Skip to main content
sharethis

Perception is real and the truth is not. 

(สิ่งที่รับรู้ได้ต่างหากที่เป็นจริง ส่วนความจริงนั้นไม่ใช่)

The Kingmaker ภาพยนตร์สารคดี นำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์การเมืองฟิลิปปินส์ ในยุคเรืองอำนาจ สิ้นสุดอำนาจ จนถึงการพยายามกลับมาครองอำนาจของตระกูลมาร์กอส นำเสนอเรื่องเล่าผ่านการชู อีเมลดา มาร์กอส (Imelda Marcos) ขึ้นเป็นตัวละครหลัก

 I have to dress up and make myself more beautiful because the poor always looks for a star in the dark night. 

(ฉันต้องแต่งตัวและทำตัวเองให้สวยขึ้น เพราะคนจนมักจะมองหาดวงดาวในยามค่ำคืนอันมืดมิดเสมอ)

ประโยคนี้ของอีเมลดาในภาพยนตร์ตัวอย่างสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของเธอที่มีต่อคนรากหญ้าในฟิลิปปินส์และเหตุผลในการใช้จ่ายเงินฟุ้งเฟ้อของเธอ

อนึ่ง อีเมลดา มาร์กอส คือ ภริยาของเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส อดีตประธานาธิบดีที่ปกครองฟิลิปปินส์ยาวนานกว่าสองทศวรรษ ก่อนหน้านี้เธอมีชื่อเสียงในวงการประกวดนางงาม ด้วยการลงประกวดนางงามฟิลิปปินส์และคว้าตำแหน่งอันดับสามมาครอง แต่ในปีถัดมา เธอได้ประท้วงไม่ยอมรับผลการตัดสินจนกองประกวดต้องตัดสินใหม่และมอบฉายา ‘The Muse of Manila’ ให้กับเธอ สำหรับเรื่องราวความรักนั้น อีเมลดาตอบรับคำขอแต่งงานจากเฟอร์ดินานด์ นักการเมืองดาวรุ่ง ภายใน 20 นาทีหลังจากพบกันครั้งแรก จากนั้น 11 วันต่อมา พวกเขาก็แต่งงานกัน 

หลังจากที่ทั้งคู่แต่งงานกัน อีเมลดาใช้ความสวย บุคลิกภาพดี และการพูดจาฉะฉานชัดเจนช่วยเฟอร์ดิ นานด์หาเสียงเลือกตั้ง เธอทำให้ใครหลายคนที่ไม่สนใจการเมืองกลับมาฟังคำปราศรัยของสามีเธอ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ก็ชนะการเลือกตั้งและก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 10 ของฟิลิปปินส์ อาจกล่าวได้ว่าเธอคืออาวุธลับของเฟอร์ดินานด์ 

หลังจากที่เฟอร์ดินานด์ขึ้นเป็นประธานาธิบดีในสมัยแรกแล้ว เขาแก้รัฐธรรมนูญเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเอง จำกัดเสรีภาพสื่อและประชาชน กำจัดนักการเมืองท้องถิ่นและปกครองประเทศด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จ จากการกระทำดังกล่าวทำให้เขาเป็นผู้นำหลายสมัยและปกครองประเทศฟิลิปปินส์ตั้งแต่ พ.ศ. 2508 - 2529 ซึ่งถือว่าเป็นยุคเรืองอำนาจของตระกูลมาร์กอส[1]

ในขณะที่ชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่กำลังอดอยาก อีเมลดากลับทำตัวฟุ้งเฟ้อและใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย เช่น การสะสมรองเท้าแบรนด์หรูกว่า 3,000 คู่ ซึ่งเธอได้แก้ต่างในภายหลังว่ามีรองเท้าหรูเพียง 1,016 คู่เท่านั้น อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายเงินของเธอก็ยังคงเป็นข้อกังขาอยู่ ซึ่งหลายคนก็ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้เงินของเธอว่าเอามาจากภาษีของประชาชนหรือไม่[2]

I was criticized for being excessive but that is mothering.

(ฉันถูกกล่าวหาว่าสุรุ่ยสุร่าย แต่นั่นล่ะคือความเป็นแม่)

I want to be mother not only the Philippines but the world.

(ฉันไม่ต้องการเป็นเพียงแม่ของคนฟิลิปปินส์ แต่ต้องการเป็นแม่ของคนทั้งโลก)

อิทธิพลความเป็นแม่ของอีเมลดาไม่จำกัดอยู่เพียงในครอบครัวมาร์กอสเท่านั้น แต่เธอยังได้สร้างตัวตนขึ้นมาในฐานะ ‘แม่’ ของคนฟิลิปปินส์ และไม่ใช่เพียงครั้งเดียวที่เธออ้างตัวดังนี้ อย่างน้อยก็สองครั้งที่ปรากฎในภาพยนตร์

ภาพยนตร์เปิดเรื่องด้วยภาพอีเมลดาในวัย 85 ปี ภายใต้การปกครองที่ไม่ใช่ระบอบมาร์กอสอีกต่อไป เธอมีท่าทีเป็นห่วงเมื่อได้เห็นประเทศฟิลิปปินส์และความยากจนของประชาชน แต่สิ่งที่เธอทำในฉากถัดมาคือการลดกระจกรถเพื่อแจกเงินให้กับเด็กเร่ร่อนที่อยู่ข้างทาง “เมื่อได้ดูหนังไปสัก 15 นาที คุณจะรู้ได้เลยว่าเธอไม่ใช่ผู้เล่าที่เชื่อถือได้” ลอว์เรน กรีนฟิลด์ ผู้กำกับภาพยนตร์กล่าว[3]

ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศแถบเอเชียอาคเนย์ ซึ่งปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ แต่การปกครองแบบประชาธิปไตยในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้นมีลักษณะเป็นอำนาจนิยมจากบริบททางประวัติศาสตร์ ซึ่งท้ายที่สุดมันจึงนำไปสู่ “การเมืองที่สืบทอดผ่านสายเลือด” ดังที่ปรากฎในประเทศฟิลิปปินส์ และหลายฉากในภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเป็น ‘กระจก’ ที่สะท้อนบริบททางการเมืองของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

นอกเหนือจากที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้พาเราไป ‘เรียนรู้’ เรื่องราวจากฝั่งอีเมลดา ก็ยังทำให้เรา ‘ชั่งใจ’ ในคำบอกเล่าจากอีเมลดา ด้วยการนำเสนอชุดข้อมูลอื่นๆ ซึ่งมีความขัดแย้งกับสิ่งที่อีเมลดากล่าวเพื่อสร้างความสงสัยกระตุ้นการเรียนรู้ และทำให้เกิดการ ‘เรียนรู้ด้วยมุมมองใหม่’ ขึ้นอยู่กับความคิดและการตัดสินของผู้ชม ผ่านการเล่าเรื่องที่ไม่สลับซับซ้อน จึงเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีความสนใจหรืออยากทำความเข้าใจการเมืองฟิลิปปินส์ รวมถึงผู้ที่ไม่มีความสนใจในการเมืองและประเทศฟิลิปปินส์มาก่อน

อ้างอิง

[1] https://thepeople.co/imelda-marcos-first-lady-of-philippines/

[2] https://www.biography.com/political-figure/imelda-marcos

[3] https://www.ft.com/content/3af08a06-0c6a-11ea-8fb7-8fcec0c3b0f9

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net