Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สัปดาห์แรกของการเปิดเรียน ภายใต้ศัพท์ใหม่ของคนไทย New normal ภาพรถนักเรียนในต่างจังหวัดที่นักเรียนแน่นเต็มคันรถ การเดินแถวเข้าโรงเรียนแบบเว้นระยะ นักเรียนนั่งห่างไม่น้อยกว่า 1 เมตรในชั้นเรียน เป็นภาพใหม่ ที่ปรากฏในโรงขึ้นตามโรงเรียน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19


ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/BizpromptinfoFanpage/photos

หลังเปิดเรียนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 โรงเรียนทั่วประเทศได้ปรากฏภาพการเดินทางมาเรียนของนักเรียน ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด เน้นไปที่รถโดยสารสาธารณะ ภาพการรอรถโดยสาร ขสมก. ของนักเรียนในกรุงเทพ ที่มีป้ายใหม่ติดหน้ารถ “เต็ม” ภาพนักเรียนแถวต่างจังหวัด ที่ยังโหนรถเต็มคัน มาจอดหน้าโรงเรียน เพื่อเข้าแถวคัดกรอง นักเรียนโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดใหญ่ นั่งห่างกัน 1 – 2 เมตร ตามสภาพและจำนวนของนักเรียน นักเรียนชั้นปฐมวัย ที่นั่งในพื้นที่ส่วนตัว มีของเล่นและเครื่องใช้ส่วนตัววางอยู่กรอบสี่เหลี่ยม ขนาดพื้นที่ 4 ตารางเมตร เป็นมิติใหม่ของการจัดการเรียนการสอน ที่ ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน ร่วมใจกันปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขกำหนดขึ้น แสดงให้เห็นว่า นักเรียน ครู และผู้ปกครอง มีความต้องการอย่างมากที่จะให้โรงเรียนเปิดทำการเรียนการสอนตามปกติ แม้ว่าสัปดาห์แรกของการเปิดเรียนจะมีเพียง 3 วัน

แต่ในการเปิดเรียนครั้งนี้มีปรากฏการณ์อีกอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า การปิดสถานศึกษานานๆ ก็กระทบกับความต้องการของคนอีกกลุ่มหนึ่งเช่นกัน แม้ว่า สพฐ. จะเน้นย้ำให้งดกิจกรรม เพื่อเพิ่มเวลาให้กับการเรียนการสอน แต่ก็มีสถานศึกษาบางแห่ง แย่งเวลาของนักเรียนไปด้วยกิจกรรมหลายประเภทด้วยกัน เช่น กิจกรรมแห่เทียนจำนำพรรษา การประชุมผู้ปกครองนักเรียน ซึ่งควรจะทำก่อนหน้านี้ แต่มาจัดในสัปดาห์นี้เพราะมีการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 5,000 บาท ให้กับโรงเรียนดีประจำตำบลทุกโรงเรียน เพื่อจัดการประชุมผู้ปกครองและเร่งรัดการเบิกจ่าย ร่วมถึงกิจกรรมค้างเก่าที่จำเป็นต้องเร่งรดการเบิกงบประมาณ อีกหลายรายการ

และในสัปดาห์ที่ 2 ก็เต็มไปด้วยวันหยุด ทำให้มีเวลาเรียนเหลือเพียง 3 วันอีกเช่นกัน ทราบมาว่า มีหลายโรงเรียนเตรียมจัดกิจกรรมไหว้ครู โดยอ้างว่าเป็นประเพณี และจัดกิจกรรมเลือกตั้งประธานนักเรียนในคราวเดียวกัน เพราะเป็นกิจกรรมบังคับตามหลักสูตร

นักเรียนมีเวลาเรียนน้อยอยู่แล้ว วันหยุดก็เพิ่มมาเยอะ กิจกรรมก็ไม่ยอมลด เนื่องจากเหตุผลที่ว่า จำเป็นต้องเบิกจ่ายงบประมาณตามแผน โดยมีเงื่อนไขสำคัญอยู่ว่า จำเป็นต้องจัดการเรียนให้ครบ 200 วันตามหลักสูตร และเบิกจ่ายงบประมาณค่าอาหารกลางวันและอาหารเสริม (นม) ให้ครบ 200 วัน ตามที่ได้รับจัดสรร ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเหตุผลไหนสำคัญกว่ากัน แต่ที่น่าจะสำคัญกว่า คือ นักเรียนควรได้รับการจัดการเรียนที่เหมาะสมและครบถ้วน ตรงตามหลักสูตรของแต่ละสถานศึกษา ตามมาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการ

ทราบมาว่า มีโรงเรียนหลายโรงเรียน ดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณอาหารกลางวัน และอาหารเสริม (นม) ให้กับนักเรียนที่เรียนซ่อมเสริม (ออนไลน์) ในช่วงวันหยุดเสาร์–อาทิตย์ การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามระเบียบราชการหรือไม่ นักเรียนได้รับจริงหรือไม่ จึงควรติดตามเป็นอย่างยิ่ง เพื่อประโยชน์ของนักเรียนและประเทศชาติบ้านเมือง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net