Skip to main content
sharethis

จ๊อบส์ ดีบี เผยหางานผ่านเว็บพุ่ง 77 ล้านครั้ง “ดิจิทัล-กราฟิก-ภาษา” ค้นหาสูงสุด

หลังจากที่ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดผลสำรวจผู้ประกอบการ 400 ราย และคนทำงาน 1,400 ราย ถึงผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พบว่า กลุ่มคนเงินเดือนต่ำกว่า 16,000 บาท ที่ทำงานในองค์กรขนาดเล็กได้รับผลกระทบหนักสุด ผลกระทบส่วนใหญ่เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างรายได้ของคนทำงาน ไม่ได้รับการปรับเงินเดือน มิหนำซ้ำบางรายยังถูกลดเงินเดือนลงถึง 10-20% ของรายได้ ขณะที่ผลกระทบหนักสุด คือ 25% ของคนทำงานมีจำนวน 9% ถูกเลิกจ้าง

โดยในส่วนของการประกาศหางานของผู้ประกอบการ หรือองค์กรต่าง ๆ ในตลาดเมืองไทย เมื่อเดือน เม.ย.ลดลงไปราว 35% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นแนวโน้มดีขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดพบสัญญาณบวกในการจ้างงานจากฝั่งผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น และในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 หรืออีก 6 เดือนข้างหน้า โดยผู้ประกอบการบางส่วนเปิดเผยว่าอยากจะจ้างงานผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด ขณะที่หลายรายอยากจะจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่า สัญญาณดีมานด์แรงงานกำลังจะฟื้นตัวกลับมา

“พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์” ผู้จัดการ บริษัท จัดหางานจ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย)จำกัด กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาคนมีความต้องการหางานเพิ่มขึ้น นับตั้งแต่ พ.ค. 2562 ถึง พ.ค. 2563 มีการค้นหางานจากเว็บไซต์หางานมากกว่า 77 ล้านครั้ง และในช่วงเดือน พ.ค. 2563 มีการค้นหางานเพิ่มขึ้นอีก 26% เมื่อเทียบกับช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ทั้งยังมีการค้นหาคำแนะนำงานถึง4 ล้านครั้ง

“ในช่วงปีที่ผ่านมามีการค้นหางานเพิ่มขึ้น ซึ่งพฤติกรรมการค้นหาส่วนใหญ่พบว่าเป็นลักษณะงานที่ทำได้จากที่บ้าน โดยมีการค้นหาคำว่าดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งเพิ่มขึ้น 36% กราฟิกดีไซเนอร์เพิ่มขึ้น 20% และงานที่ต้องใช้ TOEIC หรือทักษะภาษาเพิ่มขึ้น 15% และยังพบอีกว่านับตั้งแต่ช่วงแรกของการใช้มาตรการล็อกดาวน์ มีการค้นหางานด้านไอทีเพิ่มขึ้น 12% โดยตำแหน่งที่ค้นหา ได้แก่ ผู้จัดการทั่วไป, ผู้จัดการโครงการ, นักพัฒนาแอปพลิเคชั่น”

“สิ่งที่เราเห็นคือตำแหน่งงานด้านไอที ดีมานด์ และซัพพลายยังไม่เคยพอ เพราะมีการประกาศรับสมัครพนักงานบ่อยครั้ง นั่นหมายความว่า องค์กรหลาย ๆ แห่งเริ่มปรับตัวใช้เทคโนโลยีมากขึ้น และอยากมีแอปพลิเคชั่นของตนเอง ดังนั้นจึงต้องการทีมงานที่เกี่ยวข้องกับด้านนี้มากขึ้น ในขณะที่จำนวนคนสมัครยังน้อย”

“พรลัดดา” กล่าวต่อว่า จากประสบการณ์ที่จ๊อบส์ ดีบี พูดคุยกับองค์กรต่าง ๆ และผู้ประกอบการหลายแห่งที่ให้ความสนใจกับสายงานด้านไอทีพบว่า มีองค์กรบางแห่งเปิดรับสมัครพนักงานต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านไอทีเข้ามาทำงานในประเทศไทย ขณะที่บางแห่งให้พนักงานต่างชาติทำงานในประเทศตนเอง โดยเป็นการทำงานระยะไกล (re-mote working) สื่อสารกันผ่านเทคโนโลยีเป็นหลักแสดงถึงงานไอทีที่กำลังมาแรง

“จึงเป็นเหตุให้ในช่วงครึ่งปีหลังผู้ประกอบการส่งสัญญาณเตรียมประกาศจ้างงานในกลุ่มงานไอทีมากขึ้นพร้อม ๆ กับงานด้านการตลาดประชาสัมพันธ์, งานขาย งานบริการลูกค้า งานพัฒนาธุรกิจ, งานต้อนรับ และงานจัดซื้อ ส่วนสายงานที่คาดว่าจะยังมีการประกาศน้อยมองว่าเป็นธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจยานยนต์ เพราะถึงแม้สถานการณ์จะดีขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเหมือนเดิม เนื่องจากธุรกิจประเภทนี้เป็นสินค้าที่มีราคาสูง ทำให้ผู้บริโภคจำเป็นต้องคิดทบทวน ตัดสินใจเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายมากขึ้นดังนั้น สินค้าที่ไม่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันจึงต้องงดก่อน อันเป็นเหตุให้สายงานดังกล่าวมีผลต่อการประกาศจ้างงาน”

นอกจากนั้น “พรลัดดา” ยังเปิดเผยข้อมูลอีกว่า หลายองค์กรในหลายอุตสาหกรรมมีจำนวนใบสมัครงานเพิ่มสูงขึ้นในช่วง พ.ค. 63 คิดเป็น 20% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. ส่วนมากเป็นนักศึกษาจบใหม่ และคนทำงานที่อยากจะเปลี่ยนสายงาน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากใบสมัครงานพบว่า ธุรกิจ trading ธุรกิจจัดจำหน่าย (trading and distribution) มีอัตราการเติบโต ค่าเฉลี่ยใบสมัครงานต่อ 1 ประกาศงาน เมื่อเทียบกับ พ.ค. 62เพิ่มเป็น 121% ปัจจัยน่าจะมาจากความนิยมของคนในการซื้อของออนไลน์มากขึ้น และงานที่เกี่ยวข้อง คือ ด้านโฆษณา, ประชาสัมพันธ์, การตลาด, ค้าปลีก, ขายส่ง

“นอกจากนี้ยังมีธุรกิจเกี่ยวกับขนส่ง (freight forwarding,delivery, shipping) ธุรกิจบริการอาหารเครื่องดื่ม (food and beverage) ธุรกิจ catering หรือการรับจัดงานนอกสถานที่ ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ จำนวนใบสมัครงานก็สูงเช่นเดียวกัน ดังนั้น ช่วงครึ่งปีหลังจึงเป็นโอกาสที่องค์กรจะประกาศรับเด็กจบใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะตำแหน่งพนักงานทั่วไป ทั้งนั้นความคาดหวังขององค์กรที่มีต่อเด็กจบใหม่ไม่ใช่ประสบการณ์ สิ่งที่ย้ำเสมอคือเด็กจบใหม่จะต้องมีทักษะภาษา ไม่เฉพาะเด็กจบใหม่ แต่รวมไปถึงคนทำงานทุกคน เพราะเป็นประตูในการเปิดโอกาสให้ได้รับความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน รวมไปถึงความเชี่ยวชาญในสิ่งที่ตนเองเรียนมา และความกระตือรือร้นอยากทำงาน”

“พรลัดดา” กล่าวต่อว่า สำหรับอัตราค่าจ้างในช่วงหลังจากโควิด-19 นั้น มองว่าการให้เงินเดือนจะยังไม่กลับมาเฟื่องฟูนัก โดยผู้ประกอบการจะยังคงใช้นโยบายเรื่องเงินเดือน เช่นงดการขึ้นเงินเดือน, งดจ่ายโบนัส ฯลฯ ไปจนถึงสิ้นปีนี้ หลังจากนั้นจึงจะพิจารณาอีกครั้ง โดยดูจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจและวัคซีนป้องกันโควิด-19 ขณะที่การรับพนักงานใหม่ขององค์กรขนาดใหญ่ยังไม่มีนโยบายลดเงินเดือน หรือปรับฐานเงินเดือนให้ลดลง แต่จะทบทวนมากขึ้นว่าสายงานนี้จำเป็นมากน้อยเพียงใด รวมถึงการพิจารณาเรื่องการจ้างงานมากขึ้นในบางตำแหน่งด้วย

“สถานการณ์ปัจจุบันส่งผลให้ขวัญกำลังใจของพนักงานลดลงสิ่งที่องค์กรต้องฟื้นฟูกลับมาให้ได้คือ การสร้างความสัมพันธ์ หรือความจงรักภักดี (engatement) ระหว่างองค์กร และคนทำงานเพิ่มขึ้น และสร้างความเชื่อมั่น หรือความมั่นคงในการทำงานให้มากขึ้น ที่สำคัญคือการทำงานในยุคนิวนอร์มอล องค์กรต้องเริ่มมองหาความสมดุลในชีวิตการทำงาน”

“นอกจากนั้นยังมองเทรนด์การสมัครงานว่า การหางานหรือสมัครงานทางออนไลน์จะค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้น จะไม่มีการเดินหา หรือไปสมัครงานที่บริษัทโดยตรงเหมือนสมัยก่อน เพราะตอนนี้เว็บไซต์หางานเพิ่มขึ้น อย่างจ๊อบส์ ดีบี เรามีการพัฒนาปรับปรุงเว็บไซต์ตลอด เรามีเทคโนโลยีเอไอช่วยคนที่เข้ามาหางานให้ได้งานตรงความต้องการเร็วขึ้น และเราจะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะเว็บไซต์องค์กรจำเป็นต้องปรับปรุงอยู่เสมอ ไม่ใช่มีแล้วไม่สนใจ”

“ที่สำคัญ จ๊อบส์ ดีบี ยังคงมุ่งมั่นในการทำให้คนไทยมีงานทำมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากการทำงาน และมุ่งมั่นช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ได้คนที่ตรงกับทักษะความสามารถที่ต้องการธุรกิจเราต้องมองภาพใหญ่ก่อนว่าเศรษฐกิจของไทยจะดำเนินต่อไปได้จีดีพีจะเพิ่มขึ้นมาจากหลายส่วนส่วนหนึ่งคือธุรกิจในไทยมีการทำธุรกิจไปได้ด้วยดี ซึ่งการทำไปได้ด้วยดีมีหลายปัจจัย และคนก็เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อให้ผลประกอบการขององค์กรเหล่านั้นประสบความสำเร็จในที่สุด”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 4/7/2563

เพิ่มค่าทำศพกองทุนประกันสังคมเป็น 5 หมื่นบาทแล้ว

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงาน ได้ออกประกาศกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินค่าทำศพ ในกรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย โดยมิใช่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เนื่องจากการทำงาน พ.ศ.2563 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่2) พ.ศ.2537 ลงนามโดย ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้มีการปรับเพิ่มการจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย โดยมิใช่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน จากเดิม 40,000 บาท เพิ่มเป็น 50,000 บาท เพื่อจ่ายเป็นค่าทำศพให้กับผู้จัดการศพ ซึ่งได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค. 2563 เป็นต้นไป

สำหรับเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ในการขอรับสิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิตนั้น ผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 1เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนถึงแก่ความตาย โดยสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายให้กับผู้จัดการศพ สำหรับเงินสงเคราะห์กรณีตายจะจ่ายให้กับบุคคลที่ผู้ประกันตนระบุให้เป็นผู้รับ สิทธิประโยชน์ทดแทน โดยการทำหนังสือระบุไว้ ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำหนังสือระบุไว้ สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายให้ผู้มีสิทธิตามกฎหมาย คือ บิดา มารดา สามีหรือภริยา และบุตร โดยจ่ายเฉลี่ยในอัตราคนละเท่าๆ กัน ดังนี้

-ถ้าก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 2 เดือน

-ถ้าก่อนถึงแก่ความตายผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 6 เดือน ให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิสามารถขอรับประโยชน์ทดแทน ได้ภายใน 2 ปี

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวในตอนท้ายว่า การปรับเพิ่มการจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายโดยมิใช่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน เป็น 50,000 บาท ในครั้งนี้ เพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเป็นการสร้างหลักประกันให้กับผู้ประกันตนได้ประโยชน์สูงสุด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา/ที่สะดวก หรือโทร.1506 (เจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 3/7/2563 

กรมจัดหางาน เผยมีแรงงานลักลอบไป ตปท.ต่อเนื่องช่วง COVID-19

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่าสถานการณ์ช่วงการระบาดของโควิด ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น จนถึงขณะนี้กรมฯยังคุมเข้มมาตรการป้องกันการหลอกลวงและลักลอบไปทำงานต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนหางานประจำท่าอากาศยานต่างๆ เข้มงวด ตรวจสอบและระงับการเดินทางผู้ที่มีพฤติกรรมต้องสงสัยว่าจะลักลอบไปทำงานในต่างประเทศ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

สถิติคนหางานเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ผ่านด่านตรวจคนหางานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เดือนมิถุนายน 2563 มีจำนวน 585 คน เจ้าหน้าที่ได้สั่งระงับการเดินทางของคนหางานที่มีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานในต่างประเทศ และให้การยอมรับว่าจะไปทำงานในต่างประเทศ จำนวน 2 คน ส่วนเดือนพฤษภาคม มีคนหางานเดินทาง 243 คน สั่งระงับการเดินทาง 9 คน เดือนเมษายน มีคนหางานเดินทาง 557 คน สั่งระงับการเดินทาง 7 คน และเดือนมีนาคม มีคนหางานเดินทาง 3,737 คน สั่งระงับการเดินทาง จำนวน 56 คน

ขณะเดียวกันยังติดตามสถานการณ์แรงงานไทยที่แจ้งเดินทางกลับประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าตั้งแต่ 11 ธันวาคม 2562 ถึง 26 เมษายน 2563 มีแรงงานไทยรายงานตัวกลับประเทศกับ ตม.เกาหลีใต้ จำนวน 8,043 คน ส่วนชายแดนใต้ ในช่วงวันที่ 16 มีนาคม - 4 พฤษภาคม 2563 มีคนไทยเดินทางกลับจากประเทศมาเลเซีย จำนวน 26,331 คน

นายสุชาติ กล่าวอีกว่า แม้ว่าตอนนี้ในหลายประเทศจะอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ยังพบว่าการโฆษณาจัดหางานเพื่อชักชวนคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ ผ่านทางเว็บไซต์หรือช่องทางอินเทอร์เน็ตมีจำนวนมากขึ้น โดยไม่มีการขออนุญาตในการโฆษณาจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา66 แห่ง พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงโฆษณาการจัดหางานไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงแรงงาน ว่าด้วยการโฆษณาการจัดหางาน พ.ศ.2561 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งกรมการจัดหางานจะตรวจสอบและติดตาม พร้อมประสานการทำงานร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) ในการติดตามหาตัวบุคคล เพื่อจะขยายผลในการดำเนินคดีต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ใดพบเห็นการโฆษณาจัดหางาน ชักชวนคนหางานไปทำงานต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือสงสัยว่าจะเป็นการหลอกลวงคนหางาน สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนได้ที่ศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน กรมการจัดหางาน โทร. 02-245-6763 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 3/7/2563

บอร์ด สกสค.มีมติจ่ายเงินค่าตกใจให้พนักงานที่ถูกเลิกจ้างรายละ 1 แสน รวม 961 ราย

3 ก.ค. 2563 นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายธนพร สมศรี รองเลขาธิการ สกสค. ในฐานะโฆษกคณะกรรมการ สกสค. แถลงข่าวภายร่วมการประชุม สกสค.กรณีเลิกจ้างพนักงาน สกสค. 961 รายกะทันหัน ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยนายประเสริฐ ยอมรับว่า ตลอด 18 ปีที่ผ่านมา สกสค.ขาดทุนมาโดยตลอด และมีหนี้สินสูงถึง 6,700 ล้านบาท ที่ผ่านมาแม้จะมีการแก้ปัญหาด้วยการจัดพิมพ์หนังสือเพื่อจัดจำหน่ายเพิ่ม แต่รายได้ก็ยังไม่เพียงพอกับรายจ่าย โดยเฉพาะเงินเดือนของพนักงานที่ต้องรับผิดชอบถึงเดือนละ 40 ล้านบาท จึงต้องดำเนินการปลดพนักงานออก พร้อมยืนยันว่าไม่ได้ยุบองค์การฯ เพราะยังมีพนักงานทำงานเหมือนเดิมอยู่อีก 74 ราย โดยจะต้องฟื้นฟูเพื่อทำธุรกิจอื่นต่อไป

ด้าน นายธนพร กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างรายละ 1 แสนบาท หรือที่เรียกกันว่าค่าตกใจ รวม 961 ล้านบาทภายในวันนี้ทันที โดยไม่ต้องรอเบิกจ่ายในปลายเดือน ก.ค.แต่อย่างใด นอกจากนี้ที่ประชุมบอร์ดยังมีมติจ่ายเงินชดเชย แบ่งเป็น 2 ประเภทเต็มจำนวน ภายใต้เงื่อนไขอายุการทำงาน และเงินเดือนล่าสุดเป็นเกณฑ์การพิจารณา โดยกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่มีอายุงานมากกว่า 20 ปีขึ้นไปจะได้รับเงินชดเชยรวม 400 วัน หรือ 13 เดือน และกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่มีอายุงานต่ำกว่า 20 ปี จะได้รับเงินชดเชย 300 วัน หรือ 10 เดือน ซึ่งเจ้าหน้าที่องค์การค้าฯ จะได้รับเงินชดเชยมากกว่าพนักงานบริษัทเอกชนที่ถูกเลิกจ้างอย่างแน่นอน

สำหรับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างทั้ง 961 ราย มีอายุงานเฉลี่ย 25 ปี 5 เดือน และมีเงินเดือนเฉลี่ยอยู่เดือนละ 31,287 บาท ซึ่งการพิจารณาค่าชดเชยครั้งนี้ ทาง สกสค.ต้องใช้เงินกว่า 423 ล้านบาทเศษ เมื่อรวมค่าบำเหน็ดของเจ้าหน้าที่จำนวน 861 ล้านบาทเศษแล้ว ต้องใช้เงินทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 1,285 ล้านบาท ซึ่งองค์การค้าฯ ต้องกู้ยืมเพื่อมาดำเนินการจ่ายค่าชดเชยดังกล่าว อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริหาร สกสค.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.63 ในการแต่งตั้ง นายอดุลย์ บุสสา ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าฯ โดยมอบหมายภารกิจเร่งด่วนในการจัดทำแผนฟิ้นฟู สกสค.ภายใน 30 วัน ซึ่งหากมีแผนงานด้านบุคลากรและมีการว่าจ้างเจ้าหน้าที่ใหม่เพิ่มเติม ก็ให้รับสมัครใหม่ได้เลย ที่สำคัญ คือ ไม่ปิดกั้นพนักงานเก่าหากต้องการมาสมัครใหม่ก็สามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบของระเบียบใหม่ขององค์การค้าฯ

ที่มา: NewTV, 3/7/2563

เจ้าพนักงานเวชสถิติกว่า 300 คนทวงถามบรรจุข้าราชการโควิด-19

2 ก.ค. 2563 เจ้าพนักงานเวชสถิติกว่า 300 คนเดินทางมายังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องและทวงสัญญาต่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) และ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เรื่องการบรรจุตำแหน่งข้าราชการให้เจ้าพนักงานเวชสถิติจำนวน 660 ตำแหน่งในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยนายสาธิต และนพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัด สธ. มารับเรื่องดังกล่าว

นายกฤษชนะ สร้อยสัตย์ ประธานชมรมเจ้าพนักงานเวชสถิติทั่วประเทศ และน.ส.ธีรานันท์ จันทรมานนท์ เลขาและโฆษกชมรมเจ้าพนักงานเวชสถิติทั่วประเทศ ให้ข้อมูลว่า วันนี้นำตัวแทนเจ้าพนักงานเวชสถิติจากทุกจังหวัด ทั่วประเทศ มาร้องเรียน เพื่อหวังให้ได้รับการบรรจุข้าราชการ 660 ตำแหน่ง เนื่องจากเป็นหน่วยงานแรกที่ต้องเข้าไปปฏิบัติใกล้ชิดผู้ป่วย ในการคัดกรองโควิด -19.เก็บข้อมูลส่งรพ. และนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ สะท้อนคุณภาพของรพ. มาตราการรักษาพยาบาล แต่กลับไม่ได้รับการบรรจุเหมือนเช่น 24 สายงาน โดยทางชมรมฯได้มีการติดตามเรื่องการบรรจุมาตั้งแต่ วันที่ 3 เมษายน และทวงถามเป็นระยะ จนได้รับคำยืนยันแน่ชัดแล้วว่าไม่ได้รับการบรรจุ จึงได้ออกมาเรียกร้อง ตามสิทธิ์ และหวังว่า ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข , รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเจ้าพนักงานเวชสิถิติบางคนปฏิบัติหน้ามานานกว่า 8 ปี ยังไม่ได้รับการบรรจุ บางคนเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข บางคนเป็นลูกจ้างชั่วคราว ทั้งนี้ ทางชมรมฯเชื่อว่า เสียงสะท้อนของผู้ปฏิบัติงานโดยเฉพาะเจ้าพนักงานเวชสถิติจะได้รับการช่วยเหลือ

นายกฤษชนะ กล่าวว่า เราขอให้มีการบรรจุตำแหน่งพวกเราในล็อต 2 และ 3 ในรอบของการบรรจุโควิด19 เพราะหากล่วงเลยไปก่อนนี้ พวกเราไม่มั่นใจว่า จะได้จริงหรือไม่ จึงอยากวอนให้ผู้บริหารช่วยเหลือพวกเรา ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคลากรสาธารณสุขที่ทำงานมาตลอดเช่นกัน

นายสาธิต กล่าวว่า ตนเข้าใจและเห็นใจในทุกวิชาชีพ ซึ่งเจ้าพนักงานเวชสถิติ ก็เป็นอีกวิชาชีพที่ทางกระทรวงฯ ให้ความสำคัญ เบื้องต้นจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อมาดูแลเรื่องนี้ หลังจากมีหลายวิชาชีพเข้ามาร้องเรียน ขอให้ได้รับการบรรจุ ซึ่งยืนยันว่า ทุกอย่างต้องทำตามระเบียบและกรอบกฎหมาย ไม่สามารถละเมิดได้ การบรรจุอัตรากำลัง ทั้งตนเอง และ รมว.สธ. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือ รู้จักใครเป็นพิเศษ เข้าใจในสถานการณ์และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกระดับ แต่ก็อยากชี้แจงทำความเข้าใจว่า มีผู้ต้องการได้รับการบรรจุข้าราชการมากถึง 200,000 คน แต่สามารถขอบรรจุได้เพียง 45,000 คนเท่านั้น และขอวอนให้ทุกฝ่ายเห็นใจและเข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะการบรรจุอัตราข้าราชการ ย่อมหมายถึงการผูกพันทางงบประมาณ ที่จะมีไปอีกยาวนาน อย่างไรก็ตาม ขอระยะเวลาตรวจสอบและหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป

ที่มา: Hfocus, 2/7/2563

พนักงาน 140 คน จ.ระยอง ถูกเลิกจ้างแต่โรงงานยังไม่ได้จ่ายเงิน เพราะยังขายทรัพย์สินมาจ่ายหนี้ไม่ได้

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา ลูกจ้างของบริษัทแห่งหนึ่งได้รวมตัวกันหน้าโรงงานแห่งหนึ่ง ต.มาบข่า อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง เพื่อขอความเห็นใจ หลังถูกเลิกจ้าง แต่โรงงานกลับค้างค่าจ้างและค่าชดเชย

นายธวัชชัย คูณขุนทด อายุ 41 ปี ซึ่งเป็นพนักงานบริษัท กว่า 15 ปี เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ก็ไปยื่นหนังสือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยโรงงานประกาศเลิกจ้างพนักงานในวันที่ 31 มี.ค. 63 จำนวน 129 คน ต่อมาในวันที่ 7 เม.ย.ก็ประกาศให้ออกอีก 11 คน ซึ่งพนักงาน 140 คน ยังไม่ได้เงินค่าชดเชยเป็นเงินทั้งสิ้น 35 ล้านบาท

โดยวันนี้พนักงานจำนวน 140 คน ก็ร่วมด้วยช่วยกันบริจาคจำนวนเงิน จํานวนหนึ่งซึ่งไม่มาก ให้กับพนักงานรายหนึ่ง ที่ตอนนี้นอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล เนื่องจากป่วยเป็นโรคมะเร็งในขั้นสุดท้าย โดยเขาได้ทำงานกับบริษัทกว่า 20 ปี ก็หวังจะได้เงินจำนวนนี้ไปรักษาตัว แต่ก็มาสิ้นหวังจากเงินค่าชดเชย ตามที่บริษัทที่ตกลงกันไว้ในวันที่ 30 มิ.ย. 63 ที่ผ่านมา โดยไม่มีเงินจ่ายแต่อย่างใด

เบื้องต้น ผู้จัดการโรงงานดังกล่าว ระบุว่า บริษัทมีความจำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงานไปบางส่วนนั้น อันเนื่องจากการหยุดการผลิต ประการสำคัญ แผนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย

อย่างไรก็ตาม บริษัทก็จะขายทรัพย์สินที่ไม่กระทบต่อการดำเนินงานเพื่อจ่ายค่าเลิกจ้างให้แก่พนักงานทุกคนตามที่กำหนดไว้ในวันหนังสือเลิกจ้าง แต่เนื่องจากวันที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ สถานการณ์โควิดยังคงอยู่

โดยรัฐบาลไทยยังคงประกาศต่ออายุการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และรัฐบาลยังไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทยได้เป็นผลให้นักลงทุนต่างประเทศที่สนใจเข้ามาซื้อทรัพย์สินไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศ เพื่อตรวจสอบทรัพย์สินได้

โดยในการนี้บริษัทคาดว่าอีกไม่กี่เดือนข้างหน้ารัฐบาลก็จะอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยได้ และบริษัทก็จะเร่งเจรจาขาย ทรัพย์สินเพื่อนำเงินมาจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานที่เลิกจ้างทุกท่าน ได้อย่างช้าไม่เกินภายในวันที่ 30 ธ.ค. 2563

พนักงาน 140 คนถูกเลิกจ้างแต่โรงงานยังไม่ได้จ่ายเงิน เพราะยังขายทรัพย์สินมาจ่ายหนี้ไม่ได้ บอกให้รอก่อนแต่ไม่เกิน 31 ธ.ค. 63 นี้ สุดเศร้าต้องเรี่ยไรเงินช่วยเพื่อนป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 63 ที่ผ่านมา ลูกจ้างของบริษัทแห่งหนึ่งได้รวมตัวกันหน้าโรงงานแห่งหนึ่ง ต.มาบข่า อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง เพื่อขอความเห็นใจ หลังถูกเลิกจ้าง แต่โรงงานกลับค้างค่าจ้างและค่าชดเชย

นายธวัชชัย คูณขุนทด อายุ 41 ปี ซึ่งเป็นพนักงานบริษัท กว่า 15 ปี เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ก็ไปยื่นหนังสือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยโรงงานประกาศเลิกจ้างพนักงานในวันที่ 31 มี.ค. 2563 จำนวน 129 คน ต่อมาในวันที่ 7 เม.ย.ก็ประกาศให้ออกอีก 11 คน ซึ่งพนักงาน 140 คน ยังไม่ได้เงินค่าชดเชยเป็นเงินทั้งสิ้น 35 ล้านบาท

โดยวันนี้พนักงานจำนวน 140 คน ก็ร่วมด้วยช่วยกันบริจาคจำนวนเงิน จํานวนหนึ่งซึ่งไม่มาก ให้กับพนักงานรายหนึ่ง ที่ตอนนี้นอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล เนื่องจากป่วยเป็นโรคมะเร็งในขั้นสุดท้าย โดยเขาได้ทำงานกับบริษัทกว่า 20 ปี ก็หวังจะได้เงินจำนวนนี้ไปรักษาตัว แต่ก็มาสิ้นหวังจากเงินค่าชดเชย ตามที่บริษัทที่ตกลงกันไว้ในวันที่ 30 มิ.ย. 63 ที่ผ่านมา โดยไม่มีเงินจ่ายแต่อย่างใด

เบื้องต้น ผู้จัดการโรงงานดังกล่าว ระบุว่า บริษัทมีความจำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงานไปบางส่วนนั้น อันเนื่องจากการหยุดการผลิต ประการสำคัญ แผนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย

อย่างไรก็ตาม บริษัทก็จะขายทรัพย์สินที่ไม่กระทบต่อการดำเนินงานเพื่อจ่ายค่าเลิกจ้างให้แก่พนักงานทุกคนตามที่กำหนดไว้ในวันหนังสือเลิกจ้าง แต่เนื่องจากวันที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ สถานการณ์โควิดยังคงอยู่

โดยรัฐบาลไทยยังคงประกาศต่ออายุการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และรัฐบาลยังไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทยได้เป็นผลให้นักลงทุนต่างประเทศที่สนใจเข้ามาซื้อทรัพย์สินไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศ เพื่อตรวจสอบทรัพย์สินได้

โดยในการนี้บริษัทคาดว่าอีกไม่กี่เดือนข้างหน้ารัฐบาลก็จะอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยได้ และบริษัทก็จะเร่งเจรจาขาย ทรัพย์สินเพื่อนำเงินมาจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานที่เลิกจ้างทุกท่าน ได้อย่างช้าไม่เกินภายในวันที่ 30 ธ.ค.63

ทั้งนี้ พนักงานจำนวน 140 คนนี้ เกิดความไม่พอใจในขณะที่ ตกลงกันไว้ในวันที่ 30 มิ.ย.63 จึงได้มีการทำหนังสือร้องเรียนไปยัง กรมคุ้มครองแรงงานที่ศาลากลางจังหวัดระยองดังกล่าว โดยต่อจากนี้ ก็เป็นหน้าที่ของกรมคุ้มครองแรงงานสวัสดิการจังหวัดระยองเข้าแก้ไขปัญหา ให้กับพนักงานที่ได้มีการยื่นเรื่องไว้ในวันนี้ต่อไป

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 2/7/2563

พนักงานองค์การค้า สกสค.ร้องจ่ายเงินค่าจ้าง

1 ก.ค. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พนักงานลูกจ้างองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ยื่นคำร้องที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 4 ตามมาตรา 75 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ปี 2541 เพื่อคุ้มครองสิทธิ์ตามคำสั่ง สกสค.ที่ 75/2563 เรื่องขยายเวลาหยุดงาน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยไม่ถือเป็นวันลา จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. โดยได้รับค่าจ้างร้อยละ 75 ของเงินเดือน และสวนทางกับคำสั่งประกาศ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่ให้พนักงานที่หยุดงาน ได้รับเงินชดเชยประกันสังคมร้อยละ 62 ของเงินเดือน ทำให้ไม่มีการจ่ายค่าจ้างเดือน มิ.ย. ให้กับพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง

นายธรรมศาสตร์ ใจแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 4 รับเรื่องไว้ พร้อมระบุว่า จะส่งหนังสือแจ้งให้ สกสค.ในฐานะนายจ้าง มาชี้แจง หากเข้าข่ายมาตรา 75 ก็จะมีคำสั่งบังคับให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้กับพนักงาน คาดว่าจะหาข้อสรุปใน 1 เดือน

ขณะที่พนักงานลูกจ้างขององค์การค้าฯ ยังได้นำจดหมายเลิกจ้างที่ส่งถึงบ้านออกมาให้ดู หลายคนบอกว่ายังรับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะบอกเลิกจ้างกะทันหัน และไม่รู้ว่าจะได้รับการเยียวยาอย่างไร ทุกคนมีภาระค่าใช้จ่าย แต่พร้อมที่จะสู้ โดยหวังว่าการประชุมใหญ่วิสามัญสหภาพแรงงาน องค์การค้าของ สกสค.วันพรุ่งนี้ จะมีแนวทางแก้ไข 

นายนิวัติชัย แจ้งไพร ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของ สกสค.กล่าวว่า คำสั่งเลิกจ้างพนักงานลูกจ้างองค์การค้าฯ ไม่เป็นธรรม เพราะก่อนมีคำสั่งเลิกจ้าง ก็มีคำสั่งให้หยุดงานมาโดยตลอด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า บอกเพียงปรับโครงสร้างและเกลี่ยคน ทุกคนเดือดร้อน การอ้างผลประกอบการขาดทุนมีหนี้สิน ซึ่งไม่ได้เกิดจากเจ้าหน้าที่ หรือการดำเนินธุรกิจ แต่เกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาด ไม่โปร่งใส เพราะทุกครั้งที่เปลี่ยนผู้บริหาร ไม่มีเงินก็ไปกู้ ทำให้เป็นหนี้สะสม ดังนั้น สหภาพแรงงานจะฟ้องศาลแรงงานและศาลปกครอง เพื่อขอให้ระงับคำสั่งชั่วคราว

วันเดียวกัน ในระหว่างที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่โครงการพาณิชย์ลดราคา ช่วยประชาชน Back to school ที่ร้านศึกษาภัณฑ์สาขาลาดพร้าว มีกลุ่มพนักงานองค์การค้าฯ ที่ถูกเลิกจ้าง เข้ามาร้องทุกข์ ขอให้นายจุรินทร์ช่วย บางคนถึงกับเป็นลม เพราะแบกรับภาระค่าใช้จ่ายและต้องการให้รัฐมีแผนฟื้นฟู

องค์การค้าของ สกสค.บริหารร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ มี 9 สาขา และมีร้านค้าตัวแทนทั่วประเทศ เพื่อให้บริการจำหน่ายสินค้า ทางการศึกษาและสินค้าอื่น มีโรงพิมพ์ของตัวเองเพื่อผลิตหนังสือเรียน สื่อการเรียนการสอนและรับจ้างพิมพ์งานทั่วไปและข้อสอบ รวมทั้งมีโรงงานผลิตอุปกรณ์การศึกษา

ที่มา: Thai PBS, 1/7/2563

จัดอันดับค้ามนุษย์ ไทยอยู่เทียร์ 2 ต่อเนื่องปีที่ 3

นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของ มนุษย์ (ปลัด พม.)เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 เวลาประมาณ01.00 น. (ตามเวลาในประเทศไทย) กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่รายงานการค้ามนุษย์ หรือ Trafficking in Persons Report ประจำปี 2563 (TIP Report 2020) โดยจัดระดับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวม 187 ประเทศ โดยได้จัดระดับประเทศไทยอยู่ในระดับ 2 (Tier 2) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เช่นเดียวกับปี 2561 และปี 2562 เนื่องจากรัฐบาลไทยยังคงเพิ่มความพยายามอย่างสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์โดยรวมต่อเนื่อง

นายปรเมธี กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยและทุกภาคส่วน ได้ร่วมกันดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยมีผลการดำเนินงานสำคัญในรายงานดังกล่าว สรุปได้ดังนี้

1) ด้านดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมาย โดยออก พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2562 เพื่อกำหนดลักษณะความผิดและอัตราโทษฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การประชุมทวิภาคี เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล/รวบรวมพยานหลักฐานในคดีค้ามนุษย์ การยอมรับคำให้การล่วงหน้าและคำให้การทางวีดิทัศน์เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการพิจารณาคดีของศาล การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของรัฐ NGOs และองค์กรภาคประชาสังคม

2) ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ โดยพัฒนาแบบคัดแยกสำหรับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ เปิดศูนย์คุ้มครองเด็กเพิ่ม รวมจำนวน 7 แห่ง เพื่อการจัดบริการที่เป็นมิตรสำหรับเด็ก เยียวยาผู้เสียหายจากเงินกองทุนฯ จำนวน 11.88 ล้านบาท และผู้เสียหายได้รับค่าสินไหมทดแทน ตามการพิพากษาของศาล จำนวน 3.33 ล้านบาท การพัฒนา Mobile Application “Protect-U” สำหรับผู้เสียหายและพยาน เพื่อขอรับการช่วยเหลือคุ้มครอง

และ 3) ด้านการป้องกัน สร้างความตระหนักรู้ให้กับนักเรียน ครู ผู้นำชุมชน จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ข้อบ่งชี้การค้ามนุษย์ ช่องทางแจ้งเบาะแส เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ และบนเครื่องบิน จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นระหว่างภาครัฐ NGOs และองค์การระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความร่วมมือในการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ เปิดศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง 5 แห่ง เพื่อช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามระบบ MOU มีความรู้เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ สิทธิ วัฒนธรรม การจัดทำสัญญาจ้างงาน และกลไกการร้องทุกข์ร้องเรียน และร่วมกับรัฐบาลต่างประเทศป้องกันไม่ให้ผู้มีประวัติการล่วงละเมิดทางเพศกับเด็กเข้ามาในประเทศ

นายปรเมธี กล่าวต่อไปว่า กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ มีข้อแนะนำที่สำคัญต่อการดำเนินงานของประเทศไทย เช่นพัฒนาศักยภาพของผู้บังคับใช้กฎหมาย ในการดำเนินคดีและตัดสินลงโทษผู้ค้ามนุษย์ด้านแรงงาน การคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน การสอบสวนและดำเนินคดีเชิงรุกกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ การดูแลผู้เสียหายโดยคำนึงถึงผลกระทบจากบาดแผลทางจิตใจทั้งในสถานคุ้มครองของรัฐและเอกชน รวมถึงการช่วยเหลือทางกฎหมาย การเยียวยาจิตใจ การเพิ่มความสามารถของผู้เสียหายที่จะเดินทางเข้าออกสถานคุ้มครองและเข้าถึงเครื่องมือสื่อสารได้โดยอิสระ พัฒนาการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อคัดแยกผู้เสียหายประชากรกลุ่มเสี่ยง กลุ่มธุรกิจทางเพศ กลุ่มเด็กขอทานและขายของตามท้องถนน แรงงานต่างด้าวในภาคอุตสาหกรรม จัดหาสำเนาเอกสารสัญญาจ้างงานแก่ลูกจ้างในภาษาที่ลูกจ้างเข้าใจ สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการรายงานอาชญากรรมค้ามนุษย์ โดยไม่หวาดกลัวที่จะถูกดำเนินคดีอาญา รวมถึงการฟ้องร้องโดยนายจ้าง บังคับให้มีการจ่ายค่าแรง และกำหนดให้นายจ้างจ่าย ค่าธรรมเนียมการจัดหางานให้แรงงานต่างด้าว ให้สิทธิลูกจ้างครอบครองเอกสารประจำตัวและการเงินของตนเอง เป็นต้น

“พม.ในฐานะหน่วยงานประสานงานหลัก (Focal point) จะบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหาย ตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยจะได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการกำกับและติดตามการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เพื่อพิจารณาและมอบ หมายเจ้าภาพหลักรับผิดชอบข้อเสนอแนะในแต่ละประเด็น สำหรับติดตามผลการดำเนินงาน รวมทั้งใช้เป็นกรอบในการจัดทำรายงานของประเทศไทย ก่อนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ รับทราบและพิจารณาเห็นชอบแผนการดำเนินงานและเจ้าภาพหลักต่อไป” ปลัด พม.กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 1/7/2563

ยอดขอใบอนุญาต รง.4 ช่วง 6 เดือนแรก 1,702 ราย พุ่ง 10.22% เปิดรับจ้างงานเพิ่มอีก 1.2 แสนคนตำแหน่ง

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยถึง สถิติการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมว่า ยอดขอใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง.4) และขยายกิจการใน 21 กลุ่มอุตสาหกรรมช่วงครึ่งแรกของปี' 63 (ม.ค.–มิ.ย.) มี จำนวน 1,702 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.22 % โดยมีการจ้างงานใหม่ 123,794 คน เพิ่มขึ้น 79.23 % และเงินลงทุน 174,850.47 ล้านบาท ลดลง 14.09%

ทั้งนี้แม้ว่าทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด-19 แต่ปริมาณการจ้างงานใหม่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากแสดงให้เห็นว่าในส่วนของภาคอุตสาหกรรมได้มีการวางแผนการลงทุนล่วงหน้าอยู่แล้ว จึงทำให้ตัวเลขการลงทุน การจ้างงาน มีตัวเลขที่สูงขึ้น ซึ่งในช่วง 2 ไตรมาสแรก ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นน่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ โควิด-19มากนัก

“แม้สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของโลกจะได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นสถานการณ์ปกติที่ทั่วโลกประสบอยู่ เพราะนักลงทุนต้องรอดูสถานการณ์ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ว่าจะคลี่คลายเมื่อไหร่ แต่ในส่วนของประเทศไทยก็ยังมีเรื่องดี ๆ โดยพบว่าตัวเลขความต้องการจ้างงานใหม่ของโรงงานที่ขออนุญาตใบ ร.ง.4 และขยายกิจการเพิ่มขึ้นจากปีก่อน และหากเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกของปีอื่น ๆ พบว่าช่วง 6 เดือนแรกของปี 63 มีความต้องการแรงงานใหม่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 3 ปี หรือย้อนหลังไปถึงปี 61 ซึ่งอย่างน้อยก็จะสามารถเข้ามารองรับการจ้างงานในไทยให้เพิ่มขึ้นรวมถึงสามารถช่วยแก้ปัญหาการว่างงานของแรงงาน จากผลกระทบการระบาดไวรัสโควิด-19 และรองรับนักศึกษาที่จบใหม่ได้ในระดับหนึ่ง” นายประกอบ กล่าว

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 1/7/2563

ครม.เห็นชอบร่างความตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรในรัฐอิสราเอล ระยะเวลา2 ปี

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งรัฐอิสราเอลและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยว่าด้วยการจ้างแรงงานไทยทำงานชั่วคราวในภาคเกษตรในรัฐอิสราเอล มีระยะเวลา 2 ปี และจะมีการต่ออายุอัตโนมัติ ยกเว้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกยกเลิกความตกลง ซึ่งบุคคลได้รับการตรวจลงตราที่ออกภายใต้กรอบของความตกลงฉบับนี้ จะไม่ได้รับผลกระทบจากการบอกเลิก

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งนี้กรมการจัดหางานจะจัดส่งแรงงานไทยเดินทางไปทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอล ซึ่งแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอล จะได้รับการอำนวยความสะดวก คุ้มครองสิทธิ และบริหารจัดการให้เดินทางกลับประเทศเมื่อครบกำหนดระยะเวลาจ้างงาน เป็นการช่วยป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ สนองตอบต่อนโยบายการไปทำงานที่มีคุณค่า ที่ผ่านมาแรงงานไทยสามารถสร้างรายได้ นำความรู้และทักษะด้านการเกษตรกลับมาประกอบอาชีพ โดยตั้งแต่ปี 2555-2563 ได้ส่งแรงงานไทยไปทำงานภายใต้ความตกลงระหว่างอิสราเอล-ไทย เพื่อการจัดหางานแล้วทั้งสิ้น 40,082 คน

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 30/6/2563

กรมการจัดหางาน เผย มิ.ย. 2563 มีคนขอรับสิทธิว่างงานเพิ่ม 1.4 แสนราย แนวโน้มลดลงจาก 2 เดือนก่อน ส่วนยอดรายงานตัวรวมรับเงินว่างงาน 5 แสนกว่าคน

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ตัวเลขประชาชนที่ยื่นขอใช้สิทธิ์กรณีว่างงานออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ https://empui.doe.go.th กับกรมการจัดหางานในช่วงเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ยื่นขอรับสิทธิจำนวน 140,496 คน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม ที่มีผู้ขอใช้สิทธิ จำนวน 166,009 คน เดือนเมษายน จำนวน 267,351 คน และเดือนมีนาคมที่มีผู้มาขึ้นทะเบียน จำนวน 144,861 คน ถ้าหากดูตัวเลขแล้วนับได้ว่า ช่วงที่มีผู้ยื่นขอรับเงินชดเชยกรณีว่างงานเพิ่มขึ้นสูงที่สุด คือเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ในปัจจุบัน ยอดผู้รายงานตัวเพื่อรับเงินกรณีว่างงาน เดือนมิถุนายน จำนวน 505,594 คน อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวคาดการณ์ได้ว่า แรงงานบางส่วนอาจได้รับการว่าจ้างให้กลับเข้าไปทำงานใหม่แล้ว หลังจากรัฐบาลได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศแล้ว 4 ระยะ ทำให้มีตำแหน่งงานในธุรกิจต่างๆ ที่กลับมามีความต้องการคนทำงานอีกครั้ง

นายสุชาติกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การจ้างงานปัจจุบัน กรมการจัดหางาน ไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมสั่งการเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมให้ข้อมูลเรื่องการใช้สิทธิการว่างงาน ภายใน 30 วันหลังจากถูกเลิกจ้าง เพื่อให้ได้รับเงินชดเชยตามสิทธิ ซึ่งผู้ที่ถูกเลิกจ้างงานมีสาเหตุมาจากนายจ้าง/สถานประกอบการต้องปิดกิจการ เพราะผลกระทบจากโควิด-19 จะได้รับเงินชดเชย 70% ของค่าจ้างที่เคยได้รับ ระยะเวลาที่จ่ายไม่เกิน 200 วัน หากเป็นการว่างงานจากการลาออกเอง จะได้รับเงินในอัตรา 45% ของค่าจ้างที่เคยได้รับ และระยะเวลาที่จ่ายไม่เกิน 90 วัน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 30/6/2563

องค์การค้าฯ สกสค. ประกาศเลิกจ้างพนักงานและเจ้าหน้าที่ ระบุขาดสภาพคล่องต่อเนื่องนานร่วม 15 ปี มีผลตั้งแต่ 1 ส.ค.2563

นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการ กศน. ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ได้ลงนามคำสั่งองค์การค้าของ สกสค.ที่ 45/2563 เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2563 เรื่อง เลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. ด้วยองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (องค์การค้าของ สกสค.) เป็นองค์กรจัดหาผลประโยชน์ให้แก่สำนักงานคณะกรรมการสงเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา

มีหน้าที่บริการส่งเสริมอำนวยความสะดวกในการจัดระบบการศึกษาของชาติในด้านการพิมพ์ หนังสือเรียน เอกสารทางการศึกษา ผลิตอุปกรณ์การศึกษา บริการธุรกิจทางการศึกษา ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากร ทางการศึกษามอบหมาย ประสพภาวะขาดทุนต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลามากกว่า 15 ปี องค์การค้าของสกสค. จึงมีความจำเป็นที่ต้องเลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปรับปรุงอัตรากำลังและผลประโยชนตอบแทนขององค์การค้าของ สกสค. ให้สอดคล้องกับภาระกิจ

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 16(5) แห่งข้อบังคับคณะกรรมการ สกสค. ว่าด้วยการ บริหารงานองค์การค้าของ สกสค. พ.ศ. 2554 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 ประกอบกับ มติคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาคราวประชุมครั้งที่ 5/ 2563 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2563 จึงให้ลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้ที่ จำนวน 961 ราย

โดยให้ได้สิทธิประโยชน์ตามที่กฏหมายกำหนดตามรายชื่อแนบท้ายคำสั่งนีี้ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2562 องค์การค้า ของสกสค. ยุคนายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการองค์การค้า ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) มีคำสั่งเลิกจ้างพนักงานองค์การค้าฯ จำนวน 227 คน

ด้วยเหตุผลเดียวกันว่าองค์การค้าฯ แบกภาระไว้ไม่ไหว ทางคณะกรรมการบริหารองค์การค้าฯ จึงมีมติไม่ต่อสัญญาจ้าง อยู่ระหว่างพิจารณาจ่ายเงินชดเชย โดยต้องดูข้อกฎหมายและข้อเรียกร้องต่างๆ ด้วยว่า อะไรที่จ่ายได้หรือไม่ได้ อยู่ที่การวินิจฉัยของทีมกฎหมาย ซึ่งทางองค์การค้าฯ เตรียมเงินส่วนหนึ่งไว้แล้ว

“การตัดสินใจเลิกสัญญาจ้างครั้งนี้ ยอมรับว่าเป็นเพราะทางองค์การค้าฯ แบกรับภาระไว้ไม่ไหว เนื่องจากขาดสภาพคล่องมาอย่างต่อเนื่อง การยกเลิกสัญญาครั้งนี้เป็นช่วงแรก เพื่อลดค่าใช้จ่าย ส่วนจะยกเลิกสัญญารอบต่อไปอีกหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ ต้องดูการบริหารกิจการด้วยว่า มีเงินมาเลี้ยงองค์กรมากแค่ไหน ถ้าองค์กรมีความคล่องตัวในตลาดก็ยังคงอยู่ แต่ถ้าไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ก็ต้องปรับตามสภาพ ซึ่งผมก็พยายามปรับให้องค์กรอยู่ได้” นายดิศกุล กล่าว

นายดิศกุล กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่กลุ่มลูกจ้างตั้งข้อสังเกตว่า ยกเลิกสัญญาแต่มีเงินไปจ้างโรงพิมพ์เอกชนนั้น องค์การค้าฯ จ้างพิมพ์เป็นปกติอยู่แล้ว เพราะศักยภาพเครื่องพิมพ์บางส่วนไม่สามารถดำเนินการได้ บางอย่างยังไม่ทันสมัยพอ เพราะงานขององค์การค้าฯเยอะมาก ไม่สามารถพิมพ์ได้ทัน

ขณะที่พนังงานจำนวน 227 คนยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อของความเป็นในเรื่องถูกเลฺกจ้างและเรียกร้องขอเงินชดเชย จำนวน 16 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้แต่อย่างใด

ที่มา: คมชัดลึก, 30/6/2563

ทลายแก๊ง 'เจ๊ต้อย วังน้ำเย็น' ขายส้มตำบังหน้า ขนแรงงานต่างชาติ

ตำรวจตรวจสอบข้อมูลพบว่า "เจ๊ต้อย วังน้ำเย็น" เป็นขาใหญ่จัดหาแรงงานในฝั่งกัมพูชา คาดมีเอเย่นต์ในฝั่งกัมพูชาร่วมส่งคนข้ามแดนมา โดยเจ๊ต้อยทำหน้าที่จัดหารถและเป็นตัวกลางติดต่อนายจ้างชาวไทยส่งแรงงานไปทำงาน ตำรวจตรวจสอบเส้นทางการเงินพบมีการโอนเงินเข้าบัญชี "เจ๊ต้อย" หลักแสนบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างขยายผล และรวบรวมหลักฐานเพื่อขอศาลออกหมายจับ

นอกจากแก๊งเจ๊ต้อย วังน้ำเขียว ตม.ยังรวบแก๊งขนแรงงานเถื่อนชาวกัมพูชา 6 คนเข้าไทย บริเวณชายแดนติด จ.สระแก้ว โดยแก๊งนี้ใช้รถ 2 คัน ขับมาเข้ามาในไทยผ่านช่องทางธรรมชาติ เจ้าหน้าที่แกะรอยไปจนถึง จ.ฉะเชิงเทรา จึงแสดงตัวเข้าตรวจค้น โดยจับรถคันแรกได้ แต่คันที่ 2 ขับพุ่งชนเจ้าหน้าที่ และปล่อยแรงงานเถื่อน 1 คนลงกลางทาง ก่อนนำรถไปทิ้งที่ อ.คลองหาด จ.สระแก้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตามตัว

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 29/6/2563

บรรจุข้าราชการ สธ.สู้โควิด-19 ล็อตแรกแล้ว

29 มิ.ย. 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยว่า ในวันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการเรียกรายงานตัวเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เข้ารับราชการเป็นกรณีพิเศษ ใน 13 สายงาน อาทิ แพทย์ พยาบาลวิชาชีพ นักรังสีการแพทย์ เภสัชกร นักวิชาการสาธารณสุข เป็นต้น เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำงานดูแลด้านสุขภาพอนามัยประชาชนในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19

นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ให้ความสำคัญกับผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าต่อสู้โควิด 19 อนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุขคัดเลือกเพื่อบรรจุบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เข้ารับราชการเป็นกรณีพิเศษ ตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข

“ขอแสดงความยินดีกับทุกท่าน วันที่รอคอยมาถึง สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ มาจากผลงาน คุณงามความดี ที่ทุกท่านได้เสียสละทำงานในภาวะวิกฤตการระบาดของโรคโควิด 19 จนทุกฝ่ายเห็นผลงานและสนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้าในชีวิตการทำงาน เมื่อได้บรรจุแต่งตั้งแล้ว ขอให้ตั้งใจทำงานเป็นข้าราชการที่ดีเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติต่อไป” นายอนุทิน กล่าว และว่า ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการบรรจุข้าราชการในครั้งนี้ เป็นไปตามมติ ครม. กพ. และคปร. ส่วนในเฟส 2 จะบรรจุแต่งตั้งในเดือนสิงหาคมนี้

ที่มา: Hfocus, 29/6/2563

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net