการพนัน ตั้งวงดื่มสุรา ภายในห้องพักแห่งหนึ่ง ถ.เจดีย์ปล่อง ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2563 ในความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478
โทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ : จำคุกคนละ 1 เดือน (รอการลงโทษ) และห้ามออกนอกเคหสถานเว้นแต่มีเหตุจำเป็น 7 วัน

คดีข้าราชการ 8 คน
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ศาลจังหวัดระนองพิพากษาว่า ข้าราชการ 8 คน มีความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการมั่วสุมกินดื่มกันภายในบ้านพักอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว จ.ระนอง
โทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ : รอการกำหนดโทษ 1 ปี เนื่องจากเห็นว่า จำเลยทั้ง 8 ราย ไม่จงใจที่จะฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกอบกับจำเลยทั้ง 8 ราย สำนึกในการกระทำความผิดดังกล่าวแล้ว และจะระมัดระวังในการจัดการประชุมสังสรรค์ร่วมรับประทานอาหารกัน ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวอีก

คดีแรงงานพม่า 4 คน
ไอลอว์ รายงานว่า ศาลแขวงชลบุรีพิพากษาลงโทษจำเลยสัญชาติเมียนมาร์ 4 คน จากการล้อมวงเล่นการพนันแต้มต่อ (โดมิโน) อันเป็นการชุมนุม ทำกิจกรรม และมั่วสุมกัน ณ บริเวณหอพักแห่งหนึ่ง ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ในความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และร่วมกันเล่นการพนัน
โทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ : จำคุกคนละ 3 เดือน

นอกจากนี้ ตามการรายงานของไอลอว์ ยังพบว่า มีผู้ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามการชุมนุม ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ระหว่างวันที่ 26 มี.ค.-30 มิ.ย. 2563 อีกอย่างน้อย 23 คน ที่ยังไม่มีคำพิพากษาของศาล

หากดูตามแนวคำพิพากษาที่ผ่านมาก็ยากจะคาดเดาว่า ศาลจะหลีกเลี่ยงการส่งจำเลยเข้าไปรับโทษกักขังในสถานที่กักขังหรือจำคุกในเรือนจำ เพราะเสี่ยงที่จำเลยจะเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสไปแพร่ระบาดในสถานที่กักขังหรือเรือนจำ ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อระบบสาธารณสุขโดยรวมของประเทศ ตามที่ประธานศาลฎีกาเคยแนะนำไว้หรือไม่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net